องอาจ จิระอร : เรื่องราวของบรรณาธิการ

องอาจ จิระอร

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายแห่งประเทศไทยจัดการอบรมในหัวข้อเรื่อง บริหารสำนักพิมพ์อย่างไรให้รวย(ให้รอด) ซึ่งได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 24 -27 ตุลาคม 2549 ณ ห้อง Meeting room 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าแต่ละหัวข้อมีความน่าสนใจอย่างมากและทางเว็บไซต์ประพันธ์สาส์นก็ได้นำเสนออย่างต่อเนื่องผ่านทางคอลัมน์จากขอบเวทีสู่ผู้อ่าน

 

องอาจ จิระอร

 

ในประเด็นการหานักเขียนและตันฉบับ การคัดสรรต้นฉบับและค่าลิขสิทธิ์ ที่มีวิทยากรอย่าง องอาจ จิระอร บรรณาธิการผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือมาเป็นวิทยากร น่าสนใจและหากมองในมุมนักเขียนก็ย่อมต้องอยากรู้ว่าบรรณาธิการเขามีวิธีการในการพิจารณาต้นฉบับอย่างไร ทางเว็บไซต์ประพันธ์จึงโยกหัวข้อนี้มาไว้ในคุยนอกรอบ ส่วนจะน่าติดตามและก่อประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เชิญทัศนา

สวัสดีทุกท่านที่มาร่วมอบรมในวันนี้ สำหรับเรื่อง “การหาต้นฉบับและนักเขียน” ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำหนังสือ ผู้ที่ทำหน้าที่นี้เป็นได้ทั้งเจ้าของสำนักพิมพ์และบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กหลายแห่งทำงานกันแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยเจ้าของสำนักพิมพ์จะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการด้วย ภรรยาเป็นฝ่ายบัญชี น้องเป็นฝ่ายแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้ มิใช่ขนาดของสำนักพิมพ์ แต่เป็นวิธีการบริหารงาน จะทำอย่างไรให้สำนักพิมพ์ของเรามีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา ในการทำหนังสือ เราต้องทำงานแบบออมทรัพย์ คือ ลงทุนเยอะแต่ได้ทีละน้อย ค่อยๆเป็นค่อยๆไป สำนักพิมพ์จึงต้องมีหนังสือหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง ถ้าขายเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ขายอีกเรื่องหนึ่งได้ สำนักพิมพ์ก็อยู่รอด ให้ถือหลักว่า“หาอะไรจากสิ่งที่ขาย มาสร้างสิ่งที่เราอยากจะได้”

บางสำนักพิมพ์ที่มีเงินทุนเพียงพอในการจ้างบรรณาธิการ ควรจะหาบรรณาธิการที่ดีไปเลย แต่บรรณาธิการที่ดีไม่ได้หมายความว่า คนที่มั่นใจในตนเองมาก คิดว่าตนเองเก่ง อ่านหนังสือมาก คนประเภทนี้จะไม่รู้จักชีวิตของการเขียนหนังสือ ถ้าผมเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ผมต้องการบรรณาธิการที่ดีมากกว่านักเขียน เพราะบรรณาธิการสามารถหานักเขียนให้เราได้ แต่มีคำกล่าวว่า “ถ้าเราได้บรรณาธิการที่ดีคนหนึ่ง เราจะเสียนักเขียนที่ดีคนหนึ่ง” หมายความว่า เมื่อคนๆหนึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการ เขาจะไม่มีเวลาเขียนหนังสือ เพราะต้องคอยตามงานจากนักเขียนตลอดเวลา

