นีรา : หัวใจแห่งการรอคอย ผ่านรอยน้ำหมึก

นีรา

“ ไม่ว่าหัวใจดวงนั้นจะเด็กหรือชรา หัวใจแห่งการรอคอยก็มีความโศกเศร้าไม่ต่างกัน ” โดย นีรา
สวัสดีค่ะวันนี้คุยนอกรอบชวนมาพบกับคุณนีราผู้เขียนเรื่อง “สายรุ้งกลางเมือง”หนังสือที่ได้รับรางวัลชมนาดรองชนะเลิศอันดับหนึ่งวรรณกรรมแนวไออุ่นผสมความเหงาของการรอคอยด้วยความรัก ความผูกพัน ความห่วงใยของพ่อที่เป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าและลูกสาวที่เป็นบล็อกเกอร์ ทั้งคู่ต่างเชื่อมโยงกันด้วยงานเขียน แต่กลับไม่ยอมเปิดใจพุดคุยกันจะทำให้นักอ่านร่วมลุ้นกับความสัมพันธ์ของทั้งสองคนนอกจากนี้ ยังมีจิกกัดการใช้ชีวิตของหนุ่มสาวเมืองกรุงอย่างแสบสันและเปรียบเทียบจรรยาบรรณของสื่ออย่างตรงไปตรงมาเรามาจะถามถึงการทำงาน และความรู้สึกที่มีต่อผลงานของคุณนีราค่ะ

 

เริ่มต้นเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
นีรา
: เริ่มต้นเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนมัธยมสาม จากการเข้าชมรมการแสดงที่โรงเรียน แล้วคุณครูที่ดูแลให้ทุกคนในชมรมเขียนบทเพื่อนำมาแสดง ปรากฏว่าของเราได้รับการเลือกก็เลยรู้ตัวว่า เราคงพอจะมีความสามารถขีดๆ เขียนๆ กับเขา เพราะการเขียนในครั้งนั้นเป็นการเขียนครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าง่ายจัง ไม่เห็นมีอะไรเครียด หรือกดดัน ครึ่งวันเสร็จละ จากนั้นก็เลยชอบ และสนุกที่จะลองเลือกคำต่างๆ มาลองใช้ด้วยกัน และก็พบว่ามีบางคำที่เอามาใช้ด้วยกันแล้ว ให้ความหมายและอารมณ์อย่างที่เราต้องการ

ทำไมถึงใช้นามปากกา ‘นีรา’
นีรา
:นีรา แปลว่า น้ำ ซึ่งตรงกับชื่อเล่นพอดีค่ะ

รู้จักโครงการชมนาดจากที่ไหนคะ และทำไมถึงเข้าร่วมประกวด
นีรา :นักอ่าน หรือนักเขียนส่วนมากจะรู้จักโครงการประกวดทุกเวทีอยู่แล้ว ซึ่งหากใครสนใจเวทีไหนก็สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ได้ไม่ยาก สำหรับสาเหตุที่เข้าประกวดในครั้งนี้ เพราะโดยส่วนตัวไม่เคยเขียนเพื่อการประกวดที่ไหนมาก่อน เนื่องจากงานประกวดส่วนใหญ่จะมีโจทย์บังคับไว้ว่าต้องการเรื่องแบบไหน ประมาณไหน แต่บังเอิญว่าในปีนี้เรามีโครงการที่จะเขียนเรื่องราวความรักความผูกพันที่มีต่อพ่อขึ้นมา เลยคิดว่า ถ้าได้รับการเผยแพร่ออกไปโดยมีรางวัลการันตีคุณภาพผลงานบ้างก็น่าจะดี เลยตัดสินใจเลือกเวทีชมนาด เพราะหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ถูกใจเรามากที่สุด

‘สายรุ้งกลางเมือง’ ได้รับรางวัลชมนาดรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ครั้งที่4 เห็นว่าเขียนมาจากประสบการณ์ตรง ประสบการณ์นั้นคืออะไร ที่ทำให้อยากเขียนเรื่องราวนี้ออกมา
นีรา
:ประสบการณ์ที่นำมาถ่ายทอดในเรื่องนี้ 100 เปอร์เซ็นต์มาจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและในการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ส่วนประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับความรักความผูกพันระหว่างพ่อกับเราประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มีคุณค่าพอที่ผู้อ่านที่จะนำข้อคิดที่ได้ไปใช้กับตัวเอง ส่วนเสี้ยวที่เหลือก็จะเป็นมุมอื่นๆ ในครอบครัวของเราซึ่งจะไม่พยายามโยงใยเอาเรื่องอื่นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ที่มีคนถามว่าชีวิตจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ ตอบได้แล้วว่า นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตค่ะ

เรื่อง ‘สายรุ้งกลางเมือง’ เป็นงานที่สะท้อนภาพของสื่อ อะไรคือสิ่งที่ทำให้หยิบประเด็นเหล่านี้ออกมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน
นีรา
:เพราะการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ เราเจอทั้งสิ่งที่ขาว และสิ่งที่ดำ บางครั้งบางเหตุการณ์ ขาวกลายเป็นดำ ดำกลายเป็นขาว ถึงต้องพยายามบอกว่า อย่าตัดสินคนแค่ภายนอก และอย่าเหมารวม

