ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 20 ประจำปี2013 : วันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ.2556 ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงหนังสือที่งาน‘ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 20 ประจำปี2013

ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 20 ประจำปี2013

วันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ.2556 ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงหนังสือที่งาน‘ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 20 ประจำปี2013’ (20th Beijing International Book Fair 2013 - BIBF2013) ซึ่งจัดขึ้นที่นิว ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยงานนี้จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ (DIPT) และสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

รูปแบบงานเป็นงานจัดแสดงหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการค้าลิขสิทธิ์หนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน จัดแสดงบนพื้นที่ 53,600 ตารางเมตร โดยเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงาน 2,010 บริษัท 2,262 คูหา จาก 75 ประเทศ ซึ่งจัดแสดงหนังสือและสิ่งพิมพ์มากกว่า 200,000 รายการ มีผู้เข้าชมงาน ประมาณ 200,000 ราย มียอดการลงนามสัญญาทางธุรกิจ 3,298 ฉบับ

และในปี 2013 นี้ประเทศไทยได้เดินทางไปรับธง IPA Congress หรือการประชุมผู้จัดพิมพ์โลก ต่อจากประเทศเคปทาว์น แอฟริกาใต้ เนื่องจากการจัดประชุม IPA Pubishers Congress 2014 ครั้งที่ 30 กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงานคือ สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (International Publishers Association – IPA) สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และกรุงเทพมหานคร ถือเป็นการประชุม เพื่ออภิปรายแนวทางการพิมพ์หนังสือและวางเกณฑ์ ยุทธศาสตร์ ในการผลิตหนังสือ รวมถึงเป็นโอกาสในการเจรจาธุรกิจ ศึกษาสภาพแวดล้อม และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือของแต่ละประเทศ

รวบรวมภาพบรรยากาศงานปี 2013 บางส่วนมาให้ดูกันค่ะ

 

ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์

ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์

ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์

 

วันนี้เราเลยนำข้อมูลตลาดหนังสือนี้มาฝากกัน ซึ่งเป็นข้อมูล ในปี 2011 งานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ปักกิ่ง 2011 การ์ตูน นวนิยาย ไทย เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2554 ที่กรุงปักกิ่ง งานหนังสือขนาดใหญ่เสร็จสิ้นลงไป นั่นก็คืองานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ปักกิ่ง 2011 ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่ย้ายจากสถานที่จัดงานเดิมในตัวเมือง ซึ่งคับแคบเกินไปสำหรับงานสำคัญสำหรับคอหนังสือจากทั่วโลก มาจัดยังศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติจีน (China International Exhibition Center) แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตซุนยี่ ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติโสว่ตู แม้ออกจะไกลไปสักหน่อย แต่ก็สะดวกสบายกว่าที่เดิม เพราะนอกจากพื้นที่จัดงานจะมากขึ้นแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าตรงดิ่งไปจอดอยู่ด้านข้างเลยทีเดียว

รายงานล่าสุดจากผู้รับผิดชอบของงานมหกรรมหนังสือนานาชาติแจ้งว่ามีการซื้อขายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว และยังมีจำนวนประเทศเข้าร่วมแสดงหนังสือมากขึ้น ประมาณ 60 ประเทศ โดยทางผู้จัดงานได้สนับสนุนบูธเป็นกรณีพิเศษตามแต่ปริมาณการเข้าร่วมของสำนักพิมพ์ประเทศนั้นๆ อย่างประเทศไทยได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า 1 บูธ แต่ทางกรมส่งเสริมการส่งออกแห่งประเทศไทยสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 2 บูธ รวมเป็น 3 บูธ เรื่องนี้ทำให้ผมตื่นเต้นมาก เพราะผมเองก็ไปร่วมงานนี้ทุกปี ซึ่งก็ไม่ปรากฎว่ามีบูธจากประเทศไทยมาเข้าร่วมสักครั้ง ทั้งที่เป็นงานใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกและอยู่ใกล้เพียงแค่ระยะห่าง 4 ชั่วโมงครึ่งของการบินเพียงเท่านั้น

