วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ : ไม่อยากให้ชีวิตแต่ละวันเหมือนกันเลย

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

ในวงการสิ่งพิมพ์บ้านเราการก่อเกิดนิตยสารใหม่ที่แหวกแนวที่สุดคงไม่มีใครเกินนิตยสาร a day นั่นคือการชวนผู้อ่านร่วมลงขันกันทำนิตยสาร โดยแบ่งขายเป็นหุ้นๆละ 1,000 บาท ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสมรภูมินิตยสารเป็นที่รู้กันว่าต้องใช้ทั้งทุนหนา และสายป่านยาว แต่ a day นิตยสารที่คนกล่าวขวัญเป็นอย่างมาก ก็ยืนหยัดอยู่บนแผงหนังสืออย่างสง่างามเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว พร้อมกับการแตกลูกแตกหลานเป็นนิตยสารหัวต่างๆอีก 3 เล่มคือ HAMBURGER , a day weekly และ knock knock ! ไม่นับสำนักพิมพ์ a book ที่ผลิตพ็อกเก็ตบุ๊คขึ้นอันดับหนังสือขายดีหลายเล่ม

ข้างต้นเป็นผลิตผลของผู้ชายที่รักการทำนิตยสารเป็นชีวิตจิตใจที่ชื่อ วงศ์ทนง ชัยรงค์สิงห์ ภายหลังเรียนจบปริญาตรีที่ ม.สงขลา วงศ์ทนงเข้าทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสาร สิบปีผ่านไปเขาเติบโตขึ้นเป็นบรรณาธิการนิตยสารหลายเล่ม จนในที่สุดได้มาทำนิตยสารที่ตัวเองเป็นเจ้าของ บุคคลที่น่าสนใจเช่นนี้มีหรือที่จะละเว้นจากการเป็นแขกในคุยนอกรอบของเรา

ธุรกิจเติบโตขึ้นมากอย่างนี้ยังคงมีความเชื่อปรัชญาเรื่อง less is more เหมือนตอนเริ่มทำธุรกิจอีกไหม
ยังยืนยันและเชื่อมั่นเป็นการส่วนตัวว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่ ถึงแม้เมื่อดูจากข้างนอกทุกวันนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้วอาจจะดูว่าใหญ่ขึ้นมาก ทั้งดูจากสิ่งพิมพ์ที่เราทำ จำนวนคนจาก 6 คนเป็น 86 คน หรือดูจากผลประกอบการ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าใหญ่ขึ้นจริงๆ แต่คิดว่าเป็นการเติบโตแบบมีทิศทาง และมีพื้นฐานที่มั่นคง ดูเหมือนใหญ่แต่เมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่ทำทั้งหมดกับจำนวนคนที่เราใช้ ผมยังคิดว่ายังน้อยอยู่ ถ้าเป็น บริษัทอื่นทำหนังสือ 4 หัวขายบนแผง ไม่นับสิ่งพิมพ์ที่เรารับจ้างทำให้อีก คงใช้คนมากกว่านี้ประมาณ 2 เท่า ยังเป็นความเชื่อมั่นในความเล็กๆและดีๆอยู่

ตอนนี้มีเล่มไหนบ้าง
มี a day รายเดือน HAMBURGER รายปักษ์ a day weekly รายสัปดาห์ และ knock knock! รายเดือน นอกนั้นก็มี นิตยสารที่เรารับจ้างผลิต ได้แก่หนังสือแจกในเครือเมเจอร์ และออเรนจ์ มีสำนักพิมพ์ a book ผลิตพ็อกเก็ตบุคด้วย และงานที่รับจ้างออกแบบอื่นๆด้วยเช่นโปสเตอร์ภาพยนต์ แผ่นพับ สิ่งพิมพ์พิเศษต่างๆ

เอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาทำ
มีคนช่วยเยอะ และคนที่นี่ผมเชื่อในความสามารถเฉพาะตัวของเขา เป็นคนทำงานที่มีพลังเหลือเฟือ บรรยากาศชวนให้อยากทำด้วยมั้ง ที่ลงมือเองมีน้อยแล้ว

