Book Charity Season's giving : สัมภาษณ์คุณธนัดดา สว่างเดือน ในงาน Book Charity Season's giving

Book Charity Season's giving

อุตสาหกรรมหนังสือของบ้านเราได้รับความเสียหายไม่น้อยจากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ คณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงได้ให้ความช่วยเหลือสมาชิก โดยจัดงาน Book Charity Season's Giving ปันกันอ่านแบ่งกันให้ ระหว่างวันที่ 25-28 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ บริเวณลานด้านนอกห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยไฮไลต์หนึ่งของงานที่คอลัมน์จากขอบเวทีสู่นักอ่านจะนำเสนอ คือการสัมภาษณ์สดๆ บนเวที ในวันที่ 28 ธันวาคม2554 ระหว่างคุณอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนัก -พิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กับคุณหนิง ธนัดดา สว่างเดือน เจ้าของผลงาน ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน และผลงานภาคต่อ ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ท่องคุก

การพูดคุยจะสนุกสนานออกรสชาติมากน้อยแค่ไหน ไปติดตามกัน....

คุณอาทร : สวัสดีครับ ผมขอแนะนำคุณธนัดดา สว่างเดือน นักเขียนดาวรุ่งพุ่งแรงของสำนักพิมพ์ Woman Publisher ในเครือบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นครับ สวัสดีครับคุณธนัดดา

คุณธนัดดา : สวัสดีค่ะ

คุณอาทร : ก่อนหน้านี้คำถามไหนที่ถูกสัมภาษณ์มากที่สุดครับ

คุณธนัดดา : คำถามยอดฮิตคือทำไมถึงมาเขียนหนังสือ หนูก็เลยบอกว่าอยากได้เงินรางวัลห้าหมื่นบาท (ชนะเลิศรางวัลชมนาด) ก็เลยมาเขียนหนังสือ ไปที่ไหนก็ถามแบบนี้ ก็ต้องตอบแบบนี้อีก

คุณอาทร : ครับ แล้วเป็นไงครับ มันได้มากกว่าห้าหมื่นไหม

คุณธนัดดา : ได้มากค่ะ ถล่มทลายเลย มันเกินคาดค่ะ

คุณอาทร : สถิติบอกว่าเฉพาะเล่มแรกใช่ไหมครับ

คุณธนัดดา : ค่ะ ฉันคือเอรี่ จากประสบการณ์ข้ามแดน

คุณอาทร : เห็นว่าพิมพ์ถึง 12 ครั้งแล้วใช่ไหมฮะ

คุณธนัดดา : ใช่ค่ะ พิมพ์ครั้งที่ 12 แล้ว

คุณอาทร : ทราบว่าเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย และได้ข่าวว่าบินไปโรดโชว์ที่แฟลงค์เฟิร์ตเป็นไงครับ

คุณธนัดดา : เป็นงานบุ๊กส์แฟร์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เหมือนกันค่ะ

คุณอาทร : แล้วที่เว็บไซต์ของ London International Book Fair ก็เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยได้ว่า อดีตหญิงบริการชนะรางวัลยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ในการเล่าประวัติของเธอเองอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ไหนช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้หน่อยได้ไหมครับ

คุณธนัดดา : ได้ค่ะ ก็เป็นเรื่องของผู้หญิงขายบริการที่ไปทำงานแล้วโดนอะไรเยอะแยะมาก ที่คนอยู่ในอาชีพนี้ต้องเจออย่างเช่นว่าไปกับแขกแล้วแขกพาไปตีไปซ้อมในโรงแรม พาไปปล่อยบนภูเขาแล้วก็เป็นพวกจิตวิปริตวิตถาร จะบอกว่าผู้หญิงที่อยู่ในอาชีพนี้ก็เจอหมดทุกอย่าง ก็เลยเอาประสบการณ์ทั้งหมดมาเขียนในนี้ มันก็เลยกลายเป็นน่าสนใจ บางคนไม่รู้มุมมืดของผู้หญิงพวกนี้ คิดว่าเป็นงานสบาย มันไม่ใช่อย่างนั้น ก็เลยมาพูดให้เขาฟังว่า มันไม่ได้สบายอย่างที่คิด เพราะว่ามันต้องเจอเหตุการณ์อะไรเยอะแยะค่ะ

คุณอาทร : ลูกค้าซาดิสต์นี้มีเยอะไหมครับ

คุณธนัดดา : ก็พอสมควรค่ะ

คุณอาทร : ได้ข่าวว่าตอนทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น ได้อยู่กับยากูซ่าประเภทท็อปไฟฟ์ของชินจูกุนี่จริงหรือเปล่าครับ