สำนักพิมพ์จากเมืองไทยที่มาเข้าร่วมในครั้งนี้มีทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ สำนักพิมพ์บันลือสาส์น สำนักพิมพ์บงกช สำนักพิมพ์อีคิวพลัส สำนักพิมพ์บุ๊กไทม์ สำนักพิมพ์ลี่เจิน สำนักพิมพ์นานมีบุ๊ก สำนักพิมพ์เพรส เอ็ดดูเคชั่น สำนักพิมพ์แปลน ฟอร์ คิดส์ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์พูนิก้า โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช และสำนักพิมพ์ไวต์ โลตัส ซึ่งทุกสำนักพิมพ์มาเข้าร่วมในนามของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดยคุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร เจ้าของสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ก และกรรมการสมาคมหลายท่าน อาทิ คุณริสรวล อร่ามเจิญ จากแปลน ฟอร์ คิดส์ คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา จากนานมีบุ๊ก และคุณอาทร เตชะธาดา จากประพันธ์สาส์น

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ที่ร่วมคณะมาด้วยทราบว่า การเดินทางมาตะลุยเมืองจีนกันในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากการประสานงานกันระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการส่งออกแห่งประเทศไทย โดยสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออกบูธร่วมกันสำนักพิมพ์ละ 10,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมการเดินทางระหว่างประเทศและภายในกรุงปักกิ่ง โรงแรมที่พัก อาหาร และการท่องเที่ยวชมเมืองบ้างในบางจุดที่พอมีเวลา ซึ่งฟังดูแล้วก็คิดว่าคุ้มค่าคุ้มเงินลงทุนดี สำหรับสำนักพิมพ์ที่ต้องการเสนอผลงานของตนเองสู่ระดับนานาชาติ หรือไม่ก็เป็นการสร้างโอกาสของตนเองให้ได้ออกมาเห็นหนังสือจากทั่วโลก ได้เลือกเปิดเลือกอ่านและซื้อลิขสิทธิ์กลับไปแปลเป็นภาษาไทยได้

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คุณอาทร เตชะธาดา ทั้งในฐานะของกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กรุณาตอบคำถามเกี่ยวกับการมาร่วมงานในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรกับผมในหลายคำถามดังนี้

สมาคมผู้จัดพิมพ์ของไทยมาเข้าร่วมงานปักกิ่งบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ครั้งแรกหรือเปล่าครับ
ครั้งแรก ภายใต้การสนับสนุนของกรมการส่งเสริมการส่งออก ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานให้ประเทศไทยมา 1 บูธ แต่ทางกรมส่งเสริมเห็นว่าเป็นโอกาสดี เลยเข้ามาช่วยสนับสนุนอีก 2 บูธเป็น 3 บูธ ทั้งออกค่าเดินทางและค่าที่พักให้ฟรีด้วย ก็เลยสามารถทำให้มาเป็นทีมได้ เลยดูยิ่งใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา

ทางสมาคมเข้าไปติดต่อกับกรมส่งเสริมฯหรือว่าทางกรมส่งเสริมฯ ติดต่อสมาคมฯ มาเองครับ หรือมาร่วมงานกันได้อย่างไรครับ
คือ จริงๆ แล้วเราร่วมงานกับกรมส่งเสริมการส่งออกมาหลายปีแล้ว ทางกรมฯ เคยสนับสนุนให้เราไปไทเป อินเตอร์เนเชั่นนัล บุ๊ก แฟร์ ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศแขกรับเชิญพิเศษ ไปงานแฟรงเฟิร์ต บุ๊ก แฟร์ ทางกรมฯ ก็ส่งเสริมมาทุกปี คือเรามีการติดต่อประสานงานกันอยู่แล้ว แม้แต่โบโลญญ่า บุ๊ก แฟร์ ที่เกี่ยวกับหนังสือเด็ก กรมก็เคยส่งเสริมมาแล้วเช่นกัน แต่หยุดไปพักหนึ่งเพราะว่าแคบแค่เฉพาะหนังสือเด็ก ทางกรมฯ จึงหันมาส่งเสริมที่ประเทศจีนนี่แทน และดีกว่ามาก เพราะคนเยอะกว่า ต้องขอบคุณทางกรมฯ มาก และทางสมาคมฯ เราเองก็ดีใจ สำนักพิมพ์ที่มาเข้าร่วมก็ดีใจ เพราะไม่เหงา ทุกคนมีโอกาสขายหนังสือได้ มีคนเข้ามาถามไถ่ว่าจะซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ตลอด ขนาดหนังสือภาพถ่ายขาว-ดำ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ยังมีสำนักพิมพ์จีนสนใจ เรารู้สึกว่าการมาออกบูธครั้งนี้ประสบความสำเร็จดีมาก