ตอนนี้เขียนเองอยู่กี่คอลัมน์
เขียนคอลัมน์เดียวใน a day weekly ชื่อ "มากกว่านั้น" แค่นี้ก็แย่แล้ว เขียนรายสัปดาห์เหนื่อยนะ รู้ตั้งแต่เขียนที่มติชนสุดสัปดาห์แล้ว คงเพราะมันอยู่ในหนังสือวิเคราะห์ข่าวด้วยมั้งจึงเป็นข้อเขียนที่ซีเรียสขึ้นมาหน่อย ก็ยากเหมือนกันนะ ขนาดเขียนหนังสือมาตั้งนานยังรู้สึกว่ามันยากเลย แต่พยายามอยู่

นักอ่านจะได้อ่านหนังสือแนววรรณกรรมจากวงศ์ทนงบ้างไหมครับ
ผมมีหนังสือ 2 เล่มที่อาจจะเรียกว่าเชิงวรรณกรรมก็ได้ คือ เรื่องเล็ก รวมเล่มใหม่ชื่อ หญิงสาวนักขายขนมปัง และ The Bear Wish Project ใช้นามปากกาเขียน ผมก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นวรรณกรรมเท่าไหร่ เพราะทั้งสองเล่มนี้รวมขึ้นจากคอลัมน์ที่เขียนเป็นวาระ รายสัปดาห์หรือรายเดือน ถ้าเป็นวรรณกรรมจริงๆ ยังคิดว่าเราอาจจะไม่มีความสามารถทำได้ดีก็ได้ ไม่ได้ถ่อมตัว เป็นเรื่องจริง รู้สึกว่าการเขียนวรรณกรรมต้องอาศัยเวลาและอารมณ์ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองอย่างก็ยังขาดแคลนอยู่

เร็วๆนี้มีโครงการจะทำงานเขียนอะไรบ้าง
กำลังจะมีอีกเล่มตามมาจาก a day story อาจจะเป็น a day story ภาค 2 ก็ได้ ก็กำลังรวบรวมเรื่องและข้อมูลอยู่ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะออกได้ในงานสัปดาห์หนังสือ และจะมีการ์ตูนญี่ปุ่น a day story ตอนนี้ให้เด็กกลุ่มนึงวาดอยู่ อยากให้กลุ่มเด็กมัธยมได้อ่านก็ควรจะแปรรูปให้มันเสพง่ายๆ เลยออกมาเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น ทำงานเขียนสัปดาห์ละชิ้น บางสัปดาห์ก็ต้องเขียนสต๊อกไว้ เพราะหลังๆนี่เดินทางบ่อย เป็นความตั้งใจด้วยว่าจะเดินทางให้มากขึ้น เนื่องจากว่า 3-4 ปีที่ผ่านมางานประจำทำให้เวลาในการเดินทางของเราหายไปเลย ยังเชื่อในคุณูปการของการเดินทางอยู่ อย่างที่อา 'รงค์ วงษ์สวรรค์พูดว่า "การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน" สี่ปีที่ผ่านมารู้สึกว่าสายตาของเราสั้นมากเลย

