รักษิตา : นักเขียนที่รังสรรค์งานวรรณกรรมเยาวชน

รักษิตา

ถ้าพูดถึงนักเขียนที่รังสรรค์งานวรรณกรรมเยาวชนในบ้านเราเห็นจะมีเพียงไม่กี่คน "รักษิตา" หรือ "นภพรรณ รักษิตานนท์" เป็นหนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มีอยู่จำนวนน้อยนิดที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของบรรดานักอ่าน

ผลงานที่ผ่าน ๆ ของเธอที่อ่านแล้วเต็มไปด้วยความสุข ประกอบด้วย "นิทานแห่งความสุข" , "ความฝันในอ้อมแขน" และ "เรื่องเล่าของดอกไม้" เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีเนื้อหาที่ให้กำลังใจ เกื้อหนุนส่งเสริมให้เด็ก ๆมีจินตนาการ ไม่แม้แต่เด็ก ๆเท่านั้นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆอ่านแล้วหัวใจก็เปี่ยมสุขได้เหมือนกัน

บุคคลิกโดยส่วนใหญ่ของ "รักษิตา" คือผู้หญิงที่อ่อนหวาน ชีวิตของเธอแวดล้อมไปด้วยสีชมพูสดใส ที่เป็นสีโปรด เพราะไม่ว่าทุกครั้งที่เธอปรากฎกายต่อที่สาธารณะเราจะเห็นเธอแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีชมพูอยู่ตลอดเวลา รวมถึงลักษณะและวิธีการพูดก็เต็มไปด้วยความสดใส แย้มยิ้ม ทำให้ผู้ที่ใกล้ชิดมีความสุขและสดชื่นตามไปด้วย ด้วยลักษณะของการอ่านหนังสือแนวงานวรรณกรรมเยาวชนแปลของต่างประเทศ หรือจากการเล่านิทานของคุณพ่อที่เล่าให้เธอฟังอยู่เป็นประจำ เป็นเหมือนการบ่มเพาะความเป็นตัวตนของเธอมาแต่เยาวัย หล่อหลอมบุคคลิกและนิสัยให้เธอเป็นหญิงสาวที่อ่อนหวาน นุ่มนวล ....

"เหตุที่ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนก็เพราะมุมมองความคิด แม้บางเรื่องจะมีความเศร้าแฝงอยู่ แต่ก็เป็นความเศร้าที่เป็นความสุข แตกต่างจากเรื่องของผู้ใหญ่ที่เศร้าก็จะเศร้ารัดทด อย่างคำพูดของวิลเลี่ยม ซาโรยันส์ ในเรื่องความสุขของชีวิต มีประโยคหนึ่งที่เขาพูดถึงความตายได้ประทับใจมาก 'คนดีไม่มีวันตายหรอก เธอจะเห็นความงอกงามในความเป็นเขาอยู่ในทุก ๆที่ที่งดงาม ....' เป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่มาก เราอ่านแล้วเรารู้สึกจึงทำให้ชอบอ่านงานวรรณกรรมเยาวชน" และงานแปลวรรณกรรมเยาชนที่รักษิตาอ่าน เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้เธอสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง...

"ก็มีส่วนเหมือนกัน อย่างบางเล่ม เช่น เรื่องม้าน้อยสีขาว อ่านแล้วก็จะรู้สึกว่า เวลาที่เราเขียนเรื่องบางครั้งไม่จำเป็นจะต้องรีบจบก็ได้ ค่อย ๆปูพื้นเรื่องไป แต่ถ้าเราเขียนแล้วลงตีพิมพ์ในนิตยสารก่อน จะมีปัญหาเรื่องหน้าที่จำกัด หลัง ๆจะเขียนงานโดยไม่ไปลงที่ไหนก่อน จะเขียนเก็บไว้ เราจะให้เรื่องจบก็ต่อเมื่อเรื่องมันต้องจบในตัวของมันเอง ถ้าจำเป็นต้องจบด้วยเหตุผลของจำนวนหน้าก็ทำได้นะ แต่จะพยายามจะไม่ทำอย่างนั้น จะบอกกับตัวเองว่าอย่าให้อะไรมาจำกัดเรา ถ้ารู้สึกว่ายังไม่จบก็ไม่จบ ถ้ายังไม่ได้ก็ยังไม่ได้ ทุกอย่างยืดหยุ่นได้

