สหบทในฐานะกระบวนทัศน์วรรณคดีศึกษา ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานประชุมวิชาการ “หลากมิติแห่งวรรณคดีเปรียบเทียบ ลุ่มลึก หลากหลาย และรื่นรมย์” ณ ห้อง 707 ชั้น 7 อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยช่วงหนึ่งของงาน ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ขึ้นมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘สหบทในฐานะกระบวนทัศน์วรรณคดีศึกษา ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย’
รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ได้กล่าวบรรยายถึง ‘สหบท’ ว่าเป็นแนวคิดหรือกระบวนทัศน์ที่ทำให้เข้าใจภาษาวรรณคดีมากขึ้น ซึ่งสหบท หรือ Intertextuality เป็นคำที่จูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) นักปรัชญาและนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เริ่มใช้เป็นคนแรกในราวทศวรรษที่ 1960 โดยปรับประยุกต์มาจากแนวคิดทฤษฎีภาษาศาสตร์ของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิส เฟอร์ดิน็องด์ เดอโซซูร์ กับทฤษฎีภาษาและวรรณกรรมของมิคาเอล บัคติน นักทฤษฎีทางภาษาและวรรณคดีชาวรัสเซีย ที่เสนอว่า ธรรมชาติของภาษามีลักษณะเป็นบทสนทนา และภาษาประกอบด้วยหลากหลายเสียงทั้งเสียงตนเองและเสียงของผู้อื่น แนวคิดเรื่องเสียงของผู้อื่นนี้ทำให้ตัวบทเป็นการปะทะกันทางอุดมการณ์และคำพูดที่มี คริสเตวาเห็นว่าตัวบทในกวีและวรรณกรรมเป็นวาทกรรมหลากหลายเสียง และตัวบทเป็นสหบทที่เอาตัวบทต่างๆ มาปะติดปะต่อกันเหมือนภาพโมเสกในลักษณะหลอมรวมและการแปรรูป คริสเตวาจึงเรียกลักษณะที่ผสมผสานกันในตัวบทว่า ‘สหบท’
นอกจากนี้ รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ยังได้ยกตัวอย่างแนวคิดสหบทซึ่งพบในงานกวีนิพนธ์เพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น
ตัวอย่างแรกคือเรื่อง ‘ยิ้มของแม่โพสพ’ ตอนหนึ่งในกวีนิพนธ์เรื่อง ‘ใบไม้ที่หายไป’ ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งหากอ่านแล้วก็จะพบว่าความหมายของแม่โพสพตอนต้นบทกับตอนท้ายบทไม่เหมือนกัน เป็นความฉลาดของผู้เขียนที่ใช้วิธีการเขียนความหมายให้เลื่อนไหลย้อนแย้งว่า แม่โพสพเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ เวลาที่จะทำการเกษตร เกษตรกรต้องไหว้พระแม่โพสพ แต่ในโพสพความเป็นจริง จิระนันท์เสนอว่าแม่โพสพคือผู้หญิงที่ใช้แรงงานในการผลิตข้าวเพื่อเป็นอาหารของคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสนทนาเรื่องความเชื่อเรื่องแม่โพสพแบบดั้งเดิม กับความเชื่อของผู้ประพันธ์ที่บอกว่าแม่โพสพคือคนที่เดินยิ้มพร้อมแบกข้าวมาคนนั้นต่างหาก
รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร บรรยายถึงแนวคิดสหบทต่อว่า ในตัวบทหนึ่งๆ นั้นจะมีถ้อยคำหลากหลายเสียงซึ่งเกิดจากการนำตัวบทอื่นๆ มาเชื่อมโยงกลายเป็นตัวบทใหม่ เปรียบได้กับเส้นใยที่สานทอสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ สหบท หรือ Intertextuality ตามความหมายของคริสเตวาจึงมิได้มีความหมายเพียงสัมพันธบท หรือเพียงการบรรจบเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ เท่านั้น หากแต่หมายถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในบทนั้นๆ ต่างหาก
