ล่าสุด ประกาศผลแล้ว และผลงานที่คว้ารางวัลซีไรต์ ปี 2556 ได้แก่ หัวใจห้องที่ห้า ของ อังคาร จันทาทิพย์ สำหรับ "อังคาร จันทาทิพย์" เกิดเมื่อ 9 กรกฎาคม 2517 ที่มัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนมัธยม มี "พระไม้" เป็นครูกวีคนแรก จบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสมาชิก "กลุ่มกวีหน้ารามฯ"
ทั้งนี้มีผลงานโดดเด่นต่อเนื่อง มีผลงานกวีนิพนธ์หลายเล่ม ได้แก่ คนรักของความเศร้า, วิมานลงแดง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2545), ที่ที่เรายืนอยู่ (เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2550), หนทางและที่พักพิง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2553) และผลงานล่าสุด รวมกวีนิพนธ์ "หัวใจห้องที่ห้า" นอกจากนี้บทกวี "ความตายของสันติสุข"ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์ อวอร์ด ปี 2554 ปัจจุบันประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร Mars
ระยะ 15 ปีเป็นการยืนยันตัวตนของ ‘อังคาร จันทาทิพย์’ เป็นอย่างดีว่าลมหายใจของเขาเป็นกวีเต็มตัว จาก ‘คนรักของความเศร้า’ เดินทางมาสู่ ‘วิมานลงแดง’ ผ่านไปเกือบ 6 ปี เขากลับมาพร้อมกับ ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ กวีนิพนธ์เล่มใหม่ล่าสุด
ประกาย ปรัชญา เขียน ‘บันทึกจากผู้สังเกตการณ์บทกวี’ ถึงผู้เขียนและรวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ไว้ว่า... กวีหนุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยประเด็นการใคร่ครวญที่หนักแน่น ผ่านทักษะด้านรูปแบบที่มีลีลางดงามเฉพาะตัว สำหรับผมแล้ว อังคาร จันทาทิพย์ มี ‘ใบหน้ากวี’ ที่ชวนมอง เมื่อพบเห็น ‘ใบหน้า’ นั้นแล้ว ได้ซึมซับรับรู้ลึกลงไป ‘เนื้อสาร’ ของกวีหนุ่มยิ่งชวนพินิจพิจารณา
‘คนรักของความเศร้า’ ผู้เคยผ่าน ‘วิมานลงแดง’ ได้วางย่างก้าวปัจจุบันของเขาไว้ที่เดียวกับ‘ที่ที่เรายืนอยู่’เราทุกคน เราทุกคนที่ไขว่คว้า, ดิ้นรนค้นหาความสมดุล – กระทั่งความสมบูรณ์ - ให้แก่ ‘ที่ยืน’ ของตนเอง ในโลกที่คุณค่าและความไร้ค่าเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน จริงลวงยากแยกแยะ เรามุ่งหวังที่จะมี‘ความลงตัว’ อันกระจ่างชัดในมิติต่าง ๆ ของชีวิต เพื่อว่า จะสามารถปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างถูกต้องจากที่ที่เรายืนอยู่...
กวีเปล่ง ‘น้ำเสียง’ ของเขาออกไป อ่อนโยนให้กำลังใจ, ปลุกเร้าทรงพลัง หรือกระทั่งเจือ ‘ความคลุมเครือสงสัย’ ไว้เสียเอง สำหรับเรา ไม่ว่าจะตกอยู่ใน ‘อาณานิคม’ ‘โลกเสมือน’ หรือเคว้งคว้างระหว่าง ‘โลกสองใบ’ก็ตาม ผมคิดว่า เราพึงใส่ใจน้ำเสียงเยี่ยงนั้นของกวี เนื่องเพราะที่ที่เขาเปล่งเสียงก็คือที่ที่เรายืนอยู่!