ก่อนมาสมาคมฯ ตั้งเป้าไว้ขนาดไหนครับ
คือเป็นครั้งแรกที่เรามาแบบเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ คือแต่ก่อนเขาให้มาบูธเดียว หมายถึงจากผู้จัดงานที่นี่ ก็เลยดูเงียบเหงา ไม่ค่อยน่าสนใจ ทางสมาคมฯ กับทางกรมฯ ก็เลยคุยกันใหม่ เพราะถ้าออกมาในรูปแบบเดิมอีกก็คงไม่เวิร์กแน่ๆ แต่พอดีท่านองคมนตรี ดร.เกษม วัฒนชัย ที่ประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ ท่านบอกว่าทำไมไม่มาปักกิ่ง บุ๊ก แฟร์ ประเทศจีนเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก คำพูดของท่านเลยอาจจะมีส่วนที่ทำให้ทั้งทางกรมฯและสมาคมฯ ตื่นตัวมากขึ้น ต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้น เพราะว่าท่านประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ ซึ่งท่านเป็นถึงองคมนตรี ท่านสนใจเรื่องของการศึกษา เรื่องของหนังสือ ท่านบอกยกทีมไปเลย ทำแบบเก่านั้นไม่เวิร์กหรอก ก็เลยลองทำแบบใหม่ดูในคราวนี้ ต้องขอขอบคุณท่านที่ได้แนะนำให้เราออกมาลุยกันแบบนี้ มาหลายๆ คนแล้วน่าสนใจมากขึ้น

บรรยากาศโดยรวมตั้งแต่เปิดงานมาเป็นอย่างไรบ้างครับ
ก็ระหว่างที่ผมให้สัมภาษณ์คุณอยู่นี่ ผมเสียงแหบหมดเลย เพราะว่าผมเจรจาเรื่องซื้อซื้อขายลิขสิทธิ์แล้วก็รู้สึกว่า ได้เข้าพกเข้าห่อมากพอสมควร ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เลย

ก็แสดงว่าต่างชาติค่อนข้างสนใจหนังสือไทยที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้พอสมควรใช่ไหมครับ
ผมยืนยันว่า ที่มาด้วยกันทั้ง 12 สำนักพิมพ์นี้ เรามีความสุขกันทุกคน คุณอาทรพูดเสียงแหบเสียงแห้งจริงๆ ทีเดียวล่ะครับ เพราะผมเองก็ยืนรออยู่เป็นชั่วโมงกว่าจะขอสัมภาษณ์ได้ เพราะมีสำนักพิมพ์จากเมืองจีนหลายจแห่งทยอยเข้ามาขอข้อมูลหนังสือเล่มต่างๆ อยู่ตลอด อีกทั้งเมื่อให้สัมภาณ์เสร็จแล้ว คุณอาทรยังถูกสำนักพิมพ์จีนลากไปเจรจาเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์ของจีนบ้างที่บูธอื่น แม้จะเหนื่อย แต่ก็ดูเหมือนมีความสุขมากที่ชาวจีนให้ความสนใจในหนังสือของไทย

