แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า : ไม่มีใครสอนให้เป็นนักเขียนได้ดีเท่ากับหนังสือ

แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า

แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า นักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่อีกคนที่มุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังกับงานหนังสือ แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้ามีผลงานออกมาผ่านตานักอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอในรูปแบบหนังสือทำมือ หนังสือทำมือที่เจ้าตัวบอกว่านอกจากจะทำด้วยมือแล้วต้องใส่ใจเข้าไปด้วย จวบจนกระทั่งเมื่อกลางปีที่แล้วผลงานในระบบเล่มแรกของเขาก็ออกมาอวดโฉมบนแผง ในนาม ยิ้มอัปสรในรัตติกาล ซึ่งหนังสือเล่มนี้คือเล่มเดียวกับที่ได้รับรางวัลพิเศษจากเซเว่นบุ๊คอวอร์ดในประเภทรวมเรื่องสั้นเมื่อปีกลาย

แสงศรัทธาเป็นคนกรุงเทพ แต่ไปเกิดที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะหันมาสนอกสนใจในหนังสือแสงศรัทธาเลือกที่จะดำเนินชีวีตตามแบบวัยรุ่นทั่วๆไป คือเที่ยวตะลอนไปทั่วประเภทค่ำไหนนอนนั้น ไม่ได้ใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมอะไรมากนัก การเที่ยวของเขานี้เองที่ทำให้ได้เห็นได้สัมผัสกับขอทานข้างถนน คนเดินทางที่ไร้แม้กระทั่งที่ซุกหัวนอน หรือการคุ้ยถังขยะเพื่อหาเศษหาอาหารมาประทังหิว ของผู้คนที่ต่างดิ้นร้นเพื่อความอยู่รอดในกรุงเทพ ภาพเคลื่อนไหวของการดิ้นรนในชีวิตเหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บไว้ในความรับรู้จนกระทั่ง ถึงเหตุการณ์ช่วงพฤษภาทมิฬที่เป็นเสมือนแรงผลักความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่นคนหนึ่งให้หันเหเข้าสู่กองหนังสือ

ก่อนจะมาเขียน
ก่อนที่จะเริ่มเขียนหนังสือตอนนั้นไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คือช่วงปี 35 ผมออกจากม .3 น่าจะได้ซักปี สองปีแล้ว ผมเที่ยวอย่างเดียว ตอนนั้นมีเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ทำให้ไปเที่ยวไหนไม่ได้ มีที่เดียวที่ไปได้คือ ถนนราชดำเนิน ก็มาแบบเฉียดๆ สังเกตการณ์นะ ไม่ได้เข้าไปร่วมวงอะไรกับเขา ก็มาเห็นแล้วพอดีได้ดูวีดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เราก็ตั้งคำถามว่าคนไทยด้วยกันแท้ๆทำไมถึงทำกันแบบนั้น

หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจหาหนังสือมาอ่าน ซึ่งก็ซึมซับว่าอะไรเป็นอะไร มันทำให้เรามองตัวเองมากขึ้น ว่าเราไม่น่าจะทำตัวแบบเที่ยวไปวันๆอีก ก็ไปหาหนังสือมาอ่าน จะเลือกวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นหลัก ตอนที่เราเที่ยวบ้างที่ก็นอนข้างถนนกับเพื่อน ก็เห็นสังคมที่เป็นด้านมืดของกรุงเทพ ก็อยากจะเขียนในสิ่งที่เราเห็นมาก็เลยหยิบตรงนั้นมาเขียน นั้นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเขียน ความรู้สึกอยากเขียนครั้งแรกคือปี 2536 พอดีที่บ้านมีเครื่องพิมพ์ดีด ตอนแรกเขียนลายมือก่อนแล้วค่อยพิมพ์ แล้วเอาส่งตามหน้านิตยสาร ตอนนั้นรู้จักอยู่ไม่กี่ที่ คือบ้านเมือง สยามรัฐ ก็ส่งไป

