จิตรกร บุษบา : ความคับแคบในจิตใจคนคือปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน

จิตรกร บุษบา

จิตรกร บุษบา เป็นบุคคลผู้มากความสามารถในวงการหนังสืออีกคนหนึ่ง นอกจากการเป็นคอลัมนิตส์ – โกสต์ไรเตอร์ แล้ว ในทางสื่อวิทยุก็ยังพบเสียงของเขาอยู่ทุกวัน “สำหรับรายการวิทยุตอนนี้ก็มีคิวจัดอยู่ทุกวัน วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่ สามทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่ม ที่วิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตย คลื่น 92.25 จะจัดรายการคุยก่อนนอนกับจิตรกร บุษบา เสาร์กับอาทิตย์ บ่ายโมงถึงบ่ายสามจัดรายการฉันรักวันหยุดที่คลื่นเดียวกัน วันเสาร์จะมีแถมอยู่นิดหนึ่ง ช่วงบ่ายสามถึงห้าโมงเย็นจัดร่วมกับอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ชื่อรายการพูดตรงใจกับดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

 

จิตรกร บุษบา

 

นอกจากนั้นก็เป็นบก.บทความขิงนิตยสาร LIPS แล้วก็เป็น พิธีกรรายการ นั่งดูหนังดีออกอากาศทาง ETV อันนี้สสส.เป็นผู้สนับสนุนรายการ ที่เหลือก็เขียนคอลัมน์ให้ GM แล้วก็เป็นโกสต์ไรเตอร์ ตามปรกติ แล้วก็ทำสนพ.ของตัวเองชื่อ สนพ.บานชื่น มีน้องผู้ช่วยเขาค่อยจัดการให้ ไม่ค่อยได้จัดการเอง เป็นพิธีกรบ้าง เขียนคอลัมน์บ้าง แค่นี้ก็ไม่มีเวลาแล้ว ”

จิตรกร บุษบา เริ่มกิจกรรมทางด้านงานเขียนตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนขาสั้นชั้นมัธยมสอง บทกวีของจิตรกรก็คว้ารางวัลระดับโรงเรียนมาตั้งแต่ม.2-ม.6 ซึ่งเป็นการทำเขาเริ่มถามตัวเองถึงผลงานของตัวเองในนอกรั้วโรงเรียน และคำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นทำให้เขาลองส่งผลงานที่ตนเองมีอยู่ไปตามนิตยสารต่าง

“นิตยสารเมื่อก่อนจะมีสกุลไทย วัยหวาน วัยน่ารัก ขวัญเรือนประมาณพวกนี้ ตอนนั้นมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่โรงเรียนเขาจะชอบกันมากชื่อ นิวทัช รู้สึกว่าพี่ธีรภาพเป็นบก. พี่ไพวรินทร์ ขาวงาม จะเป็นคนคัดบทกวีลงในนิตยสาร คือครึ่งหนึ่งจะเป็นหนังสือติว อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นเรื่องทั่วไปให้เราอ่าน เป็นสัมภาษณ์บุคคลน่าสนใจ เป็นเรื่องสั้นประมาณนั้น ก็เลยลองส่งไปก็ได้ลงเกินครึ่งถูกเขี่ยทิ้งบ้างตามสภาพ ก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น พอมาอยู่มหาลัยก็ยังมีธนานัติบ้างอันที่เขาส่งเป็นค่าเรื่องไปให้ที่โรงเรียน โรงเรียนก็ต้องส่งย้อนกลับมาให้เรา ช่วงนั้นเลยหยุดส่งไประยะหนึ่งไม่ให้ค่าเรื่องถูกส่งไปที่โรงเรียนอีก ครั้นเราจะส่งเรื่องไปใหม่ก็ไม่แน่ใจว่ามีเรื่องยังค้างอยู่ที่ไหนบ้าง พอตอนอยู่มหาลัยก็จะมีชมรมภาษาและวรรณศิลป์ตอนอยู่ปี 1 ก็เป็นผู้ช่วย บก. ของวรรณศิลป์สาร พอปีสอง ก็เป็นบก เอง ”

