ไม่นานผ่านมาบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดงานแถลงข่าวการจัดพิมพ์ "ปูนปิดทอง" บทประพันธ์ของ "กฤษณา อโศกสิน" นักประพันธ์ระดับแถวหน้าของเมืองไทยเป็นฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อต้องการให้เป็นที่แพร่หลายในระดับสากล
โดยนวนิยายเรื่อง "ปูนปิดทอง" เคยคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2525 มาก่อน และได้รับความนิยมตลอดมา "ปูนปิดทอง" เป็นวรรณกรรมริเริ่ม สร้างสรรค์ เกี่ยวกับความรักหนุ่มสาวที่มีปัญหาครอบครัวบ้านเเตก สาเเหรกขาด ซึ่งสะท้อนความเข้าใจของชีวิต ชี้ให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในหน้าที่ของพ่อเเม่ ทำให้เกิดความเข้าใจกัน และยังเสนอแนวคิดอันเป็นประโยชน์สร้างสรรค์ให้กับชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ตัวละครเอกในเรื่องได้แก่ สองเมือง และบาลี ทั้งคู่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ หย่าร้าง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ บาลี ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และชักจูงให้สองเมืองลืมความข่มขื่นใจที่เคยเกิดขึ้น ทำให้สองเมืองรักบาลี และมั่นใจว่าชีวิตคู่ของเขาและเธอจะไม่เป็นอย่างพ่อกับแม่ และจะเป็นพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่เป็นเพียงรูปหล่อปูนที่ปิดด้วยทอง ซึ่งไม่มีค่าที่ยั่งยืน…
"กฤษณา อโศกสิน" เป็นนามปากกาของ "สุกัญญา ชลศึกษ์" นักประพันธ์สตรีที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการประพันธ์นวนิยาย จนสามารถเรียกได้ว่าเธอคือราชินีนักเขียนนวนิยาย คงจะไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้าน เพราะเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนท่านหนึ่งที่พัฒนางานเขียนของตนเองอยู่ตลอดเวลา เนื้อหาของผลงานจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จากจุดเริ่มต้นของงานเขียนในแนวรักใคร่ พัฒนามาสู่การหยิบยกปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมาเขียนมากขึ้น
จวบจนระยะเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ "กฤษณา" สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงก้าวตามความฝันต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนมีผู้กล่าวว่าเส้นทางฝันของ "กฤษณา อโศกสิน" เพียงแค่จุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน ที่นักเขียนน้อยคนนักยากที่จะก้าวมาถึงได้ "สุกัญญา ชลศึกษ์" เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี เริ่มต้นการประพันธ์ด้วยวัยเพียง 15 ปี เธอมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน มีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก ′ของขวัญปีใหม่′ ลงในหนังสือ ′ไทยใหม่วันจันทร์′ ในนามปากกาว่า ′กัญญ์ชลา′ ประมาณปี 2489
หลังจากจบการศึกษา เธอเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เสมียน กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ รับเงินเดือน 450 บาท แต่ทว่ายังมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนต่อไป มีผลงานเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสาร′ศรีสัปดาห์′และทยอยลงตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง ขณะที่นวนิยายของเธอก็เริ่มมีออกมาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น หยาดน้ำค้าง, ดอกหญ้า, ดวงตาสวรรค์ สำหรับนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2501 ด้วยผลงานนวนิยายชื่อว่า ′วิหคที่หลงทาง′ ตีพิมพ์ใน ′สตรีสาร′ และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี
"กฤษณา" เคยกล่าวถึงที่มาของนามนี้ว่า...ชื่อนี้นี่ประหลาด มันแว่บขึ้นมาในสมอง ในขณะที่นั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไร...เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แปลออกมาได้ความว่า ไม้หอม ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์... นามปากกานี้สร้างผลงานออกมาอย่างมากมาย เช่น น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ชลธีพิศวาส และอีกมากมายกว่า 100 ร้อยเรื่อง รวมทั้ง ′ปูนปิดทอง′ ที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอาเซียน (ซีไรต์)
ผลงานของ"กฤษณา อโศกสิน"ได้รับการชื่นชมว่าเป็นงานเขียนกระเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจ ไม่ว่าจะเป็น ลานลูกไม้, ไฟทะเล, เสื้อสีฝุ่น, รอบรวงข้าว, เรือมนุษย์, ลมที่เปลี่ยนทาง, ฝันหลงฤดู, บุษบกใบไม้ ฯลฯ ระหว่างปี 2510 - 2520 เป็นช่วง 10 ปีที่ "กฤษณา อโศกสิน" ทำงานมาก เขียนหลายแห่ง ส่วนมากเป็นรายสัปดาห์ เช่น แม่ศรีเรือน, นพเก้า, ศรีสยาม, ดวงดาว เป็นรายสัปดาห์ทั้งนั้น เขียนวันละหนึ่งเรื่อง วันละหนึ่งตอนต่อหนึ่งเรื่อง
เธอทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนกระทั่งบางวันอาจจะเขียนจนถึง 6 โมงเย็นจึงจะเลิกงาน พอขึ้นข้างบนแล้วก็ต้องทำงานต่อ แต่จะเป็นงานตรวจต้นฉบับ มีผลงานหลายเรื่องนำไปสร้างละครและภาพยนตร์มากมาย เช่น "เรือมนุษย์" "ดวงตาสวรรค์" ฝันกลางฤดุฝน" "น้ำผึ้งขม" เมียหลวง" "ไฟหนาว" "เสื้อสีฝุ่น" "ข้ามสีทันดร" "หน้าต่างบานแรก" "คาวน้ำค้าง" "เนื้อนาง" "ลายหงส์" "ปีกทอง" และก็เรื่อง "ปูนปิดทอง" "ห้องที่จัดไม่เสร็จ"
ส่วนเกียรติคุณที่ได้รับ
ได้รับรางวัล ′ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์′ ทางด้านนวนิยาย เมื่อปี 2531
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ′วุฒิสมาชิก′ เมื่อปี 2539
ได้รับปริญญา ′ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์′ สาขาวิชาภาษาไทย จาก ′มหาวิทยาลัยมหาสารคาม′ เมื่อปี 2545
ขอบคุณที่มา : http://www.prachachat.net