แสดงว่าได้เหตุการณ์ที่ราชดำเนินเป็นแรงบันดานใจ
ตอนนั้นเอาแต่เที่ยวอย่างเดียว ใครจะเป็นจะตายไมได้ใส่ใจบอกตามตรงที่ไปราชดำเนินเพราะไม่รู้จะไปไหน ผมไปราชดำเนินแค่วันสองวันเอง แต่มันเป็นจุดที่ทำให้เราไปค้นคว้าเพิ่มเติม และช่วงนั้นมันมีเคอร์ฟิวด้วยเลยกลายเป็นบังคับให้เราหยุดเที่ยวไปโดยปริยาย พออยากรู้ก็ไปค้นคว้าแล้วทำให้เราติดหนังสือขึ้นมา เล่มแรกๆที่ไปค้นคว้าน่าจะชื่อ 6 ตุลาข้าคือผู้บริสุทธิ์อะไรประมาณนี้เป็นหนังสือเก่า ในเล่มมีบางส่วนที่พูดถึงหนังสือวรรณกรรมเราก็ไปตามหาอ่านอีก

หนังสือที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจของผมจริงๆแล้วเป็นหนังสือของพี่อัศ-อัศศิริ ธรรมโชติ เล่มที่ได้ซีไรต์นั้นล่ะ ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง อ่านแล้วชอบทุกเรื่องเลยนะ ช่วงนั้นน่าจะอายุประมาณ 18-19 ก็ลองเขียนดู อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่มีอะไรทำก็ลองเขียนดู แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาหรอกนะ คือเราไปเห็นอะไรมาก็เอามาเขียน เวลาไปกินเหล้าไม่มีเงินไปเช่าห้องอยู่ บางทีก็นอนตามศาลา บางทีก็เดินตามข้าง

เราก็ไปเห็น ขอทานที่เขานอนกันอยู่เกลื่อนกลาด ตอนนั้นพูดจริงๆว่าผมก็พยายามยึดวรรณกรรมเพื่อชีวิตเอาไว้เป็นหลัก คือเราต้องสะท้อนออกมาให้คนอื่นได้รู้ว่าตอนที่คนอื่นนอนหลับแล้วนี้ก็ยังมีคนที่เดินคุ้ยถังขยะอยู่ ยังต้องทำงานอยู่ ก็เห็นสังคมที่เป็นด้านมืดของกรุงเทพ ก็อยากจะเขียนในสิ่งที่เราเห็นมาก็เลยหยิบตรงนั้นมาเขียน นั้นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเขียน

ทำไมถึงเลือกจะเขียนแนวนี้
เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวมั้ง การเที่ยวตอนนั้นมันก็ไม่ได้สะดวกสบายพอผับปิดผมกับเพื่อนก็มานั่งคิดกันว่าจะไปที่ไหนกันดี ไม่มีที่นอน แม้กระทั่งบุหรี่ก็ไม่มีสูบเราก็ต้องไปเก็บก้นบุหรี่ที่เขาทิ้งแล้วนี้มาสูบกันมันก็เป็นความยากลำบากที่ทำให้เราได้ซึมซับตรงนั้นเข้ามาด้วย ผมไม่สามารถไปเขียนแนวพาฝัน แต่เขียนในเรื่องที่พบเห็นมาแล้วรู้สึกว่ามันเขียนง่ายเพราะเป็นสิ่งเราได้พบเจอมาเอง ก็น่าจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เจอมา

ช่วงแรกของการเขียน
เรื่องแรกที่เขียนจำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร แต่จำได้ว่าส่งไปที่สยามรัฐ แต่ไม่ได้ลงเลย ตอนนั้นอ่านของพี่อัศ อ่านหลายรอบมาก ตอนนั้นไม่มีตังค์ก็เปิดอ่านอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ชอบมาก แล้วถามตัวเองว่าเราเคยเจออะไรมาบ้าง ก็ผูกเรื่องเขียนส่งไปสยามรัฐอย่างเดียว ก็ไม่ได้ลงเลยถามว่าท้อไหมก็ไม่ท้อหรอกตอนนั้น คราวนี้ก็ลองส่งไปที่อื่นบ้าง เช่น บ้านเมือง ที่ไหนที่รับเรื่องสั้นก็จะส่งไป เรื่องแรกที่ได้ลงที่ ชีวิตชีวา ได้ค่าเรื่องมายังจำได้ว่า ถ้าไม่พันสองก็ เก้าร้อยกว่าบาทคือหักภาษีแล้ว จำได้ว่าหนังสือราคา 50 บาท เป็นหนังสือวัยรุ่นแต่เขาจะมีเรื่องสั้นสะท้อนสังคม เรื่องต่อมาลงที่บ้านเมือง ก่อนที่ชีวิตชีวาจะเจ๊งก็ยังเขียนอยู่เรื่อยๆ แล้วบังเอิญมีครอบครัวก่อนเลยหยุดเขียนไป