แล้วพี่จะมีงานเขียนแนวท่องเที่ยวเดินทางไหมครับ
คิดเอาไว้อยู่ว่าจะเขียนจากการเดินทาง เคยวางแผนไว้ วาดฝันไว้สวยหรู หลายปีแล้วว่า อยากจะขับรถทั่วประเทศไทยใช้เวลาสัก 3 เดือน ไปแบบไม่มีจุดหมายปลายทาง ชอบที่ไหนก็อยู่นานหน่อย ไม่ชอบไปไปต่อ ไปในตำบลหรืออำเภอที่เราไม่เคยไปมาก่อนในประเทศไทย เคยอ่านหนังสือ Travel with chali ของจอห์น สไตล์เบ็ค แล้วได้แรงบันดาลใจ คือสไตล์เบ็คเขียนหนังสือมานาน เขาเขียนเรื่องอเมริกาเยอะแยะ แต่สังสัยว่ารู้จักอเมริกาจริงๆหรือเปล่า คิดได้อย่างนั้นก็เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า แล้วขับรถทั่วอเมริกา พาหมาไปตัวหนึ่งชื่อชาลี เลยออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ อ่านเมื่อหลายปีก่อน แล้วฝันว่าอยากจะทำเหมือนคุณลุงสไตล์เบ็ค แต่ก็เลื่อนการเดินทางออกไปเรื่อยๆ เพราะมันต้องใช้เวลา ทีแรกคิดว่า 6 เดือนด้วยซ้ำ แล้วก็เหลือ 3 เดือน ล่าสุดประเมินโลกแห่งความเป็นจริงแล้วน่าจะ 2 เดือนซึ่งก็ยังลำบาก เพราะทุกวันนี้ จะปลีกตัวจากออฟฟิสได้มากที่สุดไม่เกิน 5 วัน เพราะมีงานที่ต้องจัดการเยอะ ผมไม่ได้เป็น บ.ก. แล้ว ตอนนี้เป็นผู้บริหาร มีสิ่งที่ต้องเซ็นต้องตัดสินใจ พยายามจะจัดการอยู่ แต่อยากได้ 2 เดือนนี้มากๆ 2 เดือนที่เป็นของเราเอง น่าจะเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งจากการเดินทางไกลครั้งนี้ ตั้งชื่อเอาไว้แล้วด้วยชื่อ "ดิน น้ำ ลม ใจ" มีแต่คนแซวว่าทำไม่ได้ แต่เดี๋ยวจะทำให้ดู

ชอบอยู่แล้วใช่ไหมทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ชอบทำอะไรที่เป็นที่จดจำของชีวิต ประสบการณ์แบบพิเศษๆ ไม่อยากให้ชีวิตแต่ละวันเหมือนกันเลย (หัวเราะ)

อึดอัดไหมกับการเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ
ไม่แน่ใจว่าการเป็นต้นแบบที่ว่านั้นเป็นในด้านไหน แต่ถ้าในด้านที่มีส่วนในการกระตุ้นให้เขารู้จักคิด กล้าหาญที่จะใฝ่ฝัน แล้วก็ไปให้ถึงจุดนั้น มีพลังใจ มีแรงบันดาลใจ ถ้าเป็นอันนี้รู้สึก ดี ชอบ ปลื้มใจ แต่เราก็ปุถุชน มีข้อบกพร่อง ก็รู้ตัวอยู่ เลือกเอาสิ่งที่ดีไปก็แล้วกัน

ด้านงานเขียนวางเป้าหมายไว้อย่างไร
โดยส่วนตัวมีความสุขในการเขียนหนังสือ แม้กระทั่งคอลัมน์มากกว่านั้นใน a day weekly หนังสือออกเมื่อไหร่ก็จะเอามาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็รู้สึกดีกับความรู้สึกเช่น แสดงว่าเรายังรักชอบในการเขียนหนังสืออยู่ คล้ายกับคนเขียนหนังสือหลายๆคน ว่าอยากจะเขียนนิยายสักเล่ม นิยายอาจจะต้องการพลัง เวลาและอารมณ์เยอะหน่อย ซึ่งอาจจะนานมาก นอกนั้นคงจะทำแต่ละชิ้นในแต่ละสัปดาห์ให้มันมีคุณภาพ ซึ่งความเป็นรายสัปดาห์ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถเก็บรายละเอียดและพิถีพิถันกับมันได้ทุกชิ้น พยายามรักษาระดับของงานไว้ พยายามจะไม่ให้น่าเกลียดเกินไปนัก