คุณธนัดดา : จริงค่ะ เพราะว่าก็จับพลัดจับผลู ก็ไปอยู่ในวงการกลางคืน และเราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นยากูซ่า เขาก็มาอำนวยความสะดวกสบายให้กับเรา ไม่ต้องทำงาน มีเงินเดือนให้ ด้วยความที่ว่าเรายังเด็ก เรายังวัยรุ่น เราก็ไปอยู่กับพวกเขา ตอนนี้มันก็เหมือนตกกระไดพลอยโจน เพราะว่าตรงนั้นมันมีหลายๆ อย่าง มีพวกยาเสพติด มีสิ่งผิดกฎหมายเยอะแยะมาก ที่เราไปหลงอยู่ในวงจรอย่างนั้น หนูเลยเอาประสบการณ์ทั้งหมดมาเขียนเล่าให้คนอ่านกัน

คุณอาทร:ได้ข่าวว่าตอนอยู่กับยากูซ่าชื่อนากายามา ในช่วงที่คุณเอรี่หรือคุณธนัดดารุ่งเรืองมากเลย ฟุ่มเฟือย มีเงินเหลือกินเหลือใช้

คุณธนัดดา : อยากจะบอกว่าผู้หญิงที่อยู่ในอาชีพนี้ บางทีก็ใช้เงินกันแบบไม่ค่อยระมัดระวัง ได้มาเท่าไหร่ก็ใช้หมด มันเป็นเงินที่ได้ง่าย ได้มาก็หมดไป อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็จะเตือนให้ผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในอาชีพนี้ รู้จักการใช้ชีวิต รู้ว่าการได้เงินมาแล้วควรเก็บหอมรอมริบเอาไว้ ไม่ใช่ว่าอยากได้อะไรก็ซื้อ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ได้เงินแล้ว อย่าคิดอย่างนี้ แล้วที่สำคัญคือคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้มีผู้หญิงหลายคนเขาติดต่อมาหาหนิง ก็คุยบอกว่ารู้สึกว่าดี ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ประมาทในชีวิต หนังสือของหนิงไม่ได้สอนแค่ผู้หญิงขายบริการ แต่พูดเริ่มต้นตั้งแต่ ม.2-ม.3 ที่มีความรักก่อนวัยอันควร มีเพศสัมพันธ์ สุดท้ายก็ต้องท้องแล้วก็ไม่ได้เรียนต่อ แล้วก็ต้องมาอยู่วงจรอย่างนี้คือมันต่อเนื่องเกี่ยวพันกันค่ะ

คุณอาทร : ได้ข่าวว่าตอนอยู่ที่ญี่ปุ่น นี่หาเงินได้วันละเป็นล้าน แล้วก็ใช้วันละเป็นล้านจริงหรือเปล่า

คุณธนัดดา : ล้านเยนค่ะ ไม่ใช่ล้านบาท ล้านเยนก็ไม่ถึงค่ะ คือถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวคนเขาจะหันไปทำอาชีพนี้กันหมด มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นค่ะ

คุณอาทร : แล้วรู้สึกนากายามา ยากูซ่าคนนี้รักคุณหนิงเหมือนลูกเลยใช่ไหมครับ

คุณธนัดดา : ใช่ค่ะ แต่ก็ไม่เคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากไปกว่านั้น คือเหมือนเขารักเราเหมือนลูก จริงๆ แล้วหนิงโชคดีหลายครั้ง ตั้งแต่ใช้ชีวิตมาเจอคนอุปถัมภ์ค้ำจุนมาเรื่อยๆ แต่รู้สึกประมาทกับชีวิตไปหน่อย อยากเที่ยว อยากกิน อยากเล่น อยากสารพัด มันก็เลยเป็นความผิดพลาดยี่สิบกว่าปีที่เราจมปลักอยู่ตรงนั้น

