10 ปีกับการเขียนนวนิยายเล่มแรกของ Gil Adamson : กวีชาวแคนาดาคนหนึ่งใช้เวลาเป็น 10 ปี นวนิยายเล่มแรกก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์

10 ปีกับการเขียนนวนิยายเล่มแรกของ Gil Adamson

เป็นเรื่องน่าประทับใจเมื่อได้รู้ว่า กิล อดัมสัน (Gil Adamson) ต้องต่อสู้กับมาเฟียนักเขียน และต้องต่อกรกับนักเขียนเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อนแล้วในแวดวงวรรณกรรมของแคนาดา อุปสรรคเหล่านี้ทำให้เธอระย่อและท้อเมื่อนวนิยายเล่มแรก The Outlander ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ แต่เพราะมีคนรักคอยผลักให้เดินทางไปสู่หน้าผา เธอจึงกล้าที่จะเดินต่อ โดยไม่คิดจะเก็บเรื่องที่เขียนไว้อ่านเองอีกต่อไป

The Outlander นวนิยายเล่มแรกซึ่งกิลใช้เวลาเขียน 10 ปี เป็นนวนิยายที่น่าทึ่ง มีชีวิตชีวา เขียนออกมาอย่างมีวรรณศิลป์ และน่าตื่นเต้นชวนติดตาม งานเขียนเรื่องนี้เข้ารอบสุดท้ายของ Commonwealth Writer's Prize, ชนะเลิศ International Association of Crime Writer Dashiell Hammet Prize และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Impac Dublin Literary Award เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ที่มีต่อ The Outlander ออกมาในแง่บวก มีการพิมพ์ครั้งแรกในแคนาดาเมื่อปี 2007 และพิมพ์ในอังกฤษเมื่อต้นปี 2009

โครงเรื่องของนวนิยายเป็นประกายชั่ววูบที่เข้ามาในความคิดของกิล โดยการจินตนาการไปถึงหญิงสาวในชุดดำ หล่อนกำลังวิ่งหนีอะไรสักอย่าง และด้วยสถานะของการเป็นกวี (กิลเคยมีผลงานรวมบทกวีออกมาแล้ว 2 เล่ม) กิลจึงจินตนาการเรื่องในรูปแบบของบทกวี เขียนเป็นร้อยกรองก่อน แต่พอเขียนไปได้สักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่าควรถ่ายทอดออกมาเป็นนวนิยาย

"ฉันไม่รู้ว่าจะทำเรื่องให้ยาวออกไปในรูปแบบของเรื่องสั้นได้ไหม? แต่ฉันไม่ได้กดดันตัวเอง แค่เขียนในแบบที่เห็นที่รู้สึก และด้วยประสบการณ์ที่ใช้นิ้วมือในการออกกำลังกายเป็นประจำ ฉันจึงลากเรื่องออกไปและลองออกกำลังกายนิ้วมือด้วยการเขียนแบบอื่นดูบ้าง" กิลกล่าว

เมื่อต้องผละการเขียนจากรูปแบบร้อยกรองมาเป็นร้อยแก้วประเภทนวนิยาย กิลต้องสร้างบุคลิกของหญิงสาวผู้นี้ขึ้นมาในมิติที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวเอกของเรื่องจึงดูลึกลับ ร้ายกาจราวกับซาตาน ตัวเอกร้ายกาจจนเหมือนความถูกต้องได้ถูกแช่งชักหักกระดูกไปสิ้นแล้ว ผู้คนจะรู้สึกไม่ดีกับตัวละครตัวนี้ และด่าทอว่าเป็นแม่มดใจร้าย เห็นได้ชัดว่ากิลสร้างตัวเอกของเรื่องให้เป็นเหมือนหญิงสาวดีเดือด บ้าคลั่ง และดูน่ากลัว เพื่อให้คนอ่านรู้สึกว่า นี่คือบุคลิกของผู้หญิงคนนี้ หล่อนเป็นแบบนั้น

