การทำงานวิจัยเชิงคุณภาพของคนไทยที่ไปร่ำเรียนยังต่างประเทศ ย่อมมีเรื่องดีๆ ที่สามารถเป็นหลักฐานข้อมูลให้กับคนไทยได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะงานวิจัยที่มีน้อยยิ่งกว่าน้อย น่าดีใจที่ล่าสุดมีนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ School of Oriental and African Studies, University of London, United Kingdom น.ส. กรญาณ์ เดชะวงเสถียร กำลังทำงานวิจัยปริญญาเอกในหัวข้อที่เกี่ยวกับการแปลอยู่ โดยมีหัวข้องานวิจัยชื่อว่า ‘ Role Development and Market of Translation of Thai Literature into Foreign Languages’ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เกี่ยวกับการแปลหนังสือไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีสมมติฐานการวิจัยหลักเกี่ยวกับปัจจัยอันเกี่ยวเนื่องกับการแปลว่าหนังสือหรือ นวนิยายไทยที่เป็นภาษาต่างประเทศ ทำไมถึงพบเห็นได้น้อยมากในตลาดนานาชาติ
การลงภาคสนามอย่างหนักและจริงจัง ในการตะเวนสัมภาษณ์บุคลากรในวงการหนังสือในเมืองไทย ที่ทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนงานแปลและธุรกิจขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยที่แปลสู่ตลาดต่างประเทศ หนึ่งในบุคคลที่อยู่ในรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องสัมภาษณ์อย่างพลาดไม่ได้สำหรับเธอ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญประกอบการวิจัย นั่นก็คือ คุณอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ซึ่งเป็นผู้คลุกคลี อยู่กับการขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างจริงจังคนหนึ่ง โดยเฉพาะกระบวนการทำงานในเชิงคุณภาพและวางมาตรฐานงานแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ให้เทียบเท่ากับภาษาแม่ของแต่ละประเทศ โดยอ่านได้กลมกลืนราบรื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ลองฟังบางคำตอบจากบางคำถาม สำหรับประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์ของเธอได้ดัง Q & A ต่อไปนี้
+มีงานนวนิยายของไทยถูกแปลออกไปเป็นภาษาอื่นน้อย ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นหรือจีน
“ผมไม่ค่อยแน่ใจในสมมติฐานที่ว่า ทำไมไม่มีนิยายถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากเท่าที่ควร ส่วนจะมากหรือน้อยเชิงปริมาณ คุณไปเช็คตัวเลขเอาเองแล้วกัน ผมกว่าบอกเลยว่า คุณเอา ‘มูราคามิ’ มาเทียบกับเราไม่ได้ คือนักเขียนบ้านเราคุณลองดูเรื่องที่ผมจัดแปลของคุณเพ็ญศรี สำหรับตลาดภูมิภาคในเอเชีย หรือพูดให้ใกล้ตัว คือตลาดเออีซีก็ได้จะได้เข้ากระแส คือบ้านเราไม่ได้ผ่านประสบการณ์ที่เข้มข้นอย่างพม่าเขาก็ถูกปกครองโดยอังกฤษมาก่อน ผ่านกการเป็นเมืองขึ้นมา เวียดนามเขาก็เกิดมาพร้อมกับกระบอกปืน ชีวิตของเขาลำบากมาก