มนุษย์เป็นผู้มีความคิด มนุษย์จึงมักใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้แก่สังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกองค์กรมักต้องมีมนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอด ด้วยความคิด สติปัญญา หากความคิดของมนุษย์ที่ขับเคลื่อนองค์กรเหมือนกับผู้นําองค์กร องค์กรนั้นมักจะถูกขับเคลื่อนอย่างปลอดภัย แต่หากความคิดของมนุษย์ที่ขับเคลื่อนองค์กรแตกต่างจากผู้นําองค์กร มนุษย์ผู้นั้นย่อมถูกตราหน้าว่าเป็นฟันเฟืองที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพสมควรแก่การถูกโละทิ้ง
“ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวขององค์กรเหมืองแร่ที่หลากชีวิตต้องสู้ อดทนต่อความยากลําบากในการทํางาน ชี้ให้เห็นถึงความสุขในการทํางานนั้นไม่ได้จีรังยั่งยืนเสมอไป ทุกชีวิตในเหมืองแร่ต้องคอยตื่นตัวเสมอเพื่อรับมือกับหายนะที่มาจากอารมณ์ปรวนแปรของสภาพฟ้า ดิน และปัญหาที่มาจากผู้บังคับบัญชาของพวกเขา โดยเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่ผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตนเองว่า “ข้าพเจ้า”
ตัวละครดังกล่าวทําให้เราสามารถลิ้มรสได้ว่าความสุขของคนทํางานคือความสุขที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับหัวหน้าของพวกเขา “มันดีอยู่เล็กน้อยในวันอาทิตย์ตรงที่ว่า นายฝรั่งจะไม่ลงตรวจงาน พวกเขาจึงจะได้ปล่อยกล้ามเนื้อให้หย่อนเทิบทาบลงบ้าง แล้วไปใช้กล้ามเนื้อปากและลิ้นพูดตลกคะนองกันไป” การเป็นอิสระจากใครสักคน มันคงเป็นความสุขที่แท้จริงของคนทํางานในองค์กร แม้ผู้เขียนจะใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่ในทุก ๆ ถ้อยความกลับทําให้สามารถมองเห็นภาพความเป็นจริงของการทํางานในองค์กรได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ตีแผ่ความเป็นจริงของช่องว่างทางสถานะที่ช่างแตกต่างกันระหว่างผู้นํากับกรรมกร
“นายฝรั่งจะต้องเผ่นลงมาจากบังกะโลในชุดเสื้อนอนห่มด้วยเสื้อฝนมาบงการให้
ทุกคนสุมหัวกันตัดตกไม้ ปักหลัก ขนทรายทุ่มเทลงไปรักษาทํานบไว้ให้ได้"
“ความจริง” ขนิดที่ว่าผู้เขียนควักไส้นายฝรั่งมาราดทิงเจอร์ไอโอดีนนั้นยังไม่หนําใจ ต้องลามไปถึง ความจริงที่เกิดขึ้นในเหมืองแร่อื่น ๆ ซึ่งผ่านตัวละครชายหญิงคู่หนึ่ง ที่เข้ามาเพื่อของานทําในเหมืองแร่ของตัว ละคร “ข้าพเจ้า” ผู้เขียนทําให้ตัวละครชายหญิงดังกล่าวเป็นตัวละครที่น่าเห็นอกเห็นใจ เพราะไม่มีเงิน แม้กระทั่งจะซื้อเครื่องดื่มในร้านกาแฟ หรือจะจ่ายค่ารถเพื่อเดินทางออกไปจากเหมืองแร่แห่งนี้เช่นกัน ผู้เขียน ใช้ความเป็นมนุษยธรรมที่เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร “ข้าพเจ้า” ในการบรรยายถึงความน่าเห็นอกเห็นใจจนในบางทีก็น่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายหญิงคู่นี้ที่ต้องระหกระเหินมายังเหมืองแร่แห่งนี้
“ความต่าง” จึงเป็นคําตอบที่ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนได้เฉลยผ่านในตอนท้ายเรื่องว่าตัวละครผู้ชายเป็นผู้ที่มี ความคิดแตกต่างในองค์กรเก่า จึงก่อการ “สไตรก์ ขึ้นทําให้ผู้นําองค์กรเก่าของเขาสั่งห้ามให้องค์กรใดรับชายคนนี้เข้าทํางาน เห็นได้ว่าผู้เขียนต้องการสอดแทรกเรื่องราวของการใช้อํานาจพรรคพวกที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์กร จนทําให้คนที่มีความคิดเห็นต่างจากผู้นําองค์กรต้องเกิดสภาวะลําบาก กลายเป็นคนน่ารังเกียจในสังคมการทํางาน ผู้เขียนยังใช้กลวิธีการถามตอบ เพื่อเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างนายฝรั่งและชายคนดังกล่าวโดยเน้นย้ำในการสร้างความน่าเห็นอกเห็นใจของชายหญิงคู่นี้ขึ้นไปอีก ในการแลกเปลี่ยน “ความคิด” ผ่านคําถาม
“ความคิด” ของตัวละครที่ถูกปรับเปลี่ยนให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับกลายเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การทํา แม้จะถูกทัดทานจากสังคมโดยรอบ แต่ด้วยสาเหตุที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้นายฝรั่งก็รับชายคนนั้นเข้ามาทํางานร่วมกับเขา อาจจะเพียงเพราะว่าเขาพูดประโยคที่ว่า “ฉันเข็ดแล้วเรื่องการสไตรก์” หรือเพราะว่า ความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
"ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” จึงเป็นเรื่องที่เล่าถึงมนุษยธรรมของมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างลึกซึ้ง โดยอาจสนใจหรือไม่สนใจว่าเขาจะมีภูมิหลังเป็นอย่างไร ประกอบกับการเล่าเรื่องผ่านภาษาที่ทําให้เข้าใจและสามารถมองเห็นสภาพวิถีชีวิตของชาวเหมืองแร่เป็นอย่างดี รับรู้ถึงความยากลําบากในการทํางานที่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาที่มาจากธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเอง “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม" จึงสะท้อนให้เห็นถึง “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในสังคมการทํางานที่น่าหวาดกลัว “ความต่าง” ที่อาจทําลายความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และ “ความคิด” ที่ปรวนแปรตามความรู้สึกของมนุษย์ที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้
"ความจริง ความต่าง และความคิด" ผ่าน "ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม"
บทวิจารณ์โดย ธีรโชติ สุยะตา
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6