ต้อนรับ Pride Month เมื่อวรรณกรรมวาย (ยัง) ไม่เท่ากับ วรรณกรรมเกย์ : แม้วรรณกรรมทั้งสองประเภทจะสร้างภาพแทน แต่ก็นำเสนอออกมาในแง่มุมที่ต่างกัน

ต้อนรับ Pride Month เมื่อวรรณกรรมวาย (ยัง) ไม่เท่ากับ วรรณกรรมเกย์

ย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน ชูธงสายรุ้งโบกสะบัด เพราะนี่คือ Pride Month หรือเดือนเเห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

 

ส่วนเหตุผลที่กำหนดให้เดือนมิถุนายนเป็นสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมก็เพราะว่า ต้องการระลึกถึง “เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์” (Stonewall Riots) การปราบปรามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งรุนแรงในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969

 

เมื่อพูดถึงแวดวงวรรณกรรม งานเขียนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนผู้มีหลากหลายทางเพศย่อมหนีไม่พ้น "วรรณกรรม LGBTQ+" หรือ "วรรณกรรมเกย์" และงานแนวประชานิยม (Pop Culture) ชายรักชายสมัยใหม่ที่เห็นดาษดื่นบนจอแก้วอย่าง "วรรณกรรมวาย"

 

แต่น่าสังเกตว่า เมื่อพูดถึงวรรณกรรมวายอาจไม่เท่ากับวรรณกรรมเกย์!??

 

“วรรณกรรมวาย” แตกต่างจาก “วรรณกรรมเกย์” อย่างไร

           วาย (Yaoi) หรือ BL (boy love) มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น หมายถึง ชายรักชาย (ส่วนหญิงรักหญิง คือ Yuri) ในช่วงแรกถูกผลิตขึ้นเพื่อล้อเลียนการ์ตูนของผู้ชาย เพื่อทำให้เกิดความตลกขบขัน ก่อนจะแพร่หลายและได้รับความนิยมในสังคมเอเชียที่มีลักษณะปิตาธิปไตย ซึ่งอาจสะท้อนถึงพื้นที่แห่งการปลดปล่อยและเติมเต็มของเพศหญิง

 

วรรณกรรมวายจึงเป็นวรรณกรรมแนวรักโรแมนติกที่มุ่งนำเสนอความสัมพันธ์รัก ๆ ใคร่ ๆ แบบโรมานซ์ผ่านตัวละครชาย 2 คนเป็นหลัก

 

 

ส่วนวรรณกรรมเกย์ คือ วรรณกรรมแนวสัจนิยมหรือสะท้อนสังคมที่มุ่งนำเสนอภาพความเป็นจริงอันยากลำบากของกลุ่ม LGBTQ+ และแสดงออกมาในลักษณะเห็นอกเห็นใจ เคร่งเครียด และจริงจัง ซึ่งอาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์รัก ๆ ใคร่ ๆ บ้าง หากไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

 

ตัวอย่างของวรรณกรรมเกย์ เช่น ประตูที่ปิดตาย บัลลังก์ใยบัว (ชายรักชาย) รากแก้ว (หญิงรักหญิง) ของกฤษณา อโศกสิน ทางสายที่สาม ของกีรติ ชนา ใบไม้ที่ปลิดปลิว ของทมยันตี หรือสุดปลายสะพาน ของสุริศร วัฒนอุดมศิลป์ ฯลฯ

 

 

ดังนั้น การจะแยกวรรณกรรมวายกับวรรณกรรมเกย์ จึงต้องดูที่รูปแบบ (Genre) ของการนำเสนอเรื่องราว แม้วรรณกรรมทั้งสองประเภทจะสร้างภาพแทนจนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความบิดเบือนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ตาม แต่ก็นำเสนอออกมาในแง่มุมที่ต่างกัน

 

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านวัฒนธรรมวาย ยังเคยกล่าวถึงประเด็นนี้กับสำนักข่าวบีบีซีไทยไว้ว่า “ไม่อาจจัดวรรณกรรมวายเข้ากลุ่มวรรณกรรมเกย์ได้อย่างสนิท จากคำจำกัดความที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นวาย”

 

อ้างอิงจากคำจำกัดความของวรรณกรรมเกย์โดยราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า

