ถวัลย์ มาศจรัส : นักเขียนผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่ในหัวใจ

ถวัลย์ มาศจรัส

ถวัลย์ มาศจรัส ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในบทบาทของนักวิชาการศึกษา และนักเขียนผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่ในหัวใจ ตั้งแต่เริ่มเดินบนถนนนักเขียน งานเขียนของคุณถวัลย์ได้รับรางวัลการันตีฝีมือแล้วถึง 26 รายการ และปัจจุบันยังได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินดีเด่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาขาวรรณศิลป์ อีกด้วย

ดังนั้นเราจึงพยายามหาทางให้ได้สนทนากับคุณถวัลย์สักครั้ง เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อเราโทรไปขอสัมภาษณ์ คุณถวัลย์บอกว่า "ช่วงนี้ผมติดราชการอยู่ต่างจังหวัดครับ" แต่เราก็ไม่ละความพยายาม และด้วยความกรุณาอย่างยิ่งของคุณถวัลย์ เราจึงได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์แทน และนี่คือการเรียบเรียงสิ่งที่เราได้คุยกับคุณถวัลย์ในวันนั้น

"ผมเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เขียนให้เพื่อนอ่าน" คุณถวัลย์เล่า "แต่ที่มาเริ่มเขียนอย่างจริงจังนี่เป็นเรื่องสั้น ประมาณช่วงปี 2520 เรื่องที่ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกได้ลงในฟ้าเมืองไทย เป็นคอลัมน์ชื่อ ประสบการณ์ไหวพริบ แล้วผมก็เขียนหนังสือมาเรื่อยๆ เขียนส่งตามนิตยสารต่างๆ วารสารมิตรครู ซึ่งเป็นวารสารของกระทรวง เขียนลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แล้วก็เริ่มเขียนประกวดของฟ้าเมืองทอง ใช้นามจริงบ้าง นามแฝงบ้าง แต่เรื่องที่เขียนผ่านเข้ารอบทุกเรื่อง"

"เรื่องสั้นที่ได้รางวัลเป็นเรื่องแรกคือ ละคอนวันครู ได้รางวัลจากนิตยสารคู่สร้างคู่สม เมื่อปี 2524 ส่วนที่เป็นเล่มชุดรวมเรื่องสั้น ฟ้าหมาดฝน ได้รางวัลชมเชยคณะพัฒนาการหนังสือแห่งชาติ เมื่อปี 2532 ปีต่อมาก็ได้รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ประเภทนวนิยาย เรื่อง คนในกรม เป็นรางวัลรวีโดมพระจันทร์" "ปี 35 ก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง กระท่อมแสงตะวัน ปีต่อมาก็ได้รางวัลรวมเรื่องสั้นชุด หมอใบไม้"

จากบทสนทนา จะเห็นได้ว่าคุณถวัลย์เขียนงานหลากหลายรูปแบบจริงๆ
"ที่จริงยังมีอีกนะ" คุณถวัลย์พูดอย่างอารมณ์ดีเมื่อเราถามว่า งานเขียนที่เคยเขียนมาทั้งสามแบบ คือ เรื่องสั้น นิยาย และวรรณกรรมเยาวชน คุณถวัลย์ชอบเขียนอะไรมากที่สุด "ยังมีสารคดี กวีนิพนธ์ คอลัมน์ งานเขียนทางวิชาการ นิทาน หรือที่เรียกว่าหนังสือภาพ"

"สาเหตุที่ผมทำหลายอย่าง เพราะพอทำอะไรไปนานๆ จะเบื่อ พอเบื่อก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ให้มันหาย เบื่อเรื่องสั้นก็ไปเขียนวรรณกรรมเยาวชน เบื่อวรรณกรรมเยาวชนก็เขียนนิยาย เบื่อนิยายก็ไปเขียนนิทาน แต่ถ้าจะถามว่างานเขียนที่เขียนแล้วมีความสุขที่สุดคืออะไร ก็คงเป็นพวกบันเทิงคดี ผมชอบเรื่องสั้น กับวรรณกรรมเยาวชน เขียนแล้วมีความสุข"

"สำหรับวรรณกรรมเยาวชน ผมเริ่มเขียนประมาณปี 2524 ตอนนั้นเขียนลงในนิตยสารพ่อแม่ลูก ชื่อ ชุดชีวิตเด็กภูธร ตอนหลังตีพิมพ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ในทุ่งกว้าง เรื่องนี้มีส่วนมาจากชีวิตของตัวเองนะ มาจากความประทับใจวัยเด็ก เป็นวิถีชีวิตคนอยุธยา

"เรื่องส่วนใหญ่ที่เขียนก็จะมาจากมุมมอง จากประสบการณ์ อย่างเรื่อง พ่อ ขวาลูกชาย ซ้ายลูกสาว เขียนตอนช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีคนตกงานเยอะ ทุกคนก็พุ่งความสนใจไปที่ผู้ใหญ่ ทำงานออกมาให้ผู้ใหญ่หมด ผมเลยเขียนให้เด็ก และก็เขียนให้เป็นกำลังใจให้คนตกงานด้วย โดยเอาประสบการณ์มาสร้างเป็นเรื่องราว เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เมื่อปี 2542 "

เรียกได้ว่ากวาดรางวัลกันทุกปีเลยทีเดียว จนเราอดถามไม่ได้ว่า รางวัลที่ได้รับมาแต่ละครั้งนั้น มีส่วนสร้างความรู้สึกกดดันในการที่จะสร้างงานชิ้นต่อไปหรือไม่ "ไม่เลยครับ" คุณถวัลย์ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น "สำหรับผมการเขียนหนังสือเป็นความสุข ผมเขียนเพราะผมอยากเขียน เขียนเพื่อเป็นความสุขของชีวิต เขียนเป็นกิจวัตรทุกวันตั้งแต่ตี 3 ถึง หกโมงเช้า ถ้าวันไหนไม่เขียนหนังสือ ก็จะอ่าน ที่บ้านมีห้องสมุด เก็บหนังสือเป็นพันเล่ม"

