“ระบบอาวุโส” ค่านิยมที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยผ่านสายตาของตัวละครชายขอบ ในเรื่องสั้น ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ : บทวิจารณ์โดย นายทักษิณ ทุนเกิด

“ระบบอาวุโส” ค่านิยมที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยผ่านสายตาของตัวละครชายขอบ  ในเรื่องสั้น ความรักชาติของชาวเหมืองแร่

          “ราวกับรากไม้ที่ชอนไช แทรกซ่อนและกลายกลืนลึกลงไปในผืนดินอย่างมิอาจรื้อถอนได้” นี่คือความรู้สึกแรกที่เกิดในสามัญสำนึกหลังจากที่ได้ไล่เรียงอ่านเรื่องสั้น ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ ที่อาจินต์  ปัญจพรรค์ได้รังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นผ่านห้วงเวลาหนึ่งของชีวิตในครั้งที่ได้ทำงานอยู่ในเหมืองแร่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกจากตัวภาษาที่สามารถสื่อสารได้อย่างกระชับ บรรยากาศที่มีส่วนช่วยให้เห็นภาพบริบทความเป็นอยู่ของคนชายขอบ หรือกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีการหักมุมในตอนท้าย ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงลักษณะของชั้นแรงงานที่อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมของชาติตะวันตกได้อย่างชัดเจน


            ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ ผู้เขียนไม่ได้พยายามแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ การลืมตาอ้าปาก การต่อสู้หรือการตระหนักตื่นของชนชั้นแรงงานเพื่อการปฏิวัติอย่างกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย แต่เรื่องราวกลับแฝงไปด้วยมุมมองทางความคิดที่มีต่อค่านิยมของชนชั้นแรงงานซึ่งถูกมองว่าเป็นชนชั้นชายขอบทางสังคมที่ถูกกดทับและแทรกซึมด้วยระบบอะไรบางอย่างโดยไม่รู้ตัวจนทำให้ชนชั้นผู้ถูกปกครองเหล่านี้ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดในความเป็นตัวตน ไม่กล้าที่จะขัดขืนตื่นสู้ หรือแสดงทรรศนะที่แตกต่างทางความคิดต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยมีในเรื่องของบุญคุณ อำนาจ อายุ การมาก่อนมาหลัง ซึ่งแฝงฝังอยู่ในระบบนี้เข้ามาเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง หลาย ๆ เหตุการณ์ในเรื่องที่ผู้เขียนได้สื่อสารผ่านตัวละครยิ่งแสดงให้เห็นแจ่มชัดขึ้นถึงค่านิยมนี้ ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยนั่นคือ “ระบบอาวุโส” ที่ถูกสั่งสมจนกลายเป็นตะกอนภายในจิตใจของคนไทยเรื่อยมา แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีการพูดถึงเรื่องของสิทธิ ความเท่าเทียม หรือเสรีภาพในการใช้ชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าค่านิยมนี้ได้เลือนหายไปหมดแล้ว


           ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ จึงเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นระบบอาวุโสผ่านสายตาตัวละครแรงงานในเหมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นตัวละครชายขอบภายในเรื่องตามทฤษฎีทางวรรณกรรม ทั้งตัวละครหลักที่ชื่อ คุณหรือ ตัวละครชื่อ ก้อง ซึ่งเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญภายในเรื่องเพื่อที่จะใช้เป็นส่วนในการสร้างปมปัญหาให้เกิดขึ้นก่อนที่จะดำเนินไปสู่การคลี่คลายเรื่องราวต่าง ๆ ในระหว่างนั้นจึงมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นบททดสอบจิตใจตัวละครหลัก ตอบจบเรื่องจะเห็นได้ชัดว่าระบบอาวุโสมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด การกระทำของตัวละครชายขอบอย่างไร เมื่อท้ายที่สุดเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเพียงแค่การสร้างสถานการณ์ที่มาจากคำสั่งของผู้อาวุโสสูงสุดอีกทีหนึ่ง นั่นก็คือ นายทุนต่างชาติผู้เป็นเจ้าของเหมือง โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อเพิ่มค่าแรงให้ก็เท่านั้น

 

