คุยนอกรอบ เอิงเอย-เสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย : เสน่ห์ของความหลากหลาย สู่นวนิยาย "โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี"

คุยนอกรอบ เอิงเอย-เสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย

     เสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย เจ้าของนามปากกา 'เอิงเอย' คว้าอันดับ 3 จากเวทีรางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 จากผลงานนวนิยายเรื่อง “โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี” ที่เน้นไปในเรื่องความหลากหลายของมนุษย์อย่างเรา ๆ เรื่องราวของ 'ลำธาร' เด็กน้อยผู้เติบโตมาเพื่อเป็นลูกชายของนายทหารใหญ่ ทั้งที่ใจจริงแล้ว ลำธารรู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ใช่ลูกชายในอุดมคติของพ่อที่อยากให้เป็น เขารู้ดีว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับความเป็นผู้หญิงที่ไม่มีใครยอมรับ ทำได้แต่ปกปิดตัวตนไว้เรื่อยมา กระทั่งถึงวันที่ลำธารไปเรียนต่อที่อเมริกา ทำให้เขาได้เรียนรู้และใช้ชีวิตเป็นคนข้ามเพศได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย และทำให้ลำธารได้รู้จักกับคำว่าความรักที่แท้ รักที่ไม่ต้องการคำว่าเพศมาจำกัดความอีกต่อไป

     เธอเป็นอดีตนักวิทยาศาสตร์ Food Science ที่ผันตัวมาทำงานสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ องค์กร ชุมชน และสังคม หลงใหลการอ่านหนังสือเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา ชอบ เดินทาง ดูงานศิลปะ ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ดูซีรีส์ ฟังเพลง วาดรูป และที่โปรดปรานสุด ๆ คือ "เลี้ยงหลาน"

     ก่อนหน้าที่จะคว้ารางวัลจากเวทีชมนาด มีผลงานหนังสือหนังสือนวนิยาย "สัญญารักในสายหมอก " หนังสือ "เยาวชนพอดี โรงเรียนพอเพียง"  หนังสือ "รักต่าง Gen" บันทึกประสบการณ์การเลี้ยงหลานชายบนฐานความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ลองมาทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้นครับ

 

ตัวแปรที่ทำให้คิดเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

            ชอบอ่านหนังสือและเรียนรู้เกี่ยวกับคนเพราะอยากรู้ว่าทำไมคนจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ และมีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด ยิ่งได้มาทำงานเป็น creative คิด content และ process ในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และช่วงสถานการณ์โควิดได้ออกจากงานประจำมาเลี้ยงหลานชายในฐานะแม่ทูลหัวแบบ full time ยิ่งเกิดคำถามที่อยากหาคำตอบเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคน ยิ่งหาข้อมูลยิ่งพบว่าความงดงามในแตกต่างของผู้คน ที่นำเรื่องราวเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศมาเป็นแกนในการเขียนนวนิยายเรื่อง "โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี" เพราะต้องการสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่าถ้ามนุษย์ถอดเปลือกนอกออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพศ รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ เชื้อชาติ เราจะรู้สึกว่าทุกคนไม่ได้แตกต่าง แต่ทุกคนล้วนมีคุณค่าในแบบของตนเอง ถ้าสังคมเข้าใจเรื่องนี้ถูกต้อง เปิดใจกว้าง เราจะไม่บูลลี่และไม่เลือกปฏิบัติกับคนที่แตกต่าง และจะอยู่ร่วมกันบนความเคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม และปัจจุบัน ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศได้รับความสนใจ คนในสังคมเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เอิงจึงเริ่มศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ แต่ที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งพี่แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้ง เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่รู้จัก ทั้งที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือมีคนใกล้ชิดเป็น บทสัมภาษณ์คนหลากหลายทางเพศในมิติต่าง ๆ ทั้งการใช้ชีวิต ความรัก คือทางข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้จากตัวจริงเสียงจริงทำให้รู้ว่าที่เราเข้าใจเกี่ยวกับเพศที่ผ่านมาเบาบางมาก ยิ่งรับรู้ยิ่งสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของคนหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องราวที่มีเสน่ห์และซับซ้อนกว่าที่เราเคยเข้าใจมาก จึงเอา content เรื่องนี้มาเป็นแกนหลักในการเขียนนวนิยายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความรักของคนหลากหลายทางเพศ บางคนอาจคิดว่าเป็นความรักที่เป็นจริงได้เหรอ แต่ละรูปแบบความรักที่นำเสนอในนวนิยายเรื่องนี้ล้วนเกิดขึ้นจริงแล้ว และเติมสีสันจากสิ่งที่ตัวเองชอบ ทั้งศิลปะ เพลง อาหารการเดินทางไปยังสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ การนั่งรถไฟ การกิน การเลี้ยงหลาน (เลี้ยงลูก) ประมาณว่าหยิบเอาไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาใส่ในตัวละคร รวมทั้งความที่ชอบดูหนังดูซีรีส์มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากลองเขียนหนังสือที่ทำให้คนอ่านอ่านแล้วเหมือนกำลังดูหนังดูซีรีส์อยู่ ทดลองเขียนว่าคนจะอ่านหนังสือเรารู้เรื่องไหม เข้าใจสิ่งที่เราอยากสื่อไหม

