คมสัน นันทจิต : ผมไม่มีความใฝ่ฝัน

คมสัน นันทจิต

เห็นหน้าค่าตาของเขาในรายการโทรทัศน์ทั้งในฐานะพิธีกร และนักแสดง แต่โลกอีกใบหนึ่งของเขาคือคนเขียนหนังสือที่เคยมีผลงานลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ช่อการะเกด ที่สิงห์สนามหลวงอย่างสุชาติ สวัสดิศรี เป็นบรรณาธิการ ถือว่า “สอบผ่าน” ทางงานวรรณกรรม เพราะเป็นที่ทราบกันว่าสนามเรื่องสั้นในช่อการะเกด “หิน” แค่ไหน หากฝีมือไม่ดีจริงไม่มีโอกาสได้ลงตีพิมพ์ คมสัน นันทจิตเรียนจบสถาปัตย์ฯจุฬา ปัจจุบันทำงานหลายอย่าง ทั้งสถาปนิก พิธีกร และเขียนหนังสือ เมื่อเทียบกันแล้วงานอย่างสุดท้ายให้ผลตอบแทนน้อยเหลือเกิน อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขายังคงอยู่ตรงนี้ เราจะมาคุยกับเขากัน

เข้าสู่วงการเขียนหนังสือยังไง
เริ่มจากการเป็นคนชอบจด ชอบเขียน ตั้งแต่เรียนมัธยมไปไหนก็จดเก็บไว้ เช่น เรื่องแอบรักผู้หญิง และเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เมื่อจบจากคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และได้อ่านช่อการะเกดเห็นว่าเป็นเวทีของเรื่องสั้น ใครก็ได้ส่งไปถ้าผ่านบอกอก็ได้ลง คิดว่าน่าสนใจมาก ก็เลยส่งเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งไป ส่งไปก็ได้ลงช่อการะเกดเลย เรื่องสั้นเรื่องแรก 2540 เรื่องสั้นหลังจากนั้นส่งไปก็ไม่ได้ลง ลงตะกร้าไป ก็มาทำโทรทัศน์ วันหนึ่งนิวัต พุทธประสาททำจุลสาร AW (ALTERNATIVE WRITERS) เขาบอกว่าจำได้ ว่าเรามีเรื่องสั้นลงช่อการะเกด อยากสัมภาษณ์ลงหนังสือ

สัมภาษณ์เสร็จก็ชวนเขียนเรื่องสั้นลงสนามหญ้าเล่มหนึ่ง ซึ่งรวมศิษย์เก่าช่อการะเกด ผมยังไม่มีผลงานเยอะเพียงพอ จึงยังไม่ได้ทำเล่มหนึ่ง แต่ผมมีเรื่องสั้นเขียนเก็บไว้ ประมาณ 5-6 เรื่อง จึงรวมเรื่องสั้นกับนิวัต เล่มเล็กสีขาวเป็นรวมเรื่องสั้นไม่ตลก ออกมาขายก็เริ่มมีคนเห็นว่าเป็นคนเขียนหนังสือ สนามหญ้าเล่มที่ 2 เรื่องรักธรรมดา เขาเอาชื่อของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของผมไปตั้งเป็นชื่อ จากตรงนี้พี่เสี้ยวจันทร์ แรมไพรก็ชวนไปเขียนที่เนชั่น พี่หมีก็ชวนไปเขียนที่ IMAGE แล้วก็มีคนชวนผมไปเขียนรวมเรื่องสั้น จึงได้เขียนจนถึงทุกวันนี้

เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกก็ได้ตีพิมพ์เลย แถมได้ลงช่อการะเกด ขณะที่คนอื่นใช้เวลาหลายปีคุณรู้สึกยังไง
ผมได้ลงเรื่องแรกเรื่องเดียว เรื่องต่อมาไม่ได้ลง คิดว่าคงเป็นจังหวะอะไรสักอย่าง ต่อมาส่งไปสองเรื่องก็ไม่ได้ลงจึงไม่ได้คิดว่าเก่งหรือมีฝีมือเลย แม้แต่นิดเดียว คงเป็นจังหวะที่พอดีที่ได้ลงตอนนั้น ถึงวันนี้คิดว่ามีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งลงช่อการะเกดก็ภูมิใจแล้ว