คุณอาทร : แล้วกับคุณนากายามา จากกันยังไง

คุณธนัดดา : ตอนที่หนิงอยู่กับเขานี่เป็นคนที่เขาห้ามไม่ให้เที่ยว ไม่ให้ไปไหนมาไหนแต่ทีนี้หนิงติดเที่ยว ติดดิสโก้ จนกระทั่งโดนเขาจับได้ แล้วก็โดนเขาตี โดนซ้อม เพราะว่าเราก็อยากจะหนีออกจากวงการพวกยากูซ่ามาเฟียใช่ไหมค่ะ สุดท้ายแล้วพอโดนตีโดนซ้อมแล้ว เราก็ต้องกลับมาอยู่กับเขาอีก ก็เลยมีความรู้สึกว่า เรารักเขามากขึ้น เพราะเหมือนกับว่าเขาเป็นพ่อเรา แต่ทีนี้พอเราเกิดความรักมากขึ้น กลายเป็นว่า วันหนึ่งเขาต้องจากเราไป เขาโดนตำรวจจับเพราะเขาไปมีคดีฆ่าคนตายค่ะ

คุณอาทร : ได้ข่าวว่า ตอนถูกซ้อมนี่หนักปางตายเลยใช่ไหมฮะ

คุณธนัดดา : ค่ะ คิดว่าน่าจะตายแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็ยังรอด เขาคงให้หนิงรอดมาเขียนเรื่องเอรี่ค่ะ ก็เลยต้องยังไม่ตาย (หัวเราะ)

คุณอาทร : แหม อยากรู้บรรยากาศตอนถูกซ้อมจังเลยว่าแบบเวลายากูซ่าเขาซ้อมผู้หญิง เขาซ้อมกันยังไง

คุณธนัดดา : อ๋อ...เขาก็ตบตี ทุกอย่างโดนหมดค่ะ

คุณอาทร : ตบด้วยที่เขี่ยบุหรี่

คุณธนัดดา : ใช่ค่ะ ที่เขี่ยบุหรี่ ฟันโยกไปอะไรอย่างนี้ค่ะ

คุณอาทร : แล้วฟันนี่ เป็นฟันจริงหรือฟันน้ำนมครับ

คุณธนัดดา : ฟันน้ำนมค่ะ เพิ่ง 15 เอง (หัวเราะ)

คุณอาทร : ฟันจริงหักไปแล้วครับ ถูกยากูซ่าตบจนฟันหน้าหัก หามเข้าโรงพยาบาล ฐานพยายามจะหนีการปกครอง แต่ในที่สุดเธอก็มานั่งอยู่ตรงนี้ได้ แล้วก็อยู่เมืองไทยอย่างมีความสุขและก็ได้เล่าเรื่องประสบการณ์ที่น่าสนใจ ผมขอยกให้เป็น ดร.ธนัดดาครับ เพราะจบมหาวิทยาลัยชีวิตจริงๆ ไปที่ไหนก็เข้าเรือนจำ ทั้งเรือนจำที่ญี่ปุ่น บาห์เรน เรือนจำที่เมืองไทย ที่สิงคโปร์ บางเรือนจำก็รู้สึกว่าสวัสดิการดีหน่อย บางเรือนจำก็แบบโหดมาก ไหนลองเล่าเรือนจำที่ญี่ปุ่นก่อนดีไหมครับ เห็นว่าที่นั่นสนุกสนานมากเลยทีเดียว

คุณธนัดดา : อ๋อ....ที่นั่นก็ตื่นเช้ามาจะมี เบรคฟาสต์ ตอนกลางวันมีคนเข็นอาหารมาให้ ตอนบ่ายๆ ก็นั่งเล่นไพ่กัน ก็สบายดีค่ะ อาทิตย์หนึ่งก็จะได้ชอปปิ้งทีนึง ทุกอย่างมีพร้อม ทั้งบุหรี่ อาหารการกินแบบเพียบ ของดีค่ะที่นั่น ไม่อยากกลับมาเลยค่ะ อยากกลับไปอยู่ต่อ คือ มันไม่ใช่คุกค่ะ มันเป็นสถานที่กักกันเฉยๆ สำหรับคนต่างชาติ พวกที่ไปหนีวีซ่า เขาเอาไปไว้กันที่นั่นค่ะ มันก็สบายสนุกกันอย่างนี้ค่ะ

คุณอาทร : แล้วตอนกลับมาเจอที่คุกเมืองไทยนี่ เห็นว่าต่างกันราวกับฟ้ากับดินเลย

คุณธนัดดา : ฟ้ากับเหวจะดีกว่า คืออันนี้มันต้องบอกว่ามันคือเรื่องสักเกือบ 20 ปีที่แล้ว และคือว่าในเมืองไทยคุกมันแย่มาก อยู่กันแน่น แออัด เบียดเสียด นอนกันเหมือนเข่งปลาทู น่าสงสารพวกเขานะคะ เพราะว่าสวัสดิการยังไม่ค่อยดีมาก แล้วอาหารการกินมันก็ไม่ดีเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้วนะค่ะ ทุกอย่างมีการเรียนการสอนอะไรดีขึ้นในเรือนจำไทย มันเป็นสวัสดิการที่ดีขึ้นค่ะ

