คุยนอกรอบกับ กัมปนาท สังข์สร : ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนครั้งที่ 1

คุยนอกรอบกับ กัมปนาท สังข์สร

      สวัสดีทุกท่านในปลายเดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่สั้นที่สุดในรอบปี ก่อนจะขึ้นเดือนใหม่ “คุยนอกรอบ” วันนี้ จะพาไปคุยกับนักวาดภาพประกอบคนเก่ง “กัมปนาท สังข์สร” หนุ่มนครศรีธรรมราชผู้มากฝีมือ ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนครั้งที่ 1 (ASEAN Illustration Award) ที่ได้ทำการตัดสินไปเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ในงานเทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (International Children’s Content Rights Fair: ICCRF) ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพิธีมอบรางวัลจัดขึ้น ณ ห้องดวงโกมล ชั้น 28 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สีลม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

     กัมปนาท จบปริญญาตรี และ ปริญญาโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานวาดภาพประกอบอิสระมา 6 ปี มีผลงานเขียนและวาดภาพประกอบหนังสือเด็กแก่สำนักพิมพ์ไทยและต่างประเทศมากกว่า 20 เล่ม กัมปนาทใฝ่ฝ่ันอยากมีโอกาสได้เขียนภาพประกอบที่หลากหลายแนวทางมากขึ้น และ เขียนภาพประกอบเรื่องราวที่แต่งด้วยตนเอง 

 

กัมปนาท สังข์สร

 

เริ่มต้นงานวาดภาพประกอบมาตั้งแต่เมื่อไหร่? 

กัมปนาท : เริ่มต้นตั้งเเต่ปี 2555 ครับ

 

รู้จักโครงการประกวดภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนได้อย่างไร และมีแรงบันดาลใจอย่างไรในการส่งผลงานเข้าประกวด?

กัมปนาท : รู้จักโครงการจากการเห็นประกาศในเว็บไซต์ครับ เหตุผลที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพราะหวังอยากได้รางวัล เเละอยากได้โอกาสในการเผยเเพร่ผลงานมากขึ้นด้วยครับ

 

มีนักวาดภาพในดวงใจไหม?

กัมปนาท : ถ้าต่างประเทศก็จะมี Luigi Serafini นักวาดภาพประกอบชาวอิตาเลียน ผู้เขียนเเละวาดภาพประกอบเรื่อง Codex Seraphinianus ที่เขียนขึ้นตั้งเเต่ ค.ศ.1976-1978 เป็นนิยายภาพที่ยกย่องกันว่าเป็นหนังสือที่ลึกลับ เเปลกประหลาดที่สุดในโลก ผู้เขียนสร้างภาษาใหม่ขึ้นมาเองบวกกับภาพประกอบเเฟนตาซี เป็นหนังสือที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล เเละน่าทึ่งมากๆ ถ้าเป็นคนไทยก็จะชอบงานของคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ คนนี้ชอบทั้งสไตล์การวาด เเละความคมคายของการใช้สัญลักษณ์ ถ้ารุ่นใหม่ๆ หน่อยก็จะชอบเพจไข่เเมวครับ อันนี้ทั้งชอบวิธีการสื่อสารเรื่องซีเรียสด้วยท่าทีเล่นๆ ขำๆ เข้าถึงผู้คนได้ง่าย เเละก็ชื่นชมในความกล้าหาญของคนวาดด้วย 

 

คิดว่าเอกลักษณ์ของงานวาดภาพประกอบหนังสือเด็กของอาเซียนที่ควรมีการสนับสนุนอย่างจริงจังคืออะไร ? 

กัมปนาท: ในด้านสไตล์ภาพน่าจะเป็นการเอาอัตลักษณ์ของเเต่ละท้องถิ่น วัฒนธรรม มาประยุกต์ให้ร่วมสมัยมากขึ้นครับ เสน่ห์เฉพาะตัว ของเเต่ละวัฒนธรรมมันมีอยู่เเล้ว เเต่โดยมากพอพูดถึงงานด้านวัฒนธรรม ในนิยามของภาครัฐ เเละสื่อกระเเสหลักมักจะหมายถึงของเก่าเเก่ที่ต้องมีรูปเเบบตายตัว ติดอยู่กับอดีต ต้องเเช่เเข็งมันไว้อย่างนั้น  คือถ้ายังไม่หลุดจากกรอบคิดตรงนี้ มันก็ยากที่จะต่อยอดจากของดีๆ ที่เรามีอยู่ มันเข้าไม่ถึงชีวิตของคนจริงๆที่ต้องอยู่กับปัจจุบัน

 

รู้สึกอย่างไรกับการได้รับรางวัลในครั้งนี้?

กัมปนาท: ดีใจมากๆ ครับ

 

อยากฝากถึงผู้ที่สนใจการประกวดครั้งต่อไป หรือผู้ที่มีผลงานดีๆเก็บไว้ อย่างไรบ้าง?

กัมปนาท: อยากให้ลองส่งกันดูนะครับ เพราะเวทีประกวดดีๆ ที่เปิดโอกาสให้นักวาดภาพประกอบในไทย เเละระดับอาเซียนยังมีไม่มาก จะได้หรือไม่ได้รางวัล อย่างน้อยๆ ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้ได้เผยเเพร่ผลงานครับ

 

บทความโดย : ชฎาพรรณ บุญสิงห์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