"ผมจะแบ่งเวลาทำงาน กลางวันทำราชการ ถ้าไม่ได้ไปไหน กลับบ้าน ผมจะนอนประมาณสี่ทุ่ม ตื่นตีสามขึ้นมาเขียนหนังสือ ผมนอนวันละ 5 ชั่วโมงเท่านั้นนะ แต่ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหรืออยากหยุดทำงาน เพราะงานคือความสุข การเขียนคือความสุข ผมก็เลยมีงานเขียนทุกประเภท" และความรู้สึกต่อผลงานทุกชิ้นที่สร้างมา ไม่ว่าจะเป็นงานที่ได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม คุณถวัลย์บอกว่า

"ผมรักงานเขียนทุกชิ้นไม่มีชิ้นใดเป็นพิเศษ เพราะทุกงานออกมาจากใจ ทุกงานมีค่าเสมอกันไม่ว่าจะเป็นงานรางวัลหรือไม่ก็ตาม รักเพราะตั้งใจเท่ากัน"
แต่ไม่ว่างานที่เขียนจะหลากรูปแบบเพียงไร ใครที่ติดตามงานของคุณถวัลย์ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาและเจตนาของผู้เขียนไม่เคยออกห่างจากเรื่องของเยาวชน ธรรมชาติ และยังคงกลิ่นไอความเป็นครูอยู่เสมอ

"ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเยอะ เพราะความประทับใจในวัยเด็ก รวมกับความเป็นครูของตัวเองด้วย และผมไม่ใช่ครูประเภทอยู่แต่ในห้องเรียน พานักเรียนลุยท้องไร่ท้องนาตลอด อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ชอบเขียนงานแนวนี้ เพราะรู้สึกว่าเด็กๆ ยังขาดอะไรอีกหลายอย่าง อยากให้เขาได้อ่าน ได้เติมในสิ่งที่เขาขาด อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านหนังสือ" ได้ฟังความรู้สึกและเจตนาของคุณถวัลย์แล้ว เราก็อดที่จะเปรยความเห็นเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของเยาวชนในบ้านเราสมัยนี้ไม่ได้

"เยาวชนสมัยนี้อ่านหนังสือน้อยลง เพราะมีสื่ออื่นเข้ามาเยอะ มีเรื่องที่ได้เรียนรู้จากสื่ออื่นๆ มากมาย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่ค่อยมีอะไร ก็มีเวลาอ่านหนังสือกัน เดี๋ยวนี้มีทั้งทีวี โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า มันมีเรื่องต่างๆอยู่ทุกที่ ในอินเตอร์เนต ทีวี เกม มีเรื่องราวทั้งนั้น เด็กก็ไปเรียนรู้จากที่อื่น ไม่อ่านหนังสือ เวลาสำหรับการอ่านน้อยลง เดี๋ยวนี้บางทีหนังสืออ่านนอกเวลาไม่ยอมอ่าน บางคนต้องทำรายงาน ไม่อ่าน โทรมาหานักเขียนขอให้เล่าเรื่องย่อให้ฟังเลย บางคนเป็นเด็กมหาวิทยาลัยด้วยนะ"

"ที่อ่านก็เป็นเรื่องแปลเสียเยอะ ผมว่าเป็นเพราะกระแสโฆษณา อย่างหนังสือไทยไม่เคยได้รับการโฆษณานะ สมัยก่อนเขาจะใช้การวิจารณ์เป็นสื่อ เดี๋ยวนี้โฆษณาหนังสือแปลลงหน้าหนังสือพิมพ์ ออกทีวีเลย คนก็รู้จัก ก็อ่าน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ที่จริงเนื้อหาสาระของเรื่องแปลก็เหมือนงานในมิติอื่น เหมือนกินอาหารใหม่ๆ เปลี่ยนรสชาติไปบ้าง เหมือนการกินไก่ทอด กินพิซซ่าบ้างเพื่อความหลากหลาย สำคัญแต่จะอ่านวรรณกรรมไทยบ้างหรือเปล่า กลัวจะไม่อ่านกันเลยสิ ที่น่าห่วง"

"จะว่าไปมันก็เป็นไปตามสภาพ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ทางแก้ไขก็อาจต้องมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการอ่าน สร้างความน่าสนใจ แต่ไม่ควรบังคับเด็กว่าต้องอ่าน"

"จะมีเรื่องสั้น 2 ชุด คือ ไม้สูง เป็นเรื่องสั้นเชิงปรัชญา และ พื้นที่ที่ไร้คนจับจอง และไม่แน่อาจเขียนวรรณกรรมเยาวชนอีกเรื่องหนึ่งด้วย" ก่อนจะจบการสนทนา เราได้ลองถามคุณถวัลย์เล่นๆ ว่า จากที่เคยเป็น และยังคงเป็นทั้งบทบาท ครู นักวิชาการ และนักเขียน คุณถวัลย์ชอบงานใดมากที่สุด แล้วคำตอบก็ใช่อย่างที่เราเดาไว้จริงๆ

"ผมรักการเป็นนักเขียนที่สุด ไม่ใช่เพราะการเป็นนักเขียนทำให้ผมได้รางวัล งานวิชาการผมก็มีรางวัลเหมือนกัน แต่การเขียนหนังสือ เป็นงานที่สุขใจที่สุดที่ได้ทำ"

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