ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ความถ่อมตนแห่งปราชญ์ผู้มาทันการณ์

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

มาถึงวันนี้ ทุกคนคงรู้จัก ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักคิดนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 24 ประจำปี 2555 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจรู้จักท่านผู้นี้ในฐานะ นักวิจัยสันติภาพและสันติวิธีคนสำคัญของเมืองไทย นักเขียนผู้มีผลงานทางวรรณกรรมหลากหลาย ทั้ง งานวิชาการ สารคดี และงานแปล หรือแม้กระทั่งการเป็นบรรณาธิการ รวมถึงภาระหน้าที่อื่นๆ อย่างการเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดพิมพ์ คบไฟ, ผู้อำนวยการ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา, รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ แต่ไม่ว่าท่านผู้นี้จะดำรงอยู่ในบทบาทหน้าที่ใด ทุกวิถีที่ท่านดำเนินไปนั้นล้วนยืนหยัดอยู่บนหนทางแห่งสันติวิธีทั้งสิ้น เพียงที่ว่ามานี้ เราท่านอาจไม่ฉงนฉงายเลยสักนิดถึงที่มาที่ไปในการตัดสินใจของคณะกรรมการให้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัลศรีบูรพาให้กับบุคคลทานนี้ แต่สำหรับศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แล้ว กลับมองว่าสิ่งที่ตนเองทำ เป็นเพียงหน้าที่ของอาจารย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้มีอะไรสลักสำคัญไปมากกว่านั้น

“ผมเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของรัฐเท่านั้นเอง ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ก็เลยรู้สึกว่าผมไม่เห็นจะคู่ควรเลยที่จะได้รับรางวัลนี้ และเมื่อทางกรรมการเขาบอกว่าผมได้รับรางวัล ผมก็บอกกับเขาอย่างนี้เหมือนกัน” เย็นวันหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่อาบอวลด้วยกลิ่นไอของการแสวงหาและเรียกร้องความถูกต้อง พวกเราทีมงานประพันธ์สาส์นใจจดจ่อรอคอยชมบารมีของผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด แน่ล่ะ ตามการนัดหมาย วันนี้เราจะได้มีโอกาสสนทนากับท่าน ที่ห้องพักอาจารย์ ตึกรัฐศาสตร์ ชั้น 3 แล้ววินาทีที่เราเฝ้ารอก็มาถึง อาจารย์ชัยวัฒน์เดินออกมาจากลิฟต์พร้อมกับคณาจารย์ท่านอื่นๆ แต่ได้ยินเสียงดังหนักแน่นของอาจารย์นำหน้ามาก่อนจะพบตัว เมื่อพบหน้ากัน อาจารย์หน้าดุแต่ท่าทางใจดีผู้มีประกายแห่งความเมตตาฉายแววอยู่ในตาท่านนี้ ก็รีบกุลีกุจอพาพวกเราเข้าไปที่ห้องพักอาจารย์เล็กๆ ที่ถูกทำให้เล็กลงไปอีกด้วยกองหนังสือมหึมา ตำรับตำรามากมายวางนิ่งเป็นปราการอยู่ล้อมรอบตัว อาจารย์จัดแจงที่อยู่ที่ยืน ให้พวกเราสองสามคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายในห้องแคบๆ เมื่อพวกเราอยู่กันอย่างสงบแล้ว อาจารย์ก็ขอตัวไปทำหน้าที่ของศาสนิกชนที่ดี “เดี๋ยวผมมานะ ขอไปละหมาดก่อนสักห้านาที”

เรารอแค่เพียงอึดใจ อาจารย์ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมรอยยิ้มกว้างนำทางมาแต่ไกล เป็นรอยยิ้มที่สร้างความอุ่นใจให้เราอย่างยิ่ง อาจารย์หนุ่มใหญ่เดินกระฉับกระเฉงมานั่งลงบนเก้าอี้คู่กาย หันมายิ้ม พร้อมส่งสัญญาณแห่งความพร้อม แล้วการสนทนาในบรรยากาศผ่อนคลายยามเย็นก็เริ่มต้นขึ้น...... อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างคะที่ได้รับรางวัลศรีบูรพาปีนี้ ตกใจแทบสิ้นสติ!(ทำตาโต)

