ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ : ภารกิจสานฝัน ‘หนังสือไทยสู่เวทีโลก’

ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ

หลังได้รับเลือกตั้งมาได้ไม่เท่าไหร่ คุณปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ก็ต้องไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ อย่างการไปร่วมงานและออกบูธที่มหกรรมหนังสือนานาชาติปักกิ่ง สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ หรือเรียกสั้นๆ กันว่า ‘ปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ 2013’ (BIBF 2013 - The 20th Beijing International Book Fair for Printing & Publishing) ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 2 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา

ว่ากันว่า การเดินทางครั้งนี้คุ้มค่าตั๋วสุดๆ เพราะนอกจากจะเป็นชิมลางครั้งแรกของคุณปราบดาในฐานะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แล้ว สำนักพิมพ์ไทยสามารถขายลิขสิทธิ์หนังสือได้มากกว่าปีอื่นหลายเท่าอีกต่างหาก

สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายเชิงรุกด้านต่างประเทศ และความสำเร็จของการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยในงานปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ เพราะสามารถขายลิขสิทธิ์ได้มากกว่าปี 2555 ที่ผ่านมาถึง 5 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาพ (picture book) นวนิยายเขย่าขวัญ (thriller) และหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง

จึงถือโอกาสชักชวนคุณปราบดามาร่วมพูดถึงความสำเร็จครั้งนี้สักหน่อย รวมไปแผนงานและเป้าหมายทางด้านต่างประเทศของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในอนาคตว่า จะเดินต่อไปอย่างไร?

+ ก่อนเข้ามาเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มองการทำงานของสมาคมฯ อย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายต่างประเทศ
พูดตรงๆ ผมไม่ค่อยทราบรายละเอียดการทำงานของสมาคมมากนัก เหมือนรู้จักอยู่ห่างๆ จากการที่เป็นสมาชิกนี่แหละ ซึ่งจะมีการออกบูทของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นในงานหนังสือ ได้รับข่าวสารทางอีเมล์บ้าง ทางไปรษณีย์บ้าง โดยเฉพาะงานต่างประเทศยิ่งไม่รู้ใหญ่ เพิ่งมาทราบไม่นานนี้ว่า สมาคมมีการไปออกบูธต่างประเทศด้วย เพราะคิดมาตลอดว่า สำนักพิมพ์เขาไปกันเอง

 

ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ

 

+ เมื่อเข้ามาเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ คุณต้องทำอะไรบ้าง
งานต่างประเทศเยอะกว่าที่คิด ผมเองก็เพิ่งเข้าใจว่า ความสนใจของคนต่างประเทศที่อยากทำงานกับคนไทยมีเยอะพอสมควร ดังนั้น งานของเราจึงไม่ใช่แค่นำหนังสือออกไป แต่คือการสื่อสารทำงานร่วมกับคนต่างชาติที่เข้ามา หรืออยากจะเข้ามาในประเทศด้วย แต่งานหลักๆ ของสมาคมก็ยังคงอยู่ที่การนำหนังสือของสมาชิกไปแสดงที่งานบุ๊กแฟร์ใหญ่ๆ เช่น แฟรงค์เฟิร์ต ปักกิ่ง ไทเป เป็นต้น

ดังนั้น สมาคมจึงต้องพยายามหาทางกระตุ้นให้คนต่างชาติรู้จักและสนใจงานของสำนักพิมพ์ไทย หนังสือไทย นักเขียนไทยมากขึ้นกว่านี้ เพราะถ้าไปเฉยๆ นำหนังสือไปวาง แล้วแค่ไปนั่ง หรือไปยืนรอคนมาที่บูธ ในแง่ของการเผยแพร่หรือการกระตุ้นก็คงไม่เกิด เพราะมันเหมือนกำลังรอให้เขามาสนใจเอง ดังนั้น สมาคมจึงต้องทำนโยบายเชิงรุกให้มากกว่านี้ ต้องเตรียมตัวเยอะขึ้น มียุทธศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์ประเทศ

+ ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้เป็นอย่างไร
ในเบื้องต้นก็คงพยายามวางรูปแบบบางอย่างให้แก่สมาคมเพื่อจะได้นำไปสานต่อในอนาคตได้ เพราะความจริงวาระการทำงานแค่ 2 ปี ก็ไม่นานนัก ลำพังตัวผมเองคงไม่สามารถจะทำที่วางแผนไว้ได้ทั้งหมด เพราะยังมีงานของตัวเองด้วย คือสมาคมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้เอาเวลาไปเยอะมาก (หัวเราะ) แถมบางอย่างอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ดังนั้น หลักๆ ที่เราวางไว้คือ พยายามจัดการเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวกับนักเขียนไทย หนังสือไทย สำนักพิมพ์ไทยให้สามารถนำไปเผยแพร่หรือกระจายออกไปสู่ต่างประเทศได้ง่ายหรือมีประสิทธิภาพขึ้น

เช่นการทำสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษาอังกฤษ การแปลผลงานบางอย่างที่เราคิดว่า มีแนวโน้มจะขายลิขสิทธิ์ได้ หรือทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนต่างชาติรู้จักนักเขียนไทย รู้จักหนังสือไทยมากขึ้น เนื่องจากความจริงแล้ว หนังสือไทยก็ขายได้ในต่างประเทศค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหนังสือเด็ก และหนังสือภาพ ซึ่งมีแนวโน้มจะขายได้เพิ่มขึ้นกว่านี้อีก เพราะงานของคนไทยที่มีคุณภาพก็มีมากขึ้นทุกปี ซึ่งตรงนี้ก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก แค่พยายามให้สม่ำเสมอขึ้นเท่านั้นเอง

ขณะที่งานอื่นๆ ซึ่งขาดอยู่ เช่น งานวรรณกรรมที่ยังไปได้ไม่ไกลนัก หรืองานเชิงวิชาการ สารคดี สังคม ประวัติศาสตร์ สมาคมก็คงจะพยายามหาวิธีช่วยสมาชิก เช่น ให้คำแนะนำ ชวนมาทำอะไรร่วมกัน แนะนำคนแปล หรือพิมพ์เรื่องย่อให้ เพื่อนำไปขยายผลต่อในงานบุ๊กแฟร์

ส่วนแผนระยะยาว สมาคมก็ควรจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมการสื่อสารระหว่างต่างชาติกับสำนักพิมพ์ไทยและนักเขียนไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีข้อมูลให้พร้อมทั้งสำหรับสมาชิกไทยและคนต่างชาติ เพื่อให้เกิดเครือข่ายในระดับสากลขึ้นมา เพราะจริงๆ แล้วการไปออกบุ๊กแฟร์ ก็คล้ายๆ กับการไปออกเทศกาลอื่นๆ เช่น เทศกาลภาพยนตร์ หรืองานศิลปะ ซึ่งเป็นเรื่องของเครือข่ายเหมือนกัน ดังนั้น คนที่ทำงานเหล่านี้จะต้องสื่อสารพูดคุยกัน และบางปีก็ต้องมีการให้คำแนะนำและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ รักษาสัมพันธ์และเครือข่ายเหล่านี้เอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ต่อไปเราก็จะอยู่ในส่วนหนึ่งของวงจรนั้นไปโดยปริยาย

 

ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ

 

+ ล่าสุด คุณเพิ่งเดินทางไปมหกรรมหนังสือนานาชาติปักกิ่ง หรือปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ 2013 อยากทราบว่าภาพรวมของงานเป็นอย่างไรบ้าง
ยอมรับตามตรงว่า งานที่ปักกิ่งเป็นงานแรกที่ผมได้ไป ไม่ว่าในฐานะอุปนายกฯ หรือฐานะส่วนตัว เพราะฉะนั้นก็เลยเพิ่งเข้าใจบรรยากาศของบุ๊กแฟร์แบบนี้ว่า มันเป็นงานสำหรับผู้ประกอบการ คือให้สำนักพิมพ์ ผู้ขายลิขสิทธิ์ หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงหนังสือมารวมกัน ซึ่งต่างจากบุ๊กแฟร์ในบ้านเราที่เน้นการขายมากกว่า หากถามว่าได้อะไร หลักๆ คงเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะทำให้ได้เห็นการทำงานและคุณภาพของชาติต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเทศที่ตื่นตัวมากๆ หรือมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง บูธเขาจะน่าสนใจมาก น่าเข้าไปอ่านหนังสือ น่าเข้าไปคุยด้วย เช่น บูธของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมืออาชีพมากๆ สัมผัสได้จากการจัดบูธ หรือหนังสือที่นำมาแสดง นอกจากจะหลากหลายแล้ว คุณภาพการพิมพ์ก็ยังดีมากๆ อีกด้วย หรือแม้ของจีนก็อลังการพอสมควร เทียบเท่ากับระดับสากลได้เลย