ในฐานะ ‘มือโคลง’ สมัยใหม่ อังคาร จันทาทิพย์ โดดเด่นอย่างมาก แต่ผมเห็นว่ากาพย์และกลอนของเขาก็ ‘ชวนมอง’ บนมาตรฐานหนึ่ง ลักษณาการที่คล้ายจะผ่อนคลายจากกระบวนท่า หากก็เคร่งครัดอยู่ในที เห็นอยู่ว่ารักษาจารีตแบบแผน แต่กลับยักย้ายในรายละเอียดได้อย่างอิสระลื่นไหล
รูปแบบและเนื้อหาในกวีนิพนธ์ของอังคาร จันทาทิพย์ ได้ ‘สั่งสมย่างก้าว’ มาถึงจุดที่ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งยินดีจะติดตามเขาต่อไปโดยไม่ลังเล! ข้อกังวลของผมมีเพียงว่า บทกวีอิงสถานการณ์ซึ่งมีอยู่ในรวมเล่มนี้ จะ ‘ซา’ ไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับตัวสถานการณ์เองหรือไม่ จะ ‘ตาย’ ไปพร้อมกับธรรมชาติของสถานการณ์นั้นหรือไม่
ผมได้แต่หวังว่า ด้วยความประณีตตั้งใจในการเขียน ด้วยมุมมองและทัศนะอันเป็น ‘สาระหลัก’ของตัวบท และสุดท้าย ด้วย ‘อายุของศิลปะ’ จะสามารถผลักดันเนื้องานให้ข้ามผ่านข้อจำกัดและเงื่อนเวลาไปได้. เราลองมาสัมผัสถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นยอดกวี จากบทสัมภาษณ์คุยนอกรอบ ที่ทางสำนักพิมพ์เคยสัมภาษณ์ไว้ ประหนึ่งรู้ว่าคุณอังคารจะได้เป็นกวีซีไรต์ในอนาคต เพื่อรับรู้ทัศนคติจากเจ้าตัวโดยตรงกันเลยดีกว่า
จุดเริ่มต้นเพาะบ่มการเขียนบทกวี
เป็นคนบ้านนอกธรรมดา เกิด-เติบโตที่อำเภอมัญจาคีรี ขอนแก่น เรียนประถม จบมัธยมที่นั่น จุดเริ่มต้นบ่มเพาะการเขียน พื้นฐานครอบครัวก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะที่บ้าน พี่ชายคนหนึ่งชอบอ่านหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อย่างสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ พี่ๆ ชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต ฟังคาราวาน จินตภาพจากเพลงมันติดอยู่ในใจ ทำให้ภาพท้องไร่ท้องนา ภาพชีวิตผู้คนมันแตกต่างจากภาพปกติที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนมีพลังแฝงทางความรู้สึกบางอย่างส่งทอดมาถึงการคิดการเขียน ช่วงเรียนมัธยมต้นชอบเข้าห้องสมุดหมวดวิชาภาษาไทย บางวันเกเรโดดเรียนไปขลุกอยู่ในร้านหนังสือเช่าของ ’พระไม้ ซึ่งเป็นกวีและเป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียน โลกทัศน์ทางการอ่านมันเริ่มต้นจากตรงนั้น
จากหนังสือเรียนที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจก็มุ่งไปที่หนังสือซึ่งอ่านแล้วสร้างความแปลกใจ ตราตรึงใจ หนังสือประเภทแรกๆ ที่อ่านเป็นรวมเรื่องสั้นและนวนิยายซึ่งอาจจะเรียกว่าเพื่อชีวิตเป็นส่วนใหญ่ อย่างรวมเรื่องสั้นของสุรชัย จันทิมาธร ทุกเล่ม นวนิยายของนิมิตร ภูมิถาวร งานเขียนบางเล่มของจำลอง ฝั่งชลจิตร,วิมล ไทรนิ่มนวล, ไพฑูรย์ ธัญญา ตอนนั้นงานต่างประเทศรู้จักแต่เรื่อง ‘แม่’ ของแมกซิม กอร์กี้
คนที่ถือว่ามีส่วนเปิดโลกทัศน์ทางการอ่านการเขียนจริงๆ คือ ’พระไม้ ครูภาษาไทยผู้ก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์ของโรงเรียน เริ่มจากการเรียนผ่านผังฉันทลักษณ์ง่ายๆ อย่างกลอนสุภาพ ไปโคลงสี่สุภาพ นับคำ เอกโท สัมผัสนอก-ในแล้วหัดแต่ง พอเริ่มจับจังหวะได้แล้วมันติด ทุกสัปดาห์ต้องแต่งกลอนไปส่งเป็นการบ้าน จากสัปดาห์ก็กลายเป็นวันต่อวัน ที่โรงเรียนเวลามีวันสำคัญก็จะมีการประกวด ก็แต่งส่งประกวด ระดับโรงเรียนมัธยมในเขตการศึกษาก็มีการประกวดอยู่ตลอด ทุกๆ ปีที่โรงเรียนจะมีค่ายเยาวชนนักเขียน ซึ่งมีวิทยากรที่เป็นนักเขียน กวีที่มีชื่อเสียงไปให้ความรู้ ขณะเดียวกัน ’พระไม้ ก็แนะนำหนังสือบทกวีให้อ่าน อย่างขอบฟ้าขลิบทอง ของอุชเชนี, สุดสงวน ของประยอม ซอมทอง งานของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นำไปสู่บทกวีของกวีท่านอื่นๆ อย่างประกาย ปรัชญา, ไพวรินทร์ ขาวงาม