ทำไมอาจารย์ถึงขนาดนั้นคะตกใจมาก คือความรับรู้ของผมต่อรางวัลนี้ คล้ายกับเขาให้สำหรับคนที่เป็นนักเขียนหรือนักหนังสือพิมพ์ และมีชีวิตที่เป็นแบบฉบับในฐานะนักเขียนกับนักหนังสือพิมพ์ แล้วผมก็รู้ตัวดีว่าผมไม่ใช่ทั้งคู่ ไม่ใช่ทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผมเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของรัฐเท่านั้นเอง ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ก็เลยรู้สึกว่าผมไม่เห็นจะคู่ควรเลยที่จะได้รับรางวัลนี้ และเมื่อทางกรรมการเขาบอกว่าผมได้รับรางวัล ผมก็บอกกับเขาอย่างนี้เหมือนกัน

ให้อาจารย์ช่วยพูดถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิดนักเขียนคนสำคัญท่านนี้หน่อยคะ ผมคิดว่าคุณกุหลาบเนี่ย เป็นสุภาพบุรุษ แล้วเป็นตัวแทนของอุดมคติบางอย่างในฐานะที่เป็นสุภาพบุรุษในยุคสมัยที่ความดี ความงาม ความถูกต้อง เป็นของมีคุณค่า แล้วท่านก็ยืนหยัดบนฐานสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ท่านเชื่อ ซึ่งในนั้นก็รวมถึงคุณค่าในเรื่องสันติภาพด้วย เวลาที่เปลี่ยนไป เราจึงจำเป็น หรือว่านับวันยิ่งต้องการอุดมคติแบบนี้ให้มันยังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ศรีบูรพาเป็นตัวแทนของอุดมคตินี้ มันไม่ใช่แค่เป็นนักเขียน แค่เป็นนักข่าว ซึ่งสองอย่างนี้เป็นของที่มีคุณค่ามาก เพราะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในสังคมเนี่ย ผมเชื่อเหมือนที่อาจารย์บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ท่านเคยเขียนไว้ ท่านบอกว่างานมวลชน งานสื่อมวลชน เนี่ย มันเป็นทั้งกระจกและตะเกียง คือมันเป็นกระจกในความหมายที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นความจริงในสังคม แต่เป็นตะเกียงช่วยส่องทางไปข้างหน้าว่า แล้วสังคมน่าจะเดินไปทางไหน เพราะฉะนั้น นักเขียนนักหนังสือพิมพ์นั้นทำงานอย่างนั้น ซึ่งผมว่ามันมีคุณค่ามหาศาล และตัวเองน่ะทำไม่ได้หรอก ไม่ถึงหรอก ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยคู่ควรกับรางวัลนี้เท่าไร แล้วกับงานเขียนที่อาจารย์ทำอยู่ อย่างงานเขียนทางวิชาการ ก็ถือเป็นงานประเภทนอนฟิกชั่น เขียนเรื่องจริง นำเสนอเรื่อจริง อาจารย์คิดว่างานเขียนประเภทนี้มันมีความยากง่ายในการสร้างสรรค์อย่างไร แตกต่างจากงานฟิกชั่นอย่างไร

