พงษ์ลดา อิทธิเมฆินทร์ : นิยายน้ำเน่าก็มีคุณค่า กับคนที่ต้องการอ่านมัน

พงษ์ลดา   อิทธิเมฆินทร์

พงษ์ลดา อิทธิเมฆินทร์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในนามปากกา พรรณวดี เป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาหลากหลาย ทั้งเป็นโฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ ประชาสัมพันธ์ คอลัมน์นิสต์ และยังเป็นนักแสดงอีกด้วย แต่สุดท้ายก็ได้ค้นพบตัวเองว่ามีความสุขแค่ไหนกับการได้เขียนหนังสือ โดยเฉพาะการเขียนนวนิยายในแนวที่เธอชอบ จนกระทั่งได้ฝากผลงานเอาไว้ให้วงการวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง

เล่าถึงประวัติ
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ จากมหาวิทยยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารวิทยุโทรทัศน์ จากอเมริกา สมัยเด็กๆ ชอบเขียนบทกวีประเภทกลอนและกาพย์ยานี และชอบอ่านหนังสือต่างๆ มาโดยตลอด จนเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผลงานกลอนแปดและกาพย์ยานีก็ได้รับรางวัลชนะเลิศและนำไปอ่านทางสถานีวิทยุธรรมศาสตร์ด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจกิจกรรมในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการละคร เลยไม่ค่อยได้มีเวลาเขียนอะไรเท่าไหร่ จนได้เดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ และอาศัยอยู่ที่นั่นถึง 7 ปี ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือมากที่สุด ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกษทุกประเภทรวมไปถึงนิยายฝรั่ง จากนั้นก็ได้เริ่มเขียนหนังสือมาเรื่อยๆ

เส้นทางสายน้ำหมึก
พี่เริ่มต้นจากการแปลหนังสือก่อนที่จะมาเขียนนิยาย เพราะว่าไปพบ หนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเก่าที่ชาวอเมริกันเขียน เป็นหนังสืออัตชีวประวัติ เรื่อง The Treasured One : The Story of Priencess Rudivorawan หรือ “บันทึกท่านหญิง” อ่านแล้วรู้สึกประทับใจก็เลยแปลเก็บเอาไว้ เพราะว่าถ้ามีโอกาสจะได้นำมาเผยแพร่ที่เมืองไทย หลังจากแปลหนังสือเล่มนี้แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจอยากจะเขียนนิยายขึ้นมาเองบ้าง คงจะเป็นเพราะว่าติดลมบนแล้ว คือแปลเรื่องไปแล้วเกิดความชอบ เกิดความรู้สึกว่าอยากจะเขียนเองขึ้นมา ก็เลยเขียนนิยายขึ้มา 4 เรื่อง คือ “ลมรัก...ทะเลหนาว” “กุหลาบเมืองหนาว” “ ในห้องสีขาว” และ “ณ ที่นี้ยังมีรัก” แต่หลังจากเขียน 4 เรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็ต้องหยุดชะงักไป เพราะว่าตัดสินใจที่จะกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนแรกก็ไปทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทโฆษณา แต่เราไม่คุ้นเคยกับสภาพรถติด และความแออัดของกรุงเทพฯ เพราะตอนที่อยู่อเมริกานั้นอยู่กับธรรมชาติ จะค่อนข้างสงบไม่วุ่นวายเหมือนที่นี่ ก็เลยคิดว่าตรงนั้นมันไม่เหมาะกับชีวิตเรา เลยเบนเข็มมารับงานฟรีแลนท์ ก็คือรับแปลหนังสือให้กับ ไทยเฟแนนเชียล และอีกหลายๆ ฉบับ ซึ่งตอนนั้นก็แปลอย่างเดียวแล้วก็ส่งบันทึกท่านหญิงที่แปลเอาไว้ ให้กรุงเทพธุรกิจอ่าน แล้วเข่าก็นำไปลงเป็นตอนๆ พอลงจบในกรุงเทพธุรกิจแล้ว สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายก็นำไปรวมเล่ม ซึ่งถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานรวมเล่มครั้งแรก

