ผู้ยิ่งใหญ่ : บนวิถีแห่งความจริง “ผู้ยิ่งใหญ่” ในสังคมไทย

ผู้ยิ่งใหญ่

ผ่านร้อนผ่านหนาว หลายทศวรรษหลังจากมรสุมทางการเมืองได้พัดผ่านประเทศไทย เมื่อครั้งวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลายบทเรียนถูกจดจำและถ่ายทอด จากวันนั้นถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางการเมืองที่แน่นอนนัก ความเป็นอยู่ของคนไทยก็เช่นกัน ที่ถึงแม้จะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด แต่ความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในความลำบาก ดั่งความยากจนเป็นรากไม้ที่ฝังรากลงดินหยั่งลึกในแผ่นดินไทยไปเสียแล้ว

“ผู้ยิ่งใหญ่” หนังสือรวมเรื่องสั้น ปลายปากกานักเขียนมือทอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้ผ่านเรื่องราว วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในฐานะผู้นำนิสิตนักศึกษาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐบาล การเขียนเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเขาจึงสะท้อนสังคมบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวผู้เขียนเองได้ประสบพบเจอในชีวิต ผ่านมุมมองที่ลึกเข้าไปถึงความลำบากของคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย โดยวางตัวละครดำเนินเรื่องเป็นบุคคลตัวเล็กๆ ในสังคมและบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ในความทุกข์เพียงลำพัง

หน้าปกที่ดูโดดเด่นจากตัวอักษรสีแดงความว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” สื่อใจความได้ดีจากใบไม้สีแดงปลิวลงมาโดดเดี่ยวท่ามกลางลวดลายขาวสลับดำ หน้าสารบัญบ่งบอกถึงเรื่องสั้นต่างๆ ที่มารวมเล่มไว้ถึง 27 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนประพันธ์ไว้ในช่วงปี พ.ศ.2525 – 2539 และถ้าหากค่อยๆ เปิดอ่านหน้าคำนำจากสำนักพิมพ์ ผู้อ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวย่อๆ ของผู้เขียนที่นับว่าเป็นประสบการณ์มนุษย์อย่างเราๆ หาได้ยากยิ่งนัก

เหตุการณ์ของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นต่างวาระต่างสถานที่ ตัวละครในแต่ละเรื่องไม่ได้ผูกโยงกัน หากเป็นการจบในตอนตามธรรมเนียมของเรื่องสั้นทั่วไป โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในทุกๆ เรื่องคือการพรรณนาภาพของผู้เขียน เช่น

“...ก่อนจะเอ่ยปากพูดอะไร ฉันรู้สึกว่าตัวเองลอยวืดขึ้นไปในอากาศ แขนอันแข็งแรงคู่นั้นโอบฉันไว้แน่น กลิ่นน้ำมันเครื่องเจือกับกลิ่นบุหรี่ฉุนๆ อบอวลอยู่กับใบหน้าของฉัน ฉันหลับตารับลมหายใจอุ่นๆ ที่มาปะทะข้างแก้มอย่างมีความสุข...” (ลมอุ่นเมื่อใกล้ค่ำ : หน้า 15)

หรือในบางครั้งผู้อ่านอาจสยดสยองตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่าน อันอยู่หลังฉากต่อสู้ที่ดุเดือด ราวกับผู้อ่านได้อยู่เห็นเหตุการณ์ขณะนั้นดังความว่า

“...ลำคอของชายร่างเตี้ยเหวอะหวะจนเห็นกระดูกอ่อนของหลอดลมแทรกขาวอยู่กลางลิ่มเลือด ลมหายใจของเขาเป่าฟองสีแดงออกมาเสียงดังครืดคราดๆ ลำตัวด้านข้างและหลังซีกหนึ่งของขุนมีดร่างสูงเละเหมือนเนื้อวัวที่ถูกสับแล้วคลุกทำลาบเลือด แผลใหญ่แผลหนึ่งเปิดอ้าเห็นชิ้นเนื้อและไขมันจุกปลิ้น เลือดที่ทะลักออกมาเป็นสายกระตุกๆ เหมือนน้ำจากสายยางที่เครื่องปั๊มใกล้จะดับ...” (ผู้เดือดร้อน : หน้า 42)

ภาษาในการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มอรรถรส ผู้เขียนได้ใช้ภาษารวมถึงคำหยาบคายที่ปุถุชนพูดกันเพื่อทำให้เนื้อเรื่องสมจริงและดำเนินไปได้โดยง่าย เช่น ตอนเปิดบทของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนได้เริ่มต้นด้วยบทสนทนาที่ดูจะหยาบคายว่า

“อีดอก มึงเยี่ยวเดี๋ยวนี้นะ” (อั้งฮวย : หน้า 94)