ระหว่างการทำงานเขียน บรรณาธิการและงานบริหาร ชอบงานด้านไหนที่สุด
งานแต่ละอย่างมีความน่าชอบแตกต่างกัน งานเขียนเป็นความสุขส่วนตัว ส่วนงานบรรณาธิการเป็นงานที่ต้องดูแลใหญ่ขึ้นมาหน่อย ซึ่งก็สนุก สำหรับงานบริหารจะว่าไปก็ไม่ได้ชอบนักหรอกแต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ที่ฝืนใจทำนะ ยังสนุกที่จะทำอยู่ เป็นงานที่ต้องดูแลในมุมที่กว้างมาก ต้องจัดการเรื่องมากมาย ทั้งสามอย่างความสุขคล้ายๆกัน คือตอนที่ลุล่วงไปได้ด้วยดี สนุกดี

เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะครับที่คนๆนึงจะสามารถทำงานได้หลายอย่าง
คิดเหมือนกันว่าที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ มันเหมือนกับตกกระไดพลอยโจร แต่เป็นการตกกระไดอย่างเต็มใจนะ ไม่ใช่ถูกถีบตกกระได เราโชคดีด้วยที่คนที่ทำงานกับเราเป็นคนดีและเก่ง สำคัญมาก ยังให้ความสำคัญกับคนทำงานมากๆ

มีวิธีการอย่างไรในการดึงศักยภาพของคนออกมาใช้
อย่างแรก คือ ในพนักงานจำนวน 86 คน ผมลงมือสัมภาษณ์เองเลือกเองเกือบ 70 คนได้ เหมือนกับเราคัดมาแล้ว คุณสมบัติที่เลือกคือ 1 เป็นคนเก่ง 2 นิสัยดี เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ตรงนี้ก็ผ่านการกรองมาแล้วส่วนหนึ่งคือ เป็นคนเก่งและนิสัยดี ส่วนเรื่องการดึงศักยภาพของคนออกมานั้นเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว ผมเชื่อว่าคนทุกคนเก่งและดีได้มากกว่าที่เขาเป็นอยู่ เพียงแต่ว่าเขาขาดการชี้แนะ ขาดแรงบันดาลใจ ขาดแรงจูงใจที่จะดึงศักยภาพนั้นออกมา ซึ่งผมว่าผมมีวิธี

วิธีที่ว่านี้ไม่เปิดเผยหรือ
(หัวเราะ)ก็ไม่มีอะไรมากหรอก เหมือนกับหลักการบริหารบุคคลเบื้องต้น คือ ใช้คนให้ถูกกับงาน ทุกคนมีศักยภาพในบางด้าน แต่วางเขาผิดตำแน่ง ศักยภาพที่ว่าก็ไม่สามารถเปล่งประกายออกมาได้เต็มที่ ด้วยความที่ผมใกล้ชิดกับพนักงานมั้ง ไม่มีลักษณะของเจ้านายกับลูกน้องแต่เป็นพี่กับน้อง ผมก็เลยเห็นตัวตนของเขาชัดเจน เวลาจะใส่ใครเข้าไปในงานไหนก็ถูกต้องลงล็อก อีกอย่างคือผมเชื่อในเรื่องบรรยากาศของการทำงาน บริษัทของเรามีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีความสุข เคยนึกว่าเหตุผลคือเราไม่ได้เป็นนายทุนที่มาทำหนังสือ แต่เราเคยเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆมาก่อน เริ่มจากกองบรรณาธิการ เราก็รู้ว่าความสุขของคนทำงานคืออะไร ความทุกข์คืออะไร พอเรามาเป็นผู้บริหารก็ไม่มีอะไรมาก อย่าทำให้เขามีความทุกข์ ทำให้เขามีความสุขสิ แค่นี้