ซึ่งพอมองย้อนกลับที่สมาคมก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา เรามีเวลาเตรียมงานค่อนข้างน้อยจึงทำเท่าที่ทำได้ เช่น การทำสิ่งพิมพ์ใหม่ขึ้นมา โดยแนะนำหนังสือไทย หรือนักเขียนไทยผ่านสกู๊ปหรือบทความ เพราะแต่เดิมเราจะนำเสนอในรูปแบบแคตตาล็อก แล้วใส่รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ลงไป เพื่อให้สำนักพิมพ์นำไปแจก ซึ่งผมคิดว่าก็ดีในเชิงการให้ข้อมูล แต่สำหรับคนอ่านหนังสือแล้ว เขาน่าจะได้แรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น เมื่อได้อ่านอะไรที่เป็นเนื้อหาจริงๆ และเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น เนื้อหาที่เกี่ยวกับมนุษย์ สังคม หรือศิลปวัฒนธรรม

+ ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าหนังสือเด็กและหนังสือภาพเป็นงานที่ขายดีมาก และเท่าที่ทราบข้อมูล ในงานปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ ไทยสามารถขายลิขสิทธิ์หนังสือเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 เท่า คิดว่าอะไรคือปัจจัยในเรื่องนี้
หนึ่งคือ ฝีมือของบุคลากรของเราดีขึ้นเยอะ และมีเยอะมากกว่าที่คนทั่วๆ ไปรู้ ไม่ว่าจะเป็น นักวาดภาพประกอบหรือคนเขียนหนังสือเด็ก ซึ่งปีๆ หนึ่งพิมพ์เยอะมาก เทียบเท่าระดับสากล อีกอย่างหนึ่งคือ ในเอเชียมีประเทศทีมีวัฒนธรรมการอ่านหรือการพิมพ์ที่แข็งแรงไม่มากนัก เท่าที่นึกออกมีแค่ญี่ปุ่น หรืออาจจะนับรวมเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งเหตุผลคงเป็นเพราะเขายังขาดบุคลากรด้านนี้ เช่น จีน ซึ่งเพิ่งเริ่มพัฒนา แถมยังเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ประกอบกับหนังสือเด็กและหนังสือภาพเป็นงานที่ใช้ฝีมือ และไม่มีกรอบวัฒนธรรมมาแบ่งมาก ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย

ที่สำคัญ ความสนใจของคนต่างชาติที่อยากมาทำงานร่วมกับคนไทยก็มีเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากแค่เรายืนอยู่ที่บูธ ก็มีทั้งคนจีน เกาหลี แคนาดา หรือยุโรป เดินข้ามาคุยเพราะอยากจะติดต่อประสานกับสำนักพิมพ์ไทย ซึ่งผมคิดว่า ปัจจุบันตลาดไม่ได้จำกัดอยู่แค่จุดใดจุดหนึ่งของโลกแล้ว ทุกคนก็อยากจะกระจายมายังจุดต่างๆ แล้วประเทศไทยเอง ก็ถือเป็นศูนย์กลางที่สุดแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมาะที่จะมาร่วมทำธุรกิจ ดังนั้น ถ้าเราทำตัวดีๆ ก็น่าจะได้ประโยชน์จากตรงนี้มาก