เมื่ออ่าน ‘สายรุ้งกลางเมือง’ จบ เราควรเข้าใจบทบาทของพ่อมากน้อยแค่ไหนคะ
นีรา
:ต้องเข้าใจให้ได้ว่า แต่ละครอบครัวมีรูปแบบการใช้ชีวิตเฉพาะของตนเอง ขอเรียกว่าการก่อรูปของครอบครัวเฉพาะตน ดังนั้นไม่มีทางที่ครอบครัวไหนจะไปเหมือนครอบครัวไหนได้เลย สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องเข้าใจกันและกันในแบบที่แต่ละคนเป็น ถ้าคุณยังมองว่าบทบาทของพ่อที่สังคมกำหนดไว้ คือเป็นผู้ที่ต้องเข้มแข็ง อดทน เป็นผู้นำ หาเลี้ยงครอบครัว ห้ามอ่อนแอหรือยอมแพ้ไม่ได้ นั่นคืออันตรายแล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่พ่อไม่ใช่อย่างนั้น จะนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง ในความเป็นจริง พ่อก็เหมือนกับคนอื่นๆ มีสิทธิ์ที่จะแพ้ได้ อ่อนแอได้ มีความแปรปรวนทางอารมณ์ได้ไม่ต่างจากเรา นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากความเป็นพ่อ และคนเป็นพ่อเองก็คาดหวังกับตัวเองอย่างนั้นเช่นกัน เมื่อไหร่ที่เราปรับมุมมองแบบนี้ได้ เราจะเห็นครอบครัวที่มีความสุขในแบบของตนเองเกิดขึ้นอีกมากมายในเมืองไทย ในฐานะสื่อมวลชน ดิฉันเชื่อเลยว่า ข่าวคราวความรุนแรงต่างๆ ในสังคมไทยจะลดน้อยตามลงไปด้วย

ยุคปัจจุบันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และเทศโนโลยี มองว่าการเขียนมันช่วยเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือเปล่า
นีรา
:โดยส่วนตัวยังเชื่อเสมอว่า ‘Book is the medicine’ วันนี้เทคโนโลยีขยายการรับรู้ และการอ่านของเราไปได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราสะดวกขึ้น เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของนักอ่านรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา เราเปลี่ยนจากการอ่านกระดาษ มาอ่านกันบนจอทัชสกรีน เพื่ออะไร เพื่อเราต้องการเข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่นใช่มั้ยคะ นั่นแหละค่ะ ที่ดิฉันมองว่าการอ่านก็คือการที่เราพยายามจะเยียวยาอารมณ์และจิตใจของคน มีเนื้อหามากมายที่รอให้เราไปเลือกมาเป็นตัวช่วย ดังนั้นคนเขียนหนังสือไม่ได้มีหน้าที่ในการเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนสังคม แต่ผู้อ่านต่างหากที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเขาอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งแล้วจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลย เขาต้องรู้ตัวก่อนค่ะว่าอาการตอนนี้มันเป็นอย่างไร มันรู้สึกอย่างไร เช่นวันนี้ฉันรู้สึกแย่จัง เจ้านายไม่เห็นคุณค่า เพื่อนร่วมงานไม่จริงใจ ถ้าเดินเข้าร้านหนังสือปุ๊ป หรือเลือก อีบุ๊คสักเรื่องที่มีเนื้อหา พัฒนาตนเอง แล้วช่วยให้เขาเข้าใจตนเองมากขึ้นนั่นแสดงว่าเขาได้ยาที่ดีแล้ว ได้วิธีคิดและวิธีดำเนินชีวิตใหม่ๆ สังคมมันก็จะค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆพัฒนาขึ้นจากคนในสังคมนั่นแหล่ะค่ะ

ทราบมาว่าเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร แรงบันดาลใจในการเขียน ส่วนใหญ่แล้วสรรหาจากไหนบ้าง
นีรา
:โดยส่วนตัวแล้วมองสองแบบ สำหรับคนที่ทำงานเขียนเป็นอาชีพ ไม่มีทางที่เราจะรอแรงบันดาลใจได้เลย เพราะเราต้องเขียนทุกวัน แต่ถ้าเป็นงานเขียนประเภทสร้างสรรค์บางครั้งอาจต้องการแรงบันดาลใจที่จะกระตุ้นให้เรามีไฟ หรือมีพลังในการเขียนเล่าเรื่อง โดยส่วนตัวแล้ว ต้องทำทั้งสองแบบ แรงบันดาลมาจากเหตุการณ์เรื่องราว และคนรอบตัวทั้งนั้นเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเป็นคนชอบฟังด้วย ก็เลยมีเรื่องราวเข้ามาสะกิดใจเยอะ

มีหลักในการเขียนหนังสืออย่างไรที่ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
นีรา
:หลักการที่ใช้พัฒนางานเขียนตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือ เปิดใจ เรียนรู้ในทุกเรื่อง แม้บางเรื่อง บางคน บางเหตุการณ์จะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่อยากสุงสิงวุ่นวายก็ตาม แต่เมื่อมันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา แสดงว่านั่นคือของขวัญเฉพาะตัวที่ถูกส่งมาให้เรา ซึ่งเราเท่านั้นที่จะต้องเก็บเกี่ยวเรียนรู้อย่างปราศจากอคติ ก็เลยมีเรื่องราว มุมมองใหม่ๆ มาใช้กับงานเขียนเรื่อยๆ

คติประจำใจในการทำงานของคุณนีราคืออะไรคะ
นีรา
:คติประจำใจในการทำงาน “อย่าทำงานจนลืมรักคนรอบข้าง”

สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรถึงนักอ่านบ้างคะ
นีรา
:นักอ่านส่วนใหญ่มีความฝันที่จะเขียนหนังสือ แต่อาจจะยังไม่ได้ลอง ซึ่งน่าเสียดายความรู้ มุมมอง แนวคิดที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่า อยากให้ลองเขียนและถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นในแบบของตนเอง และค่อยๆ พัฒนาไป ซึ่งจะช่วยให้เราทุกคนในสังคมได้มีโอกาสรับและแบ่งปันมุมมองแนวคิดและประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้น

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