บรรณาธิการที่ดีควรมีประสบการณ์เขียนหนังสือมาก่อน เพื่อสามารถเดินเข้าไปหานักเขียนด้วยภาษาเดียวกัน เข้าใจกันได้ ทำให้ทราบว่านักเขียนเขาหมกเม็ดอะไรไว้ในต้นฉบับบ้าง แล้วเราควรจะ edit งานอย่างไร ถ้านักเขียนรุ่นเก่ามาเป็นบรรณาธิการ จะโชคดีที่มีเพื่อนพ้องในวงการนักเขียนมากมาย ทำให้รู้นิสัยนักเขียนแต่ละคน การใช้ความเป็นเพื่อนหาต้นฉบับจะมีโอกาสได้ต้นฉบับค่อนข้างสูง บรรณาธิการไม่ใช่ messenger แต่มีอำนาจสิทธ์ขาด ชี้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการงานชิ้นใด มีอำนาจบอกให้นักเขียนแก้ไขงาน ถ้านักเขียนไม่แก้บรรณาธิการมีสิทธิ์เปลี่ยนนักเขียนได้ ในขณะเดียวกันนักเขียนก็มีสิทธิ์เปลี่ยนบรรณาธิการได้เช่นกัน เวลาผมเขียนหนังสือ ผมจะไม่เป็นบรรณาธิการหนังสือของผมเอง ผมจะให้น้องที่ทำงานช่วยเป็นบรรณาธิการให้

ในการติดต่องานกัน บรรณาธิการและนักเขียนต้องมีความเกรงใจซึ่งกันและกัน จะทำให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น ผมจะยกตัวอย่างนักเขียนที่มีชื่อเสียงแต่ถ่อมตนมากคนหนึ่ง คือ คุณรงค์ วงศ์สวรรค์ เวลาเขาส่งต้นฉบับมา พิมพ์ดีดมาอย่างเรียบร้อยทุกครั้ง และมีการระบุหมายเหตุไว้ข้างล่างต้นฉบับด้วยว่า “แล้วแต่บรรณาธิการจะพิจารณาแก้ไข” แต่จากประสบการณ์ของผม นักเขียนบางคนเป็นศิลปินเหลือเกิน ต้องการทำหนังสือของตนเอง แต่ผู้อ่านเข้าถึงไม่ได้ ผมอยากจะถามว่า คุณเขียนหนังสือเพื่อตนเองไม่ได้เขียนเพื่อผู้อ่านเลยเหรอ ประเทศไทยเราหานักเขียนที่ดียาก คุณลาว คำหอม เคยกล่าวว่า “หนังสือประเภทวรรณกรรมที่เป็นโครงกระดูกแห่งชาติ หาได้น้อยมากในปัจจุบัน” ในขณะเดียวกัน บรรณาธิการควรมีความเกรงใจนักเขียนด้วย ต่างฝ่ายต่างก็ให้เกียรติกัน ไม่ก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน ผมทำงานกับนักเขียนคนใด จะขีดความรับผิดชอบระหว่างผมกับนักเขียนตั้งแต่แรกเลย ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะทราบว่าควรแก้ปัญหาตรงจุดใด

นอกจากนั้น บรรณาธิการยังต้องทราบว่าควรทำ marketing หนังสือแต่ละเล่มอย่างไร ต้องติดตามข่าวสารตลอดว่าร้านหนังสือเปิดใหม่มีเพิ่มขึ้นเท่าไร เนื่องจากบ้านเรามีจำนวนร้านหนังสือไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนหนังสือที่ออกใหม่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน ในแต่ละปี ร้านหนังสือเกิดใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 ร้าน ในขณะที่มีหนังสือออกใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000 เล่ม