รบกับอเมริกามาไม่รู้กี่ปีเพราะฉะนั้น สงครามภาบนอกประเทศ สงครามกลางเมือง เวียดนามเหนือรบกับเวียดนามใต้ ด้วยกันเอง อย่างลาวเขาก็เป็นสังคมนิยม แต่ยอมรับว่า งานลาวเขาคงสูสีกับเรา แถมยังดูหนังไทยอีกต่างหาก ละครไทยเขาชอบมาก แต่ลองไปเทียบกับเขมร เขามี คิลลิ่ง ฟิลด์ อย่างมหาโหดอย่างนี้ ศรีลังกาก็มีการรบระหว่างสิงหลกับทมิฬ ระหว่างผู้ปกครองกับชนกลุ่มน้อย ไม่รู้มีอะไรต่ออะไร เยอะแยะไปหมด ที่เป็นวัตถุอย่างดี ในการสร้างสรรค์งานเขียนที่โดดเด่น
กลับมาสังเกตดูบ้านเรา เป็นเหมือนกับคนเหยียบเรือสองแคมมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขาข้างหนึ่งก็เหยียบฝ่ายอักษะ อีกข้างหนึ่งก็เหยียบฝ่ายสัมพันธมิตร คือเอาตัวรอดมาโดยวิธีศรีธนญชัยมาตลอด
เพราะฉะนั้น งานเขียนนวนิยายดีๆ ที่ถึงอกถึงใจ ในเอเชียด้วยกัน มันยังสู้เขาไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่ไม่มี มันมี ถึงต้องมานั่งระลึกชาติกันว่า มีเล่มไหนบ้าง อย่าง นิคม รายวา เขาก็เขียนนวนิยายดี แต่สุดท้ายก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้ด้วยลำพงงานเขียน ได้รางวัลซีไรต์แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่มีงานออกมาอีกเลย ก็ไปทำสวนยาง การแปลก็เป็นอุปสรรค เพราะการแปลที่ดีต้องลงทุนมาก คนที่มีแนวโน้มเขียนนวนิยายระดับอินเตอร์ได้ดีอีกคน แต่ต้องรอเขาเขียนให้เสร็จ ก่อน คือ คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คนนี้เขาผ่านชีวิตมาเข้มข้นมาก เขาเข้าป่ากับคุณจิรนันท์ พิตรปรีชา อยู่กับสหายร่วมรบ นอกจากเป็นขบถในเมืองแล้ว เข้าป่าไปก็ยังเป็นขบถในป่าอีก แต่ว่ายังอยู่ในระหว่างที่เขียน ต้องรอให้เขียนเสร็จก่อน เพราะส่วนมากที่พี่เขาเขียนออกมา เท่าที่เห็นและอ่านกันจะเป็นนอนฟิกชั่น แต่ว่าเปี่ยมด้วยพลังวรรณศิลป์
แล้วกรณีคนแปล ผมจะบอกให้ ผมจ้างคนแปลแต่ละเรื่องในอัตราที่สูงยิ่ง อย่างสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ผมก็เห็นผลงานของพี่อี๊ด(ชมัยภร แสงกระจ่าง) ออกมาเขามีแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วยซ้ำไป ผมก็ไม่รู้ว่า เขาจ้างใครแปล มือระดับไหนแปล คาใช้จ่ายในงานแปลเท่าใด ผมก็เคยขอเอางานไปโชว์ที่ปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ เหมือนกันนะ เพราะเทางกระทรวงฯ ไม่ทำตลาดเลยพูดง่ายๆ คือผลิตแล้วผลิตเลย เพาะแม้แต่ตลาดหนังสือนอกภายในประเทศเราเอง ยังจัดจำหน่ายไม่เป็นเลย ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปขายต่างประเทศ ฉะนั้น ในลอนดอนหรือร้านหนังสือเมืองนอกที่ไหนก็ดีคุณจะไม่เห็นหนังสือแปลของนักเขียนไทยเหลี้ได้ง่ายๆ แน่นอน