เวลาที่เราอ่านหนังสือสิ่งที่เราได้คือความคิด หรือมุมมองในการคิด เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดแรงบันดาลใจกับเรื่องอะไร หรือกับสิ่งใดจะจดบันทึกเก็บไว้ในสมุดที่พกติดตัวอยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็จะมาแตกแรงบันดาลใจออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งสำหรับตัวเองแล้วประเด็นตรงนี้ถือว่าสำคัญที่สุด"

นอกจากนี้ รักษิตา ยังได้เล่าย้อนหลังของการเริ่มงานเขียนครั้งแรก ๆให้ฟังว่า....

"เริ่มจากเขียนกลอนก่อนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนลงวรสารคณะนิด ๆหน่อย ๆ แล้วก็มาเขียนแบบจริง ๆ เป็นเรื่องเป็นราวคือที่หนังสือไปยาลใหญ่ ของคุณศุ บุญเลี้ยง ซึ่งเพื่อน ๆหลายคนไปทำกองบรรณาธิการอยู่ที่นั้น ตอนนั้นก็เขียนกลอน ๆไปทิ้ง ๆไว้ งานชิ้นแรกที่เขียนคือ "เธอเป็นเจ้าหญิง ฉันเป็นเจ้าชาย" เป็นเรื่องของเด็กสองคนเล่นสมมุติกันอยู่แล้วตอนจบก็คือว่า...เสียงแม่เรียกให้ไปขนดิน...ตอนนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเห็นเด็กที่พ่อแม่ทำงานก่อสร้าง ที่เขากำลังก่อสร้างโรงแรมแชงกาลีลา อยู่สมัยนั้น เราเห็นก็รู้สึกสะเทือนใจ แต่ก็ไม่ถึงกับเศร้านะ เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องเด็ก ๆที่เราไม่เคยเจอ ก็เลยนำมาเขียนเป็นบทกวี...นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้สนใจอยากเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก ๆ อีกอย่างหนึ่งคือเป็นคนไม่ชอบมองผู้ใหญ่ ชอบมองเด็กมากว่า โดยเฉพาะชอบมองตาเขา แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กเร่รอน แต่แววตาเขาก็มีความสุขนะ ... เพราะจริง ๆแล้วพื้นฐานของเด็ก ๆก็เหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นเด็กในสถานที่ไหน ๆ สังคมแบบไหน เขาก็ต้องการให้คนเล่นด้วย อยากให้คนมาสัมผัส ซึ่งเชื่อว่าเด็ก ๆก็เหมือนกันทั้งโลกแหละ คือต้องการความรัก..."

หลังจากบทกวี "เธอเป็นเจ้าหญิง ฉันเป็นเจ้าชาย" เป็นที่รู้จักของคนอ่าน ผลงานต่อ ๆมาของรักษิตาก็มีความหลากหลายมากขึ้น

"เรื่องต่อ ๆมาส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน วรรณกรรมเยาวชนเรื่องของเด็ก ๆ เรื่องของดอกไม้ และอะไรที่เป็นธรรมชาติเกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้า ที่ไม่เคยเขียนเลยคือนิยาย อย่างเรื่องเล่าของดอกไม้ก็เป็นเรื่องราวที่เคยสัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะมีต้นไม้ใบหญ้าเป็นเพื่อนเล่นมา พอโตขึ้นมองย้อนกลับไปก็ทำให้คิดถึง ทำให้เราอยากนำมาเล่า หรืออย่างนิทานแห่งความสุข อ่านแล้วก็จะรู้สึกว่ามีความสุข เพราะทุกเรื่องที่เขียนจะมีความรู้สึกว่าไม่ว่าคนเราจะโตขนาดไหน แต่หัวใจก็คือหัวใจเดิมนี่แหละ ถ้าเราไม่ปิดกันนะ เราก็ยังรู้สึกได้ว่าเราเป็นเด็กแม้ว่าจะอายุขนาดไหนก็ตาม เหมือนกับว่าเราก็ยังเป็นลูกของแม่เสมอ แล้วทำไมเราจะเป็นเด็กในสายตาของตัวเองไม่ได้ ...

