The Barefoot Billionaires : นวนิยายที่เสียดสีสังคมและวัฒนธรรมแทรกความตลกขบขันแบบไทยๆ เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดสู่สากล

The Barefoot Billionaires

The Barefoot Billionaires (เศรษฐีตีนเปล่า)

นวนิยายที่เสียดสีสังคมและวัฒนธรรมแทรกความตลกขบขันแบบไทยๆ เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดสู่สากล
 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ นักประพันธ์ชั้นครูของเมืองไทย ที่ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.  2547 รวมไปถึงบทบาททางด้านวิชาการอีกมากมาย ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์เบื้องหลังผลงานล่าสุด The Barefoot Billionaires (เศรษฐีตีนเปล่า) ผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในภาคภาษาไทย และในภาคภาษาอังกฤษที่แปลโดย Lucy Srisuphapreeda (ลูซี่ ศรีศุภปรีดา) ก็มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะประสบความสำเร็จในตลาดหนังสือสากลเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของการเขียนนวนิยายเล่มนี้ คุณหญิงวินิตา เล่าว่า เกิดจากประสบการณ์การที่เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

“หลังจากสำเร็จการศึกษา ดิฉันได้ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม เมืองนี้แม้ไม่ได้อยู่ไกลจากกรุงเทพมากนัก แต่ก็มีขนาดเล็กและยังเป็นชนบท จึงได้อยู่แวดล้อมและคลุกคลีกับชาวบ้าน และเมื่อตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ ก็พบว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่แม้จะใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่ไม่ได้มีฐานะยากจนเลย พวกเขามีนาข้าว มีสวนผลไม้และปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ ที่ทำเงินได้มากกว่าเงินเดือนอาจารย์เสียอีก จึงได้ไอเดียการเขียนเรื่องนี้มาจากคนในชนบทแต่มีฐานะร่ำรวย”

ตัวละครหลักของเรื่องนี้ คือคุณนายลำไย หญิงชนบทฐานะดี ชีวิตเต็มไปด้วยสีสันและความฮา แต่ในบางแง่มุมคุณนายลำไยก็ได้สะท้อนปัญหาสังคม ให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความหลากหลายอารมณ์ด้วยเช่นกัน คุณหญิงวินิตา อธิบายเพิ่มเติมว่า

“บทบาทสำคัญของคุณนายลำไยถือเป็นตัวละครหลัก ที่ถูกวางไว้เพื่อเป็นตัวแทนในการล้อเลียนสังคม  เธอเป็นหญิงชนบท ที่มีสติปัญญาหลักแหลมแต่มีอารมณ์ขัน จึงเป็นเสมือนตัวแทนของคนไทยส่วนใหญ่ในชนบท ที่มักจะมีอารมณ์ขันและถือคติประจำว่า “ไม่เป็นไร” ดิฉันตั้งใจที่จะสร้างตัวละครตัวนี้ให้มีบุคลิกที่ดูตลกเพื่อดึงดูดผู้อ่านทุกช่วงวัย”  

ด้วยความแตกต่างระหว่างความเรียบง่ายกับความมั่งคั่ง ระหว่างคนชนบทกับคนเมือง ที่ดูแตกต่างและเด่นชัด ทำให้โครงสร้างการเล่าเรื่องมีสีสัน มีมิติ ทั้งในบริบทของตัวละครและแก่นเรื่อง

ลูซี่ ศรีศุภปรีดา ผู้แปลได้แชร์มุมมองของการนำเรื่องราวพิเศษนี้ มาแปลสู่สายตาผู้อ่านต่างประเทศว่า “นักอ่านต่างชาติจะค้นพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความสนุกสนานและน่าสนใจอย่างมาก มีทั้งตัวละครที่คนเข้าถึงได้ง่าย และการเสนอแก่นเรื่องของสังคมชนบทไทย การใช้ชีวิต สถานะทางสังคมและการใส่ใจภาพพจน์ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ที่มักชอบวางมาดผู้ดี ผู้เขียนได้นำมาเป็นจุดเชื่อมโยงของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว”  

นอกจากนี้ ลูซี่ยังได้กล่าวอีกว่า การแปลของเธอยังคงความตลกขบขัน และวัฒนธรรมที่มีสีสันในชนบทของประเทศไทยไว้ได้ตามที่คุณหญิงวินิตาตั้งใจจะสื่ออย่างครบถ้วน จึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถเข้าถึงใจผู้อ่านทั่วโลกได้ง่าย

 “เศรษฐีตีนเปล่า” ในภาคฉบับภาษาไทย ได้การตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้อ่าน และได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีย์ เป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง คุณหญิงวินิตา จึงมีความคาดหวังว่า เรื่องราวที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากในต่างประเทศเช่นกัน