“สหบทเป็นทฤษฎีที่ท้าทายแนวคิดที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าตัวบทมีความหมายที่แน่นอนตายตัว ทฤษฎีสหบทเห็นว่าตัวบทวรรณคดีสร้างขึ้นจากระบบสัญญะและขนบวรรณศิลป์ของวรรณคดีที่มีมาก่อน ระบบสัญญะ ขนบวรรณศิลป์และวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความหมายของตัวบท ศักยภาพของผู้อ่านจึงมีความสำคัญมาก ถ้าผู้อ่านที่มีประสบการณ์ในการอ่านเยอะจะสามารถเชื่อมโยงตัวบทแต่ละตัวไปยังตัวบทอื่นได้มากกว่าคนที่มีประสบการณ์ในการอ่านน้อย ในแวดวงวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็นำแนวคิดสหบทนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ และยังใช้ในการวิจารณ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมและสื่อประเภทภาพยนตร์ ทำให้แนวคิดสหบทมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับนักทฤษฎีแต่ละคนจะปรับประยุกต์ใช้ตามแนวทางของตน”
ลำดับถัดมา รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ได้ยกตัวอย่างงานกวีนิพนธ์อีก 2 เรื่อง และวิเคราะห์ความเป็นสหบทในงานนิพนธ์นั้นให้แก่ผู้ที่มาร่วมฟังบรรยายได้ฟัง
ตัวอย่างหนึ่งคือบทกวีนิพนธ์เรื่อง ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ ของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เนื้อหาในเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ขบวนนักศึกษาประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญและความเป็นธรรมต่างๆ ในเนื้อหาบ้างเล่าเรื่องสงคราม บ้างเล่าชีวิตชนบท บ้างแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ แนวคิดและทัศนคตดิต่อสังคม
เมื่อนำทฤษฎีสหบทของคริสเตวามาวิเคราะห์ในภาพรวมก็พบว่ากวีนิพนธ์เรื่องนี้สานทอตัวบทกวีแต่ละบทจากสหบทและวาทกรรมชุดต่างๆ ดังจะแยกได้ดังนี้
ㆍสหบททางสังคมและการเมืองของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนในช่วง 14 ตุลาคม 2516-2519
ㆍสหบทแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตและวาทกรรมความรักชาติภาคประชาชน สหบทพุทธศาสนาสำนักพุทธทาสภิกขุและปรัชญาแนวเซ็น
ㆍสหบทธรรมชาติและสหบทความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเปรียบเสมือนมด หรือการเปรียบเทียบ การขยับปีกของเหยี่ยวที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียวแล้วทำให้น้ำกระจาย มีหลายบทมากที่เปรียบเทียบกับสุนทรียะที่มาจากธรรมชาติ มนุษย์ได้เรียนรู้จากธรรมชาติเป็นอุทาหรณ์สอนใจ เป็นสัจธรรม
ㆍสหบทอันหลากหลายนี้ผ่านการปรับประยุกต์ขนบวรรณศิลป์ไทยแบบฉบับและวรรณศิลป์พื้นบ้าน รวมทั้งตัวบทวรรณคดีเอกบางเรื่องและเพลงไทยเดิม เป็นสุนทรียศิลป์เฉพาะตนตามแบบเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ให้ขนบวรรณศิลป์และฉันทลักษณ์ดั้งเดิมสามารถนำเสนอเนื้อหาทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน หลากหลายและมีพลัง
รศ.ดร. ตรีศิลป์ ยังวิเคราะห์ต่อถึงสหบทในแนวทางของผู้เขียนว่า “ตัวบทที่เรากำลังอ่านนั้นประกอบสร้างขึ้นจากตัวบทอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า ทั้งตัวบทวรรณกรรมและตัวบททางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เปรียบง่ายๆ ก็คือผู้เขียนนำภาพต่อของตัวบทอื่นๆ มาประกอบสร้างเป็นตัวบทใหม่”