ส่วนในเรื่องของนวนิยาย พอเขียนได้ 3 เรื่องแล้วก็หยุดไปเลย หยุดไปเกือบ 9 ปี ก็ทำงานแปลไปจนเพลิน จนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะเขียนนิยายได้ เนื่องจากเคยให้คนที่อยู่ในวงการเขาcommentงานที่เขียน เขาบอกว่ามันเป็นแนวโรแมนติกมากๆ อาจเป็นเพราะเขาเขียนงานในลักษณะเพื่อสังคมก็เลยไม่ชอบแนวของเรา แต่พอพอ feedbackมันออกมาไม่ดี พี่ก็เลยหยุดไป ตอนหลังพอดับเบิ้ลนายได้ร่วมเล่มบันทึกท่านหญิงให้แล้ว เขาก็ถามว่าเรามีอะไรอยู่ในมืออีกไหม ก็เลยบอกไปว่ามีนิยายอยู่ 3 เรื่อง เขาก็บอกว่าให้ส่งมาเลยเพราะว่าดูจากการแปลแล้วใช้ได้ ตอนนั้นก็เลยส่ง ในห้องสีขาว ไปให้เขาพิจารณาซึ่งก็ตอบตกลงตีพิมพ์ให้เลย หลังจากนั้นก็เลยคิดว่า ถ้านิยายเรื่องแรกที่ส่งไปใช้ได้ เราก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาอีกว่า นิยายของเราได้พิมพ์ก็แสดงว่าพอใช้ได้นะ ทำให้มีกำลังใจที่จะเขียนต่อไปอีก

ผลงานที่คว้ารางวัล
ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งเขามาบอกว่ามีประกวดของเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด อยากให้เราลองส่งไปประกวดดู เราก็ส่งไปเล่นๆ ไม่ได้หวังอะไร พอดีกับช่วงนั้นพิมพ์นิยายเรื่องกุหลาบเมืองหนาวออกมา ก็เลยนำเล่มนั้นเข้าประกวดหลังจากนั้น ดร. สิทธา พินิจภูวดล ท่านก็ได้เขียนวิจารณ์หนังสือ กุหลาบเมืองหนาวในสกุลไทย ซึ่งท่านก็ชมเชยว่าเป็นแนวโรแมนติกผสมเอ็กซอร์ติก แล้วก็ให้พี่ยึดแนวนี้ต่อไป อย่าไปเปลี่ยน ท่านก็แนะนำอย่างนั้น ในที่สุดเล่มนี้ก็ได้รางวัลชมเชยเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด ปี 2547 พอกุลาบเมืองหนาวได้รางวัลแล้ว มันเหมือนกับว่าเป็นบทพิสูจน์ว่า คนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมความรู้ขนาดดอกเตอร์ก็ยังชื่นชมในงานของเรา แล้วสนับสนุนให้เขียนแนวโรแมนติกที่ใช้ฉากต่างประเทศแบบนี้ต่อไป พอได้รับคำชมอย่างนั้นก็เลยกลับมาเขียนทีนี้เขียนใหญ่เลย งานแปลเริ่มไม่อยากจะทำแล้ว เพราะตอนที่ทำงานแปลนั้นคือทำเพราะว่าไม่รู้จะทำอะไรเนื่องจากอายุเรามากแล้ว จะไปจัดรายการวิทยุหรือเล่นหนังเล่นละครมันก็หมดวัยแล้ว พอมีแรงบันดาลใจจากกุหลาบเมืองหนาวก็เลยเขียนนิยายตลอดเลยไม่หยุด 7 ปีเต็มๆ