“เศรษฐีตีนเปล่า เป็นเรื่องที่ดังในประเทศไทย และถูกนำมาทำเป็นละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง ถูกเผยแพร่ในหลากหลายรูปแบบ สำหรับการส่งต่อไปยังต่างประเทศครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางที่เพิ่งเริ่มต้น” คุณหญิงวินิตา กล่าวทิ้งท้าย

ในการตีแผ่เรื่องราวชวนตลกขบขันกับประเด็นที่จริงจังทางสังคม เห็นได้ชัดว่า การเขียนของคุณหญิงวินิตา ได้แบ่งกลุ่มตัวละครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนเมืองที่มีนิสัยขึงขังจริงจัง กับคนชนบทที่มีอารมณ์ขัน โดยชูจุดที่โดดเด่นสำคัญให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตัวละคร ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงสร้างความสนุกสนานในการอ่าน แต่ยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยได้อย่างลึกซึ้งและมีคุณค่า

ลูซี่ ในฐานะผู้แปลเล่าว่า จุดเริ่มต้นคือความบังเอิญ “ฉันตัดสินใจแปลหนังสือเล่มนี้หลังจากที่คุณหญิงวินิตา มอบหนังสือให้เป็นของขวัญแก่ฉัน เมื่ออ่านจบ ฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วสนุก มีความตลกขบขัน เลยสนุกที่จะแปล เมื่อแปลเสร็จจึงส่งผลงานการแปลให้คุณหญิงวินิตาอ่าน แต่ฉันไม่คาดคิดว่าท่านจะส่งไปให้กับทางสำนักพิมพ์โดยตรง คุณหญิงท่านอ่านแล้วชอบมาก จึงคิดว่าผู้อ่านภาษาอังกฤษก็น่าจะชอบด้วย”

เธอกล่าวเพิ่มเติมถึงการแปลงานชิ้นนี้ว่า มีทั้งความท้าทายและมีความสุขจากการได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยและความเป็นคนน่ารักของคนไทยที่มีอารมณ์ขันเป็นพื้นฐาน “ฉันคิดว่านักอ่านที่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการเรียนรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย และฉันเชื่อว่าเรื่องตลกเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้ ดังนั้นการแปลในส่วนที่ตลกขบขันไม่ได้ท้าทายมากนัก ฉันแค่แปลบทพูดในแบบที่ฉันคิดว่าถ้าตัวละครเป็นเจ้าของภาษาจะพูดแบบไหน” ซึ่งเธอก็แปลออกมาได้ถูกต้องตามที่ผู้เขียนเจตนา โดยยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครที่หลากหลายในภาคภาษาไทยได้อย่างชัดเจน ลงตัว

นอกจากนี้ คุณหญิงวินิตา ยังได้เปิดเผยถึงผลงานนวนิยายที่กำลังรังสรรค์อยู่ ณ ขณะนี้ว่า เป็นนวนิยายแนวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุครัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจเมื่อย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1904 ในช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จประพาสต้น  ปลอมพระองค์เป็นสามัญชน เพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรแบบใกล้ชิด  มีข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไม่กี่คน เจ้าของโรงสีข้าวซึ่งไม่ทราบว่าผู้ที่เขาสนทนาด้วยคือพระเจ้าแผ่นดิน  จึงขอให้พระองค์ทรงรับอุปการะบุตรชายสุดท้องของตนเพื่อเด็กชายจะได้มีโอกาสได้รับศึกษาที่ดีในเมืองหลวง   ในที่สุดต่อมา บุตรชายคนเล็กก็ได้เติบโตกลายเป็นตุลาการ ดูแลรักษากฎหมายที่มีบทบาทสำคัญแห่งกรุงสยาม

สำหรับการเปิดตัวหนังสือ The Barefoot Billionaires ฉบับภาคภาษาอังกฤษ ที่เอเชียบุ๊คส สาขาสยามพารากอน ในครั้งนี้ พิเศษสุดสำหรับผู้ที่รักและชื่นชอบผลงานการเขียนนวนิยายของคุณหญิง คือการได้พบปะพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับทั้งผู้เขียนและผู้แปล

การเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจะนำเรื่องราวกลิ่นอายบรรยากาศวัฒนธรรมชนบทของไทย นำไปสู่สายตานักอ่านจากทั่วทุกมุมโลก

คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางของนวนิยาย The Barefoot Billionaires ฉบับภาษาอังกฤษ จะเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านในต่างประเทศ เฉกเช่นเดียวกับนักอ่านคนไทยที่หลงใหลกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้

 

 

Writer

Pairat Temphairojana

นักเขียนผู้รักการสะสมงานศิลปะและการจิบกาแฟ