ตอนนี้มีงานเขียนอะไรบ้าง
เขียนประจำอยู่ที่เนชั่นสุดสัปดาห์ ปลายปีนี้ถ้าเสร็จก็จะมีรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ 1 เล่ม รวมจากเรื่องที่เขียนลงตามที่ต่างๆ ไม่แน่อาจจะมีเรื่องใหม่ เรื่องสั้นจะเขียนอย่างสม่ำเสมอเพราะเราจะต้องส่งต้นฉบับให้กับที่เขาขอมา คอลัมน์เป็นประจำอยู่แล้วต้องเป็นวินัย สำหรับงานแปลยังไม่มีเร็วๆนี้

ชอบงานแปลหรืองานเขียนมากกว่ากัน
ตอบไม่ได้เพราะเล่มที่แปลคือเล่มที่อยากแปล ไม่ว่าจะแปลหรือเขียนก็ต้องชอบก่อนไม่อย่างนั้นทำไม่ได้หรอก

เขียนงานตอนไหน
ไม่แน่นอน อย่างที่เนชั่นก็ต้องเขียนวันอังคารหรือพุธ เพื่อส่งต้นฉบับวันศุกร์ หรือส่งวันศุกร์ ส่งทางอีเมล์ เรื่องสั้นบางเรื่องก็เขียนกลางคืน บางเรื่องก็เขียนกลางวัน เมื่อเขียนได้ก็เขียน ส่วนใหญ่จะเป็นกลางคืน

ทำงานตั้งหลายอย่างแต่กับงานเขียนรู้สึกยังไง มันมีเสน่ห์ต่างจากงานอื่นตรงไหน
ชอบ เพราะเรื่องที่เขียนเล่าด้วยวิธีอื่นไม่ได้ ต้องเขียน ไม่เหมือนงานอื่น มันเป็นคนละโลก โลกคนละใบ ช่วงทำงานเขียนจะมีแค่ตรงที่เราเขียน ช่วงเวลาที่เริ่มต้นเขียน แล้วหายเข้าไปในโลกใบนั้นมันมีเสน่ห์มาก รู้สึกว่ามันดีมาก อารมณ์ตอนนั้น และมันก็ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว เหมือนได้ฟังเพลงดีๆหรือดูหนังดีๆ มันอิ่มเอิบ

ผลตอบแทนของการเขียนหนังสือเรียกว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวงการโทรทัศน์ อะไรที่เหนี่ยวรั้งให้คุณยังคงอยู่ตรงนี้
เมื่อเราพูดถึงผลตอบแทน ร้อยละ 70 เราพูดถึงเงิน พอเป็นเงินก็เป็นตัวเลขจำนวนหนึ่ง เราไม่ได้พูดถึงผลตอบแทนที่เป็นความสุข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าวงการโทรทัศน์ไม่มีความสุข คนละเรื่องกันอีก แต่ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินมันย่อมต่างกันอยู่แล้ว การเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งกับการทำงานอื่น บังเอิญผมอยู่ในโลก 2 ใบ โลกใบหนึ่งได้เงิน โลกใบหนึ่งเราได้ทำงานที่เราชอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานอื่นที่ทำไม่ชอบ เท่าๆกันแหละ ไม่มีอะไรใหญ่กว่ากันหรอก มีความสุขกับทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน

งานเขียนได้ขัดเกลาตัวเราด้วยไหม
เหมือนได้คุยกับตัวเอง บางทีเราสงสัยเรื่องราวบางเรื่อง คุยกับตัวเราเองแล้วได้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะเราต้องตั้งคำถามหนึ่งแล้วคุยกับตัวเราเอง แล้วเราก็ได้ตอบคำถามนั้นกับตัวเราเอง ในเรื่องที่เราสงสัยบางอย่างอยู่

คิดว่าจะอยู่กับการเขียนหนังสือไปตลอดไหม
ก็ต้องอยู่ครับ เพราะผมชอบมัน เป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนแล้วด้วย เขียนตั้งแต่รวมเรื่องสั้นเล่มแรก 2543 จนถึงวันนี้ก็ 5 ปีแล้ว เป็นพิธีกรมาก็ 5 ปีแล้ว เริ่มมาเท่าๆกัน ผมก็ต้องทำทั้งสองอย่างนี้ต่อไปให้ดีที่สุดด้วย ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นทางที่เราเลือก