          “วรรณกรรมเกย์หรือวรรณกรรมชายรักชาย คือ วรรณกรรมที่เน้นความสัมพันธ์ทางเพศหรือความรักใคร่ระหว่างผู้ชายด้วยกัน วรรณกรรมชายรักชายส่วนใหญ่ถูกอำพรางด้วยภาษาที่เป็นรหัส และการสื่อสารในรูปแบบแอบแฝงระหว่างพวกเกย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมและกฎหมายในโลกตะวันตกถือว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม”

 

ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมวายที่เล่าเรื่องแนวโรมานซ์ รัก ๆ ใคร่ ๆ ที่ตัวละครชายต่างนิยามตนเองว่า “ไม่ใช่เกย์” แต่เป็น “ชายแท้” ที่มาตกหลุมรักกันด้วยพรหมลิขิต และพิเศษตรงที่เป็นความรู้สึกวาบหวามหวั่นไหวกับคนเพศเดียวกันคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างสามารถก้าวข้ามกรอบสังคมและรสนิยมทางเพศได้

 

นอกจากนี้ วรรณกรรมวายจะไม่เน้นการนำเสนอปัญหาหรือรูปแบบการใช้ชีวิตในลักษณะที่เป็นเกย์อย่างละเอียด เช่น การไม่นำเสนอหรือวิพากษ์การหาคู่นอน หรือการรณรงค์เพื่อความหลากหลายทางเพศ เรื่องสุขอนามัยทางเพศ อันพบอยู่บ่อยครั้งในวรรณกรรมเกย์

  

       

สังคมของวายจึงแตกต่างจากสังคมของเกย์ในแง่การพูดถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวรรณกรรมวายทั้งหมดจะเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาวรรณกรรมวายหลายเรื่องก็พูดถึงการแต่งงานของเพศเดียวกัน การยอมรับของครอบครัวของพ่อแม่ การก้าวผ่านวัย (Coming of Age) การเรียนรู้ที่จะยอมรับความรักของเพศเดียวกัน ฯลฯ

 

ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ หากสังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ สังคมก็จะไม่ยอมรับวัฒนธรรมวายด้วยเช่นกัน และอุตสาหกรรมวายนี้เองก็ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับคนรักเพศเดียวกันเช่นเดียวกับที่ขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ+ ทำมาโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเหลื่อมซ้อนและมีข้อถกเถียงกันอย่างไม่สิ้นสุดระหว่างสังคมเกย์กับวัฒนธรรมวาย แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ศรัณย์ พ.จานุพิบูล (2564) ที่เสนอการใช้คำว่าวาย และคำว่าเกย์ ไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า

           คำว่า “วาย” ใช้กับงานเขียน การ์ตูน และสื่อบันเทิง ลักษณะภายนอก นิสัย สถานภาพทางสังคม และสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องนั้นเกิดจากจินตนาการของผู้เขียนทั้งหมด เพื่อสร้างความสุขให้ผู้อ่านหรือผู้ชม

           ในขณะที่คำว่า “เกย์” มีรากฐานมาจากชีวิตจริง เป็นเพศหนึ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวัน การเป็นเกย์คือเรื่องจริงแถมเป็นเรื่องปกติ เพราะเกย์คือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีหน้าที่สร้างความสุขให้ผู้แก่อ่านหรือผู้ชม แต่มีหน้าที่สร้างความสุขให้ตนเอง

 

ดังนั้น คำว่า “วาย” จึงไม่เท่ากับ “เกย์” แต่หากดูจุดประสงค์หรือเจตนาของทั้งสองคำจะพบว่ามีจุดร่วมบางอย่างที่ทำงานร่วมกัน นั่นคือ พยายามนำเสนอสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นั่นเอง

 

 

ด้วยความปรารถนาว่าสักวันหนึ่งสังคมในวรรณกรรมเกย์จะวิวัฒน์ไปสู่ความชื่นมื่นโรมานซ์อย่างวรรณกรรมวาย และกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม #happypride2023

 

ณัฐวุฒิ ศรีเรือง

ผู้เขียน

 

บรรณานุกรม

ศรัณย์ พ.จานุพิบูล. (2564). ทำไม “วาย” ไม่เท่ากับ “เกย์”. สืบค้นจาก https://avocadobooks.co/trends/y-gay-differentiation/

วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (2563). เพราะเราคู่กัน : วัฒนธรรมวายคืออะไร ทำไม #คั่นกู จึงเพิ่มความสนใจต่อ ซีรีส์ "คู่จิ้นชาย-ชาย". สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/features-52240707

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