คุณอาทร : ครับ ได้ข่าวว่าเรือนจำเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น ใครลุกปุ๊บเสียที่นอนเลย เพราะมันต้องยืนนอนกันนะ ไม่ใช่นอนธรรมดาหรือนั่งนอนนะ ลุกเสียที่ทันที

คุณธนัดดา : ใช่ค่ะ เขาบอกว่าลุกเสียม้า มันเป็นเรื่องจริงค่ะ เวลานอน นอนหงายก็ห้ามตะแคง พอนอนตะแคงก็ห้ามพลิกตัวกลับไปนอนหงายอีก เพราะว่าที่นี่เบียดเสียดแออัดมาก

คุณอาทร : ขอโทษครับ ต้องถามสิ่งที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟมากๆ เลย แล้วเวลาอุจจาระ ปัสสาวะ ทำยังไงครับ

คุณธนัดดา : ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมดค่ะ เพราะว่าคุณจะทำอะไรต้องทำอยู่ในห้องนอน ทุกอย่างรวมกันและก็ไม่มีห้องกั้นนะค่ะ เป็นกำแพง ใครนั่งใครทำอะไรก็เห็นกันหมด มันเป็นอะไรที่ โฮ...เรียกว่านรกค่ะ นรกคนเป็นที่เข้าไปอยู่กัน ประมาณนั้นอ่ะค่ะ

คุณอาทร : แหม ช่างเหมาเบ็ดเสร็จทีเดียว เป็นแบบนี้ยังกับห้องอเนกประสงค์นะ

คุณธนัดดา : ค่ะ ห้องสูทค่ะ (หัวเราะ)

คุณอาทร : เท่าที่ทราบตอนนี้ คือ องค์ภาท่านได้ทำโครงการกำลังใจ และท่านได้อ่านหนังสือของคุณธนัดดาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเล่มแรก ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน หรือว่าเล่มต่อมา ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ท่องคุก ท่านอ่านทั้ง 2 เล่ม ท่านถึงกับเรียกตัวไปสอบถาม เป็นยังไงบ้างครับ

ธนัดดา สว่างเดือน

คุณอาทร : ก็อาจจะเป็นเพราะว่าอานิสงส์ที่เคยได้เขียนฎีกาให้แก่นักโทษสมัยที่ยังอยู่เรือนจำไทยใช่ไหมฮะ

คุณธนัดดา : ค่ะ ใช่ค่ะ หนิงถึงบอกว่าคนเราถ้าได้ทำบุญมันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การทำบุญกับคนมันสุดยอดแล้ว โดยเฉพาะทำกับคนที่เราเรียกในนั้นว่ามันเป็นนรกคนเป็น ไปทำกับคนตรงนั้น หนิงว่าบุญกุศลมันจะสะท้อนให้เห็นเลยค่ะว่ามันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นค่ะ ทุกวันนี้ที่หนิงคิดว่าหนิงดีขึ้น มันน่าจะเป็นผลพวงมาจากการที่เราเคยช่วยเหลือคนในคุกเอาไว้ เพราะว่าบางทีเราเอาของไปบริจาคไปให้เขา แค่เขาเห็นของของเรานี่นะคะ เขาก็ดีใจน้ำตาไหลร้องไห้ เรารู้ว่าอารมณ์นั้นมันเป็นยังไง เพราะเราเคยอยู่ตรงนั้นไงคะ เราเคยไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้องมาเยี่ยม แต่วันหนึ่งมีคนนำของมาบริจาคให้เรา เรารู้สึกว่ามันดีมากเลยนะคะ แล้วเขาก็สวดมนต์ให้เรา คือปกติคนเราอยู่เฉยๆ หนิงว่ามันไม่มีใครมานั่งสวดมนต์สวดพรให้เราหรอก แต่ถ้าวันใดคุณเอาของไปบริจาคให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ เขาจะสวดมนต์ให้คุณทุกคืนเลยค่ะ เพราะเขาได้รับสิ่งนั้น เราก็จะมีชีวิตเราก็จะดีขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ค่ะ

คุณอาทร : ได้ข่าวว่าไปเยี่ยมนักโทษแบบเป็นถึงขั้นประหาร หรือว่าจำขังตลอดชีวิตด้วย บางคนก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