ท่านผู้ฟังครับ บูธของเราดูดีจริงๆ ผมเห็นมาด้วยตาตนเอง โดดเด่นยิ่งเมื่อเทียบกับของประเทศอื่นที่จัดอยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน รัสเซีย ก็ดูเงียบเหงาเมื่อเทียบกับบูธของสำนักพิมพ์ไทย ซึ่งคิดว่าถ้ารวมตัวกันได้ ในปีหน้าก็น่าจะมากันมากขึ้น คัดเอาหนังสือที่คิดว่าเหมาะกับงานนี้มาเข้าร่วม ซึ่งก็สามารถสอบถามเทรนด์ต่างๆ ของปีที่ผ่านมานี้ไปยังสมาคมผู้จัดพิมพ์ก็ได้ เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์กันไปมากมายทีเดียว ซึ่งในส่วนของสำนักพิมพ์เอง ผมก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณวสุรีย์ พิศุทธิ์สินธพ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สำนักพิมพ์อิคิว พลัส เพราะว่านำหนังสือมาจำนวนร่วมแสดงจำนวนมาก ทั้งจากของอีคิว พลัส เอง ก็ยังมีของพูนิก้าซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ในเครือด้วย ที่สำคัญคุณวสุรีย์ มีประสบการณ์ในการแสดงหนังสือในต่างประเทศมาอย่างโชกโชนและค่อนข้างประสบความสำเร็จ

ก่อนหน้างานนี้ไปงานเทศกาลหนังสือนานาชาติที่ไหนมาบ้างแล้ว
จริงๆ เราไปมาหลายที่แล้วนะคะ อย่างไต้หวัน เราก็ไปมา 2-3 ปีแล้ว เกาหลีก็ไปมา 2 ปีแล้ว และล่าสุดก็ที่มาเลเซียค่ะ ก่อนหน้านี้ก็เคยไปโบโลญญ่า งานหนังสือเด็กที่สเปนมาแล้ว

แล้วประสบความสำเร็จขนาดไหนในการขายลิขสิทธิ์หนังสือให้กับต่างประเทศ
ก็เท่าที่ไปมาก็ทยอยค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกอาจจะยากนิดนึงนะคะ อาจจะด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เพราะว่าการ์ตูนสไตล์อีคิวพลัสนั้น เป็นการ์ตูนคอมมิกส์ ทำให้เข้าใจยากกว่าหนังสือภาพนิดหน่อย ก็เลยต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ว่าพอเริ่มที่จะขายได้ เริ่มที่จะมีคนรู้จักการ์ตูนสไตล์คอมมิกส์มากขึ้น ก็เริ่มที่จะขายได้มากขึ้น ตอนนี้ก็มีขายไปต่างประเทศบ้างแล้ว

ประเทศไหนบ้างครับที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว
ก็มีมาเลเซียค่ะ ที่ซื้อลิขสิทธิ์แบบการ์ตูนซีรีย์ หรือที่เป็นตอนๆ ไปแล้วหลายชุดทีเดียว แล้วก็มีเกาหลีที่อยู่ในระหว่างการพูดคุย ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเร็วๆ นี้แน่นอนค่ะ นอกจากนี้ที่ยังคุยค้างอยู่ก็จะมีจีนและไต้หวันค่ะ

แล้วสำหรับงานครั้งนี้ล่ะครับ มีสำนักพิมพ์จากต่างชาติเข้ามาติดต่อบ้างหรือยัง
ก็มีเหมือนกันค่ะ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์จีนที่มาสนใจทั้งที่เป็นการ์ตูนและนิยาย ซึ่งตัวเองกลับเมืองไทยแล้วก็ต้องไปทำการบ้านอย่างดี ส่งตัวอย่างเรื่องย่อหรือหนังสือที่ได้รับการแปลแล้วมาในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้เขาศึกษาว่าจะโอเคไหม

