พระยาราชนิกูล(ทองคำ) ต้นตระกูลรัชกาลที่ 1 : แห่งพระบรมราช จักรีวงศ์ กำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์

พระยาราชนิกูล(ทองคำ) ต้นตระกูลรัชกาลที่ 1

        หากท่านใดที่กำลังชม พรหมลิขิต ภาคต่อ ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส จะเห็นตัวละครหนึ่งที่ชื่อ หมื่นมหาสนิท ผู้นี้ มีนามว่า ทองคำ เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ซึ่งขุนทอง เป็นบุตรชายออกญาโกษาธิบดี(ป่าน) หรือ ที่เรารู้จักคือโกษาปาน ซึ่งทองคำ มีศักดิ์เป็น หลานปู่โกษาปาน ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดให้ หมื่นมหาสนิท(ทองคำ) ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง เพื่อคอยกะเกณฑ์สิ่งของและทำราชการ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกรเสด็จประพาสล้อมช้างป่าและเมืองอุทัยธานีเป็นหัวเมืองด่านที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าว ช้างป่า มูลค้างคาว ไม้ ผลกระวาน เป็นต้น สำหรับใช้ในกองทัพ และเป็นยุทธปัจจัยในภายหน้า

 

 

      ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดฯให้เลื่อนยศ หมื่นมหาสนิท (ทองคำ) เป็น พระยาราชนกูล บางแห่งเขียน พระยาราชนิกูล และ ย้ายครอบครัวจาก อุทัยธานี มาตั้งอยู่ กรุงศรีอยุธยาแถวๆวัดสุวรรณดาราราม 

       พระยาราชนิกูล(ทองคำ) มีบุตรชาย ชื่อ ทองดี รับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เลื่อนเป็นหลวงพินิจอักษร ซึ่งหลวงพินิจอักษร ได้แต่งงานกับหลานสาวเจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน) สมุหนายก นามว่า "ดาวเรือง" หรือ บางแห่งก็ เรียกว่าหยก ต่อมา หลวงพินิจอักษรได้เลื่อนเป็น พระ อักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ตราต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์และรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดินพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) กับ คุณหยก มีบุตรชาย ชื่อ ทองด้วง และ บุญมา
 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
 

       ทองด้วง เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ได้ไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ และได้สมรสกับคุณนาคซึ่งต่อมาหลวงยกกระบัตรราชบุรี ก็ คือ ลันเกล้ารัชกาลที่ ๑ ส่วนบุญมา พระอนุชา เมื่อเจริญพระชนมพรรษาได้รับราชการอยู่กรมมหาดเล็กในราชสำนักอยุธยา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการร่วมก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

          ดังนั้น พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ท่านเป็นพระบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ท่านจึงมีศักดิ์เป็น พระอัยกา(ปู่)ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และบุญมา ซึ่งต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

         

        เมื่อกล่าวถึง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) หรือ วังหน้า “พระยาเสือ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อบ้านเมืองนี้อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินของใคร จนเป็นที่ยอมรับว่าทรงเป็น “นักรบ” คนสำคัญพระองค์หนึ่งในแผ่นดินกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

 

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) หรือ วังหน้า “พระยาเสือ”

 

        เมื่อครั้งยังกินตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ถือเป็น “ข้าหลวงเดิม” ที่พระเจ้าตากทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านผู้นี้เป็นขุนศึกคู่บัลลังก์รบเคียงคู่กับพระเจ้าตากมาตั้งแต่ศึกกู้แผ่นดินหลังกรุงศรีอยุธยาแตก ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์หลบหนีทหารพม่าไปเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินตีเมืองจันทบุรีและขับไล่พม่าที่เมืองธนบุรี พระองค์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจ ตลอดสมัยกรุงธนบุรีพระองค์เป็นทหารเอกคนสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้รับการเลื่อนยศหลายครั้งในตำแหน่ง พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ตามลำดับ ด้วยพระอัธยาศัยที่กล้าหาญ เข้มแข็งและเด็ดขาด จึงมีพระสมัญญานามว่า “พระยาเสือ”

          พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (รัชกาลที่ ๑) พระเชษฐาของพระองค์ พระราชทานอุปราชาภิเษกเจ้าพระยาสุรสีห์ สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นพระมหาอุปราช ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นพระราชวังที่ถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษม กรุงศรีอยุธยา และมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากวังหลวง อาทิ หลังคาชั้นเดียวเป็นหลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา คันทวยรองรับหลังคาเป็นรูปนาคประดับพันธุ์พฤกษา หมู่พระวิมานไม่ทำซุ้มประตูหน้าต่าง (ยกเว้นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์) รูปแบบเช่นนี้ต่างจากงานสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังที่นิยมทำอาคารที่แสดงฐานันดรชั้นสูง อาทิ การทำซ้อนชั้นหลังคา ทรงยอดปราสาท ประตูหน้าต่างประดับด้วยซุ้มปูนปั้นอย่างไทยประเพณี เช่น ซุ้มบันแถลง ซุ้มยอดมงกุฎ เป็นต้น

          ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ยังคงมีบทบาทในการทำสงครามอยู่หลายครั้ง ได้แก่ สงครามเก้าทัพที่ตำบลลาดหญ้า (พ.ศ. ๒๓๒๘) สงครามขับไล่พม่าที่ท่าดินแดง (พ.ศ. ๒๓๒๙) สงครามตีเมืองทวาย (พ.ศ. ๒๓๓๐) สงครามขับไล่พม่าที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๓๘) ภายหลังเสร็จศึกกับพม่า เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระพุทธสิหิงค์ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

          ในคราวสงครามป้องกันพม่าที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๔๕) สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงยกทัพออกไปรบร่วมกับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ แต่ระหว่างทางที่พระองค์เสด็จ พระองค์เกิดประชวรด้วยพระโรคนิ่วที่เมืองเถิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงมีรับสั่งให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปช่วยในการศึกจนกระทั่งสามารถชนะทัพฝ่ายพม่าได้ในที่สุด

          ขณะเดียวกันสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใส่พระทัยในพระราชกรณียกิจด้านศาสนา โดยเฉพาะการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่งในพื้นที่ฝั่งพระนคร ได้แก่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (พระองค์พระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม) วิหารคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หอมณเฑียรธรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพู) วัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) และวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) วัดในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ส่วนวัดในหัวเมือง เช่น วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 

          นอกจากนี้พระองค์ยังมีงานวรรณกรรมที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง ได้แก่ เพลงยาวถวายพยากรณ์ (พ.ศ. ๒๓๓๒) พระนิพนธ์ในคราวที่เกิดอัสนีบาตตกมาหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก (ต่อมาถูกรื้อลงแล้วสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน) เพลงยาวรบพม่าที่นครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๓๒๙) พระนิพนธ์เมื่อครั้งยกทัพไปรบพม่าที่ตั้งทัพอยู่ทางหัวเมืองภาคใต้ เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า (พ.ศ. ๒๓๓๐) พระนิพนธ์ในคราวยกทัพไปตีเมืองทวาย 

          ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้กล่าวว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประชวรเป็นโรคนิ่วนับตั้งแต่ที่พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แต่ใน พระนิพนธ์เรื่อง “นิพานวังน่า” ของ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร ซึ่งเป็นพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระประชวรด้วยโรควัณโรคอย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระอาการก็ทรุดลงตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการรักษาเป็นเวลา ๖ วัน ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ จ.ศ.๑๑๖๕ (ตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖) สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระราชวังบวรสถานมงคล พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นเวลา ๒๑ ปี
 

         อ่านพระราชประวัติเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "บุญมา พระยาเสือ" นิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย ปองพล อดิเรกสาร เป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงการกำเนิดกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียกรุงครั้งที่ ๒ จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยมีคริสโตเฟอร์ มิลตัน เลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่งพระองค์ถือได้ว่าเป็นวีรบุรุษในดวงใจของคุณปองพล จึงทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้

บุญมาพระยาเสือ

ขอบคุณข้อมูลจาก: 

- www.finearts.go.th
- www.silpa-mag.com
- https://variety.teenee.com/world/80715

Writer

The Reader by Praphansarn