“กรรมกร + นายทุน = ชนชั้นทางสังคม”   : บทวิจารณ์โดย กุลธิดา จารุรัตนานนท์

 “กรรมกร + นายทุน = ชนชั้นทางสังคม”  

         “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ผลงานของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในหนังสือเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านซึ่งหนังสือชุดเล่มนี้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของอาจินต์ ภายหลังการออกเดินทางจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ชื่อดังสู่มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต 

          หากพินิจพิเคราะห์เพียงชื่อเรื่อง “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” อาจเร้าให้ผู้อ่านคิดถึงสภาวการณ์ การปลุกระดมให้รักชาติ ปลุกระดมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือแม้แต่ปลุกระดมอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่ในชุดความคิดของคนงานในเหมืองแร่ หากเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงอยู่ในเรื่องสั้นนี้มิใช่การปลุกระดมเหล่านั้น เสียทีเดียว แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นของ “ความขัดแย้งทางชนชั้น” ร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการกดทับของชนชั้นที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่าง “อุตสาหกรรมเหมืองแร่” ที่กรรมกรหรือคนงานจะต้องทำอย่างงานหนักโดยสังเกตได้จากการพรรณนาถึงสภาพของคนงานที่ว่า 

                                                           “…การคลุกคลีกับเหงื่อไคลและโคลนตม…เราอดนอนด้วยกัน…” 

           การทำงานอย่างหนักของคนงานในเหมืองล้วนเป็นไปเพื่อกระบวนการการผลิต “แร่” ในปริมาณมากเพื่อให้ แปรผันตามกำไรของนายทุนซึ่งในบริบทนี้คือ “นายฝรั่ง” ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวนักก็คงจะเกิดความเข้าใจร่วมกันแล้วว่าผู้นั้นเป็น “ชาติตะวันตก” และกรรมกรพวกนั้นก็มักไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผลผลิตหรือแร่เหล่านั้นเลย แต่ในเรื่องนี้กลับแฝงและแสดงให้เห็นว่ากรรมกรก็สามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตนั้นได้แต่ต้องแลกด้วยการกระทำที่ผิดด้วยการแทรกเหตุการณ์ขณะที่อาจินต์ได้รับมอบหมายจากนายฝรั่งให้ดักจับผู้ที่ขโมย คือ “ก้อง เหล็กกล้า” เขาเป็นถึง “หัวหน้าคนงาน” แต่หากวัดกันที่ “ระดับการศึกษา” อาจินต์กลับอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่านายก้องซึ่งสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยมเท่านั้น ดังจะยกตัวอย่างจากการปะทะคารมกัน ระหว่างอาจินต์กับนายก้องเกี่ยวกับประเด็นของการขโมยแร่ ความว่า 

                                        “ฝรั่งหรือ ฝรั่งใหญ่กว่าใครหรือคุณ คุณเป็นคนชาติไหนไม่ทราบ” 

          จากคำพูดของนายก้องปรากฏการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 คือ “คุณ” ใช้เรียกอาจินต์ผู้ซึ่งมีระดับการศึกษาสูงกว่าตน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่านอกจากเรื่องสั้นเรื่องนี้จะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ประเด็นของชนชั้นแล้ว ยังสอดแทรกประเด็นของระดับการศึกษาร่วมกับชนชั้นทางสังคมของคนเมืองและคนต่างจังหวัดว่าด้วยเรื่องของการถ่ายทอดมุมมองของคนต่างจังหวัดที่มีต่อคนเมืองว่าอยู่ในชนชั้นหรือระดับที่สูงกว่าตน คำที่นายก้องใช้เรียกอาจินต์จึงปรากฏออกมาในลักษณะนั้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของบทสนทนาที่แสดงให้เห็นอีกว่าชนชั้นทางสังคมอย่าง “คนเมือง” กับ “คนชนบท” มีทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันมาก          ความว่า 

                          “…ทำงานซื่อตรงก็กลายเป็นว่าไม่รักชาติ แต่ถ้าหวนมาลักขโมยเขาก็ผิดวิธีในใจฉัน กลับกรุงเทพฯ ไปขับแท็กซี่ดีกว่าวะ”