การหานักเขียน และต้นฉบับ
1.บรรณาธิการต้องทำตัวเป็นเชอร์ล็อกโฮล์ม สืบหานักเขียนนักแปล โดยกำหนดว่าภายในเดือนหนึ่งต้องพิมพ์หนังสือให้ได้จำนวนกี่เล่ม และต้องหานักเขียนนักแปลอย่างไรให้ได้มาซึ่งจำนวนต้นฉบับที่ได้กำหนดไว้ นักเขียนบางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเขียนหนังสือได้ เขาอาจเป็นคนที่พูดเก่ง เวลาไปชมภาพยนตร์ สามารถนำมาเล่าให้เพื่อนๆฟังได้อย่างสนุกสนาน เขาอาจแปลงภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียนได้เช่นกัน นอกจากนั้น ยังสามารถหาตามงานสังสรรค์ได้ สังเกตว่าใครช่างพูดช่างคุยที่สุดในกลุ่ม คนๆนั้นอาจเป็นคนที่เขียนหนังสือเก่ง แต่มิได้หมายความว่าเขียนแฉเรื่องตนเองนะ เมื่อวันก่อน ผมเข้าประชุมในเรื่องการยกเลิกการผลิตหนังสือเกี่ยวกับคนดังออกมาแฉเรื่องตนเอง เพราะถ้าพิมพ์ออกไป ก็ขายได้เฉพาะในช่วงกระแสนิยม เมื่อหมดกระแสไปแล้ว หนังสือจะขายไม่ออก นำไปบริจาคห้องสมุด เขาก็ไม่อยากได้ ถ้าคิดจะทำจริงๆ ต้องตั้งเป้าให้ดีว่าพิมพ์หนังสือออกมาจำนวนเท่าไรให้ขายหมดพอดีกับกระแส


2. หานักเขียนจากเว็บไซต์ สมัยนี้หาง่ายเพราะหลายเว็บไซต์เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นนักเขียน ดร.ป๊อบก็เริ่มมาจากการเป็นนักเขียนในเว็บไซต์ หลายคนเกิดมาจากเว็บไซต์ เมื่อเรานำเรื่องเป็นตอนๆของเขามารวมเล่ม จะทำให้ยิ่งรู้สึกเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างที่ดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามจนจบเล่ม วางหนังสือไม่ลง เช่นเดียวกับเวลาเราไปชมภาพยนตร์ เราจะรู้สึกเหมือนถูกล็อคไว้กับเก้าอี้ ไปไหนไม่ได้
3. บางคนไม่ได้ต้องการเป็นนักเขียน แต่เขามีพรสวรรค์การเขียนหนังสือ อาทิเช่น ผมเคยให้คุณมาร์ค เขียนเรื่อง “ให้เงินทำงาน” ถึงแม้เขาไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่ประสบการณ์และชีวิตของเขาน่าสนใจ เราไม่ได้ให้เขาเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติ แต่มุ่งไปที่เรื่องการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น เราในฐานะบรรณาธิการ เมื่อเห็นว่าใครมีวิถีการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจ ก็เข้าไปสะกิดให้เขารู้สึกว่าชีวิตของเขามีประโยชน์มีคุณค่า สมควรพิมพ์หนังสือให้ประชาชนทั่วไปได้อ่าน เป็นข้อคิดที่ดีในการดำเนินชีวิต

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก่อนที่คุณนนทรีย์ นิมิตรบุตร จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” เขาได้มาเยี่ยมผมที่สำนักพิมพ์ ผมชวนเขาพูดคุยเรื่องสัพเพเหระส่วนตัวทั่วไป แล้วจึงทราบว่าเขากำลังจะทำภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ผมจึงให้เขาเล่าให้ฟังว่าจะทำออกมารูปแบบใด เช่น การวางโครงเรื่อง เทคนิคการถ่ายทำ เป็นต้น เมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เหมาะที่จะนำมาทำหนังสือ ผมจึงให้เขาเล่าเรื่องให้ฟังโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อบันทึกเทป ผมใช้วิธีนี้เนื่องจากสังเกตว่าคุณนนทรีย์มีน้ำเสียงที่ไพเราะและเป็นคนพูดเก่ง เหมาะที่จะไปทำรายการวิทยุ วิธีบันทึกเรื่องราวลงเทปจะทำให้ได้รายละเอียดการทำภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างครอบคลุมและได้อรรถรสมากที่สุด