จากตรงนั้น ’พระไม้คงเห็นแวว ก็เลยชวนไปอยู่ร้านเช่าหนังสือ โลกการอ่านก็เลยกว้างมากขึ้น หัดเขียนสม่ำเสมอ เขียนเสร็จก็ส่งให้อาจารย์ดู ได้รับคำแนะนำ ดี ไม่ดีอย่างไร กลับมาแก้ไขขัดเกลา สำนวนไหนพอใช้ได้หน่อย ก็ลองส่งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หรือนิตยสารส่วนกลาง ประมาณ ม.4 ก็มีงานตีพิมพ์แล้ว
เมื่อก้าวมาเป็นกวีหน้ารามฯ
ไม่นับนิด ระโนด, พจนาถ พจนาพิทักษ์, ศิริวร แก้วกาญจน์, พิทักษ์ ใจบุญ, พิเชฐ แสงทอง, ลำภา มัคศรีพงษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนเขียนบทกวีรุ่นพี่ที่อยู่แถวรามคำแหงอยู่ก่อนหน้าแล้ว ก็มีกลุ่มคนสนใจวรรณกรรมอยู่อย่างกลุ่มศิลปวรรณกรรมและกลุ่มวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียน แรกๆ เข้าไปผูกพันกับกลุ่มเหล่านี้ก่อน ซึ่งหลายๆ คนนอกจากจะอ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจังแล้วก็เขียนหนังสือกันด้วย โดยเฉพาะบทกวี ถือเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างอภิชาติ จันทร์แดง, วิสุทธิ์ ขาวเนียม, พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัฆค์ นอกจากนี้ยังมีรุ่นพี่และเพื่อนหลายคนที่อยู่ในสายของนักวิจารณ์วรรณกรรม และคนทำหนังสื่ออย่างเริงวุฒิ มิตรสุริยะ, อารดา เปรมพันพธุ์, นพดล ปรางค์ทอง, สรายุทธ์ ธรรมโชโต ความสนใจในเรื่องวรรณกรรมชักพามาให้รู้จักกัน มันมีบรรยากาศการพูดคุยถกเถียงกันอยู่ตลอด ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นการเกาะกุมพูดคุยกันกว้างออกไปถึงทิศทางของงานเขียนในแขนงต่างๆ เป็นการสั่งสมความรู้ การอ่าน ความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง หรือหาทิศทางความลงตัวให้กับการเขียนของแต่คนไปด้วย
นอกจากได้เดินทางร่วมกับเพื่อนพ้องบ่อยๆ แล้วที่สำคัญช่วงเวลานั้น 2536 เป็นต้นมา น่าจะถือว่าเป็นช่วงที่แวดวงกวีมีความคึกคักอย่างยิ่ง เพราะนอกจากกลุ่มหน้ารามฯ ที่มีการพบปะพูดคุยอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีกลุ่มคนเขียนบทกวีในที่อื่นๆ ด้วย และตอนนั้นสนามที่รองรับผลงานก็ถือว่าเยอะมาก ทั้งแมกกาซีนรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ รายวัน ทุกคนในกลุ่มมุ่งมั่นกับงานของตัวเอง จะพูดง่ายๆ ก็คือหาที่ทางและเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ได้อ่าน ได้วิเคราะห์วิจารณ์งานของกวีคนอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ตามสื่อด้วย ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของการบ่มเพาะการเขียนบทกวี
บนถนนกวีกับผลงานที่ผ่านมา
กว่าจะได้เป็นงานเล่มแรก ‘คนรักของความเศร้า’ ปี 2542 ถือว่าใช้เวลานานพอสมควร มีบทกวีให้คัดกรองเป็นเล่มอยู่เยอะพอสมควร ให้เพื่อนๆ หลายคนช่วยดู ช่วยคอมเมนต์ด้วยว่าควรจัดวางภาพรวมของเล่มอย่างไร ถือเป็นเล่มที่ไม่ได้ทำอยากอะไร เพราะปริมาณงานที่เขียนและตีพิมพ์ไปแล้วมันเยอะ ก็แค่คัดเอาที่น่าพอ ที่ดีที่สุดในความเห็นของเรา แล้วมาจัดหมวดหมู่ อีกอย่างโดยโทนของงานมันเป็นคอนเซ็ปต์ที่พูดถึงวัยหนุ่ม การแสวงหา ความรัก การเดินทาง ความแปลกแยกต่างๆ มันจึงหาความลงตัวของเล่มได้ไม่อยาก ก่อนหน้านั้นทำเป็นเล่มทำมือมาก่อนด้วย ประกอบกับห้วงเวลานั้นเพื่อนอีกคนคือวาด รวี กำลังจะทำสำนักหนังสือใต้ดินร่วมกับเพื่อนรุ่นพี่และเพื่อนๆ ต้นฉบับคนรักของความเศร้าเสร็จพอดี ก็เลยพิมพ์