ส่วนใหญ่แล้วหนังสือของอีคิวพลัสเป็นหนังสือประเภทไหนครับ
จริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนังสือการ์ตูนความรู้ทั้งหมด แต่เราก็มีสำนักพิมพ์ในเครืออีกหลายแห่งที่แตกออกไป อย่างสำนักพิมพ์พูริก้า ที่ทำหนังสือนิยายและการ์ตูนสำหรับวัยรุ่นด้วย

คาดว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหนในตลอดทั้งงานปักกิ่งบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ครับ
ก็คิดว่ากลับแล้วครั้งนี้น่าจะได้อะไรบ้าง ตอนนี้ก็คิดว่าประสบความสำเร็จเกิน 50 เปอร์เซนต์แล้ว และคิดว่าน่าจะมีสัก 70 เปอร์เซนต์ที่น่าจะมีการติดต่อกลับมา และพูดคุยต่อไป เพื่อให้เกิดการซื้อขายเกิดขึ้นได้ในอนาคต นี่ก็คือความเห็นในส่วนของสำนักพิมพ์ที่เดินทางเข้าร่วมงานหนังสือนานาชาติมาแล้วหลายแห่ง และจากบมสัมภาษณ์ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในใจว่า ประเทศจีนน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการเจาะตลาด โดยเฉพาะหนังสือประเภทการ์ตูน และหนังสือภาพที่ดูเหมือนว่าจะเปิดตลาดได้ง่ายที่สุด แต่ผู้แสดงงานหลายท่านก็บอกว่าจริงๆ แล้วหนังสือแนวอื่นก็ได้รับความสนใจ อย่างนิยายไทยเขาก็สนใจ ยิ่งพอบอกว่าเป็นหนังสือรางวัลแล้วด้วยยิ่งสนใจมากขึ้น แต่ติดตรงที่ว่าเราต้องทำการแปลมาก่อน หรือไม่ก็ต้องทำเรื่องย่อมาให้อ่านพิจารณา เพื่อให้เขาทำการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

อย่างน้อยก็น่าโหนกระแสละครไทยกำลังดังในจีน เอาต้นฉบับนวนิยายที่เคยถูกสร้างเป็นละครมาขายก็ยังได้ เพราะได้ข่าวว่าทางบริษัทผลิตละครแห่งหนึ่งของจีน ได้ซื้อลิขสิทธิ์บทละครของไทยมาทำการแสดงใหม่ในจีนด้วย การต่อยอดเอานวนิยายไทยร่วมกระแสด้วยก็น่าจะพอลุ้นอยู่บ้างนะครับ นอกจากนี้นะครับ ภายในงานนี้ผู้ที่มาเข้าร่วมงานก็ไม่ได้มุ่งแต่จะมาขายของของตัวเองเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะยังมีการออกไปซื้อของคนอื่นด้วย ดังนั้นสำนักพิมพ์ไทยที่มาเข้าร่วมงานครั้งนี้จึงได้มีโอกาสเจรจาโดยตรงกับสำนักพิมพ์ต่างได้เลย

ซึ่งทางบริษัทเอเจนซี่ที่ให้บริการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือต่างประเทศในไทยมาหลายปีก็ได้ส่งตัวแทนเข้ามาคอยประสานงานด้วยเช่นกัน บริษัทดังกล่าวก็คือ ทัทเทิล โมริ ผมคาดว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงหนังสือรู้จักชื่อนี้กันเป็นอย่างดี ในครั้งนี้ทัทเทิลได้ส่งคุณภารวิณี ยังเจริญยืนยง ผู้แทนเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือภาษาจีน มาดูแลเป็นการเฉพาะ

มาร่วมงานปักกิ่ง บุ๊ก แฟร์ ในฐานะเอเจนซี มองภาพรวมงานครั้งนี้อย่างไรบ้างครับ ครั้งนี้ทางจีนเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาสู่แห่งใหม่ ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่มาก ถามว่ามีผู้สนใจมาร่วมงานเยอะไหม มีพอสมควรค่ะ คือไม่ได้น้อยและไม่ได้เยอะมาก

