มีไม่บ่อยครั้งนักที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 15 จะให้สัมภาษณ์กับสื่อแบบยาวๆ เนื่องด้วยภารกิจที่เร่งรัดในฐานะพ่อเมืองของมหานครที่มีประชากรอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เนื่องด้วยปีนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) ได้เลือกให้กรุงเทพมหานครเป็น ‘เมืองหนังสือโลก’ เป็นลำดับที่ 13 ของโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ได้รับมอบตำแหน่งประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) และได้เปิดงานไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ถึงวันนี้ก็เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว มาดูความคืบหน้าในโค้งสุดท้ายของกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก รวมถึงการเตรียมความพร้อมที่ทางกรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ จัดประชุมผู้จัดพิมพ์นานาชาติครั้งที่ 30 (the IPA Congress 2014) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2557 เพื่อส่งเสริมธุรกิจการพิมพ์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับการประชุมผู้จัดพิมพ์นานาชาติเป็นการประชุมสำหรับอภิปรายหารือ และแลกเปลี่ยนในหมู่ผู้จัดพิมพ์จากทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในเชิงธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการพิมพ์ เพื่อให้การจัดพิมพ์หนังสือเป็นไปอย่างเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครจะใช้งานประชุมนี้เป็นการปิดฉาก กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ลงอย่างสมบูรณ์แบบ
+ กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก มีความคืบหน้าและความน่าพอใจแค่ไหน สำหรับการเดินทางมาครึ่งทางแล้ว
สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกนั้น มีพันธะสัญญาหรือพันธกิจที่จะต้องตอบโจทย์ของยูเนสโก อยู่ 9 เรื่อง เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ก็มีเรื่องที่ต้องทำต่อให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เรื่องที่ 1 ก็คือการจัดสร้างหอสมุดเมือง ซึ่งตอนนี้เราชัดเจนแล้วว่า หอสมุดเมืองจะเกิดขึ้นที่สี่แยกคอกวัว ในพื้นที่ 4,000 กว่าตารางเมตร แล้วก็คอนเทนต์ต่างๆ เราก็มีคณะกรรมการพิจารณา เพราะอยากให้เป็นห้องสมุดที่สวยงามทันสมัยอยู่บนถนนสายประวัติศาสตร์
โดยเฉพาะการที่เราเน้นที่ความหลากหลายด้านวรรณกรรม มีเรื่องราวที่จะให้ทุกคนประทับใจด้วยการจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุกเดือน ซึ่งเป็นนโยบายของกรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดที่รวมวรรณกรรมของเมืองต่างๆ ทั่วโลก เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่เรียกว่า ไร้พรมแดนในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ แล้วก็จะให้บรรดาเด็กและเยาวชนรวมถึงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไปใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้ แล้วก็มีความตั้งใจว่าจะเปิดทั้ง 24 ชั่วโมง เหมือนกับร้านสะดวกซื้อ เพราะว่าตรงนั้นเป็นจุดเชื่อมต่อไปมาง่าย ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการขอเช่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เราตั้งใจว่าจะทำหอสมุดเมืองนี้ให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะเปิดให้เป็นของขวัญ ทิ้งมรดกของกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ชิ้นใหญ่ไว้ชิ้นหนึ่ง
+ แล้วพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไปถึงไหนแล้วในตอนนี้