อันนี้คุณกำลังเปิดประเด็นที่สำคัญ ผมอาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง คือผมคิดว่างานเขียนทั้งหลายอาจจะไม่มีแบบอื่นนอกจากฟิกชั่น เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ค่อยแบ่งว่าอะไรเป็นฟิกชั่นอะไรเป็นนอนฟิกชั่น เพียงแต่สไตล์ของการเขียน ไวยากรณ์ที่ควบคุมงานเขียนอาจจะต่างออกไป เพราะฉะนั้น ในทางหนึ่ง งานเขียนที่เราเรียกว่างานเขียนทางวิชาการ ก็แปลว่ามันมีไวยากรณ์ของการกำกับงานเขียนนั้นที่แตกต่างไปจากไวยากรณ์ของงานเขียนในอีกแบบหนึ่ง เช่นงานเขียนนั้นต้องมีการอ้างอิง มีแบบของการอ้างอิงที่ถูกต้อง หมายความว่า งานเขียนวิชาการไม่ได้เป็นฟิกชั่นตั้งแต่ต้น เพราะงานเขียนวิชาการโดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์นั้น ดูกันให้ถึงที่สุดมันก็อาจจะมีพระเอกมีผู้ร้าย มีพล็อตอะไรไม่ต่างจากฟิกชั่นเท่าไร คุณจะพูดเรื่องอะไร ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประวัติศาสตร์สยามแต่โบราณ ก็มีพระเอก มีผู้ร้าย เห็นไหม มีพล็อตไม่เห็นจะต่างอะไรจากฟิกชั่นเลย เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่เป็นนวนิยายที่มีความน่าตื่นเต้นมาก อาจจะคือสิ่งซึ่งเกิดในประวัติศาสตร์ของเรา

อาจารย์นำวรรณกรรมไทยมาใช้ในการสอนเรื่องการเมืองด้วย มันไม่ใช่การใช้วรรณกรรมมาสอน แต่ผมสอนวิชาชื่อการเมืองกับนวนิยายด้วย และผมก็ใช้นวนิยายในการสอนเรื่องของการเมือง และนิยายที่ผมก็เลือกก็เป็นนิยายชาวบ้านด้วย แต่จะพูดว่าเป็นนิยายชาวบ้านซะทีเดียวก็ไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่นิยายหัวสูง นิยายชาวบ้านคือนิยายที่เขาจะมีโอกาสเอาไปทำเป็นละครโทรทัศน์แล้วก็เรตติ้งสูงๆ เนี่ย พวกเนี่ย ผมใช้ ผมจะใช้นิยายแบบนี้ ผมไม่ใช้ข้างหลังภาพ เท่าไร หรือไม่ใช้เลย ไม่ใช้ปิศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ แต่ผมใช้สาปภูษา ของพงศกร เรื่องผีอย่างนี้ ผมใช้ดอกส้มสีทอง เนี่ย ผมจะนำเรื่องพวกนี้มาสอน

เพราะอะไรถึงเลือกเรื่องพวกนี้ขึ้นมาสอน มันง่ายมากเลย เพราะถ้าสมมติว่าการเมืองเนี่ย มันเป็นเรื่องที่อยากจะเข้าใจว่าคนในสังคมคิดอะไร ก็ต้องตอบว่า คนในสังคมเนี่ย (ถ้าผมถูกนะ) การที่นิยายเหล่านั้น หรือละครเหล่านั้นกลายเป็นที่นิยมขนาดนั้น ในโลกซึ่งเป็นธุรกิจแบบนี้ การโฆษณาธุรกิจ เขาคงไม่ลงไปกับของซึ่งไม่มีคนดู ไม่มีคนอ่าน ในเมื่อเขาลงไปกับของที่มีคนดูคนอ่าน ก็หมายความว่ามันต้องไปจับเส้นบางอย่างของคนดูคนอ่านถูก ก็หมายความว่า ถ้าเราอยากจะเข้าใจว่าคนในสังคมนี้ว่าคิดอย่างไร เราก็ตามดูในสิ่งที่เขาอ่าน มันคล้ายๆ อย่างนี้ ผมจะสอนนักศึกษาผมว่าอย่างนี้ สมมติว่าเราเดินทางไปต่างประเทศมันก็จะมีวิธีการในการศึกษาประเทศนั้นได้หลายวิธี แต่ผมจะไม่แนะนำว่า ให้ถามหาตำราการปกครองของประเทศนั้น อ่านรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น หรืออ่านหนังสือนำเที่ยว ผมแนะนำว่าให้เข้าไปในร้านหนังสือ แล้วถามว่า อะไรคือนิยายขายดีที่สุด ที่เขียนโดยคนของคุณเอง ใช่มะ ถ้าเขามีฉบับแปลเป็นภาษาที่คุณอ่านออก อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมันอะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณอ่านออกคุณอ่านไป ถามว่าทำไม เพราะเหตุผลเมื่อกี้ ก็คือ นิยายที่ขายดีขนาดนั้นเป็นเบสต์เซลเลอร์ ขายแล้วขายอีก ก็แปลว่ามันจับใจจับความคิดของคนในสังคมได้บางอย่าง และดังนั้นถ้าหากคุณอยากจะเข้าใจคนในสังคมนั้น ก็อันนี้นี่แหละดีที่สุด ในแง่นี้นิยายเป็นเรื่องสำคัญกว่าตำรา

