ควรช่วยลูกถือหนังสือหรือฝึกพลิกหนังสือทีละหน้า ทั้งท่านั่งและท่านอนคว่ำโดยพ่อแม่อ่านเป็นเสียงสูงๆต่ำๆ เพราะลูกยังฟังไม่รู้เรื่อง เสียงที่สูงต่ำจะดึงความสนใจลูกได้ดี อ่านบ่อยๆเพื่อสร้างความคุ้นชินให้ลูกทั้งการจับพลิกหนังสือและกิจกรรมการ อ่านหนังสือ
อายุ 6- 8เดือน เริ่มทรงตัวเก่งและนั่งพอได้ คราวนี้มานั่งตรงข้ามกัน เพื่อเราจะได้สบตาลูก และเราจะได้สังเกตสายตาลูกว่ามองไปที่รูปอะไรอยู่ เพื่อให้การอ่านของเราตอบสนองสิ่งที่ลูกเห็นได้แม่นยำกว่า พ่อแม่ยังคงอ่านด้วยเสียงน่าสนใจเช่นเดิม แต่สามารถเน้นเป็นคำสั้นๆที่เห็นชัดเจน เช่น เมื่ออ่านว่า “สิงโตไปหาเพื่อน” เราก็ย้ำคำว่า “สิงโต” พร้อมกับชี้ไปที่ตัวสิงโต ทำซ้ำ 2-3 รอบ หากสายตาลูกมองไปทางลิง เราก็พูดตอบสนองลูก เช่น “ลิง” เว้นจังหวะให้ลูกพิจารณา “ลิงรอเพื่อน” เว้นจังหวะ พูดซ้ำอีกครั้ง “ลิง” แต่ต้องเสียงสูงต่ำด้วยนะค่ะ
เราไม่จำเป็นต้องอ่านตามคำบรรยายเพราะเด็กยังฟังไม่เข้าใจ อายุเท่านี้ เน้นการนั่งโต้ตอบ อย่างมีปฏิสัมพันธ์ผ่านหนังสือไปก่อน โดยเราเป็นฝ่ายอ่านและฝ่ายตอบ(สนอง) ใช้วิธีอ่านภาพเอา ผู้ปกครองมักเข้าใจว่า การอ่านนิทานให้ลูกตั้งแต่เล็กๆคือการอ่านๆๆๆให้ลูกฟังฝ่ายเดียว การทำเช่นนั้น เด็กไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย จะทำให้เบื่อการฟังจึงนั่งอยู่ได้ไม่นาน
อายุ 8-12 เดือน ช่วงนี้เด็กใช้มือเก่งมากขึ้นและซนมากขึ้นเช่นกัน การใช้มือเก่งทำให้พลิกหนังสือได้คล่องมาก ทำให้เราสามารถดึงลูกให้มีปฏิสัมพันธ์ตลอดการอ่านหนังสือไม่ยาก หากว่าลูกกำลังจะลุกออก เราก็ชักจูงลูกกลับมานั่งอ่านต่อ ด้วยการบอกลูกว่า “เปิดหน้าต่อไป” พร้อมจับมือลูกมาช่วยพลิกหน้า เป็นวิธีดึงลูกให้กลับมาต่อ เพราะเมื่อมือเด็กจับหน้าหนังสือได้ก็มักจะพลิกตามที่เราบอก ได้ประโยชน์ทั้งการกลับมาสนใจหนังสือต่อ (ใช้ได้ดีในเด็กที่ชอบลุกออกก่อนจะจบ) และได้พัฒนาทักษะการฟัง (ทำให้เข้าใจประโยค“เปิดหน้าต่อไป” ได้ในที่สุด)
ตอนนี้เราก็ยังคงนั่งตรงข้ามและเล่าอย่างมีปฏิสัมพันธ์ คือเป็นฝ่ายเล่าและตอบสนองตามที่สายตาลูกลากไป แต่มีเพิ่มเติม 2 อย่างคือ
1. เราสามารถพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้ และต่อได้ 2-3 ประโยค ขึ้นกับว่าพื้นฐานแน่นแค่ไหน เช่น เมื่อตอนอายุน้อยนั่งฟังได้ดีแล้ว ตอนนี้เราไม่ต้องกังวลกับการลุกออก เราก็เพิ่มความยาวของเรื่องได้ โดยเล่าเป็นประโยคมากขึ้น เช่น “สิงโตไปหาเพื่อน แล้วไปเจอกระรอก เจอนก เจอหมี แต่ลิงรออยู่ที่บ้าน” ซึ่งเดิมตอนเล็ก เราแค่เล่าเจาะเป็นตัวๆ ไม่ได้เป็นเรื่อง (เป็นการฝึกฟังอย่างจดจ่อ มีสมาธิ ฝึกใช้สมองแบบผสมผสานคือรับรู้ผ่านการมองภาพพร้อมๆกับการใช้หูฟัง ทำให้เข้าใจภาพที่เห็นตรงหน้านั้นได้ในที่สุด ไม่ใช่แค่มองๆและพลิกๆ ไม่ได้ฟังเรา)
2. เราชวนลูกตอบคำถามได้แล้ว โดยตั้งคำถามง่ายๆและเฉลยให้ลูก จับนิ้วชี้ลูกเป็นตัวช่วยในการตอบ เช่น “สิงโตอยู่ไหนน้า...” เว้นจังหวะ “สิงโตอยู่นี่” พร้อมจับนิ้วชี้ลูกมาชี้แทน สังเกตสายตาลูกด้วยว่ามองมาที่สิงโตหรือไม่ หากเด็กรู้สึกสนุกหรือเพลิดเพลินเด็กจะต้องเงยหน้ามามองผู้อ่านแน่ๆ เหมือนกับจะบอกว่า “น่าสนใจจัง หนูกำลังมีทักษะใหม่” ทำซ้ำๆ และทำบ่อยๆในระหว่างการเล่านิทาน (แต่ต้องมีเสียงสนุก สูงต่ำด้วยนะค่ะ) ลูกก็จะสนุกขึ้นเพราะได้ปฏิสัมพันธ์ ได้ใช้นิ้วชี้ (บางคนเริ่มชี้เป็นก็ตอนนี้แหละ ลูกเข้าใจการใช้นิ้วชี้แล้วว่าเป็นตัวสื่อสารกับแม่ได้ คราวนี้ลูกก็จะใช้นิ้วชี้เพื่อสื่อสารกับเรื่องอื่นๆที่ลูกต้องการได้)
การสอนคำศัพท์ในหนังสือสำหรับเด็กวัยนี้ยังคงต้องเป็นคำนามอยู่ เพราะมองเห็นเป็นตัวตนชัดเจน ส่วนคำกิริยา คำคุณศัพท์ คำวิเศษยังยากเกินไป เช่น “สิงโตไปหาเพื่อน” สิงโตเป็นคำนามที่มองเห็นและสอนให้เด็กเข้าใจง่ายกว่า คำกิริยา “ไป”
การตั้งคำถามจะเป็น “ที่ไหน”, “อะไร”หรือ “ใคร” ส่วน “เมื่อไร” “ทำไม” “อย่างไร” ต้องรอโตกว่านี้ อายุ 1 ปีขึ้นไป หากปูพื้นฐานได้แน่นแล้ว พ่อแม่เองก็จะคล่องแคล่วและแพรวพราวเป็น คราวนี้เราก็สามารถเล่าเป็นเนื้อเรื่องตามที่มีมา แต่ต้องไม่ใช่ 1 หน้ามี 10 กว่าบรรทัด เอาแค่ 1-3 บรรทัดพอไหว ยกเว้นว่าลูกเรามีสมาธิดีมากก็สามารถเล่ายาว ซึ่งส่วนใหญ่ที่หมอเห็น เด็กมักชอบฟังสั้นๆมากกว่า มีบ้างที่เด็กฟังได้ยาว แต่มักเป็นเรื่องเดิมที่รู้แล้ว พอมีเล่มใหม่จะไม่ค่อยชอบฟัง นั่นเป็นเพราะเรื่องเดิม เขาได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ด้วย เขาก็ชอบ ทั้ง เล่าเองแทรกเราในหน้าถัดไป หรือชี้นำแทนเรา ดังนั้น ถ้ามีเล่มใหม่แล้วลูกไม่สนใจ ให้สำรวจว่าเราไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับลูกตอนเล่าหรือเปล่า หรือนิทานนั้นยาวเกินไป
