อรวรรณ กรรณสูตร : คำวิจารณ์…. ไม่ใช่คำสบประมาท หากผู้วิจารณ์มีเหตุผลพอ

อรวรรณ  กรรณสูตร

วันนี้เป็นคิวของอีกหนึ่งนักเขียนที่ส่งผลงานเข้าร่วมกับ โครงการชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์ “อรวรรณ กรรณสูตร” ผู้มีใจรักการเขียนและหลงใหลในรสของนวนิยาย จนต้องจับปากกาเขียนหนังสือขึ้นมาบ้าง และคอลัมน์คุยนอกรอบของเรา ก็จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับชีวิตและแนวความคิดของผู้หญิงคนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ

เล่าประวัติสักเล็กน้อย
จบการศึกษาทางด้านการเงินการธนาคารมาค่ะ แต่งานที่ทำมาตลอดเป็นงานด้านดีไซต์ ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับที่เรียนมาเท่าไหร่นัก ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ จริงๆ แล้วเป็นคนที่ชอบงานเกี่ยวกับศิลปะ ชอบงานที่เกี่ยวกับภาษาและการเขียนมากกว่า จำได้ว่าชอบเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยที่มีสตรีสารภาคพิเศษที่เป็นของเด็กเล็กๆ เขาจะมีคอลัมน์ประมาณว่า เขียนเรื่องจากภาพ เราก็จะเขียนเรื่องส่งไปบ้าง จากนั้นก็มาเขียนจริงจังอีกทีก็ตอนโตแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนเรื่องสั้น ตอนนั้นก็เขียนส่งไปที่นิตยสารของคุณ ทมยันตี นอกจากนั้นก็ไม่เคยส่งประกวดที่ไหนอีกเลย ส่วนมากจะเขียนเก็บเอาไว้ เคยเอาไปโพสต์ในเน็ตบ้างแต่ไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะไม่ค่อยสันทัดเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต สำหรับโครงการชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์นี้ ถือเป็นการส่งผลงานประกวดเป็นครั้งแรก

แรงบันดาลใจในการเขียน
จะชอบอ่านหนังสือของคุณทมยันตีมาก เพราะเขาเขียนได้หลากหลาย และในเนื้อเรื่องจะมีการเล่นคำพูด มีการล้อคำ มีการแทรกบทกลอนหรืออะไรลงไปในนวนิยายของเขา พี่ก็จะชอบและจำเอาตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงานของตัวเองบ้าง จนบางทีกลัวว่าแนวการเขียนของเราจะเหมือนคุณทมยันตีไปหรือเปล่า

ถึงโครงการชมนาดฯ
นวนิยายที่ส่งประกวดกับโครงการชมนาดฯ เป็นเรื่องที่เริ่มเขียนเอาไว้แล้ว และถือเป็นเรื่องยาวเรื่องแรกที่เขียนเลย เพราะปกติจะเขียนแต่เรื่องสั้น พอเห็นว่ามีการประกวดแบบนี้ก็เลยลองส่งเข้ามาร่วมสนุก ที่สำคัญเห็นว่าคอนเซ็ปของการประกวดนี้ค่อนข้างดี เพราะเท่าที่เห็น หนังสือไทยไม่ค่อยได้ออกไปสู่สายตาชาวต่างประเทศสักเท่าไหร่ ถ้าเราสนับสนุนให้ออกไปบ้างก็ดี มันเป็นเรื่องน่ายินดีถ้าเราจะเผยแพร่วัฒนธรรมของเราออกสู่สายตาชาวโลกบ้าง อย่างละครหรือนิยายของเกาหลี เขาจะพยายามสอดแทรกเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ ของประเทศเขา เพื่อให้คนที่ดูได้ซึมซับและรู้สึกอยากที่จะไปเที่ยวบ้าง พี่มีเพื่อนทำทัวร์อยู่ที่เกาหลี ซึ่งเป็นทัวร์เพื่อให้คนไทยไปเกาหลีโดยเฉพาะ คนไทยจะชอบและอยากไปเที่ยวเกาหลีมาก เพราะส่วนหนึ่งเขาได้อิทธิพลมาจากละคร เห็นสถานที่ต่างๆ ในละคร และได้อ่านบทบรรยายในหนังสือ ซึ่งมันเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวเนื่องซึ่งทำให้เศรษฐกิจด้านอื่นดีขึ้นด้วย ก็เลยคิดว่าโครงการนี้ก็มีคอนเซ็ปที่ดีน่าสนับสนุนเช่นกัน

