“เปลี่ยนความคิด ปรับมุมมอง” คงเป็นคติประจำใจของใครหลายคนที่ใฝ่หาความสุขในชีวิตท่ามกลางสภาพสังคมแวดล้อมอันแสนสับสนวุ่นวาย “อาย กมลเนตร เรืองศรี” ผู้พิสูจน์วลีดังกล่าว ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เธอพบประสบเห็นเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ “ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา” ได้อย่างน่าสนใจ
พลังงานความสุขที่ถูกกักเก็บอยู่ในหนังสือเล่มนี้ปะทุขึ้นตั้งแต่หน้า “จากผู้เขียน กรุณาส่งคุณผู้อ่าน” ถือเป็นธรรมเนียมนิยมในการทำความรู้จักและเป็นการกล่าวทักทายของนักเขียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักเขียนสามารถฉายอัตลักษณ์ด้วยสำนวนภาษา ทั้งยังเป็นการแสดงความจริงใจทำให้ผู้อ่านรู้สึกดีเพราะได้ทลายกำแพงที่กั้นระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านลง พร้อมเชื้อเชิญให้เปิดหน้าถัดไป
ด้วยธรรมชาติของหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่ลงในคอลัมน์“มุมมองเห็น”ในนิตยสาร a day และด้วยธรรมชาติของผู้เขียนขณะที่เขียนเรื่องราวต่างๆนี้ที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นกับ วัยผู้ใหญ่จึงทำให้สำนวนภาษาที่ใช้มีลักษณะกระชับ สั้น ชัดเจน ตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายในขณะเดียวกัน ก็มีความละเมียด โดยภาพรวมเป็นภาษาที่มักจะใช้กันจริงในชีวิตประจำวันแต่กลับทรงพลังทางความคิด เพราะ “มุมมอง (ที่เธอ) เห็น” นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นจนชินตาแต่ละเลยที่จะใส่ใจ
หลากหลายเรื่องราวที่ผ่านมุมมองของเธอทำให้เธอนั้นได้พบกับความงดงามของชีวิต อาทิเรื่อง
“กางแดด – กางร่ม – อมยิ้ม” (ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา, 2558: 20) เป็นเรื่องราวของคุณลุงธรรมดาคนหนึ่งที่คอยให้บริการกางร่มรับส่งลูกค้าระหว่างรถของลูกค้ากับร้านอาหารด้วยรอยยิ้มสดใสบนใบหน้ากร้านดำจากแดดจัดและความซื่อสัตย์ที่ไม่ยอมรับทิปจากลูกค้าซ้ำอีกครั้ง ทั้งยังบอกว่า “ผมได้รับแล้วครับ” ซึ่งเธอรู้สึกประทับใจ เธอเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนในสังคมละเลย เนื้อเรื่องเล่าตามลำดับเวลาทำให้แนวคิดของเรื่องแสดงเด่นชัดในความรู้สึกของผู้อ่าน
“แก๊สหมด...ไปส่งรถไม่ทัน” (เรื่องเดิม, 2558: 110) เรื่องราวของวิศวกรที่ชีวิตผกผันต้องมาขับรถแท็กซี่จนทำให้เธอประหลาดใจ และแปลกใจอีกครั้งเมื่อต้องขอยืมโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าล้าสมัยจากเขา ทำให้เธอตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เธอรู้สึกละอายใจในตอนแรกเมื่อเปรียบเทียบรุ่นโทรศัพท์ของเธอกับเขา และประทับใจในความมีน้ำใจของเขา เพราะโทรศัพท์เก่าๆของเขากลับช่วยให้เธอไปถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