ถามว่าพิพิธภัณฑ์การ์ตูนในเบื้องต้นเราวางไว้จะไปสร้างที่แม้นศรี ตรงที่เคยเป็นที่ตั้งการประปานครหลวง แต่ติดตรงที่มีช่องว่างและจุดอ่อนอยู่หลายจุด เราก็เลยคิดว่าจะมาสร้างที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้ว เรามีที่ประมาณ 1 ไร่กว่าๆ แล้วก็อีกอย่างเรื่ององค์ประกอบของตึกมีทุกอย่างพร้อม มีตึกมีห้องประชุมพร้อม ซึ่งเราใช้ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ต้องนี้สร้างพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูน โดยขณะนี้ถ้าถามถึงเรื่องเนื้อหาหรือคอนเทนต์ ขณะนี้เราจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยสุโขทัยฯ ได้ทำวิจัยไว้หมดแล้ว เหลือแต่การออกแบบและทำการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 2 ปี เช่นเดียวกับหอสมุดเมือง นี่คือพันธกิจที่ 2 ซึ่งทางกรุงเทพมหานครต้องทำ
+ แล้วพันธกิจอื่นๆ มีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว
พันธกิจที่ 3 มาถึงเรื่องการส่งเสริมการอ่านและสร้างวัฒนธรรมความคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นนามธรรมมากเลย คือทำอย่างไรที่จะทำให้คนอ่านหนังสือไม่ใช่อ่านเฉยๆ อ่านแล้วสร้างให้เกิดวัฒนธรรมความคิดด้วย นั่นก็คือ เข้าไปทำร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยให้มาหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปดำเนินการ ชื่อว่า 'บุ๊กสตาร์ต' หนังสือเล่มแรก ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเลย เราก็เลยให้ทางเกตษรศาสตร์ทำการวิจัย โดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กอายุ 0-7 ขวบ คือตั้งแต่เกิดมาเลย
เราใช้พื้นที่ 2 พื้นที่ คือ เขนดุสิต กับเขตราษฎร์บูรณะนำร่อง มีการอบรมเทรนนิ่งครูพี่เลี้ยง อบรมนางพยาบาล อบรมพ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กทั้งหมดใน 2 พื้นที่เขต เสร็จแล้วก็จัดกิจกรรมให้คนเหล่านี้ไปอ่านนิทาน เล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟัง แล้วกรุงเทพฯ ก็มอบตู้หนังสือให้กับชุมชนเพื่อให้เขาไปจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนของเขา สำหรับ 6 เดือนแรกที่ผ่านไปก็ประสบความสำเร็จ ในอีก 6 เดือนที่จะถึงนี้เราก็จะขยายพื้นที่ซึ่งจะจัดกิจกรรมนี้ออกไปอีก ใน 6 เดือนนี้เรามุ่งจะผลักดันให้เป็นแผนนโยบายที่ยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็ลองทำทั้งหมดอีก 12 เขต เพื่อที่จะให้เป็นโมเดลของอีก 50 เขตทั้งกรุงเทพน แล้วก็พยายามผลักดันให้เป็นนโยบายของกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน ก็จะทำทุกอย่างให้เหมือนกับโมเดลที่ 1 ซึ่งทำไปแล้ว 2 เขต คืออบรมเทรนนิ่งครูพี่เลี้ยง อบรมเจ้าหน้าที่พยาบาล อบรมพ่อแม่ อบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนเพื่อให้รู้จักใช้เครื่องมือก็คือ หนังสือ แล้วจัดกิจกรรมให้เด็ก 0-7 ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งเกิดมา ผู้ว่ากทม.ต้องไปมอบถุงหนังสือให้กับพ่อแม่
สิ่งที่จะตามมาอย่างยั่งยืนของพันธกิจนี้ก็คือผลักดันให้เป็นนโยบายตลอดวาระที่เหลือทั้งหมด และก็ถือว่าเป็นแนวทางที่กรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกับสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการกัน เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแพทย์ รวมถึงสำนักการศึกษาด้วย แล้วก็สำนักพัฒนาสังคมของ กทม. ผลักดันให้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนในการที่จะให้เด็กทุกคนเกิดมาจะต้องมีหนังสือ แล้วก็ในแต่ละวัยก็จะต้องมีหนังสือให้อ่านตามระดับอายุ เพราะฉะนั้นนี่เป็นพันธกิจที่ 3 ที่เราดำเนินการอยู่
+ น่าสนใจทีเดียวสำหรับความคืบหน้า แสดงว่า กรุงเทพมหานครก็เร่งเครื่องในเรื่องเมืองหนังสือโลกอย่างเต็มที่