           คำโต้กลับของอาจินต์สะท้อนให้เห็นว่า “คนเมืองมีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากกว่าคนต่างจังหวัด” หากเขาไม่เป็นคนงานที่เหมืองแร่ เขายังสามารถกลับไปขับแท็กซี่อยู่ในเมืองได้ ขณะเดียวกันบทสนทนานี้ก็สะท้อนกลับไปยังนายก้องผู้อาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด หากเขาไม่นำแร่ที่ขโมยมานั้นไปขายเพื่อแบ่งเงินกับพรรคพวกซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดด้วยกัน คนเหล่านั้นก็ไม่มีรายได้พอประทังชีวิตอย่างแน่นอน 

           หากกลับมามุ่งพิจารณาถึงประเด็นของ “ความรักชาติ” อีกครั้ง จากที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า เรื่องนี้อาจมิใช่การปลุกระดมให้รักชาติ ปลุกระดมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือแม้แต่ปลุกระดมอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่ในชุดความคิดของชาวเหมืองแร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีประเด็นเหล่านั้น หลงเหลืออยู่เลย กล่าวคือ “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ในบริบทนี้สอดแทรกอยู่ในบทสนทนาท่ามกลางการปะทะคารมกันระหว่างอาจินต์และนายก้อง ดังจะยกตัวอย่างประกอบก่อนในเบื้องต้น ความว่า 

           “ชาติมาก่อนคน แร่นี้เป็นของชาติไทย ใต้ตีนที่คุณยืนเหยียบอยู่นี้คือแผ่นดินไทย แร่ที่อยู่ใต้ดินเป็นแร่ของคนไทย ” และ “…ผมก็ลักมันเรื่อยมา เอาไปฆ่าให้ตายผมก็ต้องลัก มันเป็นแร่ของแผ่นดินไทย แร่ของคนไทย แร่ของปู่ย่าตายาย แร่ของผม…” 

            บทสนทนาข้างต้นเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็น “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ได้อย่างดีด้วยการใช้คำแสดงความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะสื่อถึงชาติ แผ่นดิน หรือตัวบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้การขโมยแร่จะต้องแลกด้วยชีวิต นายก้องก็จะเอามาให้จงได้หากจะกล่าวว่ากระจกเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคมในเวลานั้น ก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะสังคมสมัยนั้นดำรงอยู่ภายใต้การก่อตัวของอุดมการณ์ “ชาตินิยม” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่อง ของการคุกคามจากชาติตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากตัวละคร “นายฝรั่ง” ซึ่งเป็นชนชาติตะวันตกที่มีสถานะหรือชนชั้นเป็นถึง “นายทุนหรือผู้ประกอบการ” นั่นหมายความว่าเขาอยู่ใน  ตำแหน่งที่สามารถสั่งให้ชนชั้นใต้บังคับบัญชาสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่ง ผู้วิจารณ์จึงเห็นว่า “ชาตินิยม” เข้ามาปรากฏให้เห็นในเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยเหตุของสภาพสังคมในสมัยนั้นอย่างแท้จริง 