จิตรกร บุษบา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางด้านอักษรศาตร์จากรั้วศิลปากร ด้วยความใฝ่ฝันที่จะทำงานหนังสือมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 ทำให้เขาตั้งตาตั้งล่าทำฝันให้เป็นจริงตั้งแต่ตอนนั้นโดยตั้งเป้าจะเข้าเรียนที่คณะ อักษรศิลปากรให้ได้เพื่อที่เดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้...วงการหนังสือ

“คือผมคิดไว้ตั้งแต่ม.5ว่าจะทำงานหนังสือ ตอน ม.4 จะถูกจับไปเรียนสายวิทย์...เด็กบ้านนอกนี้ถ้าผลการเรียนดีจะถูกจับให้ไปเรียนสายวิทย์โดยอัตโนมัติ เราก็ติดไปตรงนั้นด้วย พอเริ่มเรียนเราก็เริ่มปฏิเสธวิชาฟิสิกส์ รู้สึกว่ามันไม่สนุก ไม่ได้ส่งเสริมจินตนาการเลย เคมีนี้ยังสนุกอยู่บ้างที่ได้เอาโน่นผสมนี้ แต่ฟิสิกส์เราต้องนั่งคำนวณโน่นคำนวณนี้ก็เลยเกิดคำถามว่าเราจะคำนวณไปทำไม

ก็เลยรู้สึกว่าสายวิทย์ไม่ใช่ทางของเรา ก็มาถามตัวเองพบว่าเราชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เลยเข้าห้องแนะแนวไปเปิดดูว่าเราต้องเรียนต่ออะไรมันถึงจะเป็นทางที่ถูกต้องกับเรา ก็ไปเจอพวกเนี่ยคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์พวกนี้ แต่ใจนะไม่ชอบกรุงเทพไม่อยากเรียนในกรุงเทพก็เลยตัด อักษร จุฬาทิ้งไป วารสาร ธรรมศาสตร์นิเทศไรพวกเนี่ยทิ้งไปคราวนี้ก็จะเหลือ อักษรศาสตร์ ศิลปากร กับศึกษาศาสตร์ แต่คิดว่าที่ตรงกับเราจริงๆน่าจะเป็นอักษรศาสตร์ก็เลยเลือกไว้ ก็เตรียมตัวไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วก็สอบจริงก็ได้ที่อักษรฯศิลปากรจริงๆ แต่เราคิดเลยไปแล้วว่าเราจะทำงานทางด้านหนังสือ มหาลัยก็เป็นที่หนึ่งที่เราจะแวะไปเติมทักษะเติมประสบการณ์ให้ตัวเองพอจบเราก็ไปสู่ความฝันของเราตรงโน่น ”

เมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัย จิตรกร ก็เริ่มก้าวตามฝันของเขาต่อไป โดยเริ่มงานครั้งแรก กับเครือวัฏจักรที่เคยไปฝึกงานอยู่ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ปี 3 ในเชคชั่นกระแสชีวิต ทำมาได้ระยะหนึ่งจนฟองสบู่แตก จิตรกรก็วนๆเวียนเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารหลายหัว เช่น ชีวจิต LIPS เป็นต้น และระหว่างนั้นเองที่เขารับงานโกสต์ไรเตอร์ไปด้วยพร้อมๆกัน

