อีก 2 ปีข้างหน้าอายุการเขียนหนังสือของณรงค์ จันทร์เรือง จะครบ 50 ปี ขณะที่ปีหน้า นามปากกา "ใบหนาด" ที่ใช้ในการเขียนเรื่องผีของเขาก็จะมีอายุ 40 ปี ปีนี้ พ.ศ. 2547 นักเขียนอาชีพที่ชื่อณรงค์ จันทร์เรือง อายุ 64 ปี ยังไม่เกษียณอายุจากงานเขียน ในวันที่ให้สัมภาษณ์เขาเล่าว่าเมื่อคืนทำงานเขียนถึงตี 4 ! ณรงค์ จันทร์เรืองผ่านการเขียนเรื่องสั้นมาแล้วกว่าสองพันเรื่อง และเรื่องผีอีกประมาณพันเรื่อง เรื่องท่องเที่ยว เรื่องบุคคล เรื่องขบขัน และเรื่องอื่นในนามปากกาอื่นอีกสารพัด ด้วยพรสวรรค์บวกโชคชะตาที่ชