ดั่งเมฆสลาย : ความจริงของหญิงขายบริการ

ดั่งเมฆสลาย

สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีแต่เปลือก เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วันเยาว์แล้วว่า ผู้หญิงไทยต้องเป็นกุลสตรีและรักนวลสงวนตัว แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา เราเห็นเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ? ทุกวันนี้มีผู้หญิงที่ขายเรือนร่างแลกกับเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรารังเกียจพวกเธอ ประณามพวกเธอว่าไร้ศักดิ์ศรี ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง แต่เราเคยคิดในอีกแง่มุมหนึ่งบ้างไหม ว่าผู้หญิงพวกนั้นมีเหตุผลอะไร เหตุใดจึงยอมขายสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขายศักดิ์ศรีของตนเอง แลกกับเงินจำนวนหนึ่งที่มองเท่าไหร่ก็ไม่เห็นว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปเลยสักนิด

‘ดั่งเมฆสลาย’ เป็นผลงานของแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 เรื่อง ของนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบการประกวดนวนิยายสร้างสรรค์รางวัลชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงเด็กสาวชนบทที่ชื่อปุยเมฆ ตั้งแต่เล็กจนโต เธอก็ประสบกับเคราะห์กรรมนับไม่ถ้วนมาโดยตลอด ทั้งที่เกิดกับครอบครัวของเธอและตัวเธอเองก็ตาม แต่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งและอ่อนโยนของปุยเมฆ ทำให้เรื่องเลวร้ายต่างๆ ไม่อาจทำให้จิตใจของเธอดำดิ่งลงสู่ความสิ้นหวังได้เลยแม้แต่น้อย

โครงเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ แฝงไว้ด้วยความไม่เท่าเทียมกันของเพศชายและเพศหญิง จะเห็นว่าตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเล่ม เพศหญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งสิ้น เช่นเหตุการณ์ที่คำไหล แม่ของปุยเมฆต่อสู้กับชายแปลกหน้าที่จะเข้ามาข่มขืนปุยเมฆ จนคำไหลถึงแก่ชีวิต

“คำไหลเข้าหาชายคนนั้นดังสัตว์แม่ลูกอ่อน ทั้งพุ่งหัวชน ทั้งทุบ ฟาด ขณะที่มันเตะเปรี้ยงเข้าที่ตัวคำไหล คำไหลกัดฟันกรอด โผเข้าหามันอีก คราวนี้มันขึ้นเข่าพาคำไหลเซแซดๆ คำไหลเอาหัวพุ่งเข้ากลางตัวรู้สึกมีบางอย่างเข้าไปในปาก คำไหลรีบอ้าปากกัดกร้วม งับของสำคัญของมันได้เต็มปาก

เสียงมันร้องลั่น คว้าบางสิ่งทุบหัวคำไหลซ้ำๆ ราวค้อนตอกเหล็ก ลูกรัก...ตราบใดที่แม่มีชีวิตอยู่...แม่ไม่ยอมให้ใครทำร้ายลูกรักแม้เพียงปลายเล็บ...แม่ขอปกป้องลูกด้วยชีวิต”

ในส่วนของการดำเนินเรื่องใช้แบบตามปฏิทิน คือดำเนินเรื่องตั้งแต่ตัวเอกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต เป็นการเขียนแบบมุมมองของบุคคลที่สาม ส่วนการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เขียนได้สมจริง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตาม เกิดอารมณ์ร่วมตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่พี่สาวของปุยเมฆไปทำแท้งเถื่อน

“บ้านยายชูไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรสักชิ้น ดูโล่งไปหมด มีเสาอยู่สองสามต้น ขึ้นไปบนเรือนของแก แกถามหนูทิพย์แค่คำสองคำ บอกให้หนูทิพย์นอนบนพื้นบ้านข้างเสาเรือน แล้วแกก็โหนเสา ขึ้นไปเหยียบบนท้องของหนูทิพย์ เหยียบไม่เหยียบเปล่า แกเอานิ้วจิกเข้าไปในท้องคนมาทำแท้ง นิ้วตีนจิกเข้าไปทีไร ปุยเมฆเห็นก้อนอะไรเคลื่อนอยู่ในท้องของหนูทิพย์ เธอรู้สึกเสียวไส้ตนเอง จนต้องวิ่งไปอาเจียนเป็นพักใหญ่”