The Outlander มีฉากของท้องเรื่องเป็นปี 1903 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กิลเรียกว่า "ช่วงเวลาอันหอมหวานของวัฒนธรรมอเมริกาเหนือ" ผู้เขียนจึงสนุกกับการถ่ายทอดการปะทะกันระหว่างการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของ ชาวบ้านในตะวันตกกับการขยายตัวของชีวิตสมัยใหม่แบบคนเมือง กิลมีบรรพบุรุษเป็นชาวแคนาดา ซึ่งมีวิถีชีวิตคล้ายกับแมรี่-หญิงสาวซึ่งเป็นตัวเอกในนวนิยายเรื่องนี้ บรรพบุรุษของกิลอาศัยอยู่ในบ้านและพวกเขาเขียนบันทึกบรรยายถึงชีวิตที่ทุกข์ ระทมซึ่งต้องทนต่อความเหน็บหนาว ความโดดเดี่ยว เธอยังสร้างตัวละครหญิงสาวซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องให้อ่านหนังสือไม่ออก เพราะคุณยายของกิลมีพี่น้องผู้ชายสามคน และมีน้องสาวหนึ่งคน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งข้อสมมติฐานเอาว่าไม่มีความจำเป็นที่คุณยายของเธอต้องได้รับ การศึกษา แต่คุณยายก็รู้ว่าต้องอ่านอย่างไร และคุณยายถูกอบรมสั่งสอนเรื่องการอ่านที่บ้านไม่ใช่ไปที่โรงเรียน และการอ่านก็กลายเป็นสิ่งที่ยุ่งยากสำหรับคุณยายของกิล เพราะคุณยายคิดว่าจะอ่านออกเขียนได้ไปทำไมกัน ในเมื่อผลที่สุดก็ต้องแต่งงานและมีหน้าที่เลี้ยงลูก ดังนั้นคุณยายของเธอจึงได้ข้อสรุปว่าไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องร่ำเรียนหนังสือ หนังหาในระดับที่สูงๆ แบบคนอื่น

เรื่องราวที่กิลได้อ่านจากบันทึกทำให้เธอนำเอามาแกะสลักเป็นนวนิยาย เรื่องนี้ ด้วยโครงเรื่องที่ว่ามีหญิงสาวจากครอบครัวผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง ต้องถูกจับแต่งงานกับผู้ชายที่หล่อนไม่เคยรู้จักมักจี่มาก่อน จากนั้นหล่อนก็ถูกส่งตัวไปอยู่ในที่ห่างไกลผู้คน ท่ามกลางความอ้างว้าง แล้วเมื่อต้องไปอยู่ที่ไกลปืนเที่ยงแบบนั้น หล่อนยังต้องไปพบกับซากหัวกะโหลก โครงกระดูกของคนตั้ง 30 คนที่ไร้ชีวิต กิลจึงเกิดคำถามว่าสำหรับคนที่ดำรงอยู่ได้ จัดการชีวิตได้กับสภาวะที่เห็นตรงหน้า สิ่งที่เจอไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขาเลย แต่กับคนที่ไม่รู้จะอยู่อย่างไรกับสิ่งที่พบ ชีวิตพวกเขาหลังจากประสบเหตุแบบนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป?

"ฉันเขียนเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และฉันรู้ว่านักเขียนนวนิยายและผู้สัมภาษณ์บางคนพูดกันว่าเรื่องนี้ต้องน่า อ่านด้วยการวางโครงเรื่องแล้วเขียนไปให้ถึงจุดที่วางไว้ แต่ในความเป็นจริง ฉันไม่ได้ทำงานแบบที่พวกเขาคิดกัน ฉันเขียนด้วยการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งในบรรทัดแรก จากนั้นฉันก็เขียนมันไปเรื่อยๆ นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมเรื่องที่เขียนถึงยาวออกไปเรื่อยๆ ฉันเขียนฉบับร่างออกมา และทุกครั้งที่ฉันนั่งเขียนงาน ฉันจะอ่านทวนไปมาว่าฉันได้เขียนอะไรไปบ้าง แก้ไปตรงไหน และมีตรงไหนผิดพลาด มันเป็นวิธีการเขียนหนังสือที่ฉันไม่ขอแนะนำให้ทำ แต่ฉันติดนิสัยนี้มาจากการเขียนกวี และมันเป็นจริตของฉันเวลาเขียนกวีหรือนวนิยายที่ต้องอ่านทวนซ้ำไปซ้ำมา และก็ต้องเจอจุดที่อยากแก้ไข ฉันละเมียดกับเรื่องทุกบรรทัด ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นการเสี่ยงที่หนังสือที่ฉันเขียนจะเล่มหนาเกินไป แต่ฉันก็ไม่สนใจหรอก เพราะฉันต้องการทำแบบนี้"