“การทำงานของโกสต์ไรเตอร์นี้เป็นชื่อก็จะเป็นของเขาคือมันเป็นเรื่องราวของเขา มันไม่ได้ใช้หัวสมองของเรา เราก็แค่ไปรับจ้างบันทึกเสียงเขามาแล้วไปเรียบเรียงให้สละสลวย ให้มันน่าติดตามน่าสนใจ เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ 80 เปอร์เซ็นต์มันเป็นเรื่องของเขามันไม่ใช่เรื่องของเรา เราแค่รับจ้างเรียบเรียงลิขสิทธิ์ก็เป็นของเขากับสนพ.ร่วมกันไป ถ้าเขาจะให้เครดิตเราเขาก็ใส่ชื่อที่ปกอย่างของ กนกวรรณ บุรานนท์เขาก็ใส่เลยนะว่าเราเป็นผู้เรียบเรียง” นอกจากงานคอลัมนิสต์-โกสต์ไรเตอร์แล้วจิตรกร บุษบา ยังสวมหมวกบรรณาธิการและกรรมการตัดสินรางวัลทางด้านวรรณกรรมมาเหมือนกันเราเลยยิงคำตามต่อไปถึงเรื่องสั้นที่ดีในมุมมองของจิตรกร บุษบา

“ผมยึดถืออยู่สองเรื่อง คือหนึ่งมันมีพลังทางปัญญาไหม หมายถึงว่ามันสามารถก่อเกิดความสั่นสะเทือนถึงความคิดของผู้อ่านไหม มันแสดงให้เห็นถึงการตกผลึกทางความคิดของผู้เขียนไหม หรือเป็นแค่การคาดการณ์ จินตนาการฟุ้งซ่านไปของผู้เขียน อย่าง คือรักและหวัง ของพี่ วัฒน์ วรรคยางกูลเราจะเห็นเลยว่า มันได้ผ่านการใช้ชีวิตของคนๆหนึ่งมา หรือได้ผ่านการเฝ้าสังเกตุสังกา คนแก่คนหนึ่งที่เลี้ยงหลานคนหนึ่ง อยู่ในชนบทแล้ววันหนึ่งกำลังที่จะเลี้ยงหลานมันไม่พอ ก็จำเป็นต้องปล่อยหลานไปสู่อ้อมอกคนอื่น ความปวดเร้า ความเหงา ความผิดหวังมันเกิดขึ้นในตัวเอง คือมันสั่นสะเทือนคนอ่านทั้งพลังทางปัญญาทั้งพลังทางอารมณ์มันมีสูงมาก หรืออย่างในเล่ม ลิกอร์พวกเขาเปลี่ยนไปของ จำลอง ฝั่งชลจิตร มันไม่ใช่การขับรถผ่านไปสองชัวโมงแล้วไปเห็น คุณคิดว่ามันเป็นอย่างงั้นมันเป็นอย่างนี้ แต่เราเห็นว่ามันผ่านการครุ่นคิดมาแล้วผ่านการสังเกตสังกามาอย่างดี แล้วก็เอาความคิด การสังเกตนั้นมาปรุงเป็นเรื่องสั้นอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่การหยิบเอามาแบบดิบๆ คือมันได้ถูกแปรรูปทางความคิดมาเรียบร้อยแล้ว หรืออุบัติการณ์ ของวรภ วรภา ก็มีเรื่องสั้นที่สุดยอดหลายเรื่อง ซึ่งพลังทางปัญญามันสูงมาก แต่ปัญหาของวรภ คือภาษารุ่มร่ามติดแบบอย่างกวี มันไม่งามในแบบเรื่องสั้น ก็จะมองสองอย่าง พลังทางปัญญา คือสร้างปัญญาให้คนอ่านไหม กับพลังทางอารมณ์ คือ มันทำให้เกิดความสะเทือนใจไหม ทำให้วิตกกังวลไปด้วยไหม ใจหายไปด้วยไหม หรือเดือดแค้นไปด้วยไหม มันต้องมีสิ่งเหล่านี้สื่อสารออกมาประทะกับคนอ่านได้ เรื่องของมันจึงจะได้ไม่เป็นแค่ตัวอักษรบนหน้ากระดาษ คือมันต้องมีอิทธิฤทธิ์ของมันไม่ใช่แค่แผ่นกระดาษ”