ตอนมีครอบครัวไปขายเกลาเหลาเลือดหมู ขายเกลาเหลาเลือดหมูนี้ตี่สี่ก็ต้องตื่นขายไปจนถึงบ่ายสอง บ่ายสองกว่าๆ เก็บร้านเสร็จก็กลับมานอน เมื่อก่อนขายเอกมัย คืออยู่สุขุมวิท101 แต่ไปขายเอกมัยขายเสร็จก็กลับมานอน ช่วงแรกก็อ่านหนังสือ มีพลังจะเขียนอยู่ พอไปขายมากๆ ตื่นเช้ามากขึ้น และ การที่ครอบครัวมีปัญหาอะไรด้วยเลยจบไปเลย ไม่มีความรู้สึกที่อยากจะเขียน ก็หยุดไปประมาณสัก 7-8 ปี ขายของด้วยหลังจากที่เลิกขายที่เอกมัยก็มีกิจการเป็นของตัวเอง ตอนนั้นขายข้าวหน้าเป็ด พอเลิกกับแฟน กลับมาอยู่คนเดียวก็หวนกลับอ่านหนังสือแล้วก็กลับมาเขียน เอาประสบการณ์ ใน 8 ปีที่หยุดไป นั้นแหละกลับมาเขียน เป็นทุนที่ทำให้เราสร้างสรรค์งาน จนทุกวันนี้ก็ยังกลับไปคิดถึงตรงนั้นก็ยังเอามาเขียนอยู่บ้าง

ตอนที่กลับมาเขียนอะไรเป็นแรงผลักให้กลับมา
ตอนที่กลับมาผมกลับมาอยู่บ้าน กิจการทุกอย่างนี้ก็ยกให้แฟนเขา แล้วผมกลับมาอยู่บ้านนี้คือกลับมาเริ่มนับศูนย์ใหม่ แล้วมันรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนเพิ่งออกจากคุกมั้ง แล้วพอดีก่อนจะมีครอบครัวนี้ซื้อหนังสือไว้เยอะ ช่วงนั้นไรเตอร์แมกกาซีนอะไรก็ชื้อไว้เยอะ จริงๆ ตอนอ่านหนังสือแรกๆ พวกวรรณกรรมที่เขาว่าดีๆ นี้อ่านไม่รู้เรื่องแต่ก็พยายามอ่าน แต่กลับมาอ่านรอบใหม่คราวนี้รู้เรื่องขึ้นพอเข้าใจมากขึ้นก็อยากจะเขียนอีกครั้ง พูดง่ายๆว่าเราตัวคนเดียวไม่มีอะไรมากมายก็เลยเลือกที่จะเขียน

อัตราเฉลี่ยของผลงานที่ออกมาในช่วงแรกกับตอนนี้
ช่วงนี้เขียนได้เยอะกว่า การเขียนในช่วงแรกนี้ยังกล้าๆกลัวๆ หรือบางครั้งพิมพ์ดีดไปได้สักสองหน้าเครื่องพิมพ์ร่วนบ้าง หรือไม่มีอารมณ์ที่จะพิมพ์ต่อบ้างก็จบไปดื้อๆ เลย ทิ้งเลย เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์มันก็เลยสะดวกขึ้น เมื่อก่อนพิมพ์ดีดถ้าจะแก้ต้องรอน้ำยาลบคำผิดแห้ง แต่คอมนี้สะดวกสบายกว่าเยอะ

ตอนนี้เขียนไรอยู่
ก็เขียนอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่กลับมาเขียนใหม่นี้ก็เขียนอยู่ตลอดแล้วก็อ่านมากขึ้น คิดอะไรมากขึ้น ไม่ได้เหมือนตอนแรกที่คิดอะไรได้ก็เขียน พอกลับมาอ่านใหม่ก็ต้องใส่ใจมากขึ้นประณีตมากขึ้น ปัจจุบันผมเขียนในเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์ มากกว่า ผมชอบอะไรที่มันเป็นแนวจิตวิทยา ผมอยากจะเขียนให้มันดีโดยการใช้หลักวิเคราะห์ทางจิตวิทยาด้วย