แต่บางครั้งเราก็ต้องระวังเหมือนกันในความเป็นผู้ใหญ่ หรือเรื่องราวเหตุการณ์ที่อาจจะมาปิดกั้นความรู้สึกทำให้ลืมหัวใจเดิมไป ตรงนี้จะมีไม้เด็ดอย่างหนึ่งคือ...ถ้าวันไหนจะต้องเขียนนิทาน จะไม่อ่านข่าว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขียนงานไม่ได้เลยคือช่วงที่มีสงครามอีรัก จิตใจว้าวุ่นมากเพราะเรามัวแต่คิดว่าทำไมต้องทำสงครามกันด้วย เขาก็อยู่ของเขาดี ๆ ตอนหลังก็ใช้วิธีว่า - รู้สึกอย่างไรก็เขียนออกมาสักชิ้นหนึ่งก่อน แล้วก็แต่งบทกวีให้กับเด็กคนหนึ่งที่แขนขาขาด เขียนว่า... 'ให้ฉันกอดเธอด้วยความรักเถอะ อย่ากังวลว่าไม่มีแขนจะกอดตอบ ฉันคิดว่าเธอจะเรียนรู้ที่จะโอบกอดคนได้ด้วยหัวใจในไม่ช้า ....' เขียนเสร็จแล้วก็รู้สึกสบายใจ หันกลับมาทำอย่างอื่นได้ เหมือนกับว่าคนเราต้องมีทางออก คนเราถ้ามีความโกรธ เกลียด ไม่พอใจ มันต้องออกมาก่อนอย่าเก็บเอาไว้ แล้วก็ต้องให้อภัย ไม้เด็ดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ทะเลาะกับชาวบ้าน ไม่ทะเลาะกับใคร ถ้าเราจะเขียนนิทานนะ (หัวเราะ) เพราะว่าถ้าเราจะเขียนเรื่องที่สบายใจ ตัวเราเองจะต้องสบายใจก่อน ดังนั้นเราต้องหาทางกำจัดมันออกไปให้ได้...

โดยพื้นฐานของตัวเองแล้วจะไม่โกรธจะไม่หงุดหงิด เพราะมันบันทอนตัวเอง และตัวเองนั้นแหละที่จะแย่ ที่สำคัญคือเราต้องเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง มันเป็นวิธีการทำงานของตัวเองด้วย เราต้องเขียนเรื่องของเด็ก ๆ เขียนเรื่องธรรมชาติ เพราะฉะนั้นตัวเราเองต้องมีจิตใจที่ดีด้วย ชีวิตตัวเองก็ไม่ใช่ว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบนะ แต่เราต้องหัดคิด คิดให้เราสบายใจให้ได้ ทุกอย่างคือต้องเริ่มมาจากข้างในก่อน..."

ณ ปัจจุบัน รักษิตา มีผลงานเขียนประจำคอลัมน์สิ่งแวดรัก ในหนังสือสาวิกา และ คอลัมน์เรื่องเล่าจากกระเป๋านักเรียน ในหนังสือมินิไลฟ์ หนังเล่มแถมของไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ และสำหรับเรื่องราวของเด็ก ๆก็ยังจะมีออกมาให้เด็ก ๆและผู้ใหญ่อย่างเราได้อ่านอยู่เช่นกัน

"ตอนนี้เขียนเรื่องเด็กเล็กเลย ลักษณะเป็นนิทานเด็กเล็ก เพราะมีลูกเล็ก ๆด้วย ก็จะเล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน ในขณะเดียวกันก็เสาะหาหนังสือให้ลูกที่เขาอ่านแล้วชอบ ทำให้อยากเขียนเรื่องง่าย ๆสำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือ เช่น สิ่งแวดล้อมบ้าง ชีวิตประจำวันเล็ก ๆน้อย เรื่องผลไม้ ผัก ภูเขา ต้นไม้ ซึ่งกำลังคิดอยู่ว่าจะทำออกมาประมาณอารมณ์ไหน"

นิทานเด็กเล็ก ที่รักษิตา กำลังขมักเขม่นรังสรรค์อยู่ในขณะนี้จะเป็นหนังสือเด็กอีกเล่มหนึ่งที่ช่วยเสริมจินตนาการให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แวดล้อมไปด้วยความรัก ความสดใส และเปี่ยมไปด้วยความสุขซึ่งก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป...

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