ถ้าย้อนกลับไปประมาณปี พ.ศ. 2517 ไม่มีนักอ่านคนไหนไม่รู้จัก‘ปาจารยสาร’นิตยสารที่นำเสนอความจริงในหลายแง่มุม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่อยู่นอกกระแสทั้งสิ้น นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาถึง 41 ปีแล้ว ที่ปาจารยสารยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานอยู่ ‘ธุรกิจหนังสือ’ ฉบับนี้ ได้นัดหมายกับ ‘กษิดิศ อนันทนาธร’ บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมา การทำงาน อุปสรรคขวากหนาม และสิ่งที่ทำให้ ‘ปาจารยสาร’ ยังยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน
กษิดิศเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “นิตยสารของเราก่อตั้งเมื่อปี 2517 โดยคุณพิภพ ธงไชย ในระยะแรกจัดทำเป็นวารสาร เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย โดยมีคุณพิภพเป็นสารณียกรคนแรก ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป สำหรับชื่อ ‘ปาจารยสาร’อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) เป็นคนตั้งชื่อให้ คำว่า ‘ปาจารยสาร’ มาจากคำว่า ‘ปาจารย์’ แปลว่าครูของครู บวกกับคำว่า ‘สาร’ ที่แปลว่าหนังสือ รวมแล้วก็จะเป็น ”หนังสือของคนที่เป็นครูของครู” ในระยะแรกเนื้อหาหลักของนิตยสารก็จะเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย ตามความหมายของชื่อนิตยสาร แต่ในระยะหลังเราก็เขียนเรื่องราวอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่องสันติวิธี เรื่องศาสนา และเรื่องบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ในระยะแรก ‘ปาจารยสาร’ ได้รับการตอบรับดีมาก จากบรรยากาศทางสังคมช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ผู้คนต้องการแสวงหาความรู้มากขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีนิตยสารและหนังสือเกินขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปาจารยสารได้รับความนิยมลดลง กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2553 ปาจารยสารได้หายไปจากแผงหนังสือ เรื่องนี้กษิดิศอธิบายว่า “ช่วงนั้นเราปรับไปทำนิตยสารแจกฟรีประมาณ 2 ปี เนื่องจากไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับตีพิมพ์เป็นเล่ม การที่ปรับไปทำนิตยสารแจกฟรี จำนวนหน้าในการตีพิมพ์มันน้อยลง ค่าใช้จ่ายก็น้อยลง แต่เมื่อจำนวนหน้าน้อย ก็เป็นปัญหาสำหรับเรา เพราะเวลาจะตีแผ่เรื่องที่ลึกซึ้งพื้นที่มันไม่พอ ซึ่งทางคุณสุลักษณ์ก็มองเห็นปัญหาในข้อนี้ ท่านก็ไม่อยากให้เรานำเสนออะไรออกไปแบบฉาบฉวย ทางมูลนิธิฯ จึงช่วยหางบประมาณมาให้ ทำให้ปาจารยสารกลับมาอยู่บนแผงหนังสือได้อีกครั้ง แม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้ยั่งยืนเท่าที่ควร อยู่กันได้แบบเล่มต่อเล่ม แต่เราก็อยากนำเสนอสิ่งที่เป็นสาระของชีวิตกับคนในสังคมต่อไป”
กษิดิศได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการทำนิตยสารปาจารยสารว่า “เรามีวัตถุประสงค์หลักที่เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือต้องการที่จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ และข้อสองคือเราต้องการนำเสนอความจริงที่ถูกกลืนหายไป ไม่ว่าจะด้วยภัยจากระบบเศรษฐกิจ หรือภัยจากมายาคติทางประวัติศาสตร์ อันทำให้ผู้คนลืมสิ่งที่เป็นสาระของชีวิตไป เราตั้งใจเสนอสิ่งที่เป็นสาระของชีวิตให้กับผู้อ่าน ตามสโลแกนที่ว่า ‘เพื่อความดี ความงาม และความจริงของโลก’ซึ่งผมนำมาจากคำกล่าวของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์”