เน้นเฉพาะเรื่องสั้นอย่างเดียว
เน้นเรื่องสั้นอย่างเดียวแต่นิยายก็เคยเขียนนะแต่ด้วยความที่ว่าเราเขียนเรื่องสั้นมาเยอะกว่าพอไปเขียนนิยายเราก็เร่งอยากจะให้จบเร็วๆ อย่างเดียว พยายามจะไปยืดเรื่องก็ไม่ได้ คือมันชิน ว่าทำไมไม่ขมวดให้มันจบเสียเร็วๆ เลยวะ...แต่ตอนนี้ก็มีนิยายที่เขียนอยู่ มีอยู่สองพล๊อต ก็ค่อยๆ พยายามเขียนไป พยายามคิดว่าให้มันเป็นเรื่องสั้น จะพยายามเขียนให้จบเป็นตอนๆ ผมจะวางไว้เลยว่านายก.จะทำยังไงในตอนนั้น มันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันจบไปเลยในตอน

นิยายที่เขียนเน้นหนักความบันเทิงด้วยหรือเปล่า
ตั้งใจเขียนให้เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคน ของแม่กับลูก ของครอบครัวกับลูก ไม่แน่ใจว่าถ้าเขียนเสร็จแล้วอาจจะไม่ใช่นิยายน้ำเน่าแต่คนอาจจะรับไม่ได้เท่านั้นเอง คือพยายามจะสื่อความคิดตัวเองออกมาเป็นหลัก ว่าผมคิดอย่างนี้และมันน่าจะเป็นอย่างนี้ ผมพยายามจะให้ทุกคนรู้ว่าบางสถานการการณ์เราไม่สามารถเลือกได้ บ่อยครั้งที่เราได้ยิน ถ้าเป็นผม ถ้าเป็นฉัน จะทำอย่างนี้ แต่คนพูดไม่ใช่คนที่เจอเหตุการณ์ คุณไม่ได้เป็นเขาคุณจะไปตัดสินเขาได้อย่างไร อยากจะสะท้อนตรงจุดนี้ด้วย ในเรื่องก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆอยู่ในนั้นด้วย คืออยากจะให้มันเป็นกลาง อยากให้คนคิดว่าถ้าเป็นนายก.เราจะทำอย่างไร เป็นนาย ข. เราจะทำอย่างไร

เรื่องนี้ถ้าแปรเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่งได้สัก 20 เปอร์เซ็นต์ ผมเป็นคนทำงานตามอารมณ์ด้วย วันไหนเบื่อๆก็ไม่เขียน ไปอ่านหนังสือหรือนั่งเล่นกับหมาไป แต่ก็พยายามจะบังคับตัวเองให้เขียนทุกวัน ก็ไม่ถึงกับอารมณ์จ๋าหรอกนะ คือพยายามแต่ไม่ถึงขนาดว่าฝืน นักเขียนหลายคนเก่งนะต้องยอมรับเขา เช้ามาเขียนเรื่องหนึ่ง บ่ายเขียนอีกเรื่อง เย็นเขียนอีกเรื่อง ผมเคยลองเหมือนกัน แต่มันไม่ได้

จะยึดงานเขียนเป็นอาชีพเลยไม่
ไม่เข้าใจว่าอาชีพนักเขียนเป็นอย่างไร แต่สำหรับผมจะเขียนไปเรื่อยๆ

ไม่มองงานเขียนในแนวที่มันสามารถเลี้ยงตัวเองได้เหรอ
ถ้าพูดตรงๆ เงินไม่ใช่ปัญหาของผม ผมดูดยาเส้น 5 บาท กินข้าวที่บ้าน ซึ่งมันใช้เงินน้อย คือมันไม่ใช่ตัวผม ถ้าผมอยากได้เงินจากตรงนั้นผมคิดว่า ตัวผมก็มีวิชาชีพ คือการทำเกาเหลา การทำข้าวหน้าเป็ดของผม ผมไปทำอย่างนั้นดีกว่า แต่ที่นี้ถ้าถามว่าผมอยู่ได้ไหมกับเงินแค่นี้ ผมอยู่ได้ ผมไม่เดือดร้อนและใครไม่เดือดร้อนก็จบ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าไปเขียนงานให้ได้เงินนี้ หลายๆ คนก็ทำ เขาก็คิดถูกของเขา ผมก็ไม่ได้ไปอะไรเขา แต่ถ้าถามผม ผมไม่ทำเพราะมันไม่ใช่ผม ถ้าอยากได้เงินตรงนั้นผมไปขายเกาเหลาดีกว่าลงทุนไม่ถึงหมื่นก็ทำตรงนั้นได้วันละ 4-5 ร้อยเป็นกำไรดีกว่า