ต่อมาเป็นการวิเคราะห์ในส่วนของตัวละครเอกที่ชื่อปุยเมฆ ปุยเมฆเกิดและเติบโตขึ้นมาในสังคมชนบทอันเรียบง่าย ปุยเมฆต้องสูญเสียแม่ตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกมีปมด้อยเลย อีกทั้งยังทำให้เธอมีจิตใจที่บริสุทธิ์ อ่อนโยน และกตัญญูรู้คุณคน ความกตัญญูของเธอมีมากมายขนาดที่ยอมไปทำงานขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับเงินมารักษาป้าที่เลี้ยงดูเธอมา ปุยเมฆยอมทุกข์ระทมแสนสาหัส ยอมถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี เพื่อช่วยชีวิตป้าผู้มีพระคุณของเธอ แม้ว่าการขายบริการจะทำให้ชีวิตของเธอพังทลายก็ตาม จะเห็นได้ว่า ปุยเมฆเป็นตัวละครที่แสดงถึงความกตัญญู ความเข้มแข็ง และความเสียสละอย่างที่สุด น้อยคนที่จะคิดถึงความสุขของผู้อื่นมากกว่าตนเองและน้อยคนนักที่จะยอมเสียสละความสุขของตนเองให้กับผู้อื่น ดังเช่นคำพูดของปุยเมฆตอนที่เริ่มทำงานขายบริการว่า

“ป้าสมคิดรักหนู สละความสุขส่วนตัวเพื่อปุยเมฆได้ เพื่อแลกกับชีวิตป้า ทำไมหนูจะอดทน...กับชีวิตที่ต่ำต้อย...แค่นี้ไม่ได้”

ปุยเมฆเป็นผู้หญิงที่น่าชื่นชม แม้ร่างกายเธอไม่ได้บริสุทธิ์เหมือนสาวแรกรุ่นคนอื่นๆ แต่จิตใจของเธอบริสุทธิ์ยิ่งกว่าใคร ยากจะหาคำใดมาเปรียบ

ประเด็นสุดท้ายกล่าวถึงเหตุการณ์ในนวนิยายเรื่องนี้ ที่บางส่วนก็อ้างอิงมาจากข้อมูลจริง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่ตัวละครเอกไปขายบริการที่สถานบริการทางเพศนั้น อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ดีเด่นของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2530 เรื่อง “กระบวนการกลายเป็นหมอนวด : กรณีศึกษาหญิงบริการในสถานบริการอาบ อบ นวด ” ซึ่งเป็นของ คุณศุลีมาน วงศ์สุภาพ และเหตุการณ์ที่ตัวละครเอกถูกหลอกไปค้าประเวณีในต่างประเทศ ได้อ้างอิงข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของคุณบัว ผู้ซึ่งถูกหลอกไปค้าประเวณีเช่นเดียวกัน

การอ่านนวนิยายเรื่อง ดั่งเมฆสลาย นอกจากจะให้ความซาบซึ้งกินใจแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลที่ตีแผ่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย จากที่เราคิดมาตลอดว่าหญิงขายบริการ เป็นผู้หญิงที่ไร้คุณค่าที่ยอมขายเรือนร่างเพื่อแลกกับเงินทอง เพื่อให้ชีวิตสุขสบาย กลับได้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากคำพูดหนึ่งของตัวละครที่เป็นแม่เล้าว่า

“เธอดูสิ คนอื่นในวิดีโอเขายังทำได้ ตอนนี้เธอยังเป็นสาวเป็นแส้ มีโอกาสตักตวงเงินทองไปใช้ตามที่เธอปรารถนา เธอต้องอดทน อาชีพนี้ไม่มีใครอยากเป็น แต่เมื่อเธอก้าวเข้ามา เธอต้องทำให้ดี คนอื่นที่ได้ดีจากที่นี่มีอีกเยอะ บ้างใช้หนี้จนหมด แถมนำเงินไปเลี้ยงดูได้ทั้งครอบครัว”

ตามความคิดของดิฉันแล้ว นวนิยายเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แต่งได้ดีและลึกซึ้งกินใจมาก ทั้งภาษาที่ใช้และการบรรยายก็เขียนได้ดี ทำให้ผู้อ่านอินไปกับเนื้อเรื่องของตัวเอก รู้สึกสงสารเห็นใจกับทุกความลำบากของตัวเอก เหมือนกับว่าเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ แต่ช่วยอะไรไม่ได้เลย และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้น้ำตาของดิฉันไหลรินออกมามากมาย แม้จะอ่านจบหน้าสุดท้ายไปแล้วก็ตาม

ชีวิตคนเรามีทางเลือกมากมายและมีตัวเลือกให้ต้องเลือกอยู่เสมอ บางครั้งเราคิดว่า สิ่งที่เราเลือกนั้นถูก แต่แท้จริงอาจจะผิดก็ได้ แต่กับคนบางคนนั้น เขาไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก และอาจจะมีแค่ทางเดียวให้เลือกด้วยซ้ำ แม่จะรู้ว่าเป็นทางที่ผิดแต่เขาก็ต้องเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่า ทางที่ผิดพลาดนั้นจะเปลี่ยนเป็นเส้นทางที่ถูกต้องไม่ได้

 

น.ส.เบญจวรรณ รอดจันทร์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