5 นิสัยพื้นฐานสู่การเป็นนักเขียนที่ดี : การเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเหมือนอาชีพอื่นๆ เพียงมีกระดาษกับปากกาและความคิด

5 นิสัยพื้นฐานสู่การเป็นนักเขียนที่ดี

การเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเหมือนอาชีพอื่นๆ เพียงมีกระดาษกับปากกาและความคิด เราก็พร้อมเป็นนักเขียนได้แล้ว แต่การเป็นนักเขียนที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย นักเขียนบางคนทั้งชีวิตอาจจะเขียนหนังสือสักเล่มหรือสองเล่ม แต่นักเขียนที่ดี เขาจะมีผลงานหนังสือตลอดชีวิต

จริงอยู่ว่าการเป็นนักเขียนที่ดีอาจไม่ต้องใช้เงินมากเหมือนการทำธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน นักเขียนที่ดีต้องมีต้นทุนทางพฤติกรรมที่สั่งสมจนกลายเป็นลักษณะนิสัยประจำตัว ดังนั้นนักเขียนที่ดีควรมีนิสัยประจำตัวดังนี้

1. รักการอ่าน
นักอ่านทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียน แต่นักเขียนทุกคนจำเป็นต้องเป็นนักอ่าน การอ่านหนังสือไม่ได้เป็นแค่กิจกรรมเสพความรู้หรือความบันเทิง แต่การอ่านจะช่วยทำให้เรารู้จักรสนิยมการใช้คำ เรียนรู้วิธีการจัดวางประโยคที่ดี ยิ่งอ่านหนังสือที่หลากหลายก็ยิ่งช่วยให้เรารู้จักใช้คำได้เหมาะสมกับสารที่ต้องการสื่อมากขึ้น เคล็ดลับสำคัญสำหรับนักอ่านที่ต้องการเป็นนักเขียนก็คือควรเลือกเสพหนังสือดีให้มากเข้าไว้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนที่เร็วที่สุดแล้ว

2. รู้จักการจับประเด็น
ประเด็นคือสิ่งสำคัญ เปรียบเหมือนหมุดที่ยึดโยงไว้ระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียน งานเขียนที่ดีต้องมีประเด็นที่ชัดเจน เป็นเบาะแสที่บอกให้ผู้อ่านรู้ว่าผู้เขียนจะพูดถึงอะไรและตอนนี้อ่านถึงตรงไหน ทำให้ผู้อ่านสามารถติดตามงานเขียนของเราไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความเข้าใจ แต่ขณะเดียวกัน ถ้างานเขียนของเราขาดประเด็นที่ชัดเจน มีเป้าหมายไม่แน่นอน หรือยัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อลงไปมากมาย ผู้อ่านย่อมสับสน เหมือนคนหลงทางในเขาวงกต และในที่สุดก็เลิกอ่าน เพราะไม่รู้ว่าจะอ่านไปเพื่ออะไร การจับประเด็นที่ดีนั้นควรเสนอเพียงประเด็นเดียว หรือสามารถใช้ประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายเพื่อเสริมประเด็นหลักให้แข็งแรง ไม่ควรอย่างยิ่งที่ยัดประเด็กที่หลากหลายและไม่เกี่ยวข้องกันลงไปในหัวข้อเดียวกัน การอ่านหนังสือดี จะช่วยฝึกทักษะการจับประเด็นให้กับเรา

3. ช่างสังเกต
การเขียนหนังสือ เราไม่สามารถรอให้เรื่องราวหล่นจากฟ้ามาตกใส่หัวเพื่อให้เราหยิบเอาไปเขียนได้ การเป็นนักเขียนที่ดีต้องรู้จักสอดส่ายหาเรื่องราวจากสิ่งรอบตัวมานำเสนอแก่ผู้อ่าน นิสัยช่างสังเกตจะช่วยให้เรามองเห็นเรื่องราวที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ นิสัยช่างสังเกต สามารถฝึกฝนได้จากการตั้งคำถาม ไม่จำกัดว่าคำถามนั้นจำเป็นต้องมีสาระ เพราะบางครั้งเราจะพบได้ว่าแม้แต่คำถามง่ายๆของเด็กก็ทำให้เราฉุกคิดเรื่องราวที่มีลึกตื้นหนาบางได้เช่นกัน

การตั้งคำถามที่ดี ไม่ควรมีคำตอบให้ในเดี๋ยวนั้น มันควรเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบที่หลากหลาย และเมื่อไหร่ที่เราเจอกับคำถามที่ชวนให้เราคึกคักอยากค้นหาคำตอบ ขอให้รู้ไว้เลยว่าเราได้เจอกับเรื่องราวที่ควรเขียนเป็นหนังสือแล้ว

4. มีอารมณ์สุนทรีย์
ความสุนทรีย์คือความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งที่มีในตัวมนุษย์ทุกคน เกิดจากมุมมองที่มีต่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง คนที่ผ่านชีวิตมามากก็จะมีความสุนทรีย์ที่ลึกตามไปด้วย อารมณ์สุนทรีย์ทำให้เรามีความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์ มองเห็นความเลวและความดีอย่างตรงไปตรงมา เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์อย่างที่ควรเป็น ปราศจากทั้งอุดมคติและอคติใดๆ มันคือการยอมรับและพึงพอใจต่อชีวิตนั่นเอง ผู้ที่ไม่ยอมรับความจริง นับได้ว่าเป็นผู้ไม่มีสุนทรีย์

อารมณ์สุนทรีย์คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ของศิลปิน(นักเขียนก็คือศิลปินแขนงหนึ่ง) เพราะการทำงานของศิลปินนั้นเกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันโดยตรง การที่เราจะสามารถสร้างงานเขียนให้ประทับใจผู้อ่าน จำเป็นต้องมีความเข้าใจในตัวมนุษย์เป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง

5. กล้าหาญ
ในบางครั้ง เราอาจมีความคิดที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้น แต่กลับไม่ได้ลงมือเขียนเพียงเพราะกลัวจะกระทบกับผู้คน สังคม หรือศีลธรรม นั่นคือความน่าเสียดายที่ไม่ควรเกิดขึ้น นักเขียนที่ดีควรมีความกล้าหาญ กล้าที่จะบอกเรื่องราวที่เราอยากบอก บอกเล่าถึงสิ่งที่เราเห็น อาจจะเป็นความอยุติธรรมของสังคม ค่านิยมที่ห่วยแตก สังคมที่ล้มเหลว หรือกล้าแม้กระทั่งวิจารณ์ความแหลกเหลวของศาสนจักร

เราต้องการคนที่คอยกระตุ้นเตือนสังคมทุกเวลา เราต้องการเสียงที่จะบอกว่าเกิดอะไรและมีผู้คนคิดเห็นกับมันอย่างไร นักเขียนที่ดีต้องกล้าที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา เชื่อเถอะว่าต้องมีคนที่อยากรับฟังความจริง และนอกเหนือจากความกล้าหาญที่จะเขียนแล้ว นักเขียนที่ดีต้องกล้าหาญที่จะรับผิดชอบงานเขียนของตนเองด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือ 5 นิสัยที่จะทำให้คุณเป็นนักเขียนที่ดีได้ ลองสำรวจตัวเองดูกันเลยว่าเรามีครบทุกข้อหรือไม่ ใครที่มีครบทุกข้อก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณเป็นนักเขียนที่ดีได้แน่นอน

 

บทความโดย : โชติรวี โสภณศิริ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