นิดา : ยังคงค้างฟ้าแม้เวลาเลยผ่าน

นิดา

ว่ากันว่า การที่ใครสักคนจะดำรงสถานะ และได้รับการยอมรับนับถือผ่านห้วงกาลเวลา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่นำเสนอต่อสาธารณะคือ “ผลงาน” ที่สรรค์สร้างผ่าน “ปลายปากกา” เช่นเดียวกับหญิงวัย 80 ปีคนหนึ่งที่กำลังตอบข้อซักถามของนักอ่านนักเขียนรุ่นลูกหลาน พร้อมมอบรอยยิ้มสดใสผ่านแววตาเปี่ยมสุข ท่ามกลางลมทะเลที่พัดต้องผิวกายราวกับต้องการผ่อนคลายความระอุจากแดดกล้า กว่าสี่สิบปีแล้ว ที่ผู้หญิงตรงหน้าเลือกให้ชีวิตเคลื่อนที่บนเส้นทางสายนักแปล และรางวัล “นักแปลอาวุโสดีเด่นรางวัลสุรินทราชา ปี พ.ศ. 2550” และรางวัลนราธิป พ.ศ. 2552 คงพิสูจน์ได้ดีถึงมาตรฐานและคุณภาพในการเดินทางของเธอ

“นิดา” หรือ “ปราศรัย รัชไชยบุญ”

ใน พ.ศ. 2515 ผลงานแปลเรื่องแรกของเธอคือ คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์โดย วิคตอเรีย โฮลท์ (Victoria Holt) ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร ก่อนจะรวมเล่มครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2518 หลังจากนั้นชื่อชั้นของนักแปลนาม “นิดา” ก็ติดลมบน และมีผลงานออกมามากมาย จนเจ้าตัวเองก็นับแทบไม่หวาดไม่ไหว บอกเพียงคงนับร้อยเล่ม ทั้งนวนิยายที่เขียนเอง และงานแปลทั้งสมัยใหม่และคลาสสิกสารพัดแนว ทั้งความรัก ชีวิต จิตวิทยา สะท้อนสังคม สืบสวนสอบสวน ลึกลับสั่นประสาท อิงประวัติศาสตร์จากนักเขียนชื่อดัง อาทิ รักของอลิซาเบธที่ 1,เจน เกรย์ ราชินีผู้ไร้มงกุฎ,ตามหัวใจไปสุดหล้า,รักเดียวของเจนจิรา,ดาวหลงฟ้า,ก็แค่ลอง ฯลฯ

“ตอนเด็กๆชอบอ่านหนังสือราวกับอาชีพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว” เท้าความถึงอดีตด้วยรอยยิ้มยิ้มหวาน

“นิยายรุ่นนั้นจะมีของดอกไม้สด ของยาขอบ มีอะไรต่ออะไรก็ฝังตัวฝังใจตั้งแต่ตอนนั้น เพราะว่าโรงเรียนราชินีสอนให้อ่านหนังสือเยอะมาก พวกวรรณกรรมอย่างคำกลอนก็เขียนอ่านกันเยอะมาก อ่านของไทยจนหมดเกลี้ยงทั้งของ อ.อรรถจินดา,ป.อินทรปาลิตโปรดมาก เป็นคนอ่านหนังสือไทยเยอะ จากนั้นเริ่มหันมาอ่านหนังสือฝรั่ง วิชามันแตกฉาน เขาเรียกร้อนวิชา อายุสัก 14 เริ่มอ่านเรื่องเจน แอร์ (Jane Eyre) เป็นเรื่องแรก พอดีตอนเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนราชินีบน จะมีห้องสมุดของโรงเรียนซึ่งมีหนังสือคลาสสิกอย่างของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ และอีกหลายคน เป็นภาษาอังกฤษ และจะเป็นหนังสือปกทอง ตัวหนังสือทองเล่มเล็กๆ ต้องแอบอ่านต้องขโมยอ่าน เพราะว่าครูยังไม่ให้อ่าน ปรากฏว่าเป็นคนที่ท่านอาจารย์รับสั่งเรียกหาตัวบ่อยมากที่สุด ต้องไปเฝ้าต้องหมอบคลานอยู่ใต้โต๊ะเพราะจริงๆ โรงเรียนราชินีเป็นระบบศักดินามาก ตามองเห็นหนังสือก็อยากอ่านๆ ท่านก็กริ้วไปเอ็ดไป”ว่าแล้วก็หัวเราะขำ