+ นอกจากหนังสือเด็กและหนังสือภาพ งานประเภทไหนที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งขึ้นมาบ้าง
หนังสือเชิงปรัชญาชีวิตหรือเชิงสู้ชีวิต ที่ปักกิ่งก็ค่อนข้างจะไปได้ดี ซึ่งอาจเป็นเพราะคนจีนต้องการแนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น เพราะประเทศเขาก็ขยายตัวเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ก็มีทัศนคติที่ต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ดังนั้นเขาอาจจะอยากสร้างอะไรให้กับตัวเอง หรืออาจจะมีความเป็นปัจเจก อยากทำธุรกิจ อยากประสบความสำเร็จมากขึ้น

+ การเดินทางไปปักกิ่งครั้งนี้ พอมองย้อนกลับไปมองที่วงการหนังสือไทย คิดว่าต้องปรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ในแง่ของศักยภาพ ผมเชื่อว่าเรามีเทียบเท่า แต่ในเชิงภาพลักษณ์ยังต้องปรับปรุงอีกมาก อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา เราไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือเปล่า ตรงนี้ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ พูดง่ายๆ คือต้องลงทุนกว่าเดิม ต้องมีการเตรียมงานล่วงหน้า ต้องคอยสำรวจดูว่าตอนนี้ที่อื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว เพราะถึงเราจะมองว่ามันเป็นเปลือก แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ อีกเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่มากคือ การใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราควรจะพิถีพิถันและให้รายละเอียดกันมากขึ้น เพราะความจริงเราก็มีคนต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศเยอะ และคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็มีไม่น้อย ซึ่งเวลาทำงานพวกนี้การสื่อสารอย่างถูกต้อง การใช้ภาษาที่ดี การแปลที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราสักแต่แปลให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่สนใจสำนวน ไม่สนใจความถูกต้องทางไวยากรณ์ สุดท้ายก็จะเป็นภาพที่ไม่ดีกลับมาสู่เราเอง เพราะถ้าคนต่างชาติมารับสิ่งพิมพ์หรือรับประชาสัมพันธ์ไปจากเรา แล้วเราเขียนผิดๆ ถูกๆ เหมือนไม่ใส่ใจหรือสนใจที่จะสื่อสารกับเขาอย่างถูกต้อง เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญกับเราเท่าที่ควร

+ หลังปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ ปลายปีนี้ทางสมาคมมีแผนจะไปงานบุ๊กแฟร์ที่ไหนอีก และมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง
ที่แน่ๆ เดือนตุลาคมนี้มีแฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ และเดือนพฤศจิกายนก็มี เซี่ยงไฮ้ บุ๊กแฟร์ ซึ่งแฟรงค์เฟิร์ตนี้ เราได้เตรียมตัวแล้ว เนื่องจากเป็นงานที่ไปประจำอยู่แล้ว เนื่องจากมันเป็นบุ๊กแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มก็อาจจะเป็นในส่วนของข้อมูลที่จะต้องนำไปเสนอ แต่เซี่ยงไฮ้ เป็นงานหนังสือเด็ก ถือเป็นครั้งแรกที่เราไป และเป็นครั้งแรกที่เขาจัดด้วย ดังนั้น คงยังประเมินอะไรมากไม่ได้ แต่หลักๆ ก็คงเตรียมจากประสบการณ์เวลาที่ไปงานหนังสืออื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นการผสมระหว่างแฟรงค์เฟิร์ตกับปักกิ่ง

+ อย่างนั้น ปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ มีวัฒนธรรมการอ่านไม่เหมือนกัน
ตรงนี้เดาเอง เพราะเท่าที่เคยไปเอง ก็ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่ อย่างเซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองตะวันตกมากมานานแล้ว ดังนั้น เวลาที่ไปที่นี่จะรู้สึกถึงความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างน้อย คล้ายๆ กับฮ่องกงหรือสิงคโปร์มากกว่า และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ความรู้สึกของคนจีนก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน คือเซี่ยงไฮ้เหมือนเป็นเมืองต่างชาติ เพราะฉะนั้นบรรยากาศการจัดงานก็น่าจะแตกต่างกัน แต่ผมคงคาดเดาไม่ได้ว่า มันจะต่างกันแค่ไหน