4.เวลาไปชมภาพยนตร์ ให้ถามตนเองว่าได้อะไรจากการชมบ้าง เราสามารถทราบได้ว่าโลกปัจจุบันเขาสื่อสารกันด้วยอะไร ถ้าเราสังเกตอยู่เสมอ เราจะทราบว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆขายออกหรือไม่ ทันโลกหรือไม่ อาทิเช่น เรื่องเอรากอน เมื่อผมชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ทราบได้ทันทีว่าเรื่องนี้ขายออกแน่ๆ เพราะมีการเดินเรื่องเร็ว ทันโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือมาแล้ว 30 ภาษาทั่วโลก บรรณาธิการคนแรกของผู้เขียนเรื่องนี้ คือ พ่อแม่ของเขาเอง เมื่อเห็นว่าลูกมีพรสวรรค์ในการเขียนหนังสือ จึงออกเงินให้ลูกพิมพ์หนังสือขาย สำนักพิมพ์สนใจจึงไปขอลิขสิทธิ์มาพิมพ์จำหน่าย


5.การสร้างมิตรภาพที่ดีต่อนักเขียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้เขาจะไม่ได้เป็นนักเขียนประจำสำนักพิมพ์ของเรา แต่ถ้าเราพยายามสร้างเครือข่ายสัมพันธภาพที่ดี เช่น เชิญเขามาชมบู๊ทของเราในงานมหกรรมหนังสือ ให้เขาได้รู้จักสำนักพิมพ์เรา นักเขียนที่ดีควรทำงานในหลายๆสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักเขียนเองในการเปรียบเทียบการบริหารจัดการของแต่ละสำนักพิมพ์ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ในขณะเดียวกัน เราในฐานะสำนักพิมพ์ก็ต้องหาวิธีให้ได้งานที่ดีที่สุดจากนักเขียน โดยประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในแต่ละฝ่าย

การคัดสรรต้นฉบับ
ดูว่าควรจะส่งไปให้ฝ่ายใดพิจารณา ภายใน 1 สัปดาห์ ทุกฝ่ายต้องส่งต้นฉบับพร้อมกับข้อcomment ว่า หนังสือเล่มนั้นๆควรจะจัดพิมพ์หรือไม่ ถ้าไม่จัดพิมพ์ ให้ระบุด้วยว่าเนื่องจากสาเหตุใด เช่น
1) ไม่ตรงกับแนวของสำนักพิมพ์
2) ตรงกับแนวของสำนักพิมพ์ แต่ใช้ไม่ได้ ซึ่งเรามีวิธีแจ้งให้เจ้าของต้นฉบับทราบด้วยวิธีที่สุภาพ คือระบุไปว่าไม่ตรงกับแนวของสำนักพิมพ์
3) ต้นฉบับบางชิ้น มีความเหมาะสมเพียงครึ่งเรื่อง แต่สามารถนำอีกครึ่งเรื่องไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งบรรณาธิการต้องเก็บไว้เพื่อนำไปเสนอที่ประชุม ถ้าที่ประชุมเห็นร่วมกันว่ามีข้อบกพร่อง ต้องนำกลับไปแก้ไข บรรณาธิการอาจเชิญนักเขียนมาคุยว่าเราชอบงานของเขา แต่มีข้อบกพร่องตรงจุดใดบ้าง ถ้านักเขียนยอมแก้ไข ต้นฉบับชิ้นนั้นก็มีสิทธิ์ได้ตีพิมพ์
4) ต้นฉบับบางชิ้นเกือบสมบูรณ์ แต่ติดในเรื่องรูปเล่ม ผู้เขียนต้องการการออกแบบรูปเล่มที่ต่างไปจากบรรณาธิการ นักเขียนต้องเจรจากับบรรณาธิการ หาข้อตกลงร่วมกัน