เงินคือส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก
ใช่เงินคือส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก มันก็ได้แค่ประทังชีวิต อย่าไปฟุ้งเฟ้อกับมันก็พอ เป้าหมายคืออยากเขียนให้คนได้อ่าน เราคิดแค่ว่าเราอยากนำเสนอความคิดของเรา ส่วนจะถูกจะผิดคุณไปตัดสินเอาเอง

สถานการณ์หนังสือทำมือ
สถานการณ์มือมันก็แย่ลง บางครั้งเด็กรุ่นใหม่เข้ามาก็อาศัยคำว่าทำมือคำว่าอินดี้อย่างฉาบฉวยเพื่อจะไปเย้วๆกับเพื่อน เป็นงานอดิเรกที่สนุกสนานโดยไม่ได้คิดถึงภาษาหรือวรรณศิลป์พอ บ้างครั้งการทำมือใช้ภาษาแบบวัยรุ่น โอเคคุณมีความตั้งใจนะถูก แต่ผิดที่ใช้ภาษาอย่างผิดๆถูกๆเพราะนั้นเท่ากับการทำลายวงการหนังสือทำมือ

ทำมือต้องผ่านระบบบรรณาธิการไหม
หนังสือทำมือก็ควรมีระบบบก.นะอย่างของผมเองจะให้เพื่อนกันช่วยดู เขาก็จะบอกเอาเรื่องนี้ออกดีไหม เรื่องนี้ไม่มีคุณภาพในตัว เรารับฟังได้ก็โอเค ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาคุยกัน แต่จะว่าไปหนังสือทำมือเราเองเป็นคนกลั่นกรองคนแรก คือผู้ง่ายๆว่าเราเป็นบก.ให้ตัวเองก่อนคนอื่นจะว่าไงก็ค่อยมาถกเถียงกัน

ยิ้มอัปสรในรัตติกาล เป็นการรวบรวมงานทั้งหมดของแสงศรัทธาใช่ไมครับ
เล่มนี้ผมส่งไปเป็นชุดให้เขา เผอิญพี่นิคม (บก.สำนักพิมพ์นกฮูก) เขาชอบแนวนี้อยู่เลยเอาไปทั้งหมดตัดอยู่เรื่องเดียวคือเด็กชายปีกขาวฯ มันก็ออกมาในแนว magical ทั้งหมด คือผมไม่ได้ส่งไปทีเดียว 30-40 เรื่อง แต่จะจัดไปเป็นชุดให้บรรณาธิการ ถ้ามีเอกภาพในตัวเขาก็โอเคตามที่เราจัดไป คือเราเองก็อยากมีส่วนร่วมในหนังสือของเรา แล้วก็ให้บรรณาธิการเขาตัดสิน

มีคำวิจารณ์ว่าเป็นคนทำมือแต่ทำไมต้องส่งไปสนพ.
อันนั้นผมเห็นแล้ววิจารณ์ได้ค่อนข้างดีแต่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราพยายามจะสื่อ จริงๆผมไม่ได้ทำมือตั้งแต่แรก ตอนแรกผมเขียนส่งนิตยสาร หนังสือทำมือมาที่หลังตอนที่ผมกลับมาเขียนอีกรอบ ตอนนั้นส่งนิตยสารไปด้วยแต่ก็มีเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่าน ผมไปเจอการทำหนังสือทำมือ ก็เอาเรื่องสั้นที่ไม่ผ่านมาทำมือเท่านั้นเอง บางคนบอกผมนี้ทำมือนะ แต่จริงๆไม่ใช่ ผมส่งนิตยสารมาตลอด แต่หน้าผากผมโดนประทับไว้แล้วว่าเป็นคนทำหนังสือทำมือ

