เรื่องสั้น ผ่านเรื่องราวของแต่ละช่วงเวลา : สะท้อนชีวิต จิตวิญญาณ และสังคม

เรื่องสั้น ผ่านเรื่องราวของแต่ละช่วงเวลา

      เรื่องสั้น เป็นวรรณกรรมที่กระชับ จับใจความได้จากเนื้อหาในหนังสือเพียงไม่กี่หน้า ซึ่งในบางตอนอาจเป็น ร่องรอย เรื่องราวของแต่ละช่วงชีวิต หรือทั้งชีวิตของใครคนหนึ่ง ที่ผ่านการรวบรวม คัดสรร ผสมผสาน และบอกเล่า สะท้อนให้ผู้อ่านได้สัมผัสมุมมอง แง่คิดต่าง ๆ

      สำหรับใครที่มองหา หนังสือเรื่องสั้นอ่าน ประพันธ์สาส์นคัดมาให้ในบทความนี้แล้วค่ะ 

 

 

สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

      "งานเขียนชุดสะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว ถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระในระยะประมาณ 20 ปี หลังจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ออกจากป่า หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือเป็นงานเขียนจากช่วงที่เสกสรรค์อยู่ในวัยหนุ่มมาจนถึงวัยกลางคน ดูผิวเผินแล้วงานชุดนี้อาจจะคล้ายบันทึกความทรงจำธรรมดาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบพบมา แต่สำหรับผู้อ่านที่สัมผัสไวและมองโลกได้ลึกพอ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เสกสรรค์เขียนถึงมากที่สุดไม่ใช่เหตุการณ์ภายนอก หากเป็นทั้ง "สนามรบ" ที่ยังคงตกค้างอยู่ข้างใน และเป็นความพยายามที่จะแกะรอยการก่อรูปของ "ตัวเอง"

 

 

ผู้ยิ่งใหญ่ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

      ผ่านร้อนผ่านหนาว หลายทศวรรษหลังจากมรสุมทางการเมืองได้พัดผ่านประเทศไทย เมื่อครั้งวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลายบทเรียนถูกจดจำและถ่ายทอด จากวันนั้นถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางการเมืองที่แน่นอนนัก ความเป็นอยู่ของคนไทยก็เช่นกัน ที่ถึงแม้จะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด แต่ความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในความลำบาก ดั่งความยากจนเป็นรากไม้ที่ฝังรากลงดินหยั่งลึกในแผ่นดินไทยไปเสียแล้ว

      “ผู้ยิ่งใหญ่” หนังสือรวมเรื่องสั้น ปลายปากกานักเขียนมือทอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้ผ่านเรื่องราว วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในฐานะผู้นำนิสิตนักศึกษาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐบาล การเขียนเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเขาจึงสะท้อนสังคมบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวผู้เขียนเองได้ประสบพบเจอในชีวิต ผ่านมุมมองที่ลึกเข้าไปถึงความลำบากของคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย โดยวางตัวละครดำเนินเรื่องเป็นบุคคลตัวเล็กๆ ในสังคมและบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ในความทุกข์เพียงลำพัง

      หน้าปกที่ดูโดดเด่นจากตัวอักษรสีแดงความว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” สื่อใจความได้ดีจากใบไม้สีแดงปลิวลงมาโดดเดี่ยวท่ามกลางลวดลายขาวสลับดำ หน้าสารบัญบ่งบอกถึงเรื่องสั้นต่างๆ ที่มารวมเล่มไว้ถึง 27 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนประพันธ์ไว้ในช่วงปี พ.ศ.2525 – 2539 และถ้าหากค่อยๆ เปิดอ่านหน้าคำนำจากสำนักพิมพ์ ผู้อ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวย่อๆ ของผู้เขียนที่นับว่าเป็นประสบการณ์มนุษย์อย่างเราๆ หาได้ยากยิ่งนัก

      เหตุการณ์ของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นต่างวาระต่างสถานที่ ตัวละครในแต่ละเรื่องไม่ได้ผูกโยงกัน หากเป็นการจบในตอนตามธรรมเนียมของเรื่องสั้นทั่วไป โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในทุกๆ เรื่องคือการพรรณนาภาพของผู้เขียน

 

 

สายน้ำและทางช้าง โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

      เป็นหนังสือที่รวบรวมเอาบทความต่างๆ ที่เขียนโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาพิมพ์ใหม่ ภายใต้ชื่อสายน้ำและทางช้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของการบันทึกการเดินทางของผู้เขียนที่พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตที่กำลังเสาะแสวงหาตัวตนของตัวเองที่หายไปช่วงหนึ่ง ซึ่งเขาได้นำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจได้รับรู้ในเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตในด้านต่างๆ

     ดูผิวเผินแล้ว "สายน้ำและทางช้าง" อาจดูเหมือนสารคดีท่องเที่ยว ตกปลา หรือ เดินป่าธรรมดา แต่ถ้าใครเคยอ่านงานเหล่านี้ซึ่งเคยพิมพ์อยู่กระจัดกระจายในที่อื่นๆ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่ "เสกสรรค์" เขียนถึงมากที่สุดไม่ใช่ภูมิประเทศหรือเหตุการณ์ภายนอก หากเป็นสนามรบ ที่ยังคงตกค้างอยู่ข้างใน ลักษณะดังกล่าวทำให้งานเขียนของเขาค่อนข้างแตกต่างๆ จากนักเขียนคนไทยอื่นๆ และกลายเป็นเส้นด้ายที่มองไม่เห็น ซึ่งช่วยร้อยเรียงงานทุกชิ้นให้เป็นชุดเดียวกัน บทบันทึกการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริงของชายผู้นี้มีอะไรบ้าง? ร่วมค้นหาคำตอบพร้อมกันได้แล้วในเล่ม