กิล มักพูดเสมอว่า เธอเขียนหนังสือเพื่อตัวเองและไม่สนใจว่าสิ่งที่เขียนจะได้จัดพิมพ์หรือไม่ แม้ The Outlander ใช้เวลาเขียนถึง 10 ปี จึงเขียนเสร็จออกมา แต่เธอไม่ได้สนใจส่งผลงานไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา จนกระทั่งแฟนของเธอแนะนำให้ส่งไปให้เอเยนต์ในแคนาดาพิจารณา แต่เอเยนต์ก็ปฏิเสธและไม่จัดพิมพ์ผลงานของกิล เหตุการณ์ถูกปฏิเสธคราวนั้นทำเอากิลเสียศูนย์และไม่อยากทำอะไรอีกเลยนอกจาก การทำตัวขี้เกียจไปวันๆ แต่แฟนของเธอก็แก้ปัญหาด้วยการนำ The Outlander มาจัดพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์ House of Anansi Press ซึ่งเขาตั้งขึ้นมาและจัดพิมพ์งานเขียนให้แฟนสาวของตัวเอง "จริงๆ ฉันไม่คู่ควรกับรางวัลหรือคำชมเชย เพราะคนที่ควรได้รับคือแฟนฉัน เขาเป็นคนผลักฉันให้ไปยืนตรงหน้าผา แล้วก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย"

สำหรับ The Outlander ได้รับการขนานนามว่าเป็นวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านรู้สึกแบบนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในนวนิยายมิใช่จะเกิดขึ้นได้ในทุกที่ กิลได้เล่าให้ฟังถึงรสนิยมในการอ่านของตัวเองว่า "ฉันอ่านวรรณกรรมตะวันตกซึ่งเขียนโดยนักเขียนอเมริกัน และฉันก็ค้นพบว่าการเขียนเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลอย่างมากและเป็นสิ่งที่ดี พอฉันอ่านสารคดีชุด The Foxfire Books ยิ่งทำให้ฉันตกหลุมรักการเขียน สารคดีชุดนี้ทำให้ฉันรู้ทุกอย่างว่าชาวอัพพาเลเชียซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออก ของอเมริกา พวกเขาดำรงชีวิตกันอย่างไร วิถีชีวิตของพวกเขา ทำให้ฉันได้รู้วิธีการสร้างที่พักอาศัยและการทำสบู่ของชาวอัพพาเลเชีย มิใช่แต่ข้อมูลในหนังสือที่มีเสน่ห์แต่การลงพื้นที่ของผู้เขียนเพื่อไป สัมภาษณ์ชาวบ้าน คนท้องที่ ทำให้ภาษาเฉพาะซึ่งเป็นภาษาถิ่นของพวกเขาได้ทำให้สารคดีชุดนี้น่าติดตามและ เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์"

กิล มีผลงานรวมเรื่องสั้นหนึ่งเล่มชื่อ Help Me Jacques Cousteau (1995) และรวมบทกวีสองเล่ม Primitive (1991) และAshland (2006) ตอนนี้เธอกำลังทำงานเขียนนวนิยายอีกเล่ม และได้รับค่าตัวล่วงหน้าจากสำนักพิมพ์ Bloomsbury จากยอดขาย The Outlander ที่ขายดีเอาการ จึงทำให้กิลมีเวลาได้นั่งทำงานเขียนเล่มที่สองอย่างเต็มเวลามากขึ้น ก่อนหน้านี้เธอมีรายได้จากการทำงานเป็นบรรณาธิการ โดยทำงานอยู่ที่บ้านและสัญญาว่านวนิยายเล่มถัดไปจะไม่ใช้เวลาถึง 10 ปีในการเขียน

"ตอนนี้ฉันมีผลงานไปแล้ว และฉันก็รู้วิธีการทำงานมากขึ้น ฉันรู้สึกดี และรู้สึกว่าเป็นคนโชคดีที่ได้เป็นนักเขียน งานเขียนทำให้ฉันรับรู้ถึงความพยายาม ความตั้งใจที่ฉันทุ่มเทลงไป ฉันจึงบอกกับตัวเองว่า... ครั้งต่อไปฉันจะมีความสามารถมากขึ้น และเขียนงานได้เร็วขึ้นกว่านี้สักหน่อย"

 

http://www.bangkokbiznews.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