ใช่ พันธกิจที่ 4ก็คือเรื่องการส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียน เด็กโรงเรียนของเราก็คือ เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาของกรุงเทพมหานคร 436 โรง แล้วก็เด็กของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เด็กของที่ต่างๆ ทั้งหมด จากเด็กก็มีเยาวชนในโรงเรียนของกทม. และสพฐ.รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนหรือ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) รวมถึงระดับอาชีวะด้วย และไปสู่ระดับอุดมศึกษาคือ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเชิญหน่วยงานทั้งหมดเหล่านี้มาหารือร่วมกันว่าจะผลักดันให้การอ่านเกิดขึ้นในโรงเรียน ให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่า การอ่านไม่ใช่เรื่องของการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่อ่านเพื่อความสุข อ่านเพื่อให้เข้าใจโลก อ่านเพื่อให้เข้าใจความสนุกสนานของชีวิต
นั่นก็คือส่งเสริมให้โรงเรียนผลักดันให้เด็กและเยาวชนเข้าห้องสมุดและอ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อย 15 เล่มต่อปี แล้วให้เข้าห้องสมุดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหรือประมาณเดือนละ 4 ครั้ง แล้วเราเองก็ได้ทำโครงการที่เรียกว่า 'พี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง' กรุงเทพมหานครได้ทำการฝึกอบอบรมบรรดาเด็กๆ รุ่นพี่ที่อยู่ในสถานศึกษาต่างๆ ประมาณ 2,000 คน จัดอบรมไปแล้วตอนเปิดกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก โดยพี่ 1 คน จะต้องดูแลน้องหรือมีน้อง 5 คน เพราะฉะนั้นเราก็ให้เขาทำกิจกรรมในห้องสมุดกรุงเทพมหานคร รวมถึงห้องสุดโรงเรียนของแต่ละโรงเรียน ด้วยการที่พี่จะเป็นคนพาน้องไปอ่านหนังสือในห้องสมุด ทำมาอย่างต่อเนื่องถึงตอนนี้ก็ยังทำอยู่
แล้วก็มีโครงการ 'อ่านเปลี่ยนชีวิต', 'Bangkok Read and Share', 'Kid Diary' ซึ่งทำกันทุกวัน โดยพยายามดึงเด็กๆ และเยาวชนเข้าห้องสมุด เราจะทำให้ครบ 37 ห้องสมุด ก็คือพาเด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่ตั้งห้องสมุดมาเข้าใช้บริการยืมและอ่านหนังสือ นี่คือระบบโรงเรียน แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ในระดับอุดมศึกษาเราก็เชิญชวนมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เป็นภาคีร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการอ่าน ก็มีมหาวิทยาลัยเกือบทุกที่ อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยของภาคเอกชนอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้ในเขตกรุงเทพมหานครมาร่วมผลักดันเปิดห้องสมุดให้กับเยาวชนหรือนักศึกษาเข้ามาใช้บริการ ส่งเสริมเรื่องการอ่านให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสิตนักศึกษา
ทีนี้มาระบบนอกโรงเรียน ห้องสมุดมีอยู่ 37 ห้อง มีบ้านหนังสือ 162 แห่ง และมีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ 7 คัน สิ่งต่างๆเหล่านี้เราก็จะไปสนับสนุนให้บรรดาเด็กๆ นอกห้องสมุดโรงเรียนในการเข้าไปทำกิจกรรมในห้องสมุดของกรุงเทพมหานคร แล้วยังเปิดมุมหนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านในศูนย์เยาวชนของกรุงเทพมหานครอีก 37 แห่ง
ที่สำคัญกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับทางลุมพินีเพลส ใช้โครงการว่า '1 คอนโดฯ 1 ห้องสมุดมีชีวิต'ซึ่งมีทั้งหมด 80 กว่าคอนโดมิเนียมทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งในความหมายคงไม่ใช่คอนโดฯ เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่เรีกว่า 'ชุมชน' เลยก็ได้ ไอเดียนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวคิดว่า 1 คอนโดฯ น่าจะมี 1 ห้องสมุด แล้วอยากให้ผลักดันเป็นเทศบัญญัติ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครไม่สามารถผลักดันเป็นเทศบัญญัติได้ ก็เลยได้ร่วมกับผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมอย่าง ลุมพินีเพลสก่อน เพื่อเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งก็คงไปจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการอ่านในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร โดยร่วมกับอีซี่บาย โดยได้มอบห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับเด็กๆ 50 ชุมชน ใน 50 เขต ซึ่งกำลังดำเนินการ อยากจะบอกว่า จริงแล้วพันธกิจของเราทีเดินหน้าไม่หยุดชะงักเพราะภาคีเครือข่ายของเราแข็งแรง