“ในส่วนสหบทของผู้อ่านนั้น ตัวบทที่ผู้อ่านเคยอ่านหรือเคยรับรู้มาก่อนก็มีส่วนในการประกอบสร้างความหมายของตัวบทที่เรากำลังอ่านอยู่ด้วย ตัวบทที่เรากำลังอ่านจึงเป็นสหบทของเครือข่ายตัวบทที่ผู้เขียนสานทอหรือประกอบสร้างขึ้น และผู้อ่านเองก็อาจร่วมสร้างความหมายให้ตัวบทจากประสบการณ์การอ่านตัวบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วยนั่นเอง”
อีกหนึ่งงานที่ รศ.ดร. ตรีศิลป์ ยกมาเป็นตัวอย่างก็คือกวีนิพนธ์เรื่อง ‘เพลงแม่น้ำ’ ผลงานของคุณโขงรัก คำไพโรจน์ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากความผูกพันของผู้เขียนที่มีต่อแม่น้ำโขง นำเสนอให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน สายน้ำ ธรรมชาติ แต่ทุกอย่างทั้งแม่น้ำและระบบนิเวศต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยฝีมือของมนุษย์ โดยผู้เขียนเอาตัวตนและความรู้สึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำและถ่ายทอดออกมา ถือเป็นงานนิเวศเชิงลึกที่งดงามอีกชิ้นหนึ่ง
รศ.ดร. ตรีศิลป์ กล่าวว่า “กวีนิพนธ์เรื่องเพลงแม่น้ำมีความโดดเด่นด้วยการใช้ท่วงทำนองและลีลาแบบสายน้ำที่ ‘เงียบยามไหล ไหวยามลึก’ ดุจลีลาของแม่น้ำโขง การย้อนรำลึกความทรงจำในอดีตที่บ้านเกิดริมฝั่งโขงรุ่มรวยด้วยสหบทอันหลากหลายทั้งความทรงจำในวัยเยาว์ เรื่องเล่าและตำนานพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชุมชน วิถีอาชีพทั้งประมงและเกษตร การเลือกสัญญะที่มาจากเครื่องมือในการทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านสานทอกับเรื่องเล่าของคนเล็กคนน้อยที่เคยพึ่งพาอาศัยสายน้ำโขง ทำให้เรื่องเล่าประสบการณ์ในวัยเยาว์ของกวีไม่ได้เป็นเพียงประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล แต่เป็นประสบการณ์ร่วมของชุมชน”
ไม่เฉพาะการใช้ทักษะวรรณศิลป์ที่ทำให้ภาษาในการเล่าสละสลวย หากแต่ยังทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดและมองเห็นถึงชีวิตในยุคทุนนิยมได้อย่างชัดเจนด้วย
“กวีนิพนธ์เรื่องเพลงแม่น้ำยังมีความน่าสนใจเรื่องมิติของสถานที่และพื้นที่ บ้านเกิดเป็นสถานที่แห่งความทรงจำในวัยเยาว์ที่อบอวลด้วยความรักและความอบอุ่น เป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนรู้สึกมั่นคง ในช่วงเวลาที่กวีพลัดถิ่นสู่สังคมเมืองและต่างแดน ความแก่งแย่งแข่งขันและการต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในยุคทุนนิยม และการต้องทำงานใช้แรงงานที่ไม่คุ้นชินทำให้เกิดสภาวะแปลกแยก การเยียวยาสภาวะพลัดถิ่นที่ทำให้กวียังยืนหยัดอยู่ได้คือการครุ่นคำนึงโหยหาอดีตที่บ้านเกิด และการมีพื้นที่กวีนิพนธ์ในห้วงคิดและจินตนาการ ในทุกอาชีพของการใช้แรงงานจึงกลายเป็นลีลาจังหวะของบทกวีและชีวิต
เมื่อกลับไปบ้านเกิดอีกครั้งหลังจากต้องพลัดถิ่นไปขายแรงงานเช่นหนุ่มอีสานทั่วไป บ้านเกิดซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำที่กวีผูกพันแปรเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพราะกาลเวลาแต่เป็นเพราะการก่อสร้างเขื่อนและมลพิษซึ่งทำลายระบบนิเวศและวัฏจักรของธรรมชาติและสรรพสิ่ง ด้วยสำนึกสีเขียวที่มีแม่น้ำเป็นสายใยของชีวิต กวีหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำ ความเจ็บปวดเพราะถูกทำร้ายด้วยน้ำมือมนุษย์เป็นเสียงหนึ่งเดียวกับกวี แม่น้ำโขงเป็นดุจมารดรของสรรพสิ่ง เมื่อถูกทำร้าย กวีลูกแม่น้ำคนนี้ก็เจ็บปวดรวดร้าวไปด้วย”