+ แล้วถ้าเป็นบุ๊กแฟร์ในยุโรปกับอเมริกา คุณมองว่าแต่ละแห่งมีลักษณะอย่างไรบ้าง
เวลาพูดถึงตลาดอเมริกา ก็มักจะนึกถึงตลาดหนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่มาก แล้วก็หลากหลายสูง เนื่องจากที่นั่นเขามีการจัดประเภทที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง เช่น มันจะมีวรรณกรรมประเภท Young Adults ซึ่งไม่ใช่สำหรับเยาวชน แต่เป็นคนที่วัยรุ่นแล้ว อย่างนวนิยาย ‘Twilight’ ก็จัดว่าเป็นวรรณกรรมลักษณะนั้นเหมือนกัน ซึ่งสำหรับเรา ก็อาจจะเหมารวมว่าเป็นวรรณกรรมเหมือนกันหมด

ที่สำคัญธุรกิจหนังสือของอเมริกานอกจากจะใหญ่แล้วยังซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นระบบเอเย่นต์ ระบบร้านหนังสือ ก็จะมีการแยกย่อยเยอะลงไปอีก บางครั้งเราอาจจะไม่เคยรู้จักเลย อย่างนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนของอเมริกาถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมาก ขายได้เป็นล้านๆ เล่ม แต่เราอาจไม่ค่อยรู้จักว่ามีใครบ้าง เราอาจจะรู้จักแต่แนววรรณกรรมจริงจังที่ได้รางวัลโนเบลอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปที่นั่น ก็ต้องเรียนรู้มิติเหล่านี้ให้ได้ก่อน และที่สำคัญต้องรู้ว่าจะเป็นเส้นทางไหนด้วย เนื่องจากเดิมเราคิดแต่ว่า นักเขียนเขียนงานออกมา มีงานแปลเป็นภาษาอังกฤษ เดี๋ยวก็ต้องมีคนสนใจ ซึ่งความจริงไม่ได้แบบนั้นเลย เช่นเดียวกับยุโรป แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ฝรั่งเศสก็แบบหนึ่ง เยอรมนีก็แบบหนึ่ง เขาจะมีรสนิยมความชอบในการอ่านที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าจะเอาหนังสือเด็กไปแข่งขันกับยุโรปก็คงยาก คือตอนนี้เราสามารถไปจีนได้ เวียดนามได้ อินโดนีเซียได้ แต่ถ้าไปแข่งกับที่ที่มีวัฒนธรรมด้านนี้มาช้านานและเข้มแข็งมาก ก็อาจจะสู้ยาก ดังนั้น เราอาจจะต้องหาหนังสือแนวอื่นที่ทางนั้นไม่มีแทน

+ แสดงว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นจุดแข็ง อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป
ถูกต้อง เราถึงต้องทำการศึกษากันตลอด หาวัตถุดิบที่มีในประเทศ ว่าเหมาะกับจุดไหนของประเทศไหนๆ โดยเฉพาะอเมริกา มันเหมือนกับว่าสมาคมต้องช่วยหา ช่วยประเมิน ช่วยดูว่าสมาชิกที่มีอยู่ว่า เหมาะกับตลาดไหน

+ ในปีหน้า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คงต้องไปงานบุ๊กแฟร์ในประเทศต่างๆ มากขึ้น ในฐานอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวค่อนข้างสูง เริ่มวางทิศทางการทำงานไว้อย่างไรบ้าง
อย่างที่บอกว่า คือต้องหาตลาดที่เหมาะสมให้ เช่น ถ้าเราอยากผลักดันให้วรรณกรรมได้แปลเป็นงานภาษาอังกฤษ ก็ต้องไปในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ อย่าง ลอนดอน บุ๊กแฟร์ หรือลองไปอเมริกาดูบ้าง คือบางอย่างก็น่าจะประเมินได้แหละว่า ไปแล้วคงไม่ประสบความสำเร็จอะไรมากนัก เพียงแต่ว่ามันจำเป็น เพราะถ้าเราอยากจะรู้ อยากจะสร้างพื้นฐานสำหรับระยะยาว ก็ต้องยอมเสียและยอมไปก่อน พูดง่ายๆ ก็เหมือนเราเอาเมล็ดพันธุ์ไปหว่านเท่านั้นเอง

