ณ ผืนไพร โปรดรู้จักฉัน โปรดรู้จักเธอ : บทวิจารณ์โดย พรรณภา ทับมะเริง

ณ ผืนไพร โปรดรู้จักฉัน โปรดรู้จักเธอ

      คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า "ผู้ใดมีปากกาเป็นอาวุธ ผู้นั้นย่อมเปล่งเสียงได้ดังกังวาล" โดยเฉพาะเสียง สุดท้ายของผู้ที่ชีวิตกําลังปลิดปลิว ซึ่งคงจะหลงเหลือเพียงในใจของผู้เป็นสักขีพยานในห้วงนาที่โศกเท่านั้น หาก ธีรภาพ โลหิตกุล ไม่ได้ใช้ปากกาในมือเป็นกระบอกเสียงให้กับสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่าน งานเขียนสารคดีเรื่อง อาคันตุกะ การสังเวยชีวิตของสัตว์ป่าต่อความเข้าใจผิดในสถานะตัวตนของมนุษย์ คงดังอยู่แค่ในพื้นที่อุทยานเท่านั้น

      ในงานสารคดีชิ้นนี้ ผู้เขียนพาเราตั้งคําถามตั้งแต่แรกเริ่มว่า มนุษย์นั้นหลงเหลือเสรีภาพอยู่เพียงใด เมื่อย่างเท้าเข้าไปเยือนอาณาเขตอื่นในฐานะอาคันตุกะ ซึ่งเป็นคําที่แฝงไปด้วยสถานะของความเป็นคนนอก ด้วยการคัดถ้อยคําของ เอช. อีเลียต แมคคลัวร์" มาเปิดเรื่อง มีใจความว่า เราต้องปฏิบัติตนโดยมีสํานึก เคารพต่ออาคันตุกะอื่น ตลอดจนพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแห่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งดู เหมือนคนยังมิได้มีความตระหนักเรื่องนี้ดีพอ

      ผู้เขียนก้าวเข้าไปสู่ผืนป่าด้วยสํานึกแห่งอาคันตุกะในฤดูหนาวหนึ่ง ผ่านสายตาของเขานั้น ผืนป่า เป็นอาณาบริเวณที่แยกขาดอย่างสิ้นเชิงกับเมือง เมื่อเขากล่าวว่า “แมงมุมป่าตัวน้อยที่พักพิงอยู่ริม (อดีต) สนามกอล์ฟเขาใหญ่ เป็นเจ้าบ้านรายแรกที่ให้การต้อนรับข้าพเจ้า เขาหมายถึงการเปลี่ยนสถานะระหว่าง มนุษย์กับสัตว์ที่ยึดโยงกับการปิดสนามกอล์ฟเขาใหญ่ให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้าหากว่าเขาใหญ่ยัง เป็นสนามกอล์ฟอยู่ ความสวยงามในกิจกรรมอันเรียบง่ายเช่นการสานใยของแมงมุมป่าก็คงเป็นเพียงสิ่งที่ ต้องถูกกําจัดออกไปให้จากกิจกรรมของมนุษย์ แต่บัดนี้ เจ้าแมงมุมป่าได้กลายเป็นเจ้าบ้านอย่างเต็มภาคภูมิ และผู้เขียนเองก็ได้สังเกตวิถีชีวิตของเจ้าบ้านอย่างรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นแมงมุมป่า หรือกวางสองแม่ลูกที่คุ้น ชิ้นเสียแล้วกับการมาเยือนของมนุษย์

      อย่างไรก็ตาม ธีรภาพไม่เพียงมองความงามตรงหน้าเพียงอย่างเดียว ด้วยเขารู้ว่า ความคุ้นชินกับผู้ มาเยือนของสัตว์ป่าบางครั้งก็เป็นภัยต่อตัวพวกเขาเอง จากเรื่องของกวางที่ถูกรถของผู้สัญจรชนตาย หรือ ลิงกังและลูกกระทิงป่าที่ต้องมาตายจากภาวะกระเพาะอาหารอุดตัน-พวกเขาไว้ใจผู้มาเยือนและรับเอา อาหารที่บางครั้งมีเศษขยะพลาสติคหรืออื่น ๆ ติดไปด้วย