ที่นี่มีวัฒนธรรมแบบพี่กับน้องอย่างแท้จริง ทุกคนเรียกเราว่าพี่ ไม่เรียกคุณโหน่ง เจอหน้าทักทายยกมือไหว้สวัสดีกัน มันรักกัน รูปแบบจึงเอื้อต่อการทำงานที่มีความสุข ที่นี่เป็นบริษัทที่อลุ่มอล่วยมากๆ สังเกตว่าทุกห้องมีโซฟาให้นอน ที่นี่มีการนอนกลางวันได้ เล่นเกมคอมพ์ได้ แช็ตได้ แม้กระทั่งรับจ็อบยังได้เลย (หัวเราะ) เราใจกว้างต่อกัน พนักงานคงเห็นความใจกว้างของบริษัท แล้วก็ตอบแทนด้วยการทำงานเต็มที่

มีใครบอกหรือเปล่าว่าพี่เป็นผู้บริหารที่อินดี้มากๆ
จะเห็นว่าเราเป็นคนที่สบายๆ ไม่มีฟอร์ม แต่ว่าเราเจ้าระเบียบนะ คนจะไม่ค่อยรู้ เพราะงานหนังสือเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้อ่านต้องออกหนังสือให้ตรงเวลา ทำหนังสือให้มันดี เรื่องนี้ซีเรียส ต้องการความเปอร์เฟ็คที่สุดของงานแต่ละชิ้น

พี่ลงโทษพนักงานอย่างไร
ผู้ใหญ่เคยสอนเราว่า หลักในการปกครองคนคือชมให้เรารู้กันทั่วไป แต่ถ้าใครทำสิ่งใดบกพร่อง ให้เรียกมาตำหนิสองต่อสองพอ ใช้หลักนี้อยู่

จะได้อ่านหนังสือการบริหารงานแบบอินดี้จากพี่บ้างไหม
คงเขียนไม่ได้หรอก การบริหารงานของบริษัทหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับอีกบริษัทหนึ่งก็ได้ แต่ละบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรและรายละเอียดของคนที่แตกต่างกัน การบริหารแบบ a day ถ้าไปใช้ที่แกรมมี่อาจจะเละเทะก็ได้ แล้วการบริการแบบแกรมมี่เมื่อมาใช้ที่ a day ก็อาจจะไม่ได้ผล เราเชื่อว่าแต่ละที่ต้องหาฮาวทูของตัวเองให้เข้ากับองค์กร หลักๆก็คือถ้าผู้บริหารใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง จริงใจจริงๆ นี่คือต้นธารแห่งความสำเร็จของการบริหารงานบุคคล

บริษัทนี้จะเติบโตไปในทางไหน
ถ้าดูจาก a day weekly จะเห็นทิศทางบางอย่างบางด้านของเรา ว่าเราจะเดินทางไปทางไหน เราจะเดินทางไปในแนวที่ซีเรียสมากขึ้น จริงจัง และเล่นกับสื่อกระแสใหญ่มากขึ้น เหมือนกับที่ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าความฝันก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิต คือ การทำหนังสือพิมพ์รายวันทุกวันนี้สิ่งที่ทำรวมทั้ง a day weekly คือการปูทางไปสู่เป้าหมายนั้น

หนังสือพิมพ์รายวันของพี่จะเหมือนหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นไหม
ด้วยไวยากรณ์ และภาคบังคับของการเป็นหนังสือพิมพ์ก็คงมีความคล้ายหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ทุกวันนี้ แต่แน่นอนว่า เรามีหนังสือพิมพ์แบบที่เราอยากจะทำ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ NEWYORK POST ผมว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่น่าอ่านดี ทุกด้านเลย ทั้งรูปเล่มการออกแบบ และการนำเสนอข่าว คิดว่าถ้าจะใกล้เคียงก็คงไปทางนั้น แต่ไม่แน่ ถึงเวลาก็อาจจะต้องปรับ ให้เข้ากับเงื่อนไขและปัจจัยหลายๆอย่าง