ข้อเสนอแนะต่อโครงการ
อยากให้คณะกรรมการมีคำวิจารณ์เกี่ยวกับผลงานให้ด้วยก็จะดี(แต่ก็ทราบว่ากรรมการคงไม่มีเวลา) เพราะว่าเราเองเป็นนักเขียนหน้าใหม่ บางทีก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องทางไหน แล้วเรื่องของแนวทางสำหรับรางวัลนี้ ก็อาจทำให้นักเขียนหลายท่านยังสับสน เนื่องจากเรามักเข้าใจว่า โครงการนี้ต้องการจะส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย โดยการแปลหนังสือไทยไปเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้แต่ละคนคิดว่าต้องเลือกแนวเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นไทยเท่านั้น เพื่อที่จะแสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศเรา แต่ผลรางวัลที่ประกาศออกมาเป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนในไทยและวัฒนธรรมจีนซะส่วใหญ่ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแปลกๆ ไปบ้าง แต่ก็ยอมรับว่าผลงานที่ได้รางวัลเป็นเรื่องราวที่ดีมากทีเดียว เพียงแต่มันทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยตรงจุดประสงค์ของโครงการหรือเปล่าเท่านั้นเอง

ความสำคัญของคำวิจารณ์
สำหรับพี่ถือว่าคำวิจารณ์ ไม่ใช่คำตำหนิ หรือว่าคำสบประมาทอะไร แต่มันเป็นการชี้ให้เห็นจุดบกพร่อง ชี้แนวทางให้เราแก้ไข ว่าเราบกพร่องตรงไหนบ้าง ในฐานะที่ผู้วิจารณ์มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ ยิ่งการเขียนนวนิยายนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจอีกหลายอย่างมาก เรายังใหม่ยังต้องการรู้อะไรอีกเยอะแยะ หากมีผู้เสียสละมาวิจารณ์ผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ๆ บ้าง เชื่อว่าอนาคตคุณก็อาจจะมีนักเขียนดีๆ มาประดับวงการมากขึ้น

คิดเห็นอย่างไรกับการวิจารณ์หนังสือที่มีน้อยลง
เรื่องการวิจารณ์มันอยู่ที่วิธีการ พี่ว่าคนไทยยังห่างไกลจากลักษณะของการวิจารณ์การเปรียบเทียบ หรือการแสดงความคิดเห็นอยู่มาก เพราะโดยลักษณะคนไทยไม่ชอบการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว การวิจารณ์เลยดูเหมือนเป็นการชวนทะเลาะกันซะมากกว่า แต่ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก อย่างเวลาเรียนเขาจะมีการวิจารณ์แสดงความคิดเห็น เปรียบเทียบกันได้เต็มที่ ไม่ต้องมาเกรงใจกัน แต่พอออกมาจากห้องแล้วก็คือจบ แต่คนไทยไม่เหมือนกัน คือเราจะเก็บความรู้สึกนั้นออกมานอกห้องด้วย ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่านักวิจารณ์ก็เลยไม่อยากจะวิจารณ์ ไม่อยากต้องมาเจ็บตัว แต่ความจริง ถ้าคุณใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม ไม่มากไปน้อยไปมันก็สามารถทำให้ดีได้ แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องไหนไม่ดี ก็มาพูดว่าเขียนมาได้ยังไง ห่วยจังเลย แบบนี้มันก็ไม่ใช่ มันดูไม่มีเหตุผลและเป็นการสบประมาทกันเกินไป นักวิจารณ์ควรจะมีความเป็นกลางด้วย ควรจะมีเหตุผลให้กับคำที่วิจารณ์ออกไป ว่ามันดีหรือไม่ดีตรงไหน และแนะแนวทางว่าจะแก้ไขอย่างไร

ถ้าจะส่งนิยายไทยออกนอก
เรื่องการผลักดันวรรณกรรมไทยออกไปสู่สายตาต่างชาติ มันค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้ามีความพยายามก็น่าจะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องการแปล ก็คงยากตรงที่มันเป็นการแปลงานวรรณกรรม ถ้อยคำหรือประโยคที่ใช้มันต้องเลือกให้เหมาะสม อารมณ์ต้องได้ตามของเดิม ซึ่งมันคงไม่ง่ายเหมือนการแปลทั่วไป แต่ถ้าหากมีการผลักดันตรงนี้ได้สำเร็จก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่วรรณกรรมของเราได้เผยแพร่ออกไป ชาวต่างชาติได้อ่านและมีความสนใจ ก็อาจจะต่อยอดไปถึงการนำเค้าโครงเรื่องไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ธุรกิจด้านนี้มันก็จะยิ่งเติบโตขึ้น อย่างน้อยในกลุ่มเอเชียก็ยังดี เพราะตอนนี้หลายๆ ประเทศในแถบเอเชียก็รุดหน้าไปมากแล้ว ประเทศไทยของเราน่าจะก้าวไปสู่ความสากลตรงนั้นได้บ้างเช่นกัน