-มุมมองเกี่ยวกับซีไรต์ปีนี้
“ผมไม่ดาดหวังกับซีไรต์มานานพอสมควร ก็ดูเป็นเทศกาลเป็นเวทีสนุกๆอันหนึ่ง เราจะเอาชีวิตเอาความหวังไปแขวนไวกับมันทำไม ในเมื่อชีวิตก็ชีวิตเรา ปัญญาก็ปัญญาเรา แล้วทำไมคนทั้งประเทศต้องไปอ่านหนังสือที่กรรมการทั้ง 6 คนอ่านด้วย คุณมีปัญญาเท่าไหร่เหรอ คุณรสนิยมเหมือนเขาเหรอ บริบทชีวิตคุณเหมือนเขาไหม ถึงต้องอ่านหนังสือแบบเขา คุณเป็นใครต้องหาตัวเองให้พบแล้วตอบตัวเองว่าคุณโหยหาเรื่องอะไร ก็หาสิ่งเหล่านั้นมาตอบสนองตัวคุณ มาบำบัดตัวคุณ มาปรุงแต่งตัวคุณ มาให้การศึกษาแก่ตัวคุณ นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แต่ก็โอเค วงการวรรณกรรมมันจะได้ไม่ต้องจืดชืดปีหนึ่งมีซีไรต์ประกวดที ให้ได้ลุ้นกันทีหนึ่งเหมือนหวย มันก็สนุกดี แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นพอความสุขของกะทิได้ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะว่าครั้งหนึ่งจ้าหงิญมันก็เคยได้ ครั้งหนึ่งความน่าจะเป็นมันก็เคยได้ ครั้งหนึ่งอมตะมันก็เคยได้ เพราะฉะนั้นมันถูกช๊อคมาหลายครั้งแล้วเลยไม่ได้รู้สึกอะไร แถมยังเคยพูดกับเพื่อนไว้ว่าเผลอๆปีนี้กรรมการให้กะทินี้แหละเพราะตัดสินง่ายดี

แต่ต้องบอกนะว่ากะทิ มีความหมดจดของมัน กะทินี้มันจิ้มลิ้มน่ารัก มีความหมดจดในระดับมัน เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นว่าซีไรต์ มันต้องเป็นมหากาพย์ เป็นเรื่องเพื่อชีวิต เป็นเรื่องที่จะต้องยกระดับสังคม ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นแบบนั้นเราจะรับกะทิไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเปิดใจกว้างว่าหนังสือมีสารพัดเหมือนคนที่มีทั้ง ฝรั่ง นิโกร มีเจ๊ก มีไทย มีมอญ แล้วสวยแบบเจ๊กมันจะไปสวยแบบนิโกรได้ยังไง

เพราะฉะนั้น ความรักของกะทิ ได้ซีไรต์ปีนี้จึงไม่ได้แปลกใจอะไร แล้วมันก็ดีออกมันแค่ 105 บาทเอง เด็กที่ถูกโดนบังคับให้อ่านก็จะได้รบกวนพ่อแม่แค่ 105 เพราะถ้าเราละความยึดมั่นถือมั่นว่าซีไรต์มันต้องเป็นมหากาพย์ ต้องเป็นเพื่อชีวิตเราก็จะไม่รู้สึกอะไรกับความสุขของกะทิ

 

 

ข้อเสียอีกอย่างที่เราไปสร้างค่านิยมว่าซีไรต์ต้องเป็นอย่างนั้นซีไรต์ต้องเป็นอย่างนี้ นักเขียนหลายคนที่ปัญญายังไม่ถึงนี้ก็ต้องโหนความคิดของตัวเอง อย่างน่าสมเพชเวทนา คือตัวเองปัญญายังไม่ถึง แล้วไปเขียนเรื่องที่ตัวเองไม่ได้หยั่งรู้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องโง่งมเรื่องตลกไป หากคุณงามพรรณ บอกว่าฉันรู้จักชีวิตเท่านี้ ฉันมองเห็นโลกแค่นี้ ฉันก็สร้างเด็กกะทิขึ้นมาเพื่ออธิบาย มุมมองความคิดของฉัน ถามว่าเขาผิดตรงไหน เขาไม่ได้ผิด สัมผัสชีวิตเท่านี้ก็สะท้อนออกมาเท่านี้