ในด้านซื้อขายลิขสิทธิ์ทางสำนักพิมพ์ต่างชาติสนใจหนังสือไทยขนาดไหนครับในงานครั้งนี้
คิดว่าค่อนข้างเยอะพอสมควร มีหลายสำนักพิมพ์เข้ามาดูงานของไทย ซึ่งก็คือรอบนี้จะเน้นงานเด็ก หนังสือเด็ก หนังสือภาพ ซึ่งสำนักพิมพ์จีนค่อนข้างที่จะสนใจพอสมควรเลย

ทำไมเขาถึงสนใจหนังสือภาพครับ เพราะเข้าใจง่ายหรือยังไงครับ
ใช่ค่ะ หนังสือภาพเข้าใจง่ายกว่าเพราะตัวอักษรน้อย เพราะว่าภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤาที่คนจักรู้กันมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นภาพจึงค่อนข้างจะออกไปได้เร็วกว่า ขายได้ง่ายกว่า คือ โดยประสบการณ์ซื้อขายลิขสิทธิ์ก็จะรู้ว่าต่างชาติสนใจหนังสือภาพมากกว่า

ไปร่วมงานประเทศอื่นเขาก็จะสนใจเหมือนกันแบบนี้ใช่ไหมครับ
ค่ะ หนังสือภาพจะออกง่ายกว่าค่ะ แต่บางเจ้า ถ้าเป็นนิยายที่เป็นตัวอักษรทั้งหมด แล้วมีแปลเป็นภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษแล้ว ก็จะออกได้ง่ายกว่าที่เป็นภาษาไทยล้วน เพราะว่าถ้าเป็นภาษาไทยเขาก็ต้องไปจ้างนักแปลมาอ่านก่อน

แล้วเรื่องตัวเลขการซื้อขายลิขสิทธิ์ระหว่างไทยกับจีน อาจจะเป็นสำนักพิมพ์ไทยซื้อไปพิมพ์ในเมืองไทย และสำนักพิมพ์จีนซื้อของไทยมา พอจะทราบจำนวนคร่าวๆ ไหมครับว่ามีมากน้อยขนาดไหน
ก็ทราบเท่าที่ผ่านทางทัทเทิลอย่างเดียว แต่ว่าสำนักพิมพ์ไทยส่วนใหญ่บางเจ้าเขาจะขายตรง(ไม่ผ่านเอเจนซี ) แต่ที่ผ่านทัทเทิล ซึ่งรวมทั้งไต้หวันแล้วด้วยนั้น เพราะเราเริ่มจากที่นั่นก่อน และงานจากไต้หวันก็ค่อนข้างเยอะพอสมควร ปีนึงก็มีประมาณ 20-30 เรื่องได้ค่ะ แต่ปีนี้น้อยลงบ้าง ไม่เหมือนปีที่แล้ว แต่ถ้างานจากจีนแผ่นดินใหญ่ยังน้อยกว่าไต้หวัน เพราะทางบริษัททัทเทิลเพิ่งเข้ามาเปิดตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่ อาจจะพอมีบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึง 10 เรื่อง

ปีที่แล้วก็เข้ามาร่วมใช่ไหมครับ
ปีที่แล้วมาสังเกตการณ์เฉยๆ ค่ะ มาดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ติดต่อสำนักพิมพ์ไว้บ้างปีนี้ก็เลยมาเข้าร่วมเต็มตัวค่ะ

หน้าที่ของทัทเทิลย่อมแตกต่างจากทางสำนักพิมพ์อยู่แล้ว อยากทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้างในงานปักกิ่งบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ครับ
ก็คือตอนนี้ทัทเทิล โมริ จะไม่ได้ประจำบูธ ก็จะเดินสำรวจไปเรื่อยๆ หรือว่ามีเจ้าหน้าที่ของสำนักพิมพ์ไทยที่เข้ามาร่วมงานสนใจหนังสือเด็ก หรือหนังสืออะไร ทัทเทิลก็จะไปพร้อมกับสำนักพิมพ์นั้นๆ เพราะเราสามารถใช้ภาษาจีนได้ แต่สำนักพิมพ์อาจจะพูดไม่ได้ เราก็จะเข้าไปช่วยประสานงานตรงนั้น และถ้าสำนักพิมพ์สนใจหนังสือเด็กเล่มนี้ ทางทัทเทิลก็จะจัดการต่อให้หมดเลย