“มันไม่สวยเท่าคุณไปเห็นด้วยตาของตัวคุณเองหรอก” (เรื่องเดิม, 2558: 142) เล่าถึงการตัดสินใจของเธอและเพื่อนๆที่เลี้ยวรถไปชมธรรมชาติในต่างจังหวัดเพียงแค่เห็นป้ายข้างทางโดยบังเอิญ และพวกเธอรู้สึกประทับใจกับธรรมชาติที่งดงามในต่างจังหวัด จนทำให้เธอเห็นความสำคัญของการตัดสินใจในทุกๆ ครั้ง และอาจจะนำเรื่องดีๆ มาสู่ความทรงจำที่ดี
“เรื่อง – ธรรมะ – ดา” (เรื่องเดิม, 2558: 208) เป็นการแบ่งบันประสบการณ์ของเธอเมื่อครั้งเธอได้เจอธรรมะ แม้ว่าการปฏิบัติจะลำบากแต่เมื่อท้ายสุดแล้วเธอกลับ “อร่อยใจ” และเชิญชวนให้ผู้อ่านไปปฏิบัติธรรม
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของการเล่าเรื่องที่มุ่งเสนอแนวคิดสำคัญเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับเรื่องอื่นๆ
ส่วนกลวิธีการนำเสนอ การลำดับเรื่องมีทั้งการเล่าเรื่องตามลำดับเวลาและเล่าเรื่องสลับไปมา ทำให้เข้าใจ
ได้ง่าย น่าติดตาม ไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ เล่าเรื่องได้กระชับ เรื่องที่ชวนให้ประทับใจในการใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง คือเรื่อง “ชอบมองท้องฟ้าหรือน้ำมากกว่ากัน” (เรื่องเดิม, 2558: 28) เรื่องนี้เด่นตรงที่กลวิธีการเล่าเรื่อง
เธอเริ่มเรื่องด้วยคำถามและเดินเรื่องด้วยการพรรณนาสิ่งต่างๆ คล้ายกับงานวรรณกรรมแนวกระแสสำนึกแต่ไม่ยืดยาวเท่า จนทำให้ผู้อ่านเคลิ้มแล้วคล้อยตามและลืมคำถามตอนต้นเรื่องนั้นไปแล้ว มาได้สติอีกครั้งเมื่อ
“เราตะโกนบอกเพื่อน ‘ท้องฟ้า...’ / เพื่อนถาม ‘อะไร’/ ถ้าสงสัยก็กลับไปอ่านประโยคแรกอีกที”
หนังสือเล่มนี้เป็นการเสนอทัศนคติในการใช้ชีวิต และถือเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะหนังสือสำหรับวัยรุ่นโดย Ruth Tooze ใน Your Children Want to Read (Ruth Tooze 1957: 9-10)
ที่กล่าวว่า ให้คำชี้แนะและบอกแนวทางที่ถูกต้อง, ให้เนื้อหาสาระความรู้ที่ส่งเสริมความเจริญทางสติปัญญาทั้งทางด้านความรู้ ความคิด และความเข้าใจ, ส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางด้านจิตใจที่สมบูรณ์, รู้คุณค่าของชีวิต, ยอมรับสภาพของชีวิตจริง, เข้าใจตนเองและสังคม, ให้เนื้อเรื่องที่มีคติสอนใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้, ให้ผู้อ่านมีความตื่นตัวความอยากรู้อยากเห็นและการเปลี่ยนแปลง, ให้ได้รับความบันเทิง, กระตุ้นให้มี จิตนาการและความคิดสร้างสรรค์, เพื่อพัฒนาการทางความคิด จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา, ให้ความจรรโลงใจ, กระตุ้นให้ผู้อ่านมีอารมณ์และจิตใจอ่อนโยนซาบซึ้งในสุนทรียภาพของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนั้น มีครบถ้วนในหนังสือเล่มนี้