แต่กะทิมันมีความงาม ใช้ภาษาสวยงามใช้คำเท่าทีจำเป็น คำน้อยแต่อธิบายเรื่องได้เยอะแยะไปหมด ปรัชญาของมันอาจจะไม่ลึกซึ้ง มันก็แค่เด็กคนหนึ่งที่ข้ามผ่านความทุกข์ของตัวเองได้ แล้วการข้ามผ่านความทุกข์การแสดงทัศนะในการข้ามผ่านความทุกข์โดยอาจจะถูกคนเขียนยัดความคิดของตัวเองเข้าไปโดยไม่แนบเนียนบ้าง อันนี้ก็เห็นพิรุธตรงนี้ มีตำหนิตรงนี้ แต่พอบวกลบคูณหาร เรื่องของการบรรยายฉาก ภาษา การสร้างอารมณ์ มันลงตัว มันจิ้มลิ้ม เหมือนคนแข่งกระโดดน้ำกัน กรรมการไม่ได้บอกนี้ว่าต้องใช้ท่าอะไร กรรมการกำหนดแค่ว่ากระโดดน้ำเพลตฟอร์มความสูง 100 เมตร คุณก็คิดท่าเอาสิว่าจะกระโดดลงมายังไงให้ได้คะแนนมากที่สุด ตามความชำนาญของตัวคุณ กะทิมันฝึกน้อย เป็นแค่เด็กตัวเล็กๆคนหนึ่ง มันก็กระโดดท่าง่ายๆ ถึงจะเป็นท่าง่ายๆแต่มันสมบูรณ์ง่ะกรรมการก็ให้คะแนนสิ มันไม่จำเป็นว่ากรรมการต้องให้ท่ายากชนะเสมอไป

นักเขียนมีหน้าที่ เขียนสิ่งที่หยั่งรู้หยั่งเห็นเพื่อนำพาให้คนอ่านมาเห็นมารู้สึก มาค้นพบ สิ่งเหล่านี้ด้วยกัน นั้นคืออำนาจของวรรณกรรมเรื่องหนึ่งๆ นั้นคือภารกิจของนักเขียนครั้งหนึ่งๆ ไม่ใช่แสดงว่าผาดโผนได้แค่ไหน ไม่ใช่การแสดงอัตตาของตัวเอง ”

-ซีไรต์เหมือนเป้าหมายหลักชัยของวรรณกรรมสร้างสรรค์แต่เมื่อซีไรต์ปฏิเสธวรรณกรรมสร้างสรรค์
ที่จริงถ้าไม่มีซีไรต์วรรณกรรมมันอาจจะสร้างสรรค์มากกว่านี้ก็ได้ ถ้าซีไรต์มันไม่พัฒนามาจนกลายมาเป็นยี่ห้อ ที่คนต้องไล่ล่านี้มันก็อาจจะดีกว่านี้ ซีไรต์สร้างอัตตาให้คน สร้างอัตตาให้มาตราฐาน สร้างอัตตาให้แก่วงการ นักเขียนมากมายเขียนหนังสือด้วยความหวังว่าจะเอาซีไรต์ พลังบริสุทธิ์ทางปัญญา พลังแห่งความเป็นศิลปินมันถูกครอบงำด้วยกิเลสอันนี้ งานมันถึงไม่ระเบิดออกมาจากพลังสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์ ลองไปสำรวจงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกทุกชิ้นสิว่าใครเขียนงานเพื่อจะหวังรางวัลอะไรบ้าง มันเกิดจากพลังบริสุทธิ์ที่ระเบิดตูมขึ้นมาเกิดเป็นงานเขียนชิ้นหนึ่ง ซีไรต์ก็เหมือนกันพอไล่เรียงมาว่าปีไหนเล่มไหนได้ก็เกิดการกะเก็งขึ้นมาว่าปีนี้เล่มไหนน่าจะได้ มันก็เลยไปยึดติดกับตรงนั้นดิ้นไม่หลุด