หมอพบบ่อยเลยที่เด็กฟังนิทานแล้วจำได้แต่ไม่ค่อยเข้าใจ คือเด็กจำหน้าต่อไปได้ ท่องได้เป็นบรรทัดต่อบรรทัด พอถามความเข้าใจ เด็กงง เช่น นิทานเด็กไปตลาด ท่องกลอนที่มีได้ทุกหน้า แต่พอถามเหตการณ์ในหน้านั้น ในภาพเป็นปลาที่อยู่ในถาดน้ำแข็ง ซึ่งไม่ได้เขียนบรรยายในกลอน หมอถามว่า “ปลานอนอยู่ในนี้ ในนี้เป็นอะไร” เด็กตอบไม่ได้
หมอคิดว่า นิทานมีไว้เพื่อเป็นสื่อกลางให้พ่อแม่กระตุ้นสมองลูกทั้งส่วนการฟัง(อย่าง ตั้งใจ) คิด พิจารณา สังเกตุ และค้นหาคำตอบที่อยู่ในคลังสมอง รวมทั้งฝึกนึกคำที่จะใช้ตอบและเรียบเรียงเป็นประโยคเพื่อสื่อสารออกมาด้วย คงไม่ใช่มีไว้แค่ให้ลูกท่องจำ ดังนั้น เริ่มต้นการอ่านอย่างมีปฏิสัมพันธ์กับลูกตั้งแต่เล็กๆ กระตุ้นลูกตอบคำถามและมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง พอลูกโต 1 ปีขึ้นไปเราก็ใส่ข้อมูลให้มากขึ้นๆได้ (ต้องสนุกด้วย)
เด็กที่พ่อแม่พูดคุย สอนบ่อยๆบางคนอายุ 2 ปีก็สามารถตอบคำถาม “ทำไม” ได้ (ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่อายุประมาณ 3 ปี) เช่น เมื่อหมอถามว่า “ทำไมปลาในตลาดต้องอยู่ในถาดน้ำแข็ง” เด็กบอกได้ว่า “จะไม่เสีย ไม่เหม็น” (คำว่าเน่าเด็กยังไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น หากเคยเห็นจะเข้าใจง่ายขึ้นและสามารถตอบว่าเน่าได้)
การอ่านโดยเน้นความเข้าใจ ใช้สมองทุกส่วนจะพัฒนาความฉลาดลูกได้มากกว่าการจำ การต่อยอดความรู้จากหนังสือ ถามลูกและขยายความคิดออกนอกนิทานอย่างกว้างขวาง จะช่วยฝึกสมองลูกให้เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกตุ และฝึกจินตนาการ ลูกก็จะชอบมากด้วย เช่น “ถ้าไม่อยากให้ปลาเสีย ใช้วิธีอื่นอีกได้มั๊ย” “ทำไงดีถ้าน้ำแข็งหมด” “บ้านเราไปซื้อปลาที่ไหน” “ปลาบางตัวเราเห็นมันว่ายอยู่ในน้ำที่ร้านเตรียมไว้ เพราะอะไร ต่างกันยังไง” เป็นต้น
หมายเหตุ ช่วง 2 ปีแรกหานิทานที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เด็กจะทำความเข้าใจได้ง่าย ส่วนนิทานจินตนาการมากๆ เช่น นิทานอีสบ นิทานเจ้าชาย เจ้าหญิง ให้เราสังเกตุจินตนาการของลูกว่าพร้อมเมื่อไรค่อยเอาเข้ามาอ่าน บางคน 2 ปีก็จินตนาการดี บางคน 3 ปี ขึ้นอยู่กับว่าเราฝึกสมองลูกให้มีจินตนาการตั้งแต่เล็กๆหรือไม่......(จะหา โอกาสเขียนเรื่องจินตนาการค่ะ)
ขอบคุณที่มาจาก พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์