          “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ เป็นไปตามปรัชญาของมาร์กซิสต์หรือไม่” คงเป็นคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจผู้อ่านหรือเป็นคำถามที่ต้องการถกกับผู้วิจารณ์   ผู้วิจารณ์เห็นว่าตราบใดที่ประเด็นหลักของมาร์กซิสต์ ยังเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการประกอบสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น (classless society) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ ต่อเมื่อประเด็นทาง “ชนชั้น” เหล่านั้นไปหมุนกงล้อทางประวัติศาสตร์ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ในเรื่องสั้น “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” กลับนำเสนอตอนท้ายของเรื่องด้วยวิธีการหักมุม (plot twist) ซึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์การลักขโมยแร่ทั้งหมดนั้นไม่เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ “ก้อง เหล็กกล้า” หรือนายก้องเป็นตัวละครที่ถูกวางหมากโดยนายฝรั่งเพื่อจัดฉากการทดสอบความสัตย์ของอาจินต์ เมื่อคนงานที่ผ่านการทดสอบที่สร้างโดยนายฝรั่ง นายฝรั่งก็จะขึ้นเงินเดือนให้คนงานเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจินต์เองก็เป็นหนึ่งในผู้ผ่านการทดสอบ ได้รับการขึ้นเงินเดือน และได้กลับไปทำงานดังเดิม ในเมื่อ “ประเด็นทางชนชั้นต้องหมุนกงล้อทางประวัติศาสตร์ให้ขับเคลื่อนไป” นั้นยังไม่เกิดขึ้น ผู้วิจารณ์จึงมองว่าเรื่องนี้อาจยังไม่สามารถแตะถึงประเด็นตามปรัชญาของมาร์กซิสต์ได้เสียทีเดียว เพราะการกระทำของนายฝรั่งในรูปแบบดังกล่าวก็ยังโคจรอยู่ร่ำไป อีกทั้งยังแสดงอากัปกิริยาที่สื่อถึงการกดทับของชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีต่อชนชั้นแรงงาน ความว่า 

          “ข้าพเจ้าอึ้ง แต่นายฝรั่งหัวเราะแล้วว่า ‘เมื่อตอบไม่ได้ ฉันก็ตอบให้ฟังเอง การที่นายก้องขโมยแร่นั้นเป็นละครที่ฉันจัดขึ้น และหลายคนมาแล้วถูกฉันพิสูจน์ความซื่อสัตย์ด้วยการไปรู้เห็น คนเหล่านั้นกลับไปขอส่วนแบ่งจากก้อง และฉันก็ให้ออกจากงานไป เมื่อเช้ามืดนี้ก้องไปหาฉันและเล่ารายละเอียดให้ฟังแล้ว ฉันจะขึ้นเงินเดือนให้เธอ ขอโทษด้วยที่ฉันใช้วิธีขึ้นเงินเดือนให้ทุกคนในเหมืองนี้โดยแบบนี้’ ” 

           จะเห็นได้ว่าวิธีการของนายฝรั่งยังคงอยู่และมีทีท่าว่าจะดำเนินต่อไปในภายภาคหน้า นอกจากนี้ยังมีการอาศัย  “อำนาจแห่งเม็ดเงิน” เพื่อตอบแทนการนำผู้คนชนชั้นแรงงานที่ให้เกียรติมาเล่นละครที่ตนเป็นผู้กำกับ แล้วคลายปมว่าละครเรื่องนั้นฉายออกไปเพียงต้องการ “พิสูจน์ความซื่อสัตย์” เท่านั้น 

           “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” เป็นเรื่องสั้นที่หากอ่านชื่อเรื่องเพียงผิวเผิน ผู้อ่านอาจถูกกล่อมให้เกิดความคิดเกี่ยวกับประเด็นของ “ความรักชาติ” เพียงอย่างเดียว หากลองอ่านแล้วจะสามารถตกตะกอนได้ ว่าภายใต้ความรักชาติ หรือภายใต้เหมืองแร่นั้นซ่อนประเด็นทางสังคมไว้มากมาย จนสามารถกล่าวได้ว่า ชื่อ ของตัวละครที่เป็น “ชนชั้นนายทุนหรือเจ้าของปัจจัยการผลิต” ซึ่งไม่ถูกแสดงอย่างโดดเด่นในส่วนที่เรียกได้ว่า สำคัญที่สุดของเรื่องสั้น นั่นคือ “ชื่อเรื่อง” อาจเป็นเพราะ “ชนชั้น” เหล่านั้นยังไม่สามารถหรือไม่มีแรงขับที่มากพอจะทำให้กงล้อทางประวัติศาสตร์หมุนไปข้างหน้าสู่สังคมที่ปราศจากชนชั้นได้ หากซ่อนไว้ในก้นบึ้งของประเด็นอื่น ๆ ดังเช่นประเด็นของ “ความรักชาติ” ใน “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” เล่มนี้ 

 

บทวิจารณ์เรื่อง “กรรมกร + นายทุน = ชนชั้นทางสังคม”  

บทวิจารณ์โดย กุลธิดา จารุรัตนานนท์ 

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