           ระบบอาวุโส ที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้น ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ ผ่านสายตาของตัวละครชายขอบ อาจจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นค่านิยมเหล่านี้ได้ชัดขึ้นผ่านประเด็นแยกย่อย ดังนี้


“ระบบอาวุโสระหว่างนายทุนกับชนชั้นแรงงาน”


           ค่านิยม “ระบบอาวุโส” ระหว่างนายทุนกับชนชั้นแรงงาน ได้แฝงอยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในเรื่อง ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาอย่างชัดเจนในการที่จะพูดถึงประเด็นดังกล่าว แต่สภาวะทางจิตใจ การกระทำ รวมไปถึงการแสดงออกต่าง ๆ ของตัวละครได้แฝงนัยของค่านิยมนี้ เช่นเหตุการณ์ในตอนที่ตัวละครหลัก “คุณ” รู้สึกจำใจจะต้องทำหน้าที่สอดส่องคนงานที่แอบขโมยแร่ไปจากเหมือง ซึ่งตัวละครคิดเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธผู้เป็นนายได้ด้วยบุญคุณที่นายทุนมีต่อตัวเขาเอง

 

          “แต่ขณะนี้ข้าพเจ้ากลายเป็นไอ้คนนอกฝูง นายฝรั่งเจาะจงตัวข้าพเจ้าให้ไปดักจับคนขโมยแร่ โธ่! ข้าพเจ้าเองก็อาจเป็นไอ้ขโมยได้ ถ้าข้าพเจ้ามีรายได้ต่ำอย่างพวกเขา” (หน้า 1)


           นอกจากเหตุการณ์ข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าระบบอาวุโสผ่านตัวนายทุนมีอิทธิพลต่อตัวละครอย่างไรแล้ว  ตัวละครเองก็ยังแสดงให้เห็นถึงระบบชนชั้นความเป็นอาวุโส ในข้อความที่ว่า “โธ่! ข้าพเจ้าเองก็อาจเป็นไอ้ขโมยได้ ถ้าข้าพเจ้ามีรายได้ต่ำอย่างพวกเขา” ส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าเพียงเพราะตัวละครมีรายได้ที่มากกว่าจึงมีความอาวุโสกว่าคนงานคนอื่น ๆ ที่ที่มีรายได้ต่ำกว่า หน้าที่ในการสอดส่องจึงต้องตกเป็นของเขาโดยปริยาย


           นอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว พอจะยกให้เห็นในอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นผ่านตัวละคร ก้อง ที่ได้ทำตามคำสั่งของนายทุนในการที่จะมาทดสอบความซื่อสัตย์ของตัวละครหลักภายในเรื่อง โดยรับบทเป็นผู้ขโมยแร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นอำนาจที่มาจากความอาวุโสของนายทุนอีกต่อหนึ่ง ทำให้ก้องไม่สามารถที่จะปฏิเสธคำสั่งนี้ได้และได้ปฏิบัติตามคำสั่งจนเห็นธาตุแท้ของตัวละครหลักในที่สุด

 

          “เมื่อเช้ามืดนี้ก้องไปหาฉันและเล่ารายละเอียดให้ฟังแล้ว ฉันจะขึ้นเงินเดือนให้เธอ ขอโทษด้วยที่ฉันใช้วิธีขึ้นเงินเดือนให้ทุกคนในเหมืองนี้ โดยแบบนี้” (หน้า 6)
           เหตุการณ์ข้างต้นนอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงอิทธิพลของระบบอาวุโสที่มีต่อชนชั้นแรงงานที่อยู่ภายใต้การปกครองของตัวเองแล้ว ยังจะเห็นว่านายทุนซึ่งเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดภายในเรื่องมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการสั่งการชนชั้นแรงงานทุกคนที่อยู่ในเหมืองให้ปฏิบัติหรือกระทำอะไรก็ได้อีกทั้งคนงานในเหมืองยังเคารพในความเป็นผู้อาวุโสของนายทุนอีกด้วย


“ระบบอาวุโสระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นแรงงาน”