มีความใฝ่ฝันหรือความทะเยอทะยานในการเขียนหนังสือไหม
ผมไม่มีเลยตั้งแต่เกิด เรียนจบมาก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอะไร สมมติว่าผมเรียนประถมจบ ผมก็ไม่ได้ใฝ่ฝันว่าจะต้องเข้าสวนกุหลาบ ก็เข้าสวนกุหลาบได้ จบจากสวนกุหลาบอยากเข้าสถาปัตย์ ก็ได้เข้าสถาปัตย์ จบสถาปัตย์ก็เป็นสถาปนิก ตามครรลองของมันเรื่อยๆ ผมจึงไม่มีความใฝ่ฝันอะไร นี่พูดเรื่องจริงไม่ได้ตอแหล ผมไม่มีความฝัน วันนี้ที่ผมมาเป็นพิธีกร ผมก็ไม่ได้ใฝ่ฝันว่าจะเป็น ผมทำเพราะสนุก ชีวิตผมเป็นไปตามจังหวะหมดเลย แม้กระทั่งเป็นนักเขียนทุกวันนี้ก็เป็นไปตามจังหวะ ถ้าถามว่าผมชอบมั้ย ผมชอบ ผมชอบเขียนหนังสือ ผมชอบเป็นพิธีกร ตอนนี้ผมอายุ 35 ผมน่าจะเป็นคนในความฝันของผมเมื่ออายุ 25 ซึ่งในตอนที่ผมอายุ 25 ผมก็ไม่ได้ฝันว่าจะมาเป็นอย่างวันนี้ ผมทำทุกอย่างด้วยจังหวะของชีวิต ผมก็เลยไม่ได้ฝันไปไกลว่า 45 ผมจะต้องเป็นยังไง 55 เป็นยังไง ถ้าเราคิดว่าความฝันคือสิ่งที่เราต้องทำ ตอนนี้ผมมีอย่างเดียวคือ ผ่อนบ้านให้แม่ให้หมด ชัดเจนที่สุดเป็นรูปธรรมมาก เพราะซื้อบ้านให้แม่อยู่ ที่นอกเหนือไปจากนั้นก็แล้วแต่จังหวะ วันหนึ่งผมอาจจะไปเป็นอะไรสักอย่างที่ผมไม่ได้ตอบวันนี้ก็ได้

ยังไม่ได้เขียนนิยายใช่ไหม
อยากเขียนนิยาย ความอยากมันมี

แล้วทำไมยังไม่เขียน รอให้มันสุกงอมก่อนหรือ
ใช่ด้วย ตั้งแต่วันนี้จนตายผมน่าจะมีนิยายสักเรื่องแต่ไม่รู้ว่าเป็นเมื่อไหร่ แต่ก็อยากจะมี อยากเขียนนิยายมาก เหมือนผมอยากจะขี่จักรยานปล่อยมือมาก หรืออยากว่ายน้ำเป็น ก็เป็นความฝันหมดแหละ อธิบายอยากเรื่องนี้

บางคนว่าเขียนเรื่องสั้นยากกว่าการเขียนนิยาย คุณคิดว่ายังไง
ไม่รู้เหมือนกัน ยังไม่เคยเขียนนิยาย ถ้าเขียนนิยายเรื่องแรกเสร็จแล้วอาจจะตอบได้

เชื่อเรื่องพรสวรรค์ไหม
ผมเชื่อ เชื่อมาก พรสวรรค์คือแรงสตาร์ทเครื่อง ต่อจากนั้นต้องใช้ความสามารถ พรสวรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มก้าวแรกได้ชัดเจนกว่าคนอื่น แต่พอเราเริ่มก้าวแรกไปแล้วก้าวที่ 2,3,4,5 เลยก้าวที่ 5 ต้องใช้ความอดทน และเมื่อเลยก้าวที่ 10 นี่ต้องใช้ความมุ่งมั่นเลย พรสวรรค์มาตอนเริ่มเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าคนที่มีพรสวรรค์มีจริง เริ่มก้าวแรกได้แบบสุดยอด แต่จากนั้นต้องใช้ความพยายาม อุสาหะ มานะ ทุกอย่าง เพราะคุณต้องหล่อเลี้ยงพรสวรรค์ของคุณให้มันอยู่รอด