จะเห็นได้ว่าปาจารยสารนั้นเป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างจากนิตยสารเล่มอื่น การนำเสนอเฉพาะเรื่องที่เป็นกระแสรองหรือนอกกระแส ไม่เล่นตามกระแสเหมือนนิตยสารเล่มอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องที่เก่าง่าย อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ปาจารยสารมีเสน่ห์ แตกต่าง และแหวกแนวกว่านิตยสารเล่มอื่น ๆ
กว่าจะมาเป็นนิตยสารเล่มหนึ่งได้นั้น กองบรรณาธิการทำงานกันอย่างไร “เราไม่มีสำนักงานหลักครับ ปกติกองบรรณาธิการไม่เคยเจอหน้ากัน เราจะมีกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ใช้ในการคุยงานกัน ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ส่วนคอลัมน์ต่าง ๆ ภายในเล่ม ปกติเรามีนักเขียนหลักอยู่ 3 ท่าน ด้านวรรณกรรมคือ ศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ ด้านประวัติศาสตร์ - ศาสนาก็จะเป็น ส. ศิวรักษ์ และด้านบทความแปลมีคนรุ่นใหม่อย่างคุณภาคิณ นิมมานนรวงศ์ ในอนาคตก็จะมีด้านประวัติศาสตร์ - จีนศึกษา อย่างอาจารย์ถาวร สิกขโกศลครับ ส่วนที่เหลืออีก 70 % ก็จะเป็นนักเขียนจากภายนอกซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตาม คอนเซ็ปต์ของแต่ละเล่ม”
“ในช่วงนี้ เราก็ปรับตัวหลายอย่างครับ ทั้งปรับขนาดนิตยสารให้เป็นแบบพ็อคเก็ตบุ๊กพกพาง่าย ใส่ภาพประกอบเพิ่มขึ้นไม่ให้เนื้อหาหนักเกินไป และปรับแต่งหน้าปกให้เป็นภาพกราฟิกดึงดูความสนใจ จากที่เคยเป็นนิตยสารราย 3 เดือน ก็ปรับเป็น 4 เดือน และในอนาคตเรากำลังวางแผนที่จะปรับให้มีหน้าเว็บไซต์คู่ขนานกับรูปเล่มนิตยสารไป ถ้าเราได้ลงบทความผ่านเว็บไซต์ของเรา น่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้คนอ่านเข้าถึงปาจารยสารได้ง่ายกว่า เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น อย่างเวลาที่นักเรียนนักศึกษาเขาจะทำรายงานกัน เราต้องยอมรับความจริงครับว่า ที่แรกที่เขาจะหาคืออินเตอร์เน็ต ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ เขาถึงจะเข้าห้องสมุด ผมว่าอาจจะดีกว่าการโฆษณาด้วยซ้ำไป ซึ่งตอนนี้เนติวิทย์และเพื่อน ๆ ก็มาทำบล็อก http://pacaarchive.blogspot.com เพื่อนำบทความเก่า ๆ ของปาจารยสารมาพิมพ์เผยแพร่ในบล็อก ใครสนใจก็ลองเข้าไปอ่านได้ครับ” กษิดิศอธิบายถึงการปรับตัวของปาจารยสารในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
คอหนังสือทั่วไปอาจจะไม่ค่อยให้ปาจารสารบนแผงหนังสือเท่าไหร่นัก กษิดิศบอกว่า “นิตยสารของเราหาอ่านค่อนข้างยาก เพราะจำนวนตีพิมพ์ลดลงไปมาก ก็จะมีตามร้านสายส่งของบริษัทเคล็ดไทย และศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ก็สามารถสั่งซื้อทางเฟซบุ๊กปาจารยสาร มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และหน้าเว็บไซต์ของหนังสือเคล็ดไทยครับ”
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ‘ปาจารยสาร’ จะลดบทบาทของตัวเองลงจากแผงหนังสือ แต่คุณภาพของผลงานนั้นไม่ได้แปรผันตาม ‘ปาจารยสาร’ยังคงอยู่เพื่อตีแผ่ความดีที่น่ายกย่อง เปิดมุมมองที่เป็นความงามของชีวิต และนำเสนอความจริงที่ไม่มีวันตายไปจากโลก
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com
ธุรกิจหนังสือ : ปารมี ปิยะศิริศิลป์
ภาพ : ภาณุวัชร สุเมธี
All magazine ตุลาคม 2558