อมตะวรรณกรรม 60 ปีประพันธ์สาส์น : ย้อนรอยหนังสือหายาก ประพันธ์สาส์น ตอนที่ 1

อมตะวรรณกรรม 60 ปีประพันธ์สาส์น

     ก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดสำนักพิมพ์ชื่อ "ประพันธ์สาส์น" ย่อมมีที่มาให้กล่าวอ้างถึง และรากเหง้าของความเป็นประพันธ์สาส์น ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือ "ร้านผดุงศึกษา" ที่ถือกำเนิดขึ้นโดย ทรวง เตชะธาดา ที่เวิ้งนาครเขษม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนับ เป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจหนังสือต่อมาถึงสามชั่วอายุคนถึงปัจจุบัน

      กิมทรวง แซ่แต้ (ทรวง เตชะธาดา) หรือที่ต่อมารู้จักกันในนาม คุณทรวง ร้านผดุงศึกษา เป็นอีกหนึ่งผู้สร้างตำนานร้านหนังสือย่าน เวิ้งนาครเขษม 

      ในช่วงทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลาที่เกิดการ เปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศไทย ทั้งทางด้านการเมืองที่เกิด การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 วงการวรรณกรรม เองก็เป็นช่วงที่เฟื่องฟู เนื่องจากวรรณกรรมและการอ่านเป็นสิ่งที่ชี้วัด ความทันสมัยของประเทศ จึงทำให้ผู้คนหันมาสนใจการอ่านมากขึ้น ทั้งนี้จึงเป็นเหตุให้ “การเขียนหนังสือ” กลายเป็นอาชีพๆ หนึ่งที่ค่อนข้าง มั่นคง บวกกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เข้ามาพร้อมกับชาวตะวันตก โดยการรับช่วงของชนชั้นสูงได้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กิมทรวงจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ สนใจธุรกิจหนังสือ และเข้ามาสร้างบทบาทในวงการน้ำหมึกไทย แต่ ด้วยเหตุที่ทรวงเป็นชาวจีน อ่านเขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้ เขาจึงต้องอาศัยผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการประพันธ์ เป็นผู้แนะนำและจัดหา ผลงานมาให้ หลังสงครามสงบ “คุณเภาว์” (ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง) ซึ่งทำอยู่ที่หนังสือปิยะมิตร เป็นผู้ที่คอยจัดการติดต่อต้นฉบับจาก นักเขียนให้กับทรวงเพื่อนำมาจัดพิมพ์ จากความสัมพันธ์นี้เอง นิยาย เล่มแรกๆ ที่ร้านผดุงศึกษาจัดพิมพ์หลังสงคราม จึงเป็นผลงานของ ป. อินทรปาลิต ซึ่งเคยทำอยู่ที่ปิยะมิตรเช่นกัน แต่ลาออกมาในปี พ.ศ.2492 ปีเดียวกับที่ผดุงศึกษาเริ่มพิมพ์ผลงาน

      ในยุคของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ได้จัดพิมพ์ผลงานมากมาย และหลายเล่มยังคงมีชื่อเสียงเป็นอมตะจวบจนทุกวันนี้ แม้เวลาจะ ล่วงเลยไปเกิน 6 ทศวรรษแล้วก็ตาม และผลงานชิ้นสำคัญที่สมควร แก่การกล่าวถึง อาทิ ผู้ชนะสิบทิศ และ สามก๊ก ฉบับวณิพก ของ ยาขอบ อายผู้หญิง และ เสือใบ เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ของนักเขียนรุ่นเก๋า ที่เคยพิมพ์ ผลงานกับผดุงศึกษาไว้มากมายหลายท่าน เช่น รพีพร, เลียว ศรีเสวก, สันต์ เทวรักษ์, เสรี เปรมฤทัย, โชติ แพร่พันธุ์, มนัส จรรยงค์, ประหยัด ศ. นาคะนาท, ประมูล อุณหธูป, วิชิต เพ็ญมณี เป็นต้น นอกจากนี้หนังสือที่ฝากชื่อมาสู่รุ่นปัจจุบัน ก็คงจะเป็น ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ เป็นต้น สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ก็เรียกว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่เป็นรากฐาน ที่ทำให้เกิดสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในวันข้างหน้า และเป็นจุดเริ่มต้น ของการทำธุรกิจขายหนังสือในตระกูลเตชะธาดา ที่ดำรงอยู่มานาน จนถึง 60 ปี

 

 

รวมเรื่องสั้นชุด ศาลาโกหก

สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน โดย ป.อินทรปาลิต

นอกเหนือไปจากชุด ศาลาโกหก แล้ว สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ยุคแรกได้ตีพิมพ์ผลงานของ ป.อินทรปาลิต ไว้เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มือเขียนปกคู่บุญของ ป.อินทรปาลิต ซึ่งก็คือ อาภรณ์ อินทรปาลิต ซึ่งเป็นน้องชายของ ป.อินทรปาลิต อีกด้วย

 

 

 

โลกียชน

ผลงานของ จอห์น สไตน์เบ็ค แปลโดย ประมูล อุณหธูป

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงบุกเบิกของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา มีการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ของชาวตะวันตกเข้ามาใช้กันแพร่หลาย ทำให้วงการหนังสือคึกคักเป็นอย่างมาก ผลงานแปลวรรณกรรมชื่อดังก็ได้รับความนิยม ซึ่ง ประมูล อุณหธูป ก็เป็นหนึ่งในนักแปลชั้นเซียนที่สร้างสำนวนคุณภาพมาแล้วหลายเล่ม

 

 

ผู้ชนะสิบทิศ

ประพันธ์โดย ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธุ์

ผลงานอมตะระดับตำนานของเมืองไทย ซึ่งนอกจาก ผู้ชนะสิบทิศ แล้ว สำนักพิมพ์ผดุงศึกษายังได้ตีพิมพ์หนังสือสำคัญๆ ของ ยาขอบ ไว้เป็นจำนวนมาก

 

 

ธนูทอง

ประพันธ์โดย อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม

อิงอร เจ้าของฉายา นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง ซึ่งสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาได้จัดพิมพ์หนังสือสำคัญของ อิงอร ไว้หลากหลายเล่มด้วยกัน และ ธนูทอง เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ และได้รับพระราชทาน 3 รางวัลยอดเยี่ยมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

 

หนาวผู้หญิง

ประพันธ์โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

หลังจากสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นแยกออกมาก่อตั้ง คุณสุพล เตชะธาดา ก็ได้ทำการเปิดฤกษ์เอาชัยด้วยการตีพิมพ์ หนาวผู้หญิง หนังสือรวมผลงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งได้เขียนประจำให้กับสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ อยู่ในขณะนั้น ผ่านการแนะนำของคุณประเสริฐ พิจารณ์โสภณ

 

ติดตามอ่านต่อกันได้ในตอนที่ 2

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