เข้าในประเด็น ถ้าพูดถึงกรเผยแพร่งานไทยสู่ตลาดต่างประเทศคุณภาพงานแปลก็เป็น เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง การแปลมีทั้งแปลงานแบบริติช อิงลิช และมีอเมริกัน อิงลิช คุณต้องรู้ว่า ลูกค้าคุณเป็นใคร แต่ว่าถ้าเนื้อหางานเขียนเข้มข้นดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีการแปลที่ดูประดักประเดิดหรือว่ายังไม่ถึงขั้นยอดเยี่ยม ก็ยังพอไหว แต่ถ้างานเขียนก็อ่อน ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แล้วต้นทุนคาแปลที่สูงๆ คือแบบคุณภาพเลย ท้างกันแพง ผมจ้าง 200,000 บาท ต่อหนังสือไม่เกินสิบยก แล้วผมต้องจ้างบรรณาธิการ ฝรั่งเจ้าของภาษาจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เป็นมืออาชีพช่วยตรวจเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท สำหรับหนังสือ “I am Eri : My Experience Overseas” ฉบับจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ของนักเขียนรางวัลชมนาดชื่อ คุณธนัดดา สว่างเดือน
เรื่องนี้ขายลิขสิทธิ์จากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาจีนสำหรับภาษาจีนเรื่องนี้ ผมไม่รู้ว่าเขาแปลดี ไม่ดี เนื่องจากผมอ่านไม่ออกเนื่องจากเค้าซื้อสัญญาผมไป ซื้อ license ไปแปลเอง "ฉันคือเอรี่" เรื่องนี้ยอดพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาจีน เริ่มต้นที่ 15,000 เล่ม โดยสำนักพิมพ์เซี่ยงไฮ้ ไซรอน มีเดีย ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ เอเยนซี่เกาหลีรับรองว่า เป็นสำนักพิมพ์ที่มีประวัติชื่อเสียงที่ดี ผมก็เชื่อเขา เฉพาะเรื่องฉันคือเอรี่ ที่จัดแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้ ในย่านเอเชียนี้ ก็มีแปลต่อเป็นภาษาไต้หวัน(อยู่ระหว่างจัดพิมพ์)ภาษาเวียดนาม (อยู่ระหว่างจัดพิมพ์) ภาษาอังกฤษ เองก็มีจัดจำหน่ายที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาเก๊า และเมืองไทยก็มีขายที่ร้านเอเชียบุ๊ค คิโนคุนิยะ บุ๊กกา ซีน บีทูเอส ฯลฯ การจัดแปลจัดพิมพ์หนังสือเป็นภาษาต่างประเทศนี่ มีจัดทำหลายเรื่องแต่พูดตรงไปตรงมา ประสบความสำเร็จเพียงสักเรื่องหนึ่ง มันก็โอเคชื่นใจยิ่งแล้ว
+ทราบว่าตอนนี้มีการจัดแปลนิยาย ซีไรต์ไทยเรื่องหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ
“อ๋อ เรื่อง ‘ปูนปิดทอง’ ของ กฤษณา อโศกสิน เล่มนี้ได้รางวัลซีไรต์ ผมยังไม่รู้เลยว่า ชื่อภาษาฝรั่งจะออกมาอย่างไรต้นฉบับไทยแปลเสร็จทั้งหมดแล้ว โดยนักแปลที่ผู้เขียนเลือกเอง แต่ผมก็ยืนยันกับคุณกฤษณาว่า ผมขอใช้บรรณาธิการต่างประเทศทางผมต้องเป็นเจ้าภาษา ต่อให้คนไทยจะเก่งภาษาขนาดไหนก็ตาม ต้องขอให้เจ้าของภาษาตรวจสอบโดยละเอียดก่อนออกไปสู่สายตาผู้อ่าน ซึ่งทางคุณกฤษณาก็เข้าใจดี”
+ทราบว่ามีความพยายามด้านงานแปลผลงานของคุณเสกสรร ประเสริฐกุล ด้วย