+ ที่ผ่านมา เมืองไทยก็มีการจัดงานบุ๊กแฟร์นานาชาติเหมือนกัน โดยจัดพร้อมกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ คุณคิดว่า ควรจะต้องมีปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่า ที่ผ่านมาเรานำวัฒนธรรมบุ๊กแฟร์ 2 แบบมาผสมกัน ซึ่งคนไทยอาจจะไม่ชิน เพราะบูธของต่างชาติที่เข้ามาก็เพื่อขายลิขสิทธิ์ ไม่ได้มาเพื่อขายหนังสือ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นคนที่สนใจในเรื่องพวกนี้จริงๆ เท่านั้น ถึงจะเดินเข้าไปคุย หรือหยิบหนังสือที่เขานำมาแสดงมาอ่าน แต่เราก็หวังว่าต่อไปมันจะผสมผสานได้ดีขึ้น โดยปีหน้าก็จะมีงานอินเตอร์เนชันแนลอีก ซึ่งเราก็หวังว่ามันคึกคักขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เอง ก็คงต้องมีความแอ็กทีฟมากขึ้น เพราะอย่างที่อธิบายไปว่า สำนักพิมพ์ต่างชาติที่อยากมาก็เยอะพอสมควร ดังนั้น เราก็ต้องช่วยประสาน ต้องอำนวยความสะดวกให้เขา และเมื่อเขามา พื้นที่ที่จัดให้ก็ต้องดีและน่าสนใจ นอกจากนี้ ก็ควรจะมีกิจกรรมที่เขารู้สึกว่าได้ประโยชน์ เช่น พื้นที่สำหรับการคุยเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ

+ ถามจริงๆ แล้วควรจัดงานบุ๊กแฟร์นานาชาติแยกออกไปต่างหากเลยดีกว่าไหม
ไม่จำเป็นนะ ผมว่ามันก็ได้บรรยากาศที่น่าสนใจสำหรับเขาด้วย เพราะอย่างน้อยๆ เขาก็ได้เห็นบรรยากาศ ได้เจอสำนักพิมพ์ไทย คนอ่านไทย ขณะเดียวกัน คนไทยเราเองก็จะมีโอกาสได้รู้จักสำนักพิมพ์หรือหนังสือต่างชาติมากขึ้น ดังนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่า จัดแบบเดิมดีกว่า แต่การแบ่งโซน หรือการจัดพื้นที่ทำงานก็ควรจะต้องชัดเจนมากขึ้นกว่านี้

+ ในปี 2557 เมืองไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม International Publishers Association Congress ครั้งที่ 30 (IPA congress 2014) ซึ่งมีสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จากทั่วโลก มารวมตัวกัน ในฐานะอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ มีส่วนร่วมในการทำงานและเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เรื่องมีส่วนร่วมคงต้องมีอยู่แล้วโดยหน้าที่ (หัวเราะ) ซึ่งสำหรับงาน IPA หลักๆ สมาคมก็มีหน้าที่ช่วยสนับสนุน และช่วยประสานงาน ซึ่งเราก็คงทำเต็มที่ในส่วนของเรา เพราะจริงๆ งานนี้มีหลายๆ หน่วยงาน ที่เข้าร่วม เช่น กรุงเทพมหานคร หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังนั้น ถ้ามันประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นเรื่องดีสำหรับเมืองไทย แต่ทั้งนี้เราก็มีความคาดหวังว่า จะมีคนเข้าร่วมประชุมเยอะ เพราะคนที่มาพูดแต่ละคนก็อยู่จัดเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์ และมีชื่อเสียงทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าสำนักพิมพ์ไทย นักเขียนไทย หรือคนที่สนใจในแวดวงสิ่งพิมพ์ของไทยได้ไปฟัง ก็น่าจะได้ประโยชน์เยอะพอสมควร

+ วาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ตรงไหน
เป้าหมายของผมก็คือ สามารถนำคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ นักเขียน นักวาดภาพประกอบ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหนังสือที่มีความสามารถและทำงานได้ในระดับสากล ไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องโดยเฉพาะในต่างประเทศ ตามที่ศักยภาพเราควรจะทำได้ และศักยภาพที่เขาควรจะได้รับด้วย
 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