+ มาถึงพันธกิจที่ 5 แล้ว
การตามหาวรรณกรรมของคนกรุงเทพฯ เพราะเราต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอ่านวรรณกรรม เราก็จัดงานและกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมคือ วันสุนทรภู่ แล้วกรุงเทพมหานครก็เริ่มเรื่องของวรรณกรรมซีไรต์ขึ้น (S.E.A. Write - วรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน) ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมซีไรต์นั้น เราจัดให้มีการอ่านบทกวีในระดับโลก จัดมา 2 ครั้งแล้ว ภารกิจที่ 2 ก็แปลหนังสือของ 35 ปี ซีไรต์ ต่อมาที่จะเกิดนวัตกรรมของซีไรต์ก็คือ จะจัดให้มีการประกวด ยัง ซีไรต์ อวอร์ดส (Young S.E.A. write Awards) ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนส่งเข้าประกวด ตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาถึงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ส่งเข้าประกวด จากนี้ไปอีก 6 เดือน เราก็จะต้องมุ่งมั่นเพื่อสรรหาและข้อสรุปถึงคุณสมบัติตรงนี้ให้ได้
ทีนี้มาถึงเรื่องการส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเป็นพันธกิจที่เรามอบข้อเสนอไปยังทางยูเนสโก ทางกรุงเทพมหานครก็ทำกิจกรรมไปแล้ว คือเรื่องของการจัดงานวันวิทนาศาสตร์แห่งชาติ ก็มีการจัด ไซเอนซ์ ฟิสิกส์ บุ๊กแฟร์ บนสกายวอล์ก แล้วก็เชิญนักวิทยาศาสตร์ของเยอรมนีมาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ได้กันทุกมิติ แล้วก็ยังมีการประกวดมุมวิทยาศาสตร์ทั้งในโรงเรียน ในร้านหนังสือ ในที่ต่างๆ ซึ่งได้มีการมอบรางวัลไปแล้ว ตอนนี้ก็พยายามผลักดันให้งานวันเด็กของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เป็นธีมวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กไทยมีความใส่ใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้คำว่า วันเด็กสนุกบุกเมืองวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะปลูกฝังการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ ไม่อยากให้เด็กๆ ใฝ่ฝันว่า อยากไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว มุ่งให้มีความคิดทางวิทยาศาสตร์
+ พันธกิจต่อมาคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
เป็นพันธกิจมุ่งส่งเสริมหนังสือเพื่อพัฒนาจิตหรือสปิริช่วล บุ๊ก (Spiritual Book) คือจริงๆ แล้ว หนังสือพัฒนาจิตนี้ รวมไปถึงหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา อีก 6 เดือนข้างหน้าต้องเกิดขึ้นแน่นอน ที่จริงเราวางแผนงานไว้แล้ว แต่ขอเลื่อนไป ก็คือเราจะไปเปิดที่อ่านหนังสือในวัด มัสยิด และโบสถ์ ก็เตรียมงานไว้เรียบร้อยแล้ว ในวัดเราก็เตรียมไว้ 2 วัดใหญ่ๆ คือ วัดพระราม 9 กับวัดไตรมิตรฯ ส่วนมัสยิดก็เลือกมัสยิดที่เขตวัฒนาชื่อ มัสยิดบ้านดอน แล้วก็โบสถ์ซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี เพราะเป็นโบสถ์ที่สวย เพื่อที่จะทำให้ศาสนสถานเป็นที่ๆ พัฒนาเรื่องการอ่านเป็นศูนย์รวมของการอ่าน แล้วเราก็เตรียมการที่จะจัดงานสปิริช่วล บุ๊กแฟร์ เป็นงานที่แสดงและจำหน่ายหนังสือของศาสนาทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีใครเคยจัด ก็หวังว่าจะร่วมมือกับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จัดงานนี้ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นครั้งแรก เสร็จแล้วก็จะมีการเสวนาระดับชาติเรื่องหนังสือพัฒนาจิต
+ แสดงว่าทุกอย่างมีการเตรียมงานและเตรียมความพร้อมใน 6 เดือนหลังค่อนข้างมากแล้ว