“ครับ อย่างพี่เสกสรร ประเสริฐกุล ภาษาอังกฤษแกชั้นยอดเลย เพราะจบโทและเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล พี่เสกสรรยังบอกเองเลยว่า นอกจากผ่านตัวของเขาเองที่เป็นผู้เขียนแล้ว ก็ต้องให้เจ้าของภาษาดูให้ละเอียดด้วย ซึ่งตรงนี้มีค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าแปล ค่า บก. ก็เป็นเพียงอุปสรรคหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญ อยู่ที่เจ้าของผลงานเอง คนที่ถอดภาษาไทยและแปลได้ดังใจ พี่เสหสรรค์นั้น ผมยอมรับว่าผมหนักใจกับเรื่องนี้มาก ผมพยายามเอางานของแกออกมางานของแกจะเรียกว่า นอนฟิคชั่นก็ได้ หรือจะเป็นฟิคชั่นก็ได้ เพราะไม่รู้จะเอากรอบตรงไหนไปวัด เพราะเขียนได้สวยมากเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ แต่ว่าพี่เค้าเขียนจากประสบการณ์จริง ผมให้มาเซล บารังแปลนายบารัง ก็แปลออกมาดู 3 บท คิดค่าแปลบทละ 25000 บาท รวม 75000 บาทผมก็เอาให้เดวิด จอห์นสัน ตอนนั้นผมจ้าง บก. ฝรั่งชาวอังกฤษมาทำงานด้วย แบบฟูลไทม์ เขาก็ทำไฮไลท์ให้ดู เอาไปอธิบายให้ พี่เสกสรรพิจารณา พี่เสกสรรบอกว่า เดี๋ยวผมแก้เองรอพี่เสกแก้นานมากจนถึงต้องทิ้งไป เพราะมีจุดที่ต้องแก้มากจนพี่เค้าบอกว่าแก้ไม่ไหว เพราะพี่เสกสรรทุ่มเทกับงานปาฐกถามาก ต้องใช้เวลาเตรียมพูดเยอะ แกเตรียมปาฐกถา ทีหนึ่ง 2 สัปดาห์ต่อชิ้น พอเสร็จงานก็ทรุดทีนึ่ง
ล่าสุดพี่เค้าถอดความหนังสือ ‘บุตรธิดาแห่งดวงดาว’ เป็นร้อยแก้วกึ่งบทกวี ดร.มาริทัต ซึ่งเป็นราชบัณฑิตแกก็ ชอบแปลงานที่มีกลิ่นอายกวีนิพนธ์เสียด้วย รับแปลจนเสร็จร่างแรก ก็รอพี่เสกสรค์ตรวจก่อนส่งให้บรรณาธิการเจ้าของภาษาอยู่จนบัดนี้”
+ทำไมหนังสือแปลของอ.เพ็ญศรีที่อยู่ในท้องตลาดจึงมีขึ้นมาได้
“ ผมเลือกแปลงานของคุณเพ็ญศรี เพราะแกสนใจเรื่องภาษาแปลและแกมี บก.แหม่มประจำตัว ซึ่งทำงานกับพี่เค้านี้สบายผม ผมคิดว่าอย่างน้อยถ้าขายในตลาดตีเสียว่าขายในตลาดไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็พอเพราะเนื้อหามีเรื่องเกี่ยวกับภาคใต้ด้วย และเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ เนื่องจากผมทำงานระหว่างประเทศมาเยอะ ถ้าเป็นฟิคชั่นของเรา ยังสู้โซนยุโรป อเมริกาเค้าไม่ได้หรอก นี่พูดถึงเนื้อหาเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงความสวยงามของภาษา และฉากต่าง ๆ เลย งานของละตินอเมริกา อย่าง ‘100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของ มาร์เควซ นั่นถือว่าสุดยอดแท้จริง
ผมอยากพูดถึงการจำหน่ายหนังสือไทยที่แปลเป็นต่างประเทศไว้ด้วย แล้วการขายหนังสืออังกฤษโดยคนไทยภายในประเทศมีบริษัท ฯ ที่ผมจำเป็นต้องพูดถึงแต่ไม่อยากเอ่ยชื่อ เพราะเป็นบริษัทที่มีการเอารัด เอาเปรียบ ทำให้การสนับสนุนให้หนังสือนิยายไทยแล้วแปลเป็นอังกฤษยากแม้แต่จะเกิดในเมืองไทยเอง บริษัทฯ ดังนี้ แต่เอาเปรียบด้านค้าขาย ไม่เว้นแต่คนมีชื่อเสียง ล่าสุด คุณปองพล อดิเรกสาร โกรธมากเลยนะ กับบริษัทฯ ค้าขายหนังสือต่างประเทศในไทยเครือข่ายนี้ เพราะเอาไปถึง 