ตอนนี้ธุรกิจไหนทำกำไรดีที่สุด
A day และ HAMBURGER เหตุผลเพราะอายุอานามของมัน a day เข้าปีที่ 5 HAMBURGER เข้าปีที่ 3 ความชื่อเสียง ความนิยม และยอดจำหน่ายทำให้เอเจนซี่เชื่อมั่น มีโฆษณาอยู่ในจำนวนที่น่าพอใจ ส่วน a day weekly และ knock knock! เป็นหนังสือใหม่ที่ลงทุนสูง คงต้องอาศัยเวลาที่จะทำกำไรสักระยะ แต่ก็เห็นแนวโน้มที่ดี ไม่น่าห่วง

A book ก็ไปได้ดี มีหนังสือที่ขายดีอยู่ ซึ่งก็โล่งอก เช่น ทางช้างเผือก มานะมานีปิติชูใจก็พิมพ์ไป 13 ครั้งแล้วภายในเวลา 3 เดือน หรือหนังสือของน้าเน็กซึ่งเป็นหนังสือแนวกระแสก็ขายดี ดีใจที่ขายดี เพราะหนังสือหลายเล่มของเรา ก่อนจะพิมพ์ก็รู้แล้วว่าไม่ใช่หนังสือที่จะขายดี แต่ด้วยภาระกิจของสำนักพิมพ์ก็จำเป็นต้องทำ จะพูดว่าเพื่อวงการ หรือเพื่อผู้อ่านก็ได้นะ ยกตัวอย่างวรรณกรรมในชุด The Legend ตั้งใจว่าจะนำงานเขียนที่มีคุณค่าของนักเขียนในอดีตมาคัดสรร และเรียบเรียงใหม่ ซึ่งเป็นงานที่ลงทุนพอสมควร ไม่ได้มียอดขายถล่มทลายหรอก แต่เราอยากจะทำ เมื่อมีหนังสือที่ได้รับความนิยมขายดี เราก็รู้สึกดีเพราะมันช่วยทดแทนกันได้ ทำให้สำนักพิมพ์ไม่เข้าเนื้อเกินไปนัก ส่วนรายได้ทางอื่น คือ รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์พิเศษอย่างที่ว่าไม่ต้องลงทุนมาก ใช้พนักงานเพียงไม่กี่คน บางชิ้นก็รับจ็อบกันไปภายในบริษัท คนทำงานก็มีรายได้พิเศษเพิ่ม แล้วก็มีรายได้เข้าบริษัท

ชีวิตพี่สมดุลดีไหม
มีความสุขดี ดูก็รู้ เรามีความคิดว่าชีวิตที่มีความสุข "งาน" ไม่ควรจะเป็นภาระ แต่ควรเป็นกิจกรรมที่เข้าจังหวะกับชีวิต งานที่ทำกลมกลืนกับความชอบ กับชีวิตประจำวัน ไม่ฝืน คนเราจะมีความทุกข์เมื่อทำสิ่งที่ขัดกับตัวตน แม้กระทั่งกับงานบริหารก็มีความมัน มีความสนุก มีความสุขอยู่ในนั้น โดยเฉพาะตอนที่มันลุล่วงไปได้ด้วยดี ส่วนนี้เหมือนเติมกำลังให้เรา มีความสุขที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

สุดท้ายมีความรักเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานแค่ไหน
อย่างหนึ่งที่เราปลื้มคือเรารู้สึกว่าคนทำงานกับเรารักเรา เรารู้สึกได้ เมื่อวันก่อนมีงานเลี้ยงปีใหม่ ผู้จัดการโฆษณาคุยกับเราว่ารู้สึกดีกับเรามาก ถ้าเขาไม่พูดก็คงไม่รู้ เขารู้สึกดีที่เช้าขึ้นมาทุกวันพี่โหน่งเดินไล่ไปทีละห้องทุกห้อง โพล่หน้าเข้าไปหวัดดีทักทายน้องๆ เขาบอกว่าพี่ไม่ต้องทำก็ได้ แต่พี่ทำ และทำอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ทุกคนสบายใจ ส่วนเรื่องความรักเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีประโยชน์อะไรกับคนอ่านหรอก(หัวเราะ) ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