การเริ่มต้นด้วยบทสนทนาดูจะพบเห็นได้ยากนักในเรื่องสั้นที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมาทั้งหมด แต่การเริ่มต้นเช่นนี้เป็นการดึงความสนใจอันเป็นหัวใจของวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น ผู้อ่านจะรู้สึกได้ทันทีว่าเนื้อเรื่องต้องมีความรุนแรงและชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ภาษาท้องถิ่นและภาษาที่ไม่ค่อยพบในหนังสือทั่วไปก็พบเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องไหมลี (หน้า 77) ถึงแม้ว่าจะมีการให้ความหมายของคำต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ แต่ก็ทำให้เสียอรรถรสในเมื่อผู้อ่านต้องกวาดสายตาขึ้นและลงเพื่อดูความหมาย ส่งผลให้ผู้อ่านอ่านเนื้อความได้ไม่ปะติดปะต่อนัก หรือในส่วนของคำว่าอั้งฮวยที่เป็นทั้งชื่อเรื่องและปรากฏคำนี้อยู่ในเรื่อง ที่ผู้อ่านจะต้องเดาความหมายเอง คาดว่าคงจะเป็นการดำเนินเรื่องของผู้เขียนที่ให้นิยามความหมายจากเนื้อเรื่อง

การกำหนดบทตัวละครทั้งหมดที่ผู้เขียนได้สร้างไว้นั้น ผู้เขียนได้ใช้ตัวละครที่หลากหลาย เช่น ชาวประมง ขอทาน หญิงขายบริการ เด็ก คนชรา หรือแม้แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตัวละครทำอะไรที่ดูจะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปของสังคม ในหลายๆ ด้าน เน้นถึงความเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” ในแต่ละตัวละคร

ในส่วนของการเรียงลำดับ เรื่องสั้นทุกเรื่องถูกเรียบเรียงตามปีที่พิมพ์ครั้งแรก และมีการระบุปีไว้ในตอนจบเรื่องด้วย นับเป็นการทำให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการทางด้านความคิดและทักษะในการเขียนของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน เพราะนอกจากลีลาทางภาษาที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละเรื่อง ยังมีเรื่องราวของตัวละครที่สลับซับซ้อนและคาดเดาได้ยากมากขึ้น

เรื่องสั้นที่ดูจะโดดเด่นมากในช่วงท้ายๆ ของหนังสือ คือ “ผู้ยิ่งใหญ่”(หน้า 166) ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ดำเนินเรื่องราวจากตัวละครที่ชื่อว่า กำนันเดช ผู้เป็นที่เคารพนับถือในฐานะ “ผู้ยิ่งใหญ่” ด้วยความดีความชอบของเขาทำให้เขาปกครองชาวบ้านได้อย่างง่ายดาย แทนที่เรื่องราวจะราบรื่น กลับมีตัวละครโผล่ขึ้นมาคือ สมใจ ลูกเขยผู้ใหญ่บ้าน ที่หน้าตาและนิสัยละม้ายคล้ายคลึงกับกำนันเดชจนทำให้นึกว่าเป็นลูกชายที่เมียตนพาหนีไป จากนั้นเนื้อเรื่องก็เปลี่ยนไปกำนันกลับมีนิสัยที่เห็นแก่ตัวและเป็นนักเลงพาลชาวบ้านไปทั่ว ชวนทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกำนันเดช เรื่องมาไขปริศนาในตอนจบเพราะสิ่งที่กำนันเดชทำไป เพื่อให้สมใจขึ้นมาครองอำนาจต่อนั่นเอง การดำเนินเรื่องในเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่นี้คาดเดาได้ยากยิ่งนัก ทั้งตัวละครที่มีความคิด และมีการวางแผนที่ลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสในการอ่านและชวนให้อ่านจนจบเรื่อง

ในการดำเนินส่วนตอนจบของทุกเรื่องสั้น ผู้เขียนมักปิดเรื่องด้วยข้อความที่ให้ผู้อ่านคาดเดาต่อเองว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นต่อไป ซึ่งการเขียนแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงในชีวิตที่ตัวละครต้องดำเนินต่อไปและเป็นข้อคิดที่ผู้อ่านพึงระลึก แต่อีกด้านหนึ่งตอนจบของบางเรื่องก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนกินยังไม่อิ่ม ทั้งๆ ที่เรื่องจบแล้ว แต่อารมณ์ในการอ่านเรื่องนี้ความอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อยังไม่จบ เช่น

“สี่แยกคือถนนสองสายที่มาตัดกัน ดูเหมือนจะตัดกันได้ครั้งเดียวเท่านั้น... สำหรับถนนส่วนใหญ่”(สี่แยก : หน้า 93)

ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงเรื่อง การผูกเรื่อง และการใช้ภาษาอันประณีตงดงามด้านวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งนับเป็นแบบอย่างแก่นักเขียนรุ่นหลัง หนังสือรวมเรื่องสั้น “ผู้ยิ่งใหญ่” ก็เป็นเครื่องการันตีความสามารถของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2552

อีกทั้งหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนถึงความลำบาก ความยากจน และการขาดการศึกษาที่เพียงพอสำหรับคนในชนบทที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และยังเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่ผู้อ่านที่ขาดกำลังใจ เพื่อที่จะเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” บนวิถีแห่งความจริงต่อไป

 

ทิฆัมพร บุญมี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