เรายังเกาะกระแส ‘คุณหมอนักเขียน’ อยู่อย่างต่อเนื่อง จนคราวนี้มาถึงตา ‘ทันตแพทย์’ ออกโรงเขียนนิยายกันบ้าง ‘วิริยา ออประยูร’ คือทันตแพทย์สาวที่หลงรักการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ หลังจบจากมหาวิทยาลัย เธอได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำเขียนผลงานขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือบทความที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่าง ๆ และนิยายถือเป็นงานท้าทายอีกชิ้นที่เธอประกาศกร้าวกับตัวเองเอาไว้ว่า ขอลองสู้กับมันสักตั้ง และจากการต่อสู้ในครั้งนั้นได้ประสบผลสำเร็จออกมาเป็นนิยายเรื่องแรกที่ได้ถูกสร้างเป็นละครอย่าง ‘ตะวันบ้านทุ่ง’ ให้เราได้อ่านกัน
โอกาสที่คุณหมอเดินทางมายังกรุงเทพฯ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ให้เธอได้วางมือจากเครื่องมือทันตแพทย์สักพัก และมานั่งพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการคิดและการเขียนงานของเธอ
จบสายทันตแพทยศาสตรบัณฑิตมา แล้วเข้าสู่วงการวรรณกรรมได้อย่างไร
เริ่มมาจากเขียนบทความแนววิชาการก่อนเป็นอันดับแรก โดยเขียนลงในนิตยสารแม่และเด็กมาก่อน ซึ่งเขียนมาได้เป็น 10 ปีแล้ว และต่อมาก็เริ่มต้องการที่จะเขียนนิยายขึ้นมาบ้าง แต่ต้องใช้เป็นนามปากกาอื่นแทน โดยแต่ก่อนใช้นามปากกาว่า ‘แพรวรุ้ง’ ค่ะ ซึ่งแพรวรุ้งในวันนี้ก็มีออกมาทั้งหมด 12 เล่มแล้ว และได้เริ่มมาร่วมงานในที่ใหม่คือ บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด เลยเปลี่ยนนามปากกามาเป็น ‘ดาริยา’ ในที่สุด
จากการเรียนจบทางด้านทันตแพทย์มา การเป็นทันตแพทย์มีส่วนช่วยในเรื่องการเขียนของคุณหมออย่างไรบ้าง
มีส่วนช่วยมากค่ะในแง่ที่ว่า งานทันตแพทย์นั้นจะออกเป็นแนวศิลปะอยู่แล้ว เวลามองผลงานในแต่ละครั้ง ความรู้สึกก็จะออกมาเองว่า ผลงานตรงไหนที่สวยหรือไม่สวย ซึ่งตัวเราเองเป็นคนตัดสินใจได้ ไม่แพ้กับเวลาที่เขียน เราก็ย่อมจะรู้สึกได้ว่า สิ่งที่เขียนออกไปนั้นงามหรือไม่งาม เราเป็นคนกำหนดได้เองว่า จะนำเสนอออกไปหรือจะเก็บไว้ ดีหรือไม่ดีแค่ไหนที่จะปล่อยมันออกไป ฉะนั้นความเป็นศิลปะในงานด้านทันตแพทย์น่าจะมีส่วนในเรื่องของการมองที่ตัวชิ้นงานของตัวเองว่า ดีพอแล้วหรือยังสำหรับผู้อ่าน
ได้นำในส่วนที่เรียนหรือสิ่งที่ศึกษามาใช้ในงานเขียนของตัวเองบ้างหรือเปล่า
มันจะมีในแง่ของความรู้ทางการแพทย์บางอย่าง ซึ่งเราเองก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า มีใส่ลงไปบ้างในงานเขียน เพราะพื้นฐานความรู้ของเรามาจากตรงนี้ ดังนั้นกลิ่นอายของวิชาความรู้ดังกล่าวย่อมมีแน่นอน อาจจะสอดแทรก แซม หรือปะปนมาบ้างภายในเรื่อง อย่าง ตะวันบ้านทุ่ง ที่เขียน นางเอกของเรื่องก็จะประกอบอาชีพเป็นแพทย์ ซึ่งจากความรู้ที่ตัวเองมี มันก็จะง่ายเวลาที่เขียนออกมา เพราะฐานข้อมูลเราแน่น และมีชุดข้อมูลติดตัวมาด้วยอยู่แล้ว ทำให้เวลาลงมือเขียน ข้อมูลที่ออกมาก็จะไม่ผิดพลาดไปจากนี้
ประสบการณ์ในการเขียนบทความมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการสร้างสรรค์นิยายของตัวเอง
การเขียนบทความก่อนที่จะมาถึงการเขียนนิยาย จะมีส่วนดึงรั้งความสนใจของผู้อ่านอยู่แล้ว และตัวเองจะเป็นคนที่เขียนแนวสบาย ๆ ไม่ค่อยเครียดมาก ถึงแม้เนื้อหาหรือสาระของบทความจะเป็นวิชาการที่ดูเคร่งเครียดมากก็ตาม จนพอเขียนไปเรื่อย ๆ เรากลับรู้สึกว่า สามารถทำหรืออธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ฉะนั้นการเขียนเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการอย่างนิยาย ก็น่าจะเขียนและทำออกมาได้เหมือนกัน เลยคิดที่จะลองเขียนดู ปรากฏว่าทำได้และพึงพอใจในงานชิ้นนั้นด้วย
มีใครเคยบอกบ้างไหมว่า ภาพลักษณ์ของการเป็นหมอฟันกับการเป็นนักเขียน มันดูขัดแย้งกันพอสมควร