      จากกรณีการให้อาหารสัตว์ป่านั้น อาจบอกว่ามันเป็นเรื่องอุบัติเหตุหรือความพลั้งเผลอได้ เพราะนักท่องเที่ยวในฐานะอาคันตุกะย่อมให้อาหารสัตว์ป่าไปด้วยเจตนาดี ด้วยความเอ็นดู มิได้มีเจตนาให้สัตว์ป่า กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปด้วยหวังจะทําร้าย การกระทํานี้ย่อมเป็นไปตามความเคารพ แต่ผลของมันกลับเกิน ความคาดหมาย แต่ผู้เขียนย่อมไม่เห็นด้วยแน่ ๆ กับหลักคิดนี้ ธีรภาพได้พูดคุยกับเจ้าหน้าอย่างจริงจัง และ พบว่าการที่อาคันตุกะเข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าบ้านมากเกินไปนั้นส่งผลเสียถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ของเจ้าบ้านแทนที่จะก่อให้เกิดผลดี เช่นการที่ลิงเปลี่ยนพฤติกรรมมารับอาหารจากมนุษย์อย่างเดียวแทนที่ จะหาอาหารกินเอง

        ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการสร้าง “หย่าเวือน” ซึ่งเป็นการสร้างบ้านของชาวเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ที่จะมีฉากกั้นเรียกว่า "ลับแล" เป็นเสมือนแนวป่าเบญจพรรณที่สรรพสัตว์จะได้มองลอด ตรวจสอบผู้มาเยือนว่าพวกเขาควรจะหนีไป หรือหากินอยู่เช่นนั้นตามปกติ “สําหรับคนที่สะพายกล้องท่อง ป่าด้วยความสงบ หรือขับรถขึ้นมาด้วยสํานักของผู้มาเยือนแล้ว พวกเขาไม่เคยใจดํา ปล่อยให้มาเคาะประตู บ้านเก้อเลย อย่างไรก็ตาม ลับแลกับแนวป่าเบญพรรณนั้นมีความแตกต่างกัน ด้วยเจ้าบ้านหลังแนวรั้ว เบญจพรรณไม่สามารถรู้ได้ว่าอาคันตุกะที่มาดี และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากจิตใจเมตตาของอาคันตุกะนั้น จะมีอันตรายถึงชีวิตพวกเขาอย่างไร

      ในตอนท้ายเรื่อง ผู้เขียนได้กล่าวถึงสํานึกแห่งความเป็นอาคันตุกะอีกครั้งผ่านคําของ ดร. แมคกลัวร์ ความว่า ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น จึงกลับไปสู่คําถามแรก เริ่มว่า อาคันตุกะควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อย่างเท้าเข้าไปในอาณาเขตของสัตว์ป่าเหล่านี้

      “ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น”

      อาคันตุกะ เป็นเพียงผู้ไปเยือนหรือ                                                                                       -ใช่

      “ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น”

       อาคันตุกะ สามารถกําหนดความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในสถานที่เหล่านั้นได้หรือ                   -ไม่

      แน่นอนว่านี่คือคําตอบของผู้เขียนต่อสถานะของมนุษย์ในแดนไพร

      ในฐานะอาคันตุกะ เราไม่สามารถเข้าไปกําหนดความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของสัตว์ป่าได้ สิ่งที่ เราทําได้ มีเพียงเข้าไปสังเกต ชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตอันแสนสงบและเรียบง่ายของพวกเขา อย่างเช่นที่ผู้เขียนทํา มิใช่เข้าไปเป็นผู้อุปถัมภ์ ซึ่งมีความหมายต่างกันกับความเคารพ ในเมืองหรือชุมชนมนุษย์ พวกเราย่อมเชื่อว่าตนมีสิทธิเสรีภาพที่จะตัดสินใจ แต่ในพงไพร บางทีพวกเราควรเดินเข้าไปด้วยเนื้อตัวอันเล็กน้อย ทว่ามีสํานึกเคารพที่ยิ่งใหญ่