เวลาเราอ่านหนังสือที่แปลจากต่างประเทศเราก็รู้สึกว่าได้ซึมซับ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขา ซึ่งเขาเองก็น่าจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเราในแบบเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันเรื่องนี้ก็คือ การนำหนังสือของเรามาแปลเสียก่อน เพราะถ้าเราไม่แปล ฝรั่งเขาจะมารู้ได้อย่างไรว่างานของเราดีหรือไม่ อย่างเช่น ถ้าเราอยากขายเสื้อผ้าแต่เราเก็บเอาไว้ในบ้านอย่างเดียว ไม่ยอมเอาออกมาให้ดูก่อน ก็คงไม่มีทางที่จะขายได้แน่นอน คืออันดับแรกควรที่จะลงทุนนำเสนอก่อนจึงจะดี

ชอบอ่านนิยายสไตล์ไหน
พี่เป็นคนไม่ค่อยชอบนิยายสไตล์ละครไทยสักเท่าไหร่ ประเภทว่าด่าทอ ตบกัน แย่งผู้ชาย แสดงอารมณ์ที่มันรุนแรงเกินกว่าเหตุไป อ่านหรือดูแล้วมันเครียด ส่วนใหญ่จะชอบนิยายสไตล์เกาหลี เพราะ นางรองของเขาจะไม่ใช่ตัวร้าย ถึงร้ายก็จะไม่ไปด่าทอ ตบตีนางเอก บางครั้งเป็นคนดีด้วยซ้ำ นิสัยดีมาก แต่พระเอกไม่ชอบ ซึ่งบทบาทของเขามันก็คือคนที่มาทำให้ความรักของพระเอกนางเอกไม่ราบรื่นเท่านั้นเอง นิดเดียวเท่านั้น ไม่ได้ขัดขวางอะไรมากมายเหมือนนางร้ายในละครไทย

คิดอย่างไรกับหนังสือแนวรักวัยรุ่น
หนังสือแนวนี้มีผู้ใหญ่หลายคนแอนตี้นะ แต่เขาคงลืมไปว่าตอนตัวเองวัยรุ่น ก็ต้องชอบอะไรหวานแหววแบบนี้เหมือนกัน จริงๆ แล้วผู้ใหญ่หรือสำนักพิมพ์ควรที่จะมาช่วยกันดูเรื่องเนื้อหามากกว่า เพราะปัญหาของการอ่านหนังสือก็คือ เราไม่ได้กำหนดว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะกับคนวัยไหน ซึ่งมันก็อาจทำให้เด็กเริ่มอ่านหนังสือที่ไม่เหมาะกับวัยได้เช่นกัน จริงๆ แล้วจัดเรตหนังสือไปเลยก็ดีเหมือนกัน ถึงมันจะช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยผู้ใหญ่ก็จะช่วยดูได้ว่าลูกหลานของเรากำลังอ่านหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเขาหรือเปล่า ยิ่งหนังสือการ์ตูนนี่ยิ่งน่ากลัวนะ เรามองข้างนอกเห็นแต่ว่าเป็นการ์ตูน ไม่รู้เลยว่าเนื้อหาข้างในเป็นอย่างไรบ้าง แล้วพวกนิตยสารแฟชั่นที่มีรูปผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยอะไรพวกนี้ก็ด้วย คุณนำมาวางในร้านหนังสือ เด็กๆ ก็ไปยืนอ่านยืนดู มันก็ทำให้เขาซึมซับสิ่งไม่ดีเข้าไป

การส่งเสริมการอ่านของเด็กไทย
ก็อยากให้มีการส่งเสริมมากๆ นะคะ อย่างโรงเรียนของลูกพี่เขาจะมีรางวัล"หนอนหนังสือ" คือนักเรียนอ่านหนังสือได้กี่เล่มก็จะลงบันทึกไว้ แล้วก็จะมีการให้รางวัล อย่างห้องสมุดก็น่าจะสนับสนุนให้มีเยอะๆ หน่อย เพื่อที่คนจะได้อยากเข้าไปอ่านมากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ดีนะเพราะเห็นร้านหนังสือหลายแห่งก็ให้เด็กๆ เข้าไปนั่งอ่านได้ ที่สำคัญพี่คิดว่าหนังสือเด็กแพงมากเลยนะ อาจจะเป็นเพราะคุณภาพของกระดาษและเทคนิคต่างๆ จึงทำให้ราคาสูง ฉะนั้นทางออกที่ดีก็คือการมีห้องสมุดเยอะๆ นี่แหละ แล้วพ่อแม่หรือคุณครูก็ต้องช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักรักการอ่านกันมากขึ้นด้วย

 

โดย...ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