มีค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มารักษากับเราจะพูดกันเยอะมาก (หัวเราะ) เนื่องจากพอรู้ว่า เราเป็นนักเขียน เขาก็จะปฏิเสธหรือไม่เชื่อเลยทันทีว่า หมอเนี่ยนะจะมาเป็นนักเขียนได้ (ยิ้ม) โดยด้านหนึ่งที่เขาเห็นเรา นั่นก็คือ การประกอบอาชีพทันตแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น กรอฟัน จับคีมถอนฟัน ขูดหินปูน ต่าง ๆ นานา ไม่มีทางเป็นนักเขียนไปได้หรอก เอาเวลาที่ไหนไปเขียน เขาก็จะถามกันอย่างนี้ เราก็ได้แต่ยิ้ม ๆ ให้เขาไป เพราะเขาไม่เห็นอีกด้านหนึ่งของเรา นั่นก็คือ การใช้จินตนาการขีด ๆ เขียน ๆ ออกมา ซึ่งนิยายของตัวเองก็จะออกแนวหวานซึ้งมาก จนไม่เหมือนกับภาพลักษณ์ที่เราเป็น ทำให้คนไข้หรือคนอื่นที่มองมาจะออกแนวทึ่งมากกว่าว่า ทำไปได้อย่างไร เป็นหมอฟันและนักเขียนไปด้วยพร้อม ๆ กัน
จัดสรรเวลาทำงานเขียนกับงานประจำอย่างไรให้ลงตัว
จะเขียนในตอนเช้ามืดของทุก ๆ วันค่ะ เพราะเวลาทำงานกลับมาบ้านก็หมดแรงแล้ว ไม่มีอารมณ์เขียนงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคนนอนค่อนข้างไว เลยใช้ตอนเช้ามืดที่ตื่นขึ้นมานี่แหละเขียนเรื่องหรือความคิดที่นึกขึ้นได้ออกมา เพราะตอนเช้ามืดถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก สมองมีความปลอดโปร่งสูง ความคิดที่ออกมาก็จะใสเช่นเดียวกัน เลยทำให้งานเขียนที่ออกมาพลอยดีไปด้วยเหมือนกัน
เกิดอุปสรรคหรือปัญหาใหญ่ ๆ บ้างหรือเปล่าตอนลงมือเขียนนิยายอย่างจริงจัง
พูดถึงตัวงานในแต่ละเรื่องก็จะมีปัญหา อุปสรรค และความยากในแต่ละแบบอยู่แล้ว แต่อุปสรรคในตัวเราจริง ๆ ที่พบนั้นจะเป็นเรื่องของเวลามากกว่า เพราะตัวเองอยากมีเวลาในการเขียนมากกว่านี้ แต่เวลามันช่างน้อยเหลือเกิน (ยิ้ม) จริง ๆ บางครั้งยังรู้สึกว่า ถ้ามีเวลาเขียนหรือทำอะไรโดยที่มีเวลาเต็มที่มากกว่านี้ อาจจะทำให้ปริมาณผลงานของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และผลงานอาจจะดีขึ้นกว่านี้ก็ได้ เพราะจะได้มีเวลาอ่านทบทวนผลงานของตัวเองอีกหลายครั้ง เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
เห็นว่าคุณหมอได้รับโอกาสการเขียนนิยายจากเวทีการประกวดเวทีหนึ่ง แล้วการมีเวทีหรือการประกวดแบบนี้ มีความสำคัญอย่างไรกับการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง
มีผลมาก ๆ เพราะพอผ่านการประกวดเข้าไปได้ อย่างแรกเลยคือ ภูมิใจกับความสามารถที่ตัวเองมีค่ะ และพอเข้าไปได้ปุ๊บ ก็จะมีการอบรมการเขียนนิยายโดยตรงเกิดขึ้น ซึ่งเราเป็นทันตแพทย์ เราไม่เคยรู้เลยว่า เขาเขียนกันอย่างไร พอได้ฟังก็เกิดความรู้สึกกระจ่างขึ้นมาว่า เราต้องคิดหรือวางแผนอย่างไร เวลาจะเขียนเรื่องสักเรื่องหนึ่งขึ้นมา ถือเป็นการเปิดโลกอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
จากคนเคยเขียนบทความและเรื่องสั้น ต้องมาเขียนนิยายขนาดยาวแบบนี้ แสดงว่าต้องปรับตัวเองพอสมควร
ยอมรับเลยค่ะว่า เรื่องแรกที่เขียนส่งไปไม่ผ่านเลย คือส่งไปที่ไหน ๆ ก็ไม่ผ่าน แต่ว่าก็ยังพยายามต่อไปเรื่อย ๆ จนพอมาถึงเรื่องที่ 2 ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะผ่านการพิจารณา ได้ไปต่อเรื่อย ๆ จากการที่เขียนสั้น ๆ มาโดยตลอด ต้องมาเขียนอะไรที่เยอะและยาวด้วย ผสมกับต้องต่อเนื่องและร้อยเป็นเรื่องอีก ก็ถือว่ายากพอสมควร แต่เรามีตัวช่วยที่ดีมากอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องของ ‘การอ่าน’ เพราะเป็นคนที่อ่านนิยายเยอะมาก เยอะมากขนาดที่ว่าอิ่มตัวแล้ว และได้เห็นอะไรมากมายจากงานของแต่ละคน เลยนำสิ่งเห็นนั้นมาปรับปรุงในผลงานของตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากที่จะเขียนขึ้นมาบ้าง
all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 6 เดือน ตุลาคม 2556
นัดพบนักเขียน : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