วันหนึ่งวรรณกรรมเยาวชนได้แทนที่จะตื่นเต้นดีใจว่าซีไรต์เปิดฟ้าให้วรรณกรรมเยาวชน เรากลับไปกระทืบซ้ำมัน ต้องการให้เมืองไทยมีแค่วรรณกรรมเพื่อชีวิตเหรอ ในขณะที่คนครึ่งค่อนประเทศพัฒนาชีวิตไปสู่บริบทอื่น ซีไรต์ได้กลายเป็นชนชั้นผู้ปกครอง เป็นพวกผูกขาด กลายเป็นเจ้าขุนมูลนายที่สั่งที่กำหนดว่า วรรณกรรมของสังคมไทยต้องเป็นยังไง แล้วโชคร้ายเหลือเกินที่นักเขียนจำนวนไม่น้อย ก็ยอมเป็นขี้ข้าของซีไรต์ ประจบสอพลอซีไรต์อยู่ตลอดเวลาซีไรต์อยากได้งานแบบไหนก็จะปั้นงานแบบนั้นไปให้ซีไรต์ วรรณกรรมมันถึงไม่พัฒนาเพราะคนมันมาติดอยู่ที่ความโลภ เงินรางวัล และเกียรติยศชื่อเสียง

-การวิจารณ์
การวิจารณ์บ้านเรามันไม่จริงจัง มันหน่อมแหน้ม วิจารณ์ด้วยอัตตาของคนวิจารณ์ ด้วยอารมณ์ของผู้วิจารณ์มากกว่าการใช้ความรู้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์กัน ลองดูบทวิจารณ์สมัยนี้สิ ผมคิดว่ายังงั้นผมคิดว่ายังงี้ แต่คุณไม่ได้อธิบายมัน ก่อนที่จะวิจารณ์นี้มันต้องมีการกะเทาะองค์ประกอบของมันออกมากองไว้ให้คนดูก่อน ยังไม่ต้องรีบตัดสิน เหมือนเวลาศาลจะตัดสินเขาต้องแยกองค์ประกอบก่อนนี้เป็นคำฟ้อง นี้เป็นคำค้าน นี้เป็นพยาน นี้เป็นหลักฐาน แล้วค่อยตัดสิน

นิยายก็เหมือนกันต้องแยกองค์ประกอบออกมาก่อน ว่าโครงเรื่องเป็นอะไร แก่นเรื่องเป็นอะไร วิธีการดำเนินเรื่องมีศิลปะแค่ไหน สอดคล้องกันยังไง กลมกลืนกันยังไง เหมือนเพลงๆหนึ่งที่กลมกลืนหรือกระโดดโดงเดงๆ คือมันต้องแยกออกมาก่อนแล้วค่อยชี้ชวน กันดูทีละองค์ประกอบ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมันก็สะท้อนศักยภาพของผู้เขียน เช่นศักยภาพเรื่องภาษา ศักยภาพเรื่องความคิด ศักยภาพเรื่องการเสียดสีเหน็บแนม

เพราะฉะนั้นเราต้องแยกมาให้ดูถึงความงามและความบกพร่องของชิ้นหนังสือเรื่องนั้นๆ แล้ว ลองดูสิว่ามันสะท้อนศักยภาพอะไรของผู้สร้างสรรค์ งานชิ้นนั้นๆ ขณะเดียวกัน ก็ดูว่าแต่ละองค์ประกอบที่ร้อยเรียงกันจนกลายเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวีนั้นมีอะไรที่ส่งมาถึงผู้อ่าน ก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรในตัวผู้อ่านบ้าง มันถึงจะเห็น