คุณมีวิธีหล่อเลียงพรสวรรค์ของคุณยังไง
ผมไม่มีพรสวรรค์ ทุกวันนี้จึงต้องทำงานหนัก

การผลิตงานเขียนแต่ละชิ้นยากเย็นแค่ไหน
ไม่เคยง่ายเลย สิ่งแรกคือคิดก่อนว่าจะบอกอะไร จากนั้นจึงคิดรูปแบบให้มัน แล้วเราก็ทำให้มันออกมาให้ได้ตามที่เราเห็นภาพในหัวเรา

รู้สึกว่าคนที่เรียนมาทางศิลปะมักชอบใช้เทคนิกในงานเขียน คุณเป็นอย่างนั้นด้วยไหม
ผมไม่ใช่สายเทคนิคเท่าพี่วินทร์ เลียววาริณแน่ๆ พี่วินทร์เขาสุดยอดแล้วล่ะ เวลาเขียนหนังสือผมไม่ค่อยคิดเรื่องเทคนิก แต่เวลารวมเล่มชอบคิดว่าน่าจะมีรูปตรงนั้นตรงนี้

การเรียนมาทางสถาปัตย์ช่วยในเรื่องการเขียนไหม
ช่วยในเรื่องการวางความคิด สถาปัตย์สอนให้เราคิด 4 มิติ คือคิดสิ่งที่เป็นอากาศ ถ่ายทอดให้เป็นสองมิติ คือถ่ายทอดลงกระดาษ แล้วทำให้เป็นสามมิติคือกว้าง ยาว สูง เป็นบ้านเป็นหลัง แล้วก็เป็น 4 มิติ เมื่อเจ้าของมาอาศัยมีเวลามาเกี่ยวข้อง

สมมติคุณมาบอกให้สร้างบ้าน มาเป็นความฝันเลย แล้วผมก็ต้องรับผิดชอบความฝันของคุณต้องเอาสูตรมิติมาสร้างให้เป็นแบบ ก่อนจะสร้างต้องคิดว่าจะมีห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำเล็กมั้ย ชอบกินข้าวที่ห้องกินข้าวหรือกินข้าวที่ห้องนั่งเล่น ความฝันของคุณทั้งนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็แปรมาเป็นสองมิติ เป็นแบบในกระดาษ แล้วดูจนกลายเป็นสามมิติ สุดท้ายคุณต้องเข้าไปในบ้านหลังนั้น มิติที่ 4 คือเวลา ไม่ใช่เฉพาะงานเขียน แต่คือทุกๆอย่าง ต้องทำสิ่งที่ไม่มีให้มันมี ตรงนี้ที่สำคัญ ทุกวันนี้ยังทำงานสถาปนิก เป็นพิธีกรก็ทำ งานเป็นอย่างนี้ ๆ ความคิดอย่างนี้ ผมก็ต้องพูดตามความคิดของคนอื่น แต่การเขียนหนังสือไม่ใช่ เป็นความคิดของเราเอง เราจะถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นรู้ยังไงว่านี่คือความคิดของเรา

เรื่องการเป็นนักเขียนนี่ก็ไม่ได้เป็นความคิดตั้งแต่เด็กใช่ไหม
ไม่มี ชอบอ่านหนังสืออย่างเดียว วินาทีแรกที่เขียนหนังสือก็ไม่ได้อยากเป็นนักเขียน อยากเขียนเพราะอยากถ่ายทอดความคิดนี้เท่านั้นเอง ไม่ได้อยากเป็นนักเขียนแต่อยากจะเขียนเรื่องนี้ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่

เคยตันไหม แล้วแก้ปัญหายังไง
ตันเป็นประจำ ถ้าเป็นคอลัมน์เขียนไม่ได้จริงๆก็ไม่ต้องเขียน เพราะมันทำไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่อง

 

โดย...นายอยู่ดี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