ค่าลิขสิทธิ์ มี 2 แบบ
1. ราคามาตรฐานโลก สำนักพิมพ์จะให้ค่าลิขสิทธิ์แก่นักเขียน 10 % ของจำนวนพิมพ์คูณกับราคาปก
2. ลิขสิทธิ์แบบก้าวหน้า คือ ถ้าพิมพ์เล่มที่ 1-10,000 สำนักพิมพ์ให้ค่าลิขสิทธิ์แก่นักเขียน10% ถ้าพิมพ์เล่มที่ 10,001-20,000 สำนักพิมพ์ให้ค่าลิขสิทธิ์แก่นักเขียน12% ถ้าพิมพ์เล่มที่ 20,001ขึ้นไป สำนักพิมพ์ให้ค่าลิขสิทธิ์แก่นักเขียน15% เราให้ผลตอบแทนแบบอัตราก้าวหน้า แต่บางกรณี สำนักพิมพ์ได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น นักเขียนบางคนขอค่าลิขสิทธิ์15%ตั้งแต่เล่มแรก ถ้าเราต้องการงานของเขามาก ก็ยอมรับราคานั้น สำนักพิมพ์ต้องคุยกับนักเขียนให้ชัดเจนก่อนเริ่มงาน เพื่อที่หลังจากทำงานร่วมกัน เราสามารถเป็นเพื่อนกันต่อได้ นี่คือการทำธุรกิจ ต้องมีการทำสัญญาร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจด้วยว่างานจะไม่ถูกคัดลอก แต่ส่วนใหญ่การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร จะทำเฉพาะกับนักเขียนใหม่ นักเขียนเก่าจะใช้สัญญาทางใจ โดยปกติแล้ว ตามกฎหมายถ้าสำนักพิมพ์ทำสัญญาร่วมกับนักเขียนภายในกี่ปี สำนักพิมพ์จะมีสิทธิ์พิมพ์จัดจำหน่ายภายในระยะเวลาตามกำหนดสัญญา นักเขียนไม่สามารถนำต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์อื่น เมื่อครบสัญญา สำนักพิมพ์ต้องคืนต้นฉบับให้นักเขียน เพื่อที่นักเขียนสามารถนำต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์อื่นพิมพ์จัดจำหน่ายได้ แต่ในกรณีที่หนังสือยังเหลือค้างอยู่ในstock สำนักพิมพ์ก็มีสิทธิ์ที่จะพิมพ์จัดจำหน่ายจนหมด ส่วนในกรณีที่มีปัญหาถูกร้องเรียนว่างานเขียนชิ้นนั้นไปคัดลอกของผู้อื่นมา นักเขียนก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สำนักพิมพ์จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อควรระวังและกฏหมายค่าลิขสิทธิ์ให้ถี่ถ้วน

การซื้อขายลิขสิทธิ์ เราสามารถเลือกได้ 2 วิธี ดังนี้
1.การซื้อขาด หมายถึง การที่นักเขียนขายขาดงานเขียนให้กับทางสำนักพิมพ์หนึ่ง ซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์ทำงานเขียนให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆได้เลย วิธีนี้ผมไม่แนะนำให้นักเขียนทำ เพราะถ้าหากนักเขียนผู้นั้นเสียชีวิต แล้วงานเขียนของเขาตกไปเป็นของทายาท ทายาทจะไม่สามารถนำงานเขียนไปขายให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆได้ แต่ในกรณีนี้ผมแนะนำให้สำนักพิมพ์ทำ เพราะสำนักพิมพ์จะได้งานเขียนของนักเขียนคนนั้นๆอย่างต่อเนื่อง
2.การซื้อเป็นครั้ง หมายถึง เมื่อนักเขียนนำงานมาขายให้กับสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ก็ตกลงกับนักเขียนว่าจะให้เปอร์เซ็นต์ค่าลิขสิทธิ์แก่นักเขียนเท่าไร และทำสัญญากันภายในกี่ปี ถ้าหมดสัญญา เราก็ถามนักเขียนว่าต้องการต่อสัญญาอีกหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการ ก็นำต้นฉบับของนักเขียนผู้นั้นไปให้สำนักพิมพ์อื่นพิมพ์ได้ จำไว้ว่า ถ้าเราไม่ทำสัญญากับนักเขียน สำนักพิมพ์อื่นอาจนำงานของนักเขียนไปพิมพ์ ทำให้งานของเรากับสำนักพิมพ์นั้นๆเป็นคู่แข่งกัน

การหานักเขียนและต้นฉบับ การคัดสรรต้นฉบับและค่าลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่มีหลายขั้นตอนจำไว้ว่าเราต้องใจเย็น ทำทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