หากแต่หนังสือเล่มนี้นำเสนอใน “มุมมองเห็น” แต่ไม่ได้นำเสนอ “มุมมอง(ในสิ่งที่) 'เป็น' ” คือความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ จนนำไปสู่การสังเกตและการตั้งคำถามถึงบทบาทของเธอที่เข้าไปจัดการกับตัวบทในแต่ละเรื่องราวที่ถ่ายทอดในแง่ที่ว่า การมองหรือการเข้าไปของเธอในพื้นที่ที่แตกต่างเหล่านั้นทำให้เธอลดคุณค่าของเรื่องราวและตัวละครในเรื่องหรือไม่? เธอเป็นตัวแทนหรือร่างทรงของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่นำเสนอโลกทัศน์ของกลุ่มตนเองหรือไม่? โลกทัศน์ดังกล่าวส่งต่อมาในโครงสร้างทางจิต (mental structure) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมอีกต่อหนึ่งหรือไม่? เพราะจิตสำนึกร่วมเกิดจากการอนุมานของกลุ่มชนหรือเรียกได้ว่าเป็น “อุดมการณ์” ซึ่งเกิดจาการที่เธอ (ผู้เขียน) ประเมินค่าหรือตัดสินให้ค่าความหมายกับสิ่งต่างๆ ในทุกๆ เรื่องที่เธอเขียน จนทำให้ผู้อ่านเห็นกระบวนการผลิตซ้ำของ การใช้วาทกรรมที่สะท้อนอุดมการณ์ของผู้เขียนหรือชนชั้นของผู้เขียน
ในหนังสือเล่มนี้เมื่อผู้อ่านตั้งใจอ่านอย่างพิเคราะห์จึงเห็นการนำเสนอวาทกรรมของการกดทับ กับ การทำให้เป็นอื่น ตลอดแทบทุกเรื่อง เนื่องจากการแสดงออกของเธอที่เธอรู้สึกสงสารหรือเห็นใจในการเป็นและการอยู่ของตัวละครในเรื่องเล่าเหล่านั้นกลับเป็นการลดค่าและเหยียดหรือแบ่งชั้นของความเป็นมนุษย์อย่างโจ่งแจ้ง เพราะในขณะที่เธอรู้สึกสงสารหรือเห็นใจนั้นเธอกำลังกดหรือทับอีกกลุ่มหนึ่งลงให้ต่ำอีกทั้งยังเป็นการทำให้กลุ่มนั้นต่างจากเธอ กล่าวคือการทำให้เป็นอื่นซึ่งไม่เข้าพวกกับเธอนั่นเอง เนื่องจากเธอจะประเมินค่าหรือตัดสินให้ค่าความหมายของตัวละครหรือสถานที่ในเชิงสัญญะต่ำหรือด้อยกว่าเธอในทุกๆ เรื่อง อย่างเช่นในเรื่อง “กางแดด – กางร่ม – อมยิ้ม” (เรื่องเดิม, 2558: 20) ที่เธอเล่าด้วยความประทับใจในความซื่อสัตย์ของคุณลุงกางร่ม แต่นัยสำคัญคือการนำเสนอชนชั้นทางสังคมที่เหลื่อมซ้อมกันอยู่ ในการชื่นชมคุณลุงกางร่มแฝงไปด้วยการทำให้คุณลุงต่างจากกลุ่มชนชั้นของตนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ด้วยการย้ำอธิบายลักษณะของคุณลุงที่กร้านดำเพราะแดดเผาทั่วทั้งใบหน้าและมือ การที่ชื่นชมคุณลุงว่ายิ้มเก่งแม้แดดจะร้อนระอุกลับทำให้เธอรู้สึกว่าคุณลุงมีใจบริการเต็มที่กับลูกค้าอย่างเธอ นั่นทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจในความคิดแรกซึ่งเป็นการวิเคราะห์และยัดเยียดคำตอบให้คุณลุงว่าเป็นคนที่มีจิตใจดีรักการบริการ สิ่งนี้คือการประเมินค่าและตัดสินค่าโดยเธอเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น
หรือเรื่อง “แก๊สหมด...ไปส่งรถไม่ทัน” (เรื่องเดิม, 2558: 110) ในตอนที่เธอคุยกับคนขับแท็กซี่แล้วรู้เรื่องราวว่าเดิมเป็นวิศวกรฐานะมั่นคงแล้วต้องมาขับแท็กซี่ทำให้เธอแปลกใจ การที่เธอแปลกใจด้วยการบรรยายว่า “ต้องมาขับแท็กซี่” หรือการที่เธอพูดในประโยคถัดมาประมาณว่า ขับแท็กซี่ก็ไม่ได้ผิดอะไร ก็เป็นอาชีพที่สุจริต นั้นทำให้เธอกำลังเหยียดหรือดูถูกอาชีพของคนขับแท็กซี่อยู่ ถึงแม้ว่าในตอนท้ายเธอ จะมาแก้ไขคำพูดของเธอที่บรรยายความรู้สึกแปลกใจ จากวิศวกร 17 ปีแล้วต้องมาขับแท็กซี่ก็ตาม แต่เจตนาในการคิดหรือการพูดของเธอนั้นฉายชัดมาก่อนแล้ว นอกจากนั้นยังมีการดูแคลนไปเรื่อยๆ หลายครั้งในเรื่องนี้ ที่ชัดอีกประเด็นคือแบตโทรศัพท์ราคาแพงของเธอหมด และต้องตัดสินใจยืมโทรศัพท์เก่าๆ ล้าสมัยของคนขับแท็กซี่ จนทำให้เธอรู้สึกประทับใจในความมีน้ำใจ แล้วเธอก็นึกคิดว่าโทรศัพท์แพงๆ ของเธอเวลาแบตหมดกลับไร้ค่าเสียยิ่งกว่าโทรศัพท์เก่าๆ ล้าสมัยเครื่องนี้เสียอีก การใช้คำคู่ตรงข้ามว่า แพง - ถูก ก็เป็นการสมาทาน 'วาทกรรม' การกดทับและการทำให้เป็นอื่นเด่นชัดขึ้น เพราะถ้ามองในมุมกลับกันถ้าแบตโทรศัพท์แพงๆ ของเธอไม่หมด เธอจะยังชื่นชมกับโทรศัพท์เก่าๆ ล้าสมัยอยู่หรือไม่ คำตอบคือไม่และไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้
หรือแม้แต่การที่เธอไปเที่ยวต่างจังหวัดกับการเปรียบเทียบความวุ่นวาย – ความสงบ ในเรื่อง “มันไม่สวยเท่าคุณไปเห็นด้วยตาของตัวคุณเองหรอก” (เรื่องเดิม, 2558: 142) เป็นการเสนอนัยสำคัญเชิงสัญญะ กล่าวคือความเป็น “ชนบท” กับ “เมือง” ซึ่งการที่เธอไปเที่ยวต่างจังหวัดนั่นก็เป็นการยืนยันสถานะชัดเจนอยู่แล้ว่าเธอมาจากเมืองซึ่งมีสถานะสูงกว่าและเมื่อเธอตัดสินใจเลี้ยวรถไปชมธรรมชาติ คือ อ่างเก็บน้ำในยามพระอาทิตย์ตกอย่างกะทันหันและบังเอิญทำให้เธอพบกับความงดงามของธรรมชาติ ความงามของต่างจังหวัด(ชนบท) เธอประทับใจและรู้สึกดีที่ได้ตัดสินใจเลี้ยวรถเข้ามาในครั้งนี้ก่อนที่เธอจะท้าท้ายให้คนอื่นๆ ตามไปพิสูจน์ นั่นคือความแตกต่างของสถานที่หรือพื้นที่หรือการพยายามทำให้เป็นอื่น
โดยการสร้างภาพให้ความเป็นชนบทนั้นสวยงามแต่เป็นความบังเอิญและชั่วคราวเท่านั้น ชนบทมีคุณค่าแค่ตอนที่เธอรู้สึกเบื่อหน่ายจากเมือง แต่สุดท้ายเมื่อเธอพอใจกับชนบทแล้วเธอก็กลับสู่พื้นที่ของเธอดังเดิม
หรือในเรื่อง “รู้สึกมากกว่า” ที่ให้เธอพยายามหรือสนับสนุน “ภาษาน้ำใจ” เพื่อให้เห็นว่าคนที่ด้อยกว่ามีแค่สิ่งเดียวที่จะสามารถมอบให้แก่เธอใด้
การเข้าไปของเธอในแต่ละพื้นที่ในเรื่องเล่าต่างๆ ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน การที่เธอกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราว “ชนชายขอบ” ยังคงเป็นคำถามว่าเธอกำลังผลิตวาทกรรม “การกดทับ” กับ “การทำให้เป็นอื่น” ด้วยหรือไม่? แม้ว่าจะใช้ภาษาที่ง่ายเพื่อลดความห่างของพื้นที่แต่กลับเพิ่มช่องว่างอย่างน่าสงสัย สรุปแล้ว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา : มุมมองของหญิงสาวผู้มองเห็นความงดงามของชีวิต หรือ การกดทับกับทำให้เป็นอื่นกันแน่ ?
การเข้าไปของเธอในแต่ละพื้นที่ในเรื่องเล่าต่างๆ ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน การที่เธอกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราว “ชนชายขอบ” ยังคงเป็นคำถามว่าเธอกำลังผลิตวาทกรรม “การกดทับ” กับ “การทำให้เป็นอื่น” ด้วยหรือไม่? แม้ว่าจะใช้ภาษาที่ง่ายเพื่อลดความห่างของพื้นที่แต่กลับเพิ่มช่องว่างอย่างน่าสงสัย สรุปแล้ว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา : มุมมองของหญิงสาวผู้มองเห็นความงดงามของชีวิต หรือ การกดทับกับทำให้เป็นอื่นกันแน่ ?
นายพิชญาวุฒิ กุมภิโร