หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อ...ไพลิน รุ้งรัตน์ มากว่าชื่อ...ชมัยภร แสงกระจ่าง เนื่องจากในอดีตเธอคือนักวิจารณ์วรรณกรรมฝีปากกล้าที่มีประสบการณ์ยาวนาน "ส่วนใหญ่คนจะจำได้ว่าเป็นนักวิจารณ์ปากไม่ดี(หัวเราะ) ตอนเด็กๆก็เป็นนักอ่าน พอโตมาก็เป็นนักวิจารณ์ ซึ่งการวิจารณ์ก็คือการได้ทำหน้าที่ของนักอ่านสมบูรณ์แบบเพื่อที่จะเผยแพร่สิ่งที่ตนอ่านไปสู่คนอ่านท่านอื่น ๆหรือคนเขียน ช่วงนั้นถือได้ว่าได้ทำหน้าที่ของนักอ่านอย่างสมบูรณ์และทำอย่างเต็มที่จากนั้นก็หันมาเขียนหนังสือ "
หากจะว่าไปแล้วคุณชมัยภร ก็ถือเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เยาววัย เนื่องจากเธอเป็น นักกลอนตัวยงคนหนึ่งที่มีลีลาสำนวนโวหารเพราะจับจิตจับใจคนที่ได้อ่าน "บทกลอนนั้นเขียนมาตั้งแต่เด็กอายุประมาณสิบสี่สิบห้า แต่ว่ากลอนนั้นมันเหมือนของเล่น มันไม่ใช่การเขียนเพื่อทำให้ชีวิตอยู่ได้ ไม่ได้ช่วยให้เกิดการดำรงชีวิตเพราะไม่ได้มีเป็นรายได้ การเขียนกลอนเป็นเหมือนในยามที่เราอยากเขียน หรือเรามีคนที่เรารักและเขาอยากได้กลอนเราสักชิ้นหนึ่งก็จะเขียนถึงเขา
แต่ถ้าเป็นนวนิยายหรือเรื่องสั้น คือสิ่งที่เราได้นำความเป็นนักอ่านของเราเข้าไปประกอบและสร้างออกมาเป็นตัวอักษรด้วยความรู้สึกพอใจ เมื่อเกิดความพอใจแล้วก็ปรากฎว่ามันทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วย " การเป็นนักเขียนนวนิยายของคุณชมัยภร ก็ไม่ได้ทิ้งวิญาณของการเป็นนักอ่านนักวิจารณ์เลยแม้แต่น้อย เนื่องจากเนื้อหาของนวนิยายบางเรื่องถูกจำลองให้เป็นโลกของนักอ่าน
"ตอนที่มาเขียนนวนิยายก็ยังไม่เลิกการเป็นนักวิจารณ์ อย่างเช่นเขียนเรื่อง"อ่านหนังสือเถิดที่รัก" เขียนไปเพื่อที่จะบอกว่าตัวละครที่อ่านหนังสือนั้นประสบความสำเร็จอย่างไร มีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร ในเรื่องก็เลยมีหนังสือแนะนำให้อ่านถึง 40 เล่ม อีกเล่มที่เขียนก็คือเรื่อง "ห้องนี้รื่นรมย์" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจารณ์หนังสือ
มันอาจจะกลายเป็นธรรมชาติของตัวเองไปคือเป็นนักวิจารณ์โดยธรรมชาติทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ จริงๆแล้วบ้านเราไม่ขาดนักวิจารณ์หรอก
เมื่อได้มาทำโครงการวิจัยวิจารณ์ทำให้เห็นว่ามีนักวิจารณ์อยู่ตรงไหนบ้างและเราสามารถดึงเอานักวิจารณ์เหล่านั้นมารวมกันทำงานได้เป็นบางเวลา มีผลงานของนักวิจารณ์เหล่านั้นออกมาด้วย เล่มแรก..เป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสั้น เราคัดเลือกเรื่องสั้นของนักเขียนใหญ่ๆ ดีๆทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า โดยเชิญนักวิจารณ์ 12 ท่านให้มาวิจารณ์วรรณกรรมร่วมกัน โดยให้ชื่อหนังสือว่า…"มองข้ามบ่านักเขียนเรื่องสั้นไทยในทัศนะของนักวิจารณ์ไทย"