           นอกจากระบบระบบอาวุโสระหว่างนายทุนกับชนชั้นแรงงาน ยังจะเห็นได้อีกว่า แม้แต่ชนชั้นแรงงานด้วยกันเองก็มีระบบอาวุโสในการนับถือซึ่งกันและกันด้วย มีการใช้สรรพนามว่า พี่ เพื่อบอกให้รู้ว่ามีอายุมากกว่าหรืออยู่มาก่อน จึงกลายเป็นที่เคารพของคนงานคนอื่น ๆ ที่มีอายุน้อยกว่าหรือมาทีหลัง เห็นได้ในเหตุการณ์ที่ตัวละครหลักจับได้ว่าตัวละคร ก้อง ได้ทำการขโมยแร่ออกไปจากเหมืองจริง ๆ

            “ทำอะไรกันพี่ก้อง”
            “อ้อ คุณมาทำอะไรที่นี่ดึกดื่นแล้ว” เขาถามย้อนข้าพเจ้า
            “ทางฉันช่างฉันก่อนเถอะ ทางพี่ก้องน่ะกำลังทำอะไรกัน”
            “ก็คุณก็เห็นอยู่แล้ว” (หน้า 3)
        หรือในอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตัวละครหลักได้โต้เถียงกับตัวละคร ก้อง ถึงเรื่องการขโมยแร่ ว่า
            “เดี๋ยว ยังขนไม่ได้เดี๋ยวก่อนในนามของนายฝรั่ง ฉันสั่งให้ขนแร่เหล่านี้กลับขึ้นเรือ”
            “ชะ” ก้องร้องดัง “ ใครมันจะใหญ่กว่าใครให้มันรู้ไปทีเถอะน่า”
            “พี่ก้องน่ะใหญ่กว่าฉันแน่ แต่ว่าเป็นคำสั่งจากนายฝรั่ง นายฝรั่งกับพี่ก้องน่ะใครใหญ่กว่ากัน”
            “ฝรั่งหรือ ฝรั่งใหญ่กว่าใครหรือคุณ คุณเป็นคนชาติไหนไม่ทราบ” (หน้า 3)
            เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นระบบอาวุโสอย่างชัดเจน ตัวละครหลักนับถือในความอาวุโสของตัวละครก้อง แต่ไม่สามารถที่จะปล่อยผ่านไปได้ด้วยผู้ที่อาวุโสกว่านั่นคือ นายทุน การที่ตัวละครหลักอ้างสิทธิ์ความเป็นอาวุโสของนายทุนผ่านตัวเอง นั่นอาจจะเพื่อต้องการให้ตัวละครก้อง เหล็กกล้า และคนงานคนอื่น ๆ เกิดความยำเกรงและตระหนักได้ว่าใครคือผู้ที่อาวุโสที่สุดในเหมืองนี้ และทุกคนควรเลือกที่จะเกรงกลัวหรือปฏิบัติตามใครมากกว่ากันระหว่างตัวละคร ก้อง กับ นายทุน


อาจไม่ใช่บทสรุป “ระบบอาวุโส” เพียงแค่มองจากมุมหนึ่ง


             เรื่องสั้นความรักชาติของชาวเหมืองแร่ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์จึงเป็นมากกว่าเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ถูกเติมแต่งให้กลายเป็นผลงานทางวรรณกรรม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม “ระบบอาวุโส” ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างอย่างช้านาน แต่ใครอื่นจะคิดเห็นอย่างไรนั้นก็แล้วแต่มุมในการเลือกที่จะมอง ผมในฐานะที่เป็นผู้อ่าน สู่การเป็นผู้เขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้ หวังว่าบทวิจารณ์บทนี้พอที่จะเป็นแรงกระเพื่อมในการที่จะทำให้ทุกคนในสังคมไทยฉุกคิดถึงระบบที่ “ราวกับรากไม้ที่ชอนไช แทรกซ่อน และกลายกลืนลึกลงไปในผืนดินอย่างมิอาจรื้อถอนได้” ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะถอนรากถอนโคนระบบนี้ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

 

“ระบบอาวุโส” ค่านิยมที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยผ่านสายตาของตัวละครชายขอบ  ในเรื่องสั้น ความรักชาติของชาวเหมืองแร่

บทวิจารณ์โดย นายทักษิณ ทุนเกิด 

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