คาดว่าระหว่าง 5 วันจัดงานนี้จะมีการซื้อขายลิขสิทธิ์กันเกิดขึ้นระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและสำนักพิมพ์จีนบ้างไหมครับ
มีค่ะ ต้องมีแน่นอน เพราะสำนักพิมพ์ไทยส่วนใหญ่ที่มาเข้าร่วมงาน ก็มาเน้นซื้อ ชื่องานนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นงานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ดังนั้นนอกจากสำนักพิมพ์ของจีนจากทั่วทั้งประเทศแล้ว ยังมีสำนักพิมพ์จากทั่วโลกมาจัดแสดงหนังสือด้วย ถือได้ว่าประจวบเหมาะและเป็นจังหวะที่ดีของผู้ที่มาเข้าร่วมงานในปีโดยเฉพาะ เพราะได้เปิดหูเปิดตาอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศแขกรับเชิญพิเศษ หรือ เกสต์ ออฟ ออร์เนอร์ของปีนี้คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประเทศแห่งศิลปะและหนังสือนี้ก็ได้ขนเอาสุดยอดนักเขียน นักวาดภาพประกอบ ภาพยนตร์ หนังสือ และผู้ทรงความรู้ในแวดวงหนังสือมาจัดงานแลกเปลี่ยนอย่างเต็มพิกัด และจีนในฐานะประเทศเจ้าภาพก็ทุ่มพื้นที่จัดงานให้ถึง 1,500 ตารางเมตรเลยทีเดียว

เนเธอร์แลนด์นำนิทรรศการพิเศษมาด้วย คือ นิทรรศการกระต่ายมิฟฟี่ จากศิลปินและนักวาดภาพประกอบชื่อดัง ดิก บรูน่า มาเผยความน่ารักน่าชัง และยังสอดคล้องกับปีกระต่าย ซึ่งเป็นปีตามปฏิทินจันทรคติของจีนในปีนี้ และนิทรรศการต้นฉบับลายมือบันทึกส่วนตัวของแวนโก๊ะด้วย งานนี้ดึงดูดผู้ชมแวะเวียนมาเดินที่บูธของเนเธอร์แลนด์ไม่ขาดตลอดทั้งวันและทั้ง 5 วันของงานมหกรรมหนังสือนานาชาติปักกิ่ง 2011 ครั้งนี้

สำหรับประเด็นหลักของการจัดงานในปีนี้มีสโลแกนว่า “เปิดพื้นที่ เปิดหนังสือ” (Open Landscape, Open Book) และการแสดงหนังสือในภาพรวมแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ สำนักพิมพ์ภายในประเทศ สำนักพิมพ์ต่างประเทศ สำนักพิมพ์ดิจิตอล และส่วนการจัดซื้อของห้องสมุด โดยเฉพาะมุมหนังสือดิจิตอลนั้นทางจีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะว่ามองเห็นจุดขายที่โดดเด่น และก้าวย่างการพัฒนาที่เดินไปรวดเร็วไม่หยุดยั้ง นับได้ว่างานครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียว ใครที่พลาดปีนี้ ก็เตรียมตัวล่วงหน้าไว้ได้เลย ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อกันยายน งานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ปักกิ่ง เปิดขึ้นที่นี่อีกครั้งแน่นอน โดยมีเกาหลีใต้เป็นประเทศแขกรับเชิญพิเศษ

 

ขอบคุณที่มา http://www.thaiwinds.com/2011/09/16/งานมหกรรมหนังสือนานาชา/

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