ไม่ใช่ว่าบอกแต่ว่ารู้สึกอย่างนั้นคิดอย่างนั้น เล่มนี้มันไม่ดีเล่มนั้นดีกว่า คนอ่านบทวิจารณ์ต้องได้รับการศึกษาไปพร้อมๆกัน บทวิจารณ์บ้านเราชอบโชว์ตัวเอง ไม่โชว์ผลงาน หน้าที่ของนักวิจารณ์ก็คือว่า ชูผลงานนั้นขึ้นมาให้เห็นกันจะๆ แต่นักวิจารณ์บ้านเราชูตัวเองขึ้นมาบังผลงานเหล่านั้น จนคนไม่รู้ว่าตกลงงานชิ้นนี้มันเป็นยังไง กลายเป็นว่ามันสร้างวรรณกรรมชิ้นใหม่ซ้อนลงไปในงาน บทวิจารณ์ถูกปรุงแต่งมากจน ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ากำลังพูดอะไรอยู่

-ผลงานวิจารณ์ที่ชอบ
ชอบของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เป็นกรรมการปีนี้ด้วย เป็นคนที่วิจารณ์ตรงไปตรงมาแล้วมีความรู้ในการวิจารณ์ แล้วเอาความรู้นั้นไปตัดสินวรรณกรรม ไม่ใช่เอาตัวเองไปตัดสิน อาจารย์กอบกุล อิงคุทานนท์เป็นอีกคนที่เวลาเราอ่านงานวิจารณ์ของท่านเราจะไม่เห็นตัวอาจารย์กอบกุลในบทวิจารณ์เลย เราจะเห็นแต่งานนั้นล้วนๆ อย่างวิจารณ์ใบไม้ที่หายไปของพี่จี๊ด-จีรนันท์ พิตรปรีชา เราจะเห็นแค่งานของพี่จี๊ดว่าดียังไงบกพร่องยังไง เราไม่เห็นผู้วิจารณ์อยู่ตรงนั้น ไม่มายืนขวางหน้าเราเลย ให้เรากับงานได้สัมผัสกันโดยตรงโดยที่เป็นผู้ชี้ให้เห็น คนวิจารณ์นี้คือมัคคุเทศน์ชี้ให้เรามองเห็นเจดีย์ อย่ามาอวดอุตริมนุษยธรรมโดยการยืนบังเจดีย์ ชี้ให้เราเห็นว่าเจดีย์สวยตรงไหน

-ปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนของวงการ
ความคับแคบในจิตใจคนทั้งของคนเขียน บก. คนจัดจำหน่าย คนพิมพ์ อย่างคนจัดจำหน่าย ก็คิดว่าใครเป็นลูกค้าเรา ใครเป็นคนพิมพ์กับเรา ก็เอางานคนนั้นวางไว้หน้าร้านตนก่อน ส่วนของคนอื่นก็เอาไปซุกซ่อน อันนี้เป็นความคับแคบความเห็นแก่ตัว ส่วน บก. ใครพวกกู ก็พิมพ์ให้ก่อน ถ้าเจ้านายสั่งมาอันไหนดีชั่วก็เอาไว้ก่อนเอาตามนาย ไม่ไฟต์งานให้นักเขียนดีๆ เพราะนายบอกว่ามันจะได้กำไรเหรอมันจะขาดทุนละมั๊ง คุณก็สู้อุตส่าห์เก็บงานดีๆของเขาไว้ ทั้งๆมีหน้าที่เป็นหัวโขนในการรบพุงแทนนักเขียนที่เขียนงานดีๆ

ต้องคิดว่าเขาไม่ได้สร้างงานให้เจ้านายคุณได้กำไร แต่โลกทั้งโลกจะได้กำไรจากงานเขียนของเขานักเขียนเองก็เหมือนกันต้องเรียนรู้ให้เยอะ อย่าจมปลักอยู่กับตัวเองว่า ฉลาดปราดเปรื่อง ว่าตนแน่แล้ว เพราะมันมีความรู้ใหม่ๆ ปัญญาญาณใหม่ๆออกมามากมาย งานพวกนี้มันจะไปขยายโลกทางความคิดของนักเขียน ความโตขึ้นทุกวี่ทุกวันของนักเขียน จะทำให้เขาโตขึ้น แล้วจะชักจูงคนอ่านให้โตขึ้นตามมาด้วย