“เวลาอ่านแล้วมันเตลิดเปิดเปิง ฝรั่งเขาเรียกว่า lost in classroom พวกอยู่ในห้องเรียนแล้วเตลิดเปิดเปิงแฟนตาซีมาก พวกทำห้องเรียนหาย มัวฝันมัวโรแมนติกอะไรไม่รู้นะ สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะเป็นคนอ่อนการศึกษา ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ไม่ปิดบัง แต่ว่าเริ่มเรียนภาษาอังกฤษและเรียนฝรั่งเศส มากขึ้น เพราะทำบริษัทฝรั่ง บริษัทแรกในชีวิตทำงานตอนอายุสัก 20 คือบริษัทก่อสร้างของคนดัตช์ นายที่เป็นดัตช์เป็นคนดีมากเพราะชีวิตของเขาเป็นคนขาดเสียงเพลงไม่ได้ หน้าที่เลขาฯคือเปิดเพลงให้นายฟังทุกเช้า พิมพ์ดีดไป ฟังเพลงไป แต่นายจะฟังเพลงคลาสสิกทั้งหมด เรียกว่านายได้ปูพื้นฐานความรู้เรื่องดนตรีคลาสสิกไว้เยอะ ต่อมาได้ใช้ในงานแปลมาก

พออยู่กับบริษัทนี้มาสักพักหนึ่งก็ย้ายไปทำสถานทูตออสเตรเลียนาน 23 ปี การทำงานที่สถานทูตความรู้ที่ต้องมีมากที่สุดคือความรู้เรื่องเมืองไทย เวลาท่านทูตถามต้องได้ทันที เสียกรุงเมื่อไหร่ น้ำท่วมเมื่อไหร่ ตัวเลข 543 ต้องลบอยู่ในใจทันทีเพราะจะต้องบอกเป็น ค.ศ.ให้นาย ความรู้เรื่องเมืองไทยเรื่องประวัติศาสตร์ไทยต้องแม่น เพราะถ้าไม่แม่นก็ตอบเขาไม่ได้ จะว่าเก่งก็เก่ง "

และจุดนี้เอง ที่ทำให้เธอก้าวสู่แวดวงการแปลอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เพราะต้องมาโต้กันถึงหนังสืออ่านเล่นภาษาอังกฤษกับเพื่อนฝูงซึ่งส่วนใหญ่เรียนมาจากโรงเรียนฝรั่ง ก่อนจะมาทำงานสายการบินหรือกับนายต่างชาติ ในช่วงพักเที่ยงของทุกวัน ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีบางคนที่ไม่อยากอ่านภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

“พอเพื่อนถามว่าถึงไหนแล้ว ก็บอกว่าฉันขี้เกียจเล่า พิมพ์เลยดีกว่า ก็ทำงานไปแปลหนังสือไป ให้เพื่อนเป็นแผ่นๆ วันละสองสามแผ่น เพื่อนก็ตามอ่าน เพื่อนบอกเอาอีกๆ ก็เยอะขึ้นๆ เรื่องแรกคือ 'คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์' ได้ลงตีพิมพ์ในสตรีสารโดยใช้นามปากกาว่า 'นิดา' ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวคนโต ตอนนั้นส่งเรื่องไปที่คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ยาว 10 บท และส่งไปอีก 80 ตอนจบ ตอนนั้นได้ค่าต้นฉบับ 8,000 บาท ดีใจเหมือนใจขาด นึกว่าต้องเอาไปจ้างเขาลง พอได้เงินไปซื้อเพชรเลย พอเสร็จเรื่องแรกก็มีงานแปลออกมาเรื่อยๆ ยังไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้”