50เปอร์เซ็นต์ในการที่ท่านออฟฟี่เทเบิลบุ๊กออกมา เป็นหนังสือภาพสัตว์ป่าหายากในแอฟริกา แล้วภาพแต่ละภาพนั้นหายากทั้งนั้น เป็น “วัน ช็อต ออฟ เดอะ เวิร์ลด์” ที่ท่านต้องไปนั่งทนเฝ้าเพื่อที่จะเก็บภาพสัตว์ป่าหายากในแอฟิกา เก็บถึง 50 เปอร์เซนต์ในการจัดจำหน่าย และดันขายเฉพาะสาขาของตัวเอง คิโนคุนิยะ ก็ไม่มีวางขาย แล้วรับปากเรื่องจัดแถลงข่าวซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องการสนับสนุน คุณไม่สนับสนุนคิดแต่จะเอา เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ไม่รักษาคำพูดด้วยนะ คุณปองพลโกรธมาก ผมมีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ พี.เอส.บุ๊ค ผมบอกว่า ผมช่วยจัดจำหน่ายให้เองดีกว่า ร้ายเอเชียบุ๊คผมก็จัดให้ได้ ร้านหนังสือต่างประเทศในไทยทั้งหมด ผมจะวางให้ทั่วถึง ผมขอรับเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลดน้อยกว่า แต่กระจายหนังสือให้กว้างขวางยิ่งกว่า ผมพิมพ์งานแปลของพี่เพ็ญศรีมา 1500 เล่ม เอเชียบุ๊คขอเอาไปจำหน่ายแค่ 200 เล่ม ขายได้ 70 เล่มเท่าจำนวนสาขาที่มี(ฮา) แต่คิโนคุนิยะ เมืองไทยขายให้ผมสองสาขายอดขายสูงกว่ากัน สามเท่า
ยิ่งล่าสุดบริษัทฯดังกล่าว ของานแปล คุณกฤษณา อโศกสิน อีกเล่มหนึ่งไปจัดจำหน่าย ก็มีเรื่องนะเอาไป 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วขอจัดจำหน่ายจำนวน 2500 เล่ม แต่เหลือคืนกลับมา 1900 เล่ม นี่ขนาดเป็นศิลปินแห่งชาติ แลเป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ 50 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก ที่สนามบินต้องมีวางจำหน่าย เพราะมีชาวต่างประเทศมากที่สุด ถ้าเป็นผมต้องมีข้อตกลง ถ้าคุณเอาเปอร์เซ็นต์ขนาดนี้ ต้องวางจำหน่ายที่สนามบินให้กับผมด้วยนะ และหนังสือคงคลังกลางต้องสำรองไว้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของยอดที่จัดส่งให้ไม่ใช่เอาไปกองไว้เฉย ๆสองพันเล่มซะงั้น เพราะร้านยานอินท์เอาผมแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แถมยังจัดวางโชว์ที่สนามบินให้เด่นด้วย เขาขอเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ผมให้ 35 เปอร์เซ็นต์ เขามีร้ายอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย ไม่น้อยกว่าบริษัทฯ ดังกล่าว ระบบจัดจำหน่ายหนังสือไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นบริษัทใหญ่ด้วยไม่สนับสนุนนักเขียนไทยกันเอง งานเขียนไทยก็ไปไม่ถึงไหน ตลาดหนังสือแปลที่คุณอยากให้เกิดพบเห็นได้ทุกที่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะจัดจำหน่ายก็เป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่งด้วย ”
สรุปแล้ว การทำตลาดหนังสือไทยไปสู่ตลาดโลกนั้นไม่ง่าย สนใจประสบการณ์จากสำนักพิมพ์ที่ลงเล่นจริง เจ็บจริง จากปากคุณอาทรนั้น คงต้องติดตามอ่านฉบับหน้าต่อไป