ไม่เพียงงานเขียนหนังสือที่คุณชมัยภร ทำอยู่เป็นประจำ หรือโครงการต่างๆ ที่เธอมีบทบาทเข้าไปต่อเติมให้วงการวรรณกรรมของไทยได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น เธอยังเป็นครูที่บ่มเพาะสร้างนักเขียนนวนิยายหน้าใหม่ ๆให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย "เมื่อก่อนสอนวรรณกรรมวิจารณ์ที่คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอนการเขียนเรื่องสั้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่ไม่สบายเมื่อปี2545 ก็เลยหยุดสอนมาพักหนึ่ง ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการสอนแบบเฉพาะกิจ เช่น การสอนการเขียนนวนิยายเชิงสร้างสรรค์ โดยมีนักเขียนที่เป็นลูกศิษย์ได้รับรางวัลมาแล้วหลายคน
ปัญหาของคนเขียนหนังสือคือสอนใครไม่เป็น แต่เราสอนในฐานะนักอ่านโดยใช้กลวิธีของไพลิน รุ้งรัตน์นั้นแหละ บังเอิญไปเขียนสารคดีเรื่อง "แกะรอยไม้หอมกฤษณา อโศกสิน" หนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนในลักษณะคุยกับนักเขียน เราก็จะคุ้ยแคะนำกลวิธีของเขาออกมาทั้งหมดเลย คุณกฤษณาก็จะเล่าว่าเรื่องนั้นเขียนเป็นอย่างไร วิธีเขียน วิธีเก็บข้อมูลของเขามีที่มาที่ไปอย่างไร คือวิธีต่าง ๆที่นักเขียนไม่สามารถจะเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ แต่เขาเล่าได้แล้วก็เขียนออกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่านักเขียนเขาคิดอย่างไร
เรื่องของเทคนิคการเขียนนั้นใครนำไปใช้ก็เป็นเทคนิคเฉยๆ แต่ต้องนำไปใช้ด้วยภาษาของตัวเอง คือกลวิธีในการนำเสนอหรือการใช้ภาษาเป็นลักษณะเฉพาะของเราจะทำให้เราแตกแต่งจากนักเขียนคนอื่นๆ เราอาจจะใช้วิธีเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเหมือนกัน เราอาจจะใช้วิธีที่ตัวละครดื้อรั้นเหมือนกัน แต่ว่าตัวละครนั้นเป็นของเรา ภาษาก็เป็นของเรา เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นของเรา
เวลาที่เราลงมือเขียนจริงๆ เทคนิค หรือหลักสูตรเราจะไม่ใช้ เพราะเมื่อลงมือเขียนเราไม่สามารถมานั่งเปิดตำราหรอก แต่ทุกอย่างที่นำมาใช้นั้นคือสิ่งที่เราอ่านให้เข้าไปในหัว ไปกลั่นกรอง อย่างที่บอกว่านำเข้าแล้วไปกลั่นกรองจนนอนก้นอยู่นานกว่าที่จะนำออกมาได้ ลักษณะของการส่งออกอันนี้มันจะต้องเป็นไปโดยอัตโนมัติ พอเราลงมือเขียนเรื่องเราจะนึกไม่ออกหรอกว่าขณะนี้เราได้ใช้กลวิธีอะไร เราจะไม่รู้ตัวเลยมันจะเกิดกระบวนการภายในของมันเองแล้วพอเราเขียนเสร็จเรียบร้อยนั้นแหละ และเมื่อเวลาผ่านไปเดือนหนึ่งถึงจะนึกออกว่านี่มันมาจากตรงนี้นี่เอง