 

 

รางวัลชมนาด

            ช่วงสถานการณ์โควิด จากที่เคยทำงานประจำและเลี้ยงหลานไปด้วย กลับต้องมาเลี้ยงหลานอย่างเดียว รู้สึกว่าต้องหาอะไรมากระตุ้นต่อมการเรียนรู้ไม่ให้หยุดนิ่งไปตามสถานการณ์ จึงไปสมัครเรียนเขียน พัฒนาการบ้าน จนได้ผลงานงานเป็นหนังสือเรื่อง "รักต่าง Gen" บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงหลานมาหนึ่งเล่มและวาดภาพเอง อยากจะพิมพ์และไปวางขายในร้านหนังสือบ้าง เพราะเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ไม่เคยได้ลงมือทำ ด้วยหน้าที่การงานและภาระต่าง ๆ แต่มีคนบอกว่าไม่ใช่คนมีชื่อเสียง มาเขียนหนังสือแบบนี้ขายไม่ได้หรอก จึงเปลี่ยนคำชี้แนะมาเป็นพลังทำให้เขียนนวนิยายเล่มแรกขึ้นมาชื่อว่า "สัญญารักในสายหมอก" ที่นับว่าเป็นปฐมบทของหนังสือ "โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี" ตอนนั้นแค่ต้องการเอาชนะตนเอง จึงลองส่งหนังสือไปประกวดรางวัลซีไรต์ ไม่ได้ต้องการได้รางวัล แค่อยากให้มีชื่อในสื่อประชาสัมพันธ์ฯ ปรากฏว่าไม่ได้เข้ารอบดังคาด แต่ที่เกินคาดคือมี agency มาขอทำสัญญา ขอลิขสิทธิ์เอาไปแปลภาษาจีน แต่ก็ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวใด ๆ เริ่มได้ใจ จึงเริ่มเขียนภาคต่อเพื่อขยายความหนังสือเล่มแรกตามคำเรียกร้องของคนอ่านที่ต่างบอกว่าเรื่องสั้นเกินไปและมีประเด็นค้างคาใจ จึงเริ่มมองหาเงินทุนเพื่อทำหนังสือเล่มนี้ จนได้มาเจอประกาศเชิญชวนส่งผลงานนวนิยายรางวัลชมนาดครั้งที่ 12 จากการหาข้อมูลการประกวดงานเขียนใน google เลยลองส่งผลงานเข้ามาค่ะ เพราะเป็นรางวัลที่ให้แต่นักเขียนผู้หญิง แต่ก็ส่งวันสุดท้ายเลย เพราะช่วงที่เขียนเป็นช่วงที่หลานชายป่วย เข้า-ออกโรงพยาบาลตลอด อาศัยช่วงเวลาที่หลานนอนปั่นต้นฉบับเอาค่ะ

 

 

ความคาดหวังในอนาคต

            แรงจูงใจที่ส่งผลงานเข้าประกวดคือรางวัลที่ได้ ไม่ได้สนใจจำนวนเงินมากเท่ากับการได้จัดพิมพ์ และที่อยากได้มากสุด ๆ คืออยากให้หนังสือของตัวเองแปลเป็นภาษาต่างประเทศค่ะ ประมาณว่าอยาก go inter และขึ้นแท่นนักเขียน Best Seller ค่ะ (แอบฝันนิดนึง อิอิ)

 

 

Writer

หนึ่ง หนึ่ง

พ่อแมวอันดับหนึ่งในปฐพี เขียน/คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องมีสาระ