แต่ถ้าทุกคนคับแคบยึดแต่วรรณกรรมเพื่อชีวิตเท่านั้นที่เป็นศาสดาของตน หมางเมินวรรณกรรมจากที่อื่น อย่างวรรณกรรมแปลเกาหลี นิยายรัก เรื่องโรแมนติก ศาสดาของข้าไม่สนใจงานแปลที่มากองอยู่หน้าตนเอง แต่ต้องเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตเท่านั้นถึงจะเป็นพระเจ้า อย่างอื่นมันเศษเดนพวกนอกรีต ถามว่าความโลกทัศน์ของคุณจะกว้างไกลแค่ไหน ทำไมคุณไม่ตักตวงปัญญาที่มนุษย์ที่อยู่ซีกโลกหนึ่งค้นพบ ทำไมไม่ดื่มด่ำไปกับวรรณกรรมเกาหลี ลองดูซิว่าวิธีการเล่าเรื่องของเขามันอ่อนโยนขนาดไหน มันไหวมันหวั่นขนาดไหน ในนั้นอาจจะมีคำบางคำที่ทำให้คนตระหนักมัน ถึงปัญหาที่กำลังขบคิดอยู่ก็ได้ ถามว่ามันกระจอกรึความคิดพวกนี้ มันก็มีความยิ่งใหญ่ของมัน ไม่ใช่ต้องไปยกระดับชนบท ต้องพูดถึงความเท่าเทียมกันอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องไปให้พ้นความคับแคบของตัวเองให้ได้แล้ว วรรณกรรมไทยมันจะยกระดับขึ้นมากกว่านี้

-งานชิ้นล่าสุดของจิตรกร บุษบา
ตอนนี้กำลังจะมี บางสิ่งที่ทำให้หัวใจอุ่นออกมา ในเล่มเป็นความเรียงเกี่ยวกับบ้าน บ้านสร้างและทำลายอะไรไปบ้างมันจะรวมอยู่ในนี้ อันนี้พิมพ์แจกห้องสมุดร่วมกับผู้ฟังทางคลื่นวิทยุ เล่มนี้นกป่า อุษาคเนย์เคยพิมพ์กับสนพ.ทางเลือกมาแล้ว แต่พิมพ์ครั้งนี้ เอามาดึงบางเรื่องออกแล้วเติมบางเรื่องเข้าไปใหม่ ที่มันสามารถตอบโจทย์ ไม่มีอะไรเหมือนบ้าน บ้านเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของมนุษย์จะสร้างคนหรือปีศาจก็ที่บ้านนี่ล่ะ

ก่อนที่จะพิมพ์ก็ได้บอกคนฟังมีต้นฉบับอันนี้อยู่ ยังไม่มีตังค์แต่อยากพิมพ์ เพื่อที่จะได้ให้เด็กได้อ่าน ได้เห็นชีวิต ได้เห็นพ่อแม่ เห็นความเป็นครอบครัวแล้วหวงแหนมัน แล้วได้ปกป้องมัน คนฟังก็โอนมาคนละร้อยสอง จนพอที่จะพิมพ์ ก็พิมพ์มา 5000เล่ม แจกห้องสมุด 500 เล่ม แล้วก็แจกคนฟังที่ได้ร่วมบริจาคกันมาให้เอาไปสร้างบ้านตัวเอง แล้วอีก 2000 เล่มก็ขออนุญาตนำไปขายเพื่อเอาทุนมาพิมพ์ในครั้งต่อไป เล่มนี้ให้เคล็ดไทยเป็นสายส่งให้--งานชิ้นต่อไป

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