คุณธนัดดา : ค่ะ หนิงก็อยากให้สังคมให้โอกาสเขาบ้างนะคะ เพราะว่าเขาอยู่ในนั้นก็สาหัสมากแล้ว หนิงว่าทุกคนที่อยู่ในเรือนจำออกมาคือก้าวแรกที่ทุกคนเข้าไปอยู่ในนั้น ทุกคนจะมีสำนึกเลยว่า เราทำผิด เราต้องมาอยู่ในสถานที่แบบนี้ แต่เมื่อเขาชำระโทษแล้วก็ควรที่จะให้โอกาสเขา บางทีสังคมไม่ค่อยจะยอมรับคนในกลุ่มนี้ ออกมาเขาก็วนเวียนกลับไปทำกันเหมือนเดิม ใครขายยาก็กลับไปขายยาต่อ ใครเคยขโมยของเขาลักของเขา ออกมาทำงานไม่ได้ สังคมไม่ให้โอกาส เขาก็กลับไปทำเหมือนเดิม เพราะคิดว่าคุกเป็นบ้าน

คุณอาทร : พอผมเห็นคุณหนิงเขียนไว้ในฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ท่องคุก บอกว่าตอนออกมาแล้วห้ามหันหลังกลับ ถ้าหันหลังกลับเดี๋ยวจะต้องไปอยู่ใหม่ แล้วปรากฏว่าพอออกมาแล้วใช้ชีวิตอย่างคนปกติธรรมดาก็เจอเพื่อนที่เคยอยู่ในคุกก็มาเป็นนักแซ้ง คือทำซ้ำอีกซ้ำอีก เหมือนกับว่าเข็ดแล้วแต่ไม่เข็ดจริงอะไรอย่างนี้

คุณธนัดดา : มันก็มีอันนี้หนิงว่ามันต้องอยู่ที่สันดานคน ถ้าสังคมให้โอกาสเขาแล้ว แล้วเขายังกลับไปทำนี่ถือว่าแย่มาก แต่บางคนส่วนมากก็ไม่ค่อยจะมีโอกาสกันนะคะ อย่างเรื่องนี้มันผ่านมาแล้ว 17-18 ปี เมื่อไม่นานนี้ไม่กี่วันนี้ หนิงก็ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำเมืองกาญจน์ เอาของไปบริจาค บังเอิญไปเจอผู้หญิง 2 คน ซึ่งเขาจำเราได้ แล้วเราก็จำเขาได้ค่ะ เขาพ้นโทษออกมาแล้วแต่สุดท้ายเขาต้องโทษคดียาเสพติดค่ะ ออกมาแล้วกลับไปทำเหมือนเดิมเพราะว่าเขาบอกว่าไม่รู้เขาจะทำอะไร ไม่มีงานให้เขาทำ ไปสมัครงานก็ไม่มีใครรับเขา 15 ปีผ่านมาแล้ว ชีวิตเขาก็วนเวียนกลับเข้าไปอีก หนิงก็เลยรู้สึกโชคดีนะที่แบบว่าเราหลุดพ้นมาแล้ว ไม่ต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างนั้นอีก

คุณอาทร : หลุดพ้นมาแล้วก็มาอยู่ในโครงการของพระองค์ภา ซึ่งชื่อว่าโครงการกำลังใจใช่ไหมครับ

คุณธนัดดา : ใช่ค่ะ คุณอาทร : ก็ยังได้ท่องคุกอีก แต่ไม่ได้ท่องแบบประเภทเป็นนักโทษแล้ว กลายเป็นวิทยากร กลายเป็นคนไปบรรยาย เอาของไปมอบให้และให้กำลังใจ

คุณธนัดดา : อันนั้นเป็นโอกาสที่พระองค์ท่านมอบให้ เพราะว่าหลังจากเราพ้นโทษมาแล้ว เราก็บอกกับพระองค์ท่านว่า เราอยากจะช่วยเหลือผู้ต้องขัง ช่วยเหลือนักโทษ ท่านก็ให้โอกาสเรา เพราะว่าท่านก็อยากจะให้เราเปลี่ยนชีวิตใหม่ หนิงบอกว่าท่านเป็นอะไรที่ผูกพันกับผู้ต้องขังมาก เพราะว่าท่านทำงานด้านนี้อยู่ ช่วยเหลือผู้ต้องขังแล้วก็ให้การเรียนการสอนผู้ต้องขังในนั้นให้รู้จักเรียนรู้กฎหมาย พระองค์ท่านทำอะไรที่ดีมีประโยชน์ไว้เยอะมากค่ะในเรือนจำ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