นิดาบอกว่าในการเลือกเรื่องแปลจนคนติดกันทั้งบ้านทั้งเมืองของเธอนั้น อยู่บนพื้นฐานว่าตัวเองสนุกหรือเปล่า เมื่อลองอ่าน “บางเล่มก็อ่านไม่จบ แต่ว่ามีเยอะเพราะเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว อ่านแป๊บเดียวรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ถ้าเกิดเล่มไหนสนุกก็แปลเล่มนั้น เป็นผีไปมั่ง เป็นสวีทฮาร์ทไปมั่ง” แต่มีแนวเดียวที่เธอตั้งใจไว้ว่าไม่แปลแน่ๆ คือการเมืองรวมถึงวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่ความถนัด ส่วนที่ถนัดนั้นคือประวัติศาสตร์ ซึ่งกว่าจะได้แต่ละเล่มไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องค้นคว้าแล้วค้นคว้าเล่า ตามคุณสมบัติของนักแปลที่ควรเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อ่าน “ชอบเรื่องอิงประวัติศาสตร์เพราะด้วยเหตุว่าตั้งต้นจาก 'คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์' ดังนั้นเลยนึกว่าจะทำให้เป็นการแปลที่มีสาระ นอกเหนือไปจากเรื่องที่ค่อนข้างจะบันเทิงเริงรมย์ การแปลเรื่องประวัติศาสตร์มันเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพราะมันไม่ใช่ว่าจับหนังสือแล้วพิมพ์ไปได้ ก่อนแปลต้องค้นก่อน ต้องมีตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มมาเสียก่อน

นักแปลที่ดีคือต้องมีความรู้รอบตัว ต้องมีความรู้นอกไปจากหนังสือ คืออยู่ในหนังสือไม่ได้ ยกตัวอย่างถ้าไม่รู้เรื่องเทวดาของแถวๆ กรีก-โรมัน เขาจะยกมาพูดอยู่เรื่อย จะไม่รู้ได้ไง ถ้าแปลเป็นตัวต่อตัวพารากราฟต่อพารากราฟไม่พอ ถ้าอะไรน่าจะใส่ฟุตโน้ตได้ก็ควรใส่ โดยเฉพาะนักเขียนหนังสือฝรั่งที่ดีๆ ระดับคลาสดีๆ เขาจะพูดถึงวรรณกรรม พูดถึงภาพเขียน พูดถึงเพลงคลาสสิก พูดถึงเทวดาทั้งหลาย เหมือนนักเขียนสมัยก่อนของเราพูดถึง ขุนช้างขุนแผนพูดถึงพระลอ ไม่รู้จักก็ไม่ได้ มันบังคับให้เราต้องหาความรู้"

และจากเส้นทางการแปล เธอได้ก้าวสู่เส้นทางการเขียน โดยดัดแปลงโครงเรื่องมาจากเรื่องราวแฝงกลิ่นนมเนยที่เคยคุ้น “ทดลองเขียนอยู่ 3 เล่ม ทำด้วยความยากลำบากมาก ทั้งสามเล่มนี้เป็นวรรณกรรมแต่ว่าซีเรียสเครียดเคร่งมาก ภาษาที่ใช้ไม่เข้ากับคนร่วมสมัยซึ่งทำให้มันเป็นไทยโดยใช้ตัวละคร การที่จะให้ข้อมูลความเป็นไทยกับความเป็นอังกฤษมันยากอยู่ ยกตัวอย่างเช่น 'เจน แอร์' ซึ่งเป็นนวนิยายที่เป็นต้นแบบของนวนิยายทั้งหลายในโลกปัจจุบันนี้ แต่ว่าอาชีพของเจนแอร์คือครูสอนภาษาอังกฤษตามบ้านซึ่งคนไทยไม่มี เมื่อคนไทยไม่มีแล้วจะทำอย่างไร ต้องหาเรื่องว่าเด็กคนนี้ไปโรงเรียนไม่ได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าได้ไปอ่านเจนแอร์ฉบับภาษาไทยดู ความยากมันอยู่ตรงนี้ มันต้องหาสิ่งแวดล้อมให้ดูเป็นไปได้ ไม่ให้ดูเป็นเหมือนละครช่อง 3 กับช่อง 7 ทุกวันนี้ที่ดูแล้วรู้สึก แหมเป็นไปไม่ได้ๆ แต่ก็ยังทำเอาๆ คนเขียนหนังสือทำไม่ได้หรอก วิญญาณคนเขียนหนังสือต้องหาความเป็นไปได้มากที่สุด"