ผลงานเขียนที่ผ่านมา
นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็จะมีหนังสือ how to เคล็ด(ไม่)ลับ เลี้ยงลูกเล็ก, เคล็ด(ไม่)ลับ เลี้ยงลูกวัยรุ่น, สวย รวย เก่ง, บิวตี้ ทิปส์ เคล็ดลับความงามอย่างถูกวิธี เป็นต้น ส่วนงานนวนิยายก็จะมี ลมรักทะเลหนาว, กุหลาบเมืองหนาว, ณ ที่นี้ยังมีรัก, มณีมินตรา, กิ๊กรัก กั๊กหัวใจ, หลิวลู่ลม, หยุดรักนี้ไว้ที่เธอ แล้วก็มีเรื่องที่เขียนร่วมกับยาจิตร ยุวบูรณ์ คือผลงานนวนิยายเรื่องญาณทิพย์ เป็นเรื่องที่ช่อง 3 นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ นอกจากนี้ก็มีงานเขียนและงานแปลอื่นๆ เช่นเขียนบทละครเรื่องนวลฉวี เรียบเรียงนวนิยายจากบทละครโทรทัศน์อยู่หลายเรื่อง แล้วก็แปลสารคดีต่างประเทศในหนังสือพิมพ์ไทยไฟแนลเชียล นิตยสารเจนท์ ลลนา กรวิก นักธุรกิจ ธุรกิจก้าวหน้า และเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ในนิตยสารแม่และเด็ก เป็นต้น

เกี่ยวกับรางวัลชมนาดบุ๊คไพรซ์
ตัวเองจะเป็นคนที่เขียนนิยายเร็วมาก บางเรื่องใช้เวลาเขียนแค่เดือนเดียว บางปีก็เขียนหลายเรื่องมาก บางทีก็ต้องหยุดพักบ้างเพราะว่ามีต้นฉบับที่อยู่กับตัวที่ยังไม่ได้รวมเป็นสิบเรื่องที่จะต้องทยอยรวมเล่ม เท่ากับเรามีต้นฉบับอยู่ในสต็อกอยู่แล้ว บวกกับได้รู้ข่าวเรื่องชมนาดจากคนในวงการ พี่ก็เลยเลือกเอาเรื่องที่พี่เขียนไว้เป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมกับสเต็มเซลล์ ออกแนววิทยาศาสตร์นิดๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกๆ ก็เลยส่งเรื่องนี้เข้าไปประกวดแบบสนุกๆ ไม่ได้คิดมาก เพราะว่าเรามีเรื่องเขียนไว้หลายเรื่อง

และถือว่าตรงนี้เป็นโอกาสสำหรับนักเขียนหญิงที่จะได้มีเวทีสำหรับแสดงความสามารถของตัวเอง เพราะเวทีทั่วไปอย่างซีไรท์ หรือเวทีอื่นๆ ส่วนใหญ่นักเขียนชายจะคว้ารางวัลไปหมด คือไม่ใช่ว่าเราไปจำกัดสิทธิของผู้ชาย โดยทั่วไปจะเป็นเวทีรวมอยู่แล้วระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง อาจจะเป็นด้วยเรื่องเนื้อหาหรือมุมมองต่างๆ ที่ผู้ชายอาจจะเขียนเนื้อหาได้จับใจกรรมการมากกว่า เพราะเห็นซีไรท์ที่ได้จะมีผู้หญิงแค่ไม่กี่คนเอง เท่าที่รู้จักเช่น คุณ งามพรรณ เวชชชาชีวะ เดือนวาด พิมพ์วนา กฤษณา อโศกสิน นอกนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ชาย