กรณีส่งไปเรื่องเดียวหลายที่
ในความรู้สึกส่วนตัวผมไม่ทำ ผมรอได้ ไม่ใช่เขียนเรื่องนี้แล้วมารอสามเดือนมานั่งกระวนกระวายใจ ว่าจะผ่านไม่ผ่าน สำหรับผมส่งแล้วลืมไปเลยจะไม่ไปนั่งกังวล ผมไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดยังไง แต่สำหรับผมหน้าที่ของผมเขียนแล้วส่งไปใหม่เรื่อยๆ ผมจะไปแผงหนังสืออาทิตย์ละครั้งไปเปิดดู ไม่ได้ลงก็ไม่เป็นไร

ถ้าเป็นกรณีรวมเล่ม
ในทัศนคติของผมก็เหมือนกันผมจะส่งไปทีละสำนักพิมพ์ มีเรื่องของผมค้างอยู่สักสองปีได้แล้วมั้ง แต่ผมก็ไม่ได้ไปเร่งเร้าอะไร เขามีเหตุผลของเขาก็โทรไปถามบ้าง ยิ้มอัปสรฯ นี้ส่งไปสามเดือนเขาก็พิมพ์ให้แต่อีกชุดหนึ่ง เขาก็ตกลงว่าจะพิมพ์แต่ยังติดขัดอยู่ เราก็เข้าใจปล่อยให้เขาทำงานของเขา ไปเราก็ทำงานของเราต่อไป

ผมเองก็ไม่ได้รีบเพราะอย่างน้อยมันเคยลงนิตยสารมาแล้วครั้งหนึ่ง และอีกอย่างการรวมเล่มก็ไม่ได้บ่งบอกว่า เฮ้ยคุณรวมเล่มคุณเป็นนักเขียนแล้วนะ มันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป กรณีของผมโทรเช็คตลอดนะ ภาพประกอบ ปกเรียบร้อยแล้วด้วย เรื่องนอนอยู่ในคอมรออาร์ตอย่างเดียว แต่เขาก็มีเหตุผลของเขา คือผมก็เข้าใจเขา การทำหนังสือเล่มหนึ่งนี้รวมค่าลิขสิทธิ์นักเขียนด้วยนี้บางทีก็เป็นแสน สำหรับผมนี้พอรับได้ รอได้

เรื่องสัญญา ก็ใช่ต้องคุยต้องทำสัญญาแต่บางทีเราต้องมองถึงมนุษยธรรมด้วย ซึ่งไม่ถูกที่ผมต้องไปรบเร้าหรือโมโหเขา ถ้าไม่พอใจก็แค่ขอถอนต้นฉบับคืนอย่างมากผมก็ได้งานกลับมา ทำไมต้องทำให้บาดหมางกัน ในเมื่อเขาไม่พิมพ์เรารอไม่ได้ก็ถอนออกมาซะ แต่ถ้ารอได้ก็ทำงานของเราต่อไป แค่นี้เอง

มีโครงการจะรวมเล่มในช่วงนี้ไหม
ก็จะรวม คือมีโครงการจะทำเอง ลงทุนพิมพ์เอง รู้ว่ายังไงก็ขาดทุนแต่ก็ทำของเราต่อไป ช่วงนี้ก็เขียนเรื่อยๆ ทั้งเรื่องสั้นบ้าง แว๊บไปนิยายบ้าง

ฝากถึงคนอยากเขียนหนังสือ
ความอยากมันไม่ช่วยอะไรเราถ้าคุณไม่ลงมือ ผมเขียนหนังสือครั้งแรกไม่มีใครเป็นครู นอกจากหนังสือ ครูของผมก็คือหนังสือพี่อัศศิริ หนังสือของใครต่อใครที่ผมได้อ่าน เหมือนหนังสือพวกเขียนเรื่องสั้นอย่างไร อบรมเขียนหนังสืออย่างไร ผมเห็นด้วยครึ่งเดียวนะ ผมคิดว่างานเขียนเป็นศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะเขียนหากอยากแล้วแค่คิดไม่ได้ลงมือเสียทีมันก็ได้แต่อยู่ในหัวคุณ ไม่ต้องไปพึ่งใครหรอกพึ่งตัวเองเขียนมันออกมาแล้วก็อ่านให้เยอะ ผมเชื่อว่าต่อให้นักเขียนดังๆ สมัยนี้มานั่งสอนคุณก็คงไม่ดีไปกว่าให้หนังสือสอน คือผมเชื่อเลยว่าไม่มีใครสอนให้เป็นนักเขียนได้ดีเท่ากับหนังสือ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