ทุกวันนี้นิดายังคงแปลหนังสือให้กับนิตยสารถึงสามฉบับสกุลไทย หญิงไทย และขวัญเรือนราวกับวัยไม่สามารถส่งผลสะเทือนถึงความรักในตัวหนังสือของเธอเลยแม้แตน้อยแถมว่างๆยังอ่านงานแปลของนักแปลรุ่นใหม่เสียด้วย “ลองอ่านดูบ้างเหมือนกัน พบว่าในวิญญาณของความเป็นคนแปลหนังสือจะรู้ว่าเธอไม่ได้แปลกันหรอก นี่เป็นความคิดส่วนตัว คิดว่าเธอไม่ได้แปลกันมาเป็นพารากราฟหรอก แต่เธอใส่คำพูดของตัวเองลงไปเพื่อความทันสมัยในการอ่านของพวกเด็กๆ ว่าเด็กชอบอ่านยังไง สรรพนามการเรียกขาน การด่าทออะไรอย่างนี้ เกาหลีคงไม่ด่ากันอย่างนี้หรอก

คิดว่านักแปลรุ่นหลังๆ มีบางคนที่แปลดี แต่ว่าไม่ได้ปรากฏเป็นเล่มหรือว่านามปากกาไม่ได้มีความต่อเนื่อง คือแปลดีแล้วหายไปเยอะอย่างใน ดิฉัน หรือ ลลนา แต่นักแปลที่แปลเก่งมากในรุ่นเดียวกันคือ มนันยา คือ แปลแนวเดียวกันได้เลย แต่ว่านักแปลใหม่ๆ ไม่เห็นมีใครทำเป็นอาชีพมากนัก เพราะการแปลหนังสือเบสท์เซลเลอร์บางทีมันไม่เข้ากับคนอ่านที่เป็นไทยมากๆ มันมีทั้งปัญหาเรื่องค่าลิขสิทธิ์เยอะและนักอ่านไทยก็อ่านน้อย”

แล้วในมุมมองของนิดา งานแปลที่ดีจะเกิดขึ้นได้จากอะไร...

"คนแปลต้องแปลให้คนอ่านติดเสน่ห์เราเสียก่อน พอต้องมนต์เสน่ห์ตรึงใจแล้วก็จะไม่จับผิดเรา” เป็นคำที่เรียกเสียงหัวเราะได้จากรอบวง ก่อนบอกอย่างจริงจังว่า “เสน่ห์การแปลคือการใช้สำนวน ภาษาไทยสำคัญที่สุดในการแปล ถ้าเขียนภาษาไทยไม่ไพเราะสละสลวย ลื่นไหล รื่นรมย์แล้วละก็...แปลยังไงก็ไม่สนุก ต้องเก่งทั้งสองภาษา ถ้าแปลออกมาเป็นคำต่อคำมันไม่ได้เป็นการทำงานวรรณศิลป์ แต่เป็นแค่การแปลเฉยๆ สำหรับนักแปลและน้องๆ ในรุ่นต่อไปขอวิงวอนให้อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วจะบอกอย่างหนึ่งว่าในวัยรุ่นเวลาอ่านอะไรแล้วมันจะจำตราตรึงเข้าไปในสมอง มันจะเป็นลิ้นชักดึงเอาออกมาใช้การได้ ถ้าไปเริ่มอ่านเมื่อโตหรือแก่กล้าวิชาการแล้ว ความแฟนตาซี-สวีทฮาร์ทก็จะหมด สมมติว่าเวลานี้คุณจะอ่านคู่กรรม ความสนุกไม่มี แต่ลองอ่านตอนเด็กโอ้โหเลย จะจำฝังใจและความจำนั้นมันเป็นความงดงาม เป็นสุนทรียะที่ฝังอยู่ในใจ”

 

โดย สิ'นัน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