ในการประกวดแต่ละครั้ง งานที่ไม่ได้รางวัลไม่ได้หมายความว่าเป็นงานที่ไม่ดี แต่ว่ามันขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดที่คัดเลือกให้ตัดสินการประกวดนั้นๆ ว่าเขาจะเลือกให้ความสำคัญที่ตรงไหน พี่มองว่างานทุกผลงานไม่ว่าจะเป็นงานโรแมนติกหรืองานที่โดนตราหน้าว่าน้ำเน่าที่เขาเขียนกัน ต่างก็มีคุณค่าเช่นเดียวกับงานวรรณกรรมอื่นๆ บางคนอาจจะบอกว่าเรื่องนี้มันน้ำเน่า แต่สำหรับคนที่อ่านเรื่องของเขาบางทีเขาอาจจะได้แง่คิด หรือได้อะไรจากเรื่องที่อ่านและแน่นอนที่สุดคือเขาได้ความสุขความบันเทิงจากการที่ได้อ่านเรื่องที่เขาชอบ โดยเฉพาะนิยายนั้นแค่คนอ่านอ่านแล้วมีความสุขก็พอแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าการเขียนนวนิยายถ้าอ่านแล้วเครียดมากก็ไม่ค่อยชอบ คือเราอยากเขียนอะไรที่ทำให้คนอ่านเขาอ่านแล้วยิ้มได้ ตัวเองจะไม่ชอบอ่านงานที่มันเศร้ามากเพราะจะสงสารพระเอกนางเอก มีคนบอกว่าให้พี่เขียนให้พระเอกตายไม่ได้เหรอ เราก็บอกว่าไม่ได้หรอก เพราะว่าถ้าพระเอกตายคนเขียนก็จะเศร้าไปด้วยแล้วมันก็จะกินใจไปตลอด อย่างที่เขียนส่งชมนาดพี่จะเขียนให้ใครคนใดคนหนึ่งตายหรือไม่ให้แฮปปี้เอนดิ้ง ก็ทำไม่ได้ บางคนอาจจะว่าคุณเป็นนักเขียนคุณก็ต้องทำได้ แต่สำหรับพี่คงไม่ดีกว่า พี่จะยึดแนวของพี่ไปแบบนี้ เพราะเราอยากให้คนอื่นรู้สึกแฮปปี้ ถึงพี่ส่งงานไปประกวดแล้วไม่ได้รางวัลอะไร มันก็ไม่ได้ทำให้กำลังใจในการเขียนหนังสือบั่นทอนลง พี่ก็ยังคงเขียนต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้แคร์ว่าใครจะคิดอะไรยังไง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเคารพดร.สิทธา ที่เห็นคุณค่าในงานของเราที่ทำให้เราเชื่อมั่นในแนวการเขียนของตัวเอง

การจัดสรรเวลาการทำงานและเทคนิคในการเขียน
สมัยก่อนคือทำเท่าที่มีแรงจะทำ แต่ตอนหลังอายุมากขึ้นแล้วก็ไม่ได้มีภาระอะไร พี่ก็เลยใช้ชีวิตแบบสบายๆ อย่างพอตื่นขึ้นมาดื่มกาแฟเสร็จก็จะเริ่มเปิดคอมพิวเตอร์เขียน ถ้าวันไหนเขียนได้มากก็ประมาณ 2- 3 ตอน วันไหนไม่ค่อยอยากทำก็จะออกไปช้อปปิ้ง ออกไปท่องเที่ยว เพราะเป็นคนชอบเที่ยว ชอบเดินตามห้างสรรพสินค้า ชอบเดินดูคนเดินดูอะไรไปเรื่อยๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามามันก็อยู่ในสมองเราหมด เราก็เก็บเอามาเขียนได้หมด ถ้าถามก็คือนิยายบางเรื่อง 1 เดือนก็จบ (พูดแล้วก็เหมือนโม้) แต่มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะว่าพี่เขียนเร็ว แต่ว่าถ้าหยุดก็จะหยุดไปเลย เดือนถึงสองเดือน เพื่อไปหาข้อมูล ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนั้น อย่างพอเสร็จเรื่องที่แล้วไปเมื่อเดือนที่แล้ว พอจะเขียนเรื่องใหม่พี่ก็จะพล็อตไว้แล้ว พล็อตที่ทำจะเป็นพล็อตใหญ่แล้วก็จะมีSubplot ซึ่งจะทำไว้ละเอียดมาก แต่ละตอนจะมีรายละเอียดหมดเลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละตอน เพราะฉะนั้นเวลามานั่งทำงานก็จะมาไล่ทีละตอน พอเปิดมาตอนที่ 1 มีdetail แบบนี้ พี่ก็จะไล่เขียนไปตามนั้น มันถึงได้ทำได้เพราะว่ามันเหมือนกับคิดไว้ให้จบแล้วตั้งแต่แรก แล้วก็มานั่งใส่รายละเอียดลงไปเท่านั้นเอง