จะว่าไปสำนักหนังสือใต้ดินช่วงนั้นก็พิมพ์บทกวีของกวีหลายๆ คนออกมา ส่วนหนึ่งเพราะโดยตัวของเพื่อนพ้องที่สร้างสำนักหนังสือใต้ดินขึ้นมานั้น มีจุดประสงค์หลักๆ เพื่อรองรับงานเขียนของนักเขียน กวีรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่โดยตัวของงานอยู่ในระดับที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ มีเนื้อหาน่าสนใจ หาสำนักพิมพ์เผยแพร่ไม่ได้ หรือบางทีตัวนักเขียนหรือกวีเองเบื่อหน่ายกับระบบของการเสนองานด้วย ก็เอาต้นฉบับมาช่วยกันอ่าน ช่วยกันคัดกรอง 2544 รวมบทกวี ‘วิมานลงแดง’ กับสนพ.ดับเบิ้ลนายน์, 2550 ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ กับสนพ.Shineถือว่าทิ้งระยะเวลาห่างจากเล่มสองมาพอสมควร
มองภาพรวมกวีไทย
อาจจะดูเงียบเหงาไปบ้าง แต่บทกวีคงไม่ตายอย่างที่ใครๆ ก็พยายามสาปแช่งมั้ง คือโดยรวมกวีแทบจะทุกคนเขียนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมอยู่แล้ว ว่ามันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แล้วระดับของเนื้องานโดยรวมมันก็ไม่ถึงกับเลวร้าย หรือรูปแบบการนำเสนอมันก็ไม่ได้ห่วยแตกขนาดนั้น ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำแพงความยากง่ายในการเข้าถึงที่ใครต่อใครพยายามกล่าวโทษ หากฉันทลักษณ์มันยาก กลอนเปล่าก็มีอยู่ ฉะนั้นคำถามกลับกันคือ คุณใส่ใจอะไรอยู่? หรือคนในสังคมปัจจุบันเขาสนใจอะไรอยู่? ความอิหลักอิเหลื่อที่คำถามนี้สร้างให้กับคนเขียนบทกวีหรือคนเขียนหนังสือต้องตอบ แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่กวีหรือนักเขียนเสมอไป ขณะเดียวกันหากเขาเหล่านั้นถามกลับว่าคุณใส่ใจอะไรอยู่? หรือคนในสังคมปัจจุบันเขาสนใจอะไรอยู่? หรือกระทั่งถามว่าคนอ่านมีคุณภาพพอสำหรับงานเหล่านี้หรือเปล่า ก็อาจจะถูกมองว่าดูถูกคนอ่าน อหังการ์ แต่มีความจำเป็นขนาดไหนที่นักเขียนหรือกวีคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเขียนในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อ ศรัทธา เพื่อเป้าหมายทางการตลาด หรือเพื่อจะได้รับความนิยม
สนามกวีที่ลดลงมีผลกับการเกิดใหม่ของกวีไหม?
คงมีอยู่บ้าง ถ้าจะนับจริงๆ มันเหลือแค่ไม่กี่ที่ 4-5 ที่เองมั้ง ความใหม่ของคนทำงาน อาจต้องการการยอมรับอยู่บ้าง เมื่อสนามมันลดน้อยลงไป มาตรฐานที่สูงขึ้น คนเขียนใหม่ๆ คุณภาพงานอาจไต่ระดับไม่ถึง พอส่งงานแล้วหายบ่อยเข้า คนเขียนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีที่สำหรับเขา ทำให้รู้สึกท้อใจได้
ที่ผ่านไปคือบทสัมภาษณ์ที่ทางอังคาร จันทรทิพย์ เคยพูดไว้ ก่อนหน้าได้รับรางวัลซีไรต์อันทรงเกียรติ นับจากวันนี้ไป เขาจะให้สัมภาษณ์ สื่อฉบับใดอีกมากมาย ก็เป็นเรื่องที่แฟนๆ ของเธอจะต้องติดตามกันต่อไปว่า จุดยืนทางความคิดจะผันเปลี่ยนไป หรือไม่ หลังจากได้รับรางวัลแล้ว.
และคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ในปี 2556 นี้ ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. เป็นประธานการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ , นายกสมาคมภาษและหนังสือฯ นายกสมาคมนักเขียน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาชิกอาวุโสทั้ง 2 สมาคม และตัวแทนจากสถานทูตประเทศอาเซียน สำหรับคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย 1.รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร 2.เจน สงสมพันธุ์ 3.รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง 4.ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา 5.นรีภพ จิระโพธิรัตน์ สวัสดิรักษ์ 6.ดร.พิเชฐ แสงทอง