       สําหรับกรณีที่น่าสลดใจอย่างยิ่งของลูกกระทิงน้อย “จุ๋มจิ๋ม” ที่เธอถูกไถ่ชีวิตจากนายพรานโดยเจ้าอาวาสวัดหมูสี และถูกทางอุทยานขอซื้อมาเลี้ยงดูอีกที จากลูกกระทิงน้อยที่ยังไม่หย่านม เติบโตขึ้นมาด้วย การเลี้ยงดูของมนุษย์ ความสนิทสนมคุ้นชินทําให้เธอกลายเป็นสีสัน เป็นที่รักของเจ้าหน้าที่ นักท่องเที่ยว และแน่นอนตัวผู้เขียนเองด้วย: "ข้าพเจ้าจําได้ว่า เมื่อมีโอกาสเดินทางขึ้นเขาใหญ่เป็นครั้งแรกในชีวิต ในฐานะสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ราวปี ๒๕๑๖ ก็ได้สัมผัสความน่ารักของจุ๋มจิ๋ม ซึ่งทําตัวเสมือนพนักงานต้อนรับของเขาใหญ่ เป็นภาพแห่งความประทับใจแรกในความทรงจําวัยเยาว์ของ ข้าพเจ้า ที่มีต่ออุทยานแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้

     แต่สถานะของจุ๋มจิ๋มนั้นมิใช่เป็นสัตว์เลี้ยง แม้ว่าเธอน่าจะสูญเสียความสามารถในการหากินตามธรรมชาติไปนับตั้งแต่วินาทีที่ถูกรับมาเลี้ยงดู สถานที่พักพิงอาศัยของเธอคือผืนป่ามิใช่คอก ความน่าสนใจ คือเธอเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความเอ็นดูของนักท่องเที่ยว เพราะในท้องของเธอนั้นเต็มไป ด้วยสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ทําให้เธอต้องจบวาระสุดท้ายที่ทรมาน

      เมื่อผู้เขียนมองเห็นภาพนักท่องเที่ยวรุมให้อาหารครอบครัวหมูป่าครั้งใด ภาพของจุ๋มจิ๋มในความทรงจําได้ผุดขึ้นมา เราทราบว่าเธอเป็นภาพความประทับใจแรก ๆ ของผู้เขียนต่อเขาใหญ่ เช่นเดียวกับความสวยงามยิ่งกว่างานศิลปะชิ้นใด ที่ผู้เขียนจดจารมันออกมาอย่างแจ่มชัดและเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ราวกําลังตวัดแปรงวาดภาพพงไพร น้ำค้าง และแสงแดดออกมา

     แต่ที่สําคัญไปกว่านั้นคือ จุ๋มจิ๋มคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความตระหนักรู้ถึงสํานึกแห่งความเป็น อาคันตุกะ เป็นตัวแทนของสัตว์ป่าอื่นอีกนับไม่ถ้วน เรื่องเล่าน่าสลดใจนี้ หนึ่งปรากฏออกมาผ่านปลายปากกาของธีรภาพ และสองผ่านร่างไร้วิญญาณของจุ๋มจิ๋มที่ถูกสตัฟฟ์ไว้แสดงเป็นอุทาหรณ์

     มนุษย์ใช้ปากกาเปล่งเสียงก้องกังวาลได้
     แต่สัตว์เล่า ในความเงียบและไร้เดียงสา พวกเขาพูดกับเราด้วยชีวิต

 

ณ ผืนไพร โปรดรู้จักฉัน โปรดรู้จักเธอ
บทวิจารณ์ โดย พรรณภา ทับมะเริง

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6  
 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