งานอดิเรก
พี่ก็ชอบเดินเล่น เดินช้อปปิ้ง ดูของเซลล์ ทำขนมเค้ก เล่นกีฬาก็มรกอล์ฟและเทนนิส แล้วก็ชอบเที่ยวต่างประเทศ เพราะชีวิตพี่กว่าสิบปีอยู่แต่ที่ต่างประเทศมา ก็เลยจะชินกับอะไรทางนู้น พี่ชอบอาหารฝรั่ง ชอบอะไรที่สงบๆ ชอบอากาศบริสุทธิ์ อย่างในเมืองถ้ามีธุระถึงจะเข้ามา เพราะบ้านพี่ก็อยู่ออกนอกเมืองหน่อย เวลาว่างส่วนใหญ่ก็จะประมาณนี้ บางทีก็เล่นดนตรี ไปดูคอนเสิร์ต เล่นอินเตอร์เน็ตบ้าง แล้วก็มีอีกอย่างที่ชอบคือชอบวาดรูป ชอบงานศิลปะ ชอบอะไรที่มันบันเทิงเริงใจแบบนี้แหละค่ะ

ถนัดเขียนงานแนวไหนมากที่สุด
ถ้าเป็นตอนนี้ก็คือกำลังอิ่มกับนิยายมากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องที่เราเขียนได้จากการมอง การเห็น จากทัศนะคติของเรากลั่นออกมา เราก็เพียงแต่ว่าถ้าไปเจอแรงบันดาลใจอะไรเราก็คิดเป็นพล็อตเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา รู้สึกว่ามันจะเขียนได้ง่ายกว่าอย่างอื่น เพราะอย่างถ้าเป็นฮาวทูเราก็ต้องมาทำรีเสิร์ช หาข้อมูล แต่สำหรับพี่รีเสิร์ชก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะนิยายที่เขียนก็ทำรีเสิร์ชอยู่แล้ว ตอนเรียนปริญญาโทก็ทำวิทยานิพนธ์ คุ้นเคยกับเรื่องการหาข้อมูลดี แต่เดี๋ยวนี้การไปหยิบจับเรื่องอะไรของใครมาเราก็จะต้องดูในเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย ก็เลยไม่อยากจะไปยุ่งตรงนั้น แล้วการเขียนนิยายมันก็คือสมองเราเพียวๆ เลย คิดว่ามันเป็นงานที่ง่ายกว่างานชนิดอื่น แล้วตอนนี้มันก็อาจจะไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะไปทำเรื่องตรงนั้นแล้ว อย่างเรื่องแปล ถ้ามีคนแนะนำหนังสือมาให้แปลก็อาจจะทำ แต่ถ้าให้มานั่งอ่านว่าเล่มไหนดี เล่มไหนน่าแปล มันก็ไม่อยู่ในอารมณ์นั้นแล้ว เพราะทำตรงนี้แล้วเป็นตัวเรามากกว่า

