ความงดงามแห่งวิถีชีวิตของชาวบ้าน ถูกนำเสนอออกมาในบทความสารคดีที่มีชื่อว่า “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ถึงชื่อจะชวนงงหน่อยสำหรับคนที่ไม่รู้จักบรูด้ามาก่อน แต่เฉลยก็คลายสงสัยให้แล้ว ในวรรคแรก ๆ ของบทความ
บรูด้าคือชื่อของวาฬ สัตว์ทะเลหายากที่ปรากฏตัวให้เชยชมในอ่าวบ่อนอก อ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผู้เขียนนำเสนอบทความออกมาในรูปแบบที่คล้ายกับ นิยาย คือ มีบทพูด มีการบรรยายความรู้สึก บรรยาย กิริยา ท่าทาง บรรยากาศ มีหักมุม ซึ่งทำให้บทความอ่านสนุก และน่าติดตาม
ผู้เขียนนำเสนอบรูด้าและอ่าวบ่อนอกออกมา ไม่ใช่ผ่านนิ้วมือที่ชี้ให้ดู แต่ผ่านตาหู ของผู้เขียนเอง เสมือนว่าได้ออกล่าบรูด้าไปพร้อม ๆ กันกับผู้อ่าน
ภาพของบรูด้าและวิถีชีวิตชาวบ่อนอก ถูกฉายออกมาผ่านคำพูดของเจ้าของเรือชมวาฬ ความงดงามอลังการของวาฬบรูด้า วิถีชีวิตที่แสนอุดมสมบูรณ์ของชุมชนบ่อนอกถูกฉายออกมาอย่างชัดเจน แม้การออกเรือครั้งนั้น ผู้เขียนจะไม่ได้เห็นบรูด้าจริง ๆ ก็ตาม
และการไม่ได้ภาพวาฬบรูด้าดั่งใจหวังของผู้เขียนนี้เอง ที่เป็นฉากจบที่หักมุมอีกหนึ่งอย่าง การเขียนบทความสารคดีที่ผู้เขียนไม่ประสบความสำเร็จในการหาข้อมูล แต่ก็เล่าเรื่องออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นภาพได้อย่างประสบความสำเร็จ
“ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” คำว่าในเรื่องนี้คงไม่ได้นิยามได้แค่การล่าโดยชัตเตอร์ของผู้เขียนเท่านั้น แต่นิยามได้กับหลาย ๆ อย่าง บรูด้าล่าปลาเล็ก ชาวบ่อนอกล่าอาหาร ปลาล่าปะการัง ปะการังล่าแหล่งที่อยู่ ทุกชีวิตต่างก็ออกล่าเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ตนเว้าแหว่ง
คำว่าล่าในเรื่องนี้ถูกนำเสนอออกมาในด้านที่ดี และผลักดันนิยามล่าในรูปแบบเดิมไปในทางร้าย การล่าวาฬเป็นอาหารคือความโหดร้าย เราคิดแบบนี้จริงหรือ ทั้งที่เราก็ออกล่าปลาอื่น ๆ อยู่ทุกวัน หากคำกล่าวอ้างคือ การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพราะวาฬเหลือน้อยแล้ว แล้วมนุษย์ที่ล้นโลกอยู่ตอนนี้ล่ะ เราคงไม่พอใจแน่ ถ้ามีสัตว์อื่นมาจัดสมดุลระบบนิเวศของเรา
มนุษย์เราโหดร้ายน้อยลงจริง ๆ หรือ หรือเพราะบรูด้ายังไม่ถึงเวลาล่าจริง ๆ ของมนุษย์
โลกผู้ล่า
บทวิจารณ์สารคดี เรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก”
โดย ศิลธนา แนบสำโรง
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5