 

 

ข้าวเม็ดน้อย โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

        ข้าวเม็ดน้อย ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ภาค โดยภาคแรกเป็นความเรียงกึ่งร้อยแก้วกึ่งร้อยกรอง ซึ่งคัดสรรมาจากหนังสือชื่อผ่านพบไม่ผูกพัน (2548) และบุตรธิดาแห่งดวงดาว (2552) ส่วนภาค 2 เป็นบันทึกประสบการณ์บางส่วนในช่วงปลายวัยกลางคนต่อกับต้นวัยชราของผู้เขียน ซึ่งเคยรวมอยู่ในหนังสือชื่อวันที่ถอดหมวก (2550) กับวันที่หัวใจกลับบ้าน (2554) เราอาจกล่าวได้ว่าข้อเขียนทั้งหมดนี้เป็นงานทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Writings) ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งมีน้ำหนักอย่างยิ่งในการทำให้เขาได้รับการประกาศเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ดังจะเห็นได้จากคำยกย่องของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งยืนยันว่างานเขียนในระยะหลังๆ ของเสกสรรค์ “เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญา บนพื้นฐานภูมิปัญญาตะวันออก...ตกผลึกทางความคิด มีความลุ่มลึกคมชัด...ประณีตงดงามทางวรรณศิลป์และเป็นแบบอย่างการประพันธ์แก่นักเขียนรุ่นหลัง”

 

 

อัญมณีแห่งชีวิต โดย อัญชัน

     หนังสือชนะเลิศรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2533 รวม 11 เรื่องสั้นคัดสรร เสนอปัญหาต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่ปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาครอบครัว สังคม จนถึงปัญหาที่กล่าวถึงวัฏจักรแห่งชีวิตอันเป็นสัจธรรม ผู้เขียนเสนอแนวคิดได้อย่างแยบยล ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง ละเมียดละไม ช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์อย่างหลากหลาย ทั้งอ่อนหวาน เศร้า กร้าว แกร่ง โหดร้ายและแม้กระทั่งสยองขวัญ จนคุณวางไม่ลงเลยทีเดียว

 

 

อเมริกัน อเมริกรรม โดย อัญชัน

     คนอเมริกันน่าทึ่งไม่แพ้ชาติใดในโลก (ใช่ ประเทศฟลอริด้าก็เป็นอเมริกันเช่นกัน) นี่คือหนังสือของ อัญชัน นักเขียนชาวไทยผู้อาศัยในอเมริกามากว่าค่อนชีวิต ได้เห็นของดีในดินแดนเสรีภาพก็เยอะ เห็นความแย่ก็แยะ ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย นิสัยดีนิสัยแย่ปนกันไป แต่หลายครั้งก็แอบ ‘อิหยังวะ’ กับความอเมริกันที่เกินสามัญสำนึกมนุษย์โลกไปไกล นี่ฉันอยู่โลกเดียวกับพวกแกใช่ไหม

 

 

รวมเรื่องสั้น สายลมที่พัดผ่านมาทางทิศตะวันออก โดย เสาวรี 

      ซึ่งได้รวบรวมผลงานในช่วงไม่กี่ปีนี้และผลงานใหม่เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด เหตุการณ์ระหว่างนั้นได้กลายมาเป็นวัตถุดิบหลากหลายให้ เสาวรี ได้ลงมือเขียนถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเรื่องสั้น ในเรื่องราวเหล่านั้นพร้อมทั้งตัวละครหญิงชายหลากหลาย ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความหนักอึ้ง ความครุ่นคิด ความตระหนัก เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ และความเป็นไปของสังคมไทยบนยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน ผ่านมุมมองของปัจเจกชนคนหนึ่งที่ยืนอยู่

ท่ามกลางสายลมที่กำลังพัดผ่าน

     คนเราเมื่อยืนอยู่ ณ จุดนั้น จุดที่ยืนอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้าง ของอดีตและอนาคต มองเห็นคลื่นลูกใหม่ถาโถมเข้ามาหนักหน่วง  พร้อมคลื่นลูกเก่าที่กำลังเลือนหาย ช่วงเวลานั้นเองที่ความรู้สึกพิเศษ บางอย่างได้เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกยินดีจากความตระหนักรู้ปนเปกับ

ความเศร้าต่อการปลดปล่อยอะไรบางอย่างไปจากเรา เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ครุ่นคิดคำนึงถึงความเป็นมนุษย์อีกหน

      ความพิเศษในงานเขียนของ เสาวรี นั้นปะปนอยู่ในคำบอกเล่า อยู่ในตัวละครของเรื่องราว ไม่วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน หากเล่าถึง เหตุการณ์อย่างละเอียดลึกซึ้ง ให้ผู้อ่านได้สัมผัสความรู้สึกได้เองโดยมิต้องบอกกล่าวแต่ประการใด 

     หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สายลมที่พัดผ่านมาทางทิศตะวันออก เล่มนี้ จะช่วยจรรโลงใจ และนำความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์กลับมาให้เราตระหนักอยู่ในใจตลอดไป

 

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