ทำอย่างไรให้หนังสือไทยไปขายนอก
ความเป็นไปได้นั้นมี แต่ก็มีหลายจุดที่ต้องมอง มีเชื่อว่านักเขียนไทยมีความสามารถ เขียนเรื่องดี แต่เรื่องที่มองคือ เราเขียนด้วยภาษาไทย เราไม่ได้เขียนด้วยภาษาสากล คือภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการยากที่เราจะมาถ่ายทอดภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษแล้วให้ได้อรรถรสครบถ้วนตามที่นักเขียนเขาเขียน ซึ่งคนแปลจะต้องเก่งมากๆ ที่จะถ่ายทอด คือไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาแปล คนแปลก็ต้องเป็นนักเขียนด้วย แล้วอย่างเช่นจะแปลแนวโรแมนติก คนแปลก็ต้องเขียนเรื่องแนวโรแมนติกได้ด้วย ไม่ใช่ว่าไปจับเอาคนที่เรียนวิศวะภาษาดีมาแปลโรแมนติกมันก็คงไม่ได้อารมณ์ เพราะฝรั่งทุกคนไม่ใช่ว่าจะเขียนนิยายเป็น ฝรั่งที่เชี่ยวชาญภาษาบางคนก็เขียนนิยายไม่ได้ เพราะฉะนั้นสำคัญคือการถ่ายทอดจากภาษาของเราไปสู่ภาษาสากล ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ เราไม่ใช่ประเทศที่มีวัฒนธรรมลึกซึ้งและยิ่งใหญ่อย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่มีรากฐานมายาวนานมาก แล้วคนจีนก็มีจำนวนเยอะอยู่ทั่วโลก แล้วตอนนี้จีนก็เท่ากับเป็นประเทศมหาอำนาจ คนก็อยากรู้เรื่องจีนเยอะ มีนักเขียนจีนได้โนเบลไพรซ์ ถามว่าทำไมนักเขียนไทยไม่ได้โนเบล เป็นเพราะวัฒนธรรมของเรายังไม่ยาวนานเก่าแก่เหมือนของจีน

ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้ก็นั่งเขียนนิยายอยู่กับบ้าน แล้วก็มีสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง ตั้งเป้าไว้ว่าจะพิมพ์งานออกมาปีล่ะ 3-4 เล่ม ส่วนเรื่องไหนสำนักพิมพ์อื่นสนใจก็ยินดีที่จะให้ตีพิมพ์ นอกจากนี้ก็เป็นกรรมการบริหารสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ฝ่ายต่างประเทศ ทำมาเป็นวาระที่ 2 แล้ว

ฝากอะไรถึงนักเขียนหน้าใหม่
ในฐานะที่เริ่มเขียนจากความอยากเหมือน ก็อยากจะฝากว่า ถ้าคิดอยากจะเป็นนักเขียนก็ต้องเขียน ถ้าไม่เริ่มเขียนเราก็เป็นนักเขียนไม่ได้ แล้วเวลาเขียนอะไร เราก็น่าจะมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เขียนด้วย อย่างน้อยก็ต้องนึกถึงค่านิยม วัฒนธรรมของไทย แล้วก็เรื่องของการใช้ภาษาด้วย คือเราก็เห็นนักเขียนรุ่นใหม่หลายๆ คนไม่ค่อยได้ระวังถึงการใช้ภาษา ซึ่งเราก็อยากให้ทุกคนเป็นนักเขียนคุณภาพด้วย อยากให้ใช้ภาษาให้ถูกต้อง ใช้ภาษาให้สวยงาม อย่าไปใช้ภาษาที่มันหยาบคาย หรือเป็นภาษาวัยรุ่นแบบสองแง่สองง่ามจนเกินไป ย่างเช่นการบรรยายบทรัก เพราะว่าเคยไปอ่านหนังสือที่ลูกเพื่อนอ่าน เป็นหนังสือของเด็กๆ แต่เขาใช้ภาษาที่ตรงๆ ไม่มีวรรณศิลป์หรืออะไรเลย แล้วก็เป็นภาษาที่ส่อไปในทางเพศ การเผยแพร่ทางเว็บเองก็มีเด็กๆ เข้ามาอ่าน ก็ไม่อยากให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยไม่เป็น หรือว่าใช้ภาษาให้มันวิบัติไป เพราะว่างานเขียนมันจะอยู่กับเราตลอด มันจะเป็นหลักฐานทางสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างดีที่สุด

 

โดย....ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