ตอนนี้อาจารย์มีผลงานที่เขียนเป็นประจำลงที่ไหนบ้างคะ อันนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะผมไม่ได้เขียนอีกแล้ว คุณคงเห็นชุด ราวกับมีคำตอบ, มีกรอบไม่มีเส้น และถึงเว้นไม่เห็นวรรค สมัยนู้น ผมเขียนประจำอยู่ที่นิตยสารไฮคลาสแล้วต่อมาก็มีความรู้สึกว่าเรื่องมันไม่ค่อยอยากจะเขียนแล้ว เพราะมันต้องมีเดตไลน์ แล้วเราก็ต้องบังคับตัวเองให้เขียน ก็เลยหยุด พอหยุดแล้วก็มานั่งเสียดาย ว่า....เอ เราน่าจะเขียน พอเห็นเรื่องเห็นคนเยอะแยะก็น่าจะเขียนอีก แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มยังไงหมายความว่า คล้ายๆ กับไปเขียนให้อะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่อยากจะไปสัญญิงสัญญากับใคร เพราะงานในหน้าที่ก็เยอะอยู่พอสมควร แต่อยากเขียนนะ

อาจารย์คิดว่างานวิชาการ วรรณกรรมต่างๆ มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมอย่างไร อย่างที่ผมบอก งานวรรณกรรมอาจจะมีส่วนสำคัญยิ่งกว่างานวิชาการเสียอีก เพราะว่า มันเข้าถึงใจคน งานวิชาการมันมีพลังในการอธิบาย แต่คุณไม่ได้เดินออกไปบนถนนเพราะคุณอ่านงานวิชาการดีๆ แต่คุณอาจจะเดินออกไปบนถนนเพราะคุณอ่านบทกวีดีๆ นึกออกมะ ในแง่นี้ถามว่า บทกวีมันมีพลังอย่างไรที่ทำให้คนลุกออกจากที่แล้วเดินออกไปบนท้องถนนได้ ผมคิดว่า เพราะบทกวีมันทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคน ในขณะที่งานวิชาการทั่วไป โดยทั่วไปซึ่งทำงานกับความคิด สมอง หรืออะไรทำนองนี้ มันมีพลังก็จริง แต่มันมีพลังในเรื่องของการอธิบาย แต่มันอาจจะไม่ได้มีพลัง คือไม่ใช่ว่าไม่มีเลยนะ มันมีนะงานวิชาการที่ทรงพลังมหาศาล ผมก็นึกชื่อออก ในต่างประเทศก็มีบ้างบางชิ้น แต่โดยทั่วไปมันไม่ มันก็เป็นพลังในการอธิบาย แต่มันไม่ได้ผลักให้คุณออกไปทำอะไรอีกขั้น เพราะฉะนั้นมันคล้ายกับว่าเราต้องการอะไรอีกสเต็ปหนึ่ง นั่นแหละพลังของวรรณกรรม เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้หมายความว่า ตกลงแล้วงานวิชาการไม่ได้เปลี่ยนโลก ผมไม่ได้ตอบอย่างนั้น แต่ผมหมายความว่าวิธีที่มันทำงาน ต้องร่วมกับเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง

แล้วในสภาพสังคมอย่างทุกวันนี้ อาจารย์คิดว่าเราควรมีการสร้างวรรณกรรมแบบไหน มีเนื้อหาอย่างไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง คิดว่าสังคมนี้มันจำเป็นจะต้องมีวรรณกรรมในเชิงวิพากษ์มากขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งที่ถูกปิดถูกบังอีกอยู่พอสมควร อีกด้านหนึ่งที่น่าจะมีก็คือ มีวรรณกรรมที่เป็นทางเลือก มีการทดลองใหม่ๆ ของงานเขียน คือผมอ่านงานอย่างเช่น นิยายที่เกี่ยวกับภาคใต้ ผมชอบงานของศิริวร แก้วกาญจน์ แล้วผมคิดว่าเขากำลังทดลองวิธีการเขียนถึงภาคใต้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยเห็น จะพูดว่าไม่เคยก็ไม่กล้า (หัวเราะ) นี่แหละ ปัญหาของนักวิชาการ คือถ้าไม่ใช่นักวิชาการก็จะพูดไปเลยว่าไม่เคย แต่พอเป็นนักวิชาการก็สงสัยว่าคุณรู้ไปหมด ก็ดีอยู่นะ ต้องระวังนิดหน่อย ไม่กล้าพูดว่ามันไม่มีใครทำ แต่อย่างน้อยมันเป็นการทดลองที่น่าสนใจ อย่าง ช่างซ่อมตุ๊กตาจากอาเคเซีย ผมคิดว่าน่าสนใจ มันเป็นนวนิยายที่อ่านได้หลายชั้นมาก ถ้าหากว่าอยากจะเข้าใจภาคใต้

สรุปก็คือน่าจะมีงานประเภทวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แล้วก็เพิ่มทางเลือกให้คนอ่าน ทางเลือก หมายความว่า มีนักเขียน นักเขียนนวนิยายที่พร้อมจะ explore คือเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ ไปทดลอง ทดลองวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ในงานวรรณกรรมของตัวเอง ผมว่าอันนั้นน่าสนใจ อาจารย์หยิบงานนวนิยายของนักเขียนหลายท่านหลายเรื่องมาสอนนักศึกษาในชั้น มีบางห้วงหรือเปล่า ที่อยากแต่งนวนิยายของตัวเอง

ตลอด ตลอดเลย แต่ว่าไม่มีปัญญาไง (หัวเราะ) ไม่มีสองอย่าง ไม่มีปัญญากับความกล้า แอบคิดพล็อตไว้บ้างหรือยัง คิด ชื่อก็ตั้งไว้แล้ว พอจะเปิดเผยได้ไหม เปิดเผยเหรอ ได้สิ เนื่องจากผมสนใจเรื่องความรุนแรง พล็อตที่ผมคิดไว้ก็จะเป็นเรื่องที่พูดถึงคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องของความรุนแรง แต่พอผ่านเวลาไปแผลนั้นมันยังไม่ตกสะเก็ด ยังไม่แห้ง ยังไม่หาย เราจะอยู่กับมันอย่างไร คล้ายๆ อยากจะทดลอง คือเราเห็นเรื่องพวกนี้มาพอสมควร เราอ่านเรื่องพวกนี้มาพอสมควร มันก็มีอยู่บ้าง เราก็อยากจะลองทำมันให้เป็นนิยาย อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะทำมากก็คือ (ถ้าประพันธ์สาส์นจะให้เขียนก็น่าลองนะ) คือนิยายว่าด้วยการจราจร คือผมว่ามันไม่มีใครเขียนน่ะ อยากลอง ส่วนชื่อเรื่อง..... อย่าบอกดีกว่า

นอกจากงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง อาจารย์มีการนำเสนองานในประเด็นอื่น แง่มุมอื่นหรือไม่ คือ...งานผมมันอยู่ใน 3 เรื่อง คือในแง่วิจัยก็ค่อนข้างชัดเจน คือทำในเรื่องความรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เผยแพร่ในภาษาไทย คือเป็นการศึกษาเรื่องศาสนาอิสลามกับเรื่องสันติวิธี เรื่องศาสนาอิสลามกับเรื่องสันติวิธีนี่ก็ทำมาตลอด งานชิ้นหลังที่ตีพิมพ์ มันเป็นงานเล็กๆ น่ะ แต่ว่าตีพิมพ์ในต่างประเทศ ก็จะเป็นความเรียงว่าด้วยสามศาสนา Essays of the Three Prophets: Nonviolence, Murder and Forgiveness (Dunedin: Dunedin Abrahamic Interfaith Group, University of Otago, 2011) ก็คือศึกษาพระพุทธองค์ พระเยซู กับศาสดามูฮัมหมัด ในประเด็นสำคัญสองสามเรื่องคือเรื่องการฆาตกรรมการฆ่ากัน การให้อภัย แล้วก็เรื่องสันติวิธี ก็ดูว่ามันมีแบบอย่างไรที่ศาสดาเหล่านั้นจัดการกับปัญหาแบบนี้ ก็เป็นงานที่ตัวเองทำ และงานที่เพิ่งเขียนเสร็จไป ผมต้องเขียนงานที่มาจากงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่ทำในทีมที่ทำเรื่องสันติวิธี ส่งไปแล้ว มันยังไม่เผยแพร่เป็นภาษาไทย คือ งานเรื่อง Humor, Witnessing and Electronics Nonviolence Action ก็คือ อารมณ์ขัน การเป็นพยาน และสันติวิธีในโลกอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้ base on งานวิจัยที่พวกเราทำในประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าเป็นงานวิจัยยุคใหม่ที่ไปไกลพอสมควรในแวดวงระหว่างประเทศ แต่คนรุ่นใหม่ๆ เขาทำนะ

ในสภาพสังคมไทยที่มีความขัดแย้งหลายอย่าง ทั้งเปิดเผยให้เห็น(อย่างที่รู้ๆ กัน) และไม่เปิดเผย อาจารย์คิดว่าสันติวิธีในสังคมไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ มันจะเดินหน้าไปทางไหนไม่รู้ แต่ที่รู้ก็คือ ข้อแรก ผมคิดว่าความขัดแย้งในสังคมไทยมันสลับซับซ้อนขึ้นเยอะ ที่รู้ก็คือว่า ดังนั้นมันมีความจำเป็นต้องคิดเรื่องสันติวิธีเพิ่มมากขึ้น ที่รู้ก็คือว่า มันมีคนคิดเรื่องเหล่านี้ได้เยอะในสังคมนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เต็มไปหมดนะครับ ทั้งข้างบนข้างล่าง ข้างซ้ายข้างขวา อะไรเนี่ย หมายความว่า คนที่เป็นชนชั้นนำ คนที่เป็นชาวบ้านชาวไร่ชาวนา อะไรเขาก็ทำกันอยู่ คนที่เสียเปรียบในสังคมเขาก็ลุกขึ้นมาใช้สันติวิธีเป็น เขาจะเรียกมันว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่ไม่รู้ แต่ว่าผมเห็นความพยายามในการทำเรื่องเหล่านี้อยู่ในสังคมไทยมากขึ้น แต่ถึงจะเห็นของพวกนี้มากขึ้น ก็มีคำถามต่อว่าแล้วมันจะหยุดยั้งป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะกลายเป็นความรุนแรงได้ไหม ไม่มีใครรับประกันได้ เพราะฉะนั้นก็เลยจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีทางเลือกพวกนี้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสของความเสี่ยงในอนาคตที่จะถึง อันนี้ผมรู้ แต่ว่ามันจะไปทางไหนผมไม่รู้.

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