พันธกิจที่ 8 ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของภาคีเครือข่ายทั้ง 104 ภาคี ทางกรุงเทพมหานครจะทำอย่างไรที่จะให้เหล่าภาคีเหล่านี้แข็งแรง ยกตัวอย่างเช่นเราได้คุยกับคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ซึ่งทำโครงการอ่านล้านเล่มประเทศไทย ใน 6 เดือนข้างหน้าเราจะกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนที่สมบูรณ์มากขึ้นของการอ่านล้านเล่มประเทศไทยสำหรับเครือข่ายภาคีต่างๆ นอกจากนี้ ก็ยังมีภาคีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เอสซีจี ซึ่งจัดงานของภาคีอยู่แล้ว อย่างลุมพินีเพลสก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ของการอ่าน ซึ่งมีอีกมากมาย ซึ่งใน 6 เดือนที่จะถึงนี้ เราจะจัดประชุมใหญ่ภาคีเครือข่ายทั้ง 104 ภาคีนี้ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่
+ ไอพีเอ คองเกรส 2014 (IPA Congress 2014) ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว เพราะเป็นพันธกิจปิดท้าย กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก
เราเป็นเจ้าภาพจัดไอพีเอ คองเกรส ในวันที่ 25-27 มีนาคม 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานเวลา 8 โมงเช้าของวันที่ 25 มีนาคม 2557 คาดว่ามีสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือจากประมาณ 80 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมโครงการ มีคนเข้าร่วมประมาณ 800 คน ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลทัล ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว
+ 6 เดือนข้างหน้า กรุงเทพฯ ก็จะมีสีสันเป็นเมืองหนังสือโลกอย่างเต็มรูปแบบ
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เราผลักดัน 9 พันธกิจนี้อย่างหนักเพื่อตอบโจทย์สำหรับยูเนสโก และเราก็ต้องรีพอร์ตหรือทำรายงานด้วยใน 6 เดือนแรก ใน 6 เดือนหลัง ก็คาดหวังว่า เราจะทำกรุงเทพมหานครทั้งเมืองให้เป็นเมืองหนังสือ นั่นก็คือเราร่วมมือกับภาคีคือ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) จัด รีด ฟอร์ เฮลท์ (Read for Health) อ่านเพื่อสุขภาพทั้งเดือน ซึ่งทำไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อ่านยกกำลังสุข, อ่านตามราง, อ่านสุดสนุก, สุขกับการอ่านกับเมืองเก่า เปิดเป็นถนนหนังสือบริเวณถนนพระสุเมรุ
แล้วก็มีโครงการกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในการจัดให้ตื่นตัวเรื่องการให้เป็นเมืองหนังสือจริงๆ ก็คือเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขตทั้งกรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร้านหนังสือ บ้าน วัด มัสยิด โบสถ์ และอีกหลายภาคส่วน ปลุกทั้งเขตขึ้นมาให้จัดกิจกรรมเรื่องการอ่านทั้ง 6 เดือนเลย ทำให้หนังสือเข้าถึงคน ทำให้คนมีส่วนร่วมที่จะแบ่งปันหนังสือ ไม่ว่ารถห้องสมุดเคลื่อนที่ของ กทม. ก็จะมาร่วมงาน แล้วก็สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ภาคีเครือข่ายทั้ง 104 ภาคี ก็จะมาร่วมมือกันจัดกิจกรรมใน 50 เขต ตามแนวที่ภาคีถนัด ว่าจะทำอะไร
เพราะฉะนั้น เราก็คาดหวังว่า 6 เดือนหลังเราจะทำให้กรุงเทพมหานครมีสีสันและเชิญชวนทุกภาคส่วน ภาคีเครือข่ายและผู้ที่ให้การสนับสนุน ทั้งวงการหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้จัดพิมพ์ ร้านหนังสือ ผู้จัดจำหน่าย สำนักพิมพ์ แล้วก็ 50 สำนักงานเขต บ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน ช่วยกันระดมในการที่จะส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งคอนโดฯ ของลุมพินีเพลสทุกแห่ง ใน 6 เดือนหลังเราจะพยายามผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
+ คิดว่าขึ้นมาแบบน่าตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน?
ก็ขอให้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยช่วยเราด้วยว่า ในเขตต่างๆ มีสำนักพิมพ์อะไรอยู่บ้าง เราก็คาดหวังว่าจะมี 1 สำนักงานเขต 1 สำนักพิมพ์ หรือ 1 เขต 1 ร้านหนังสือ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำให้มีพื้นที่ของการส่งเสริมการอ่านให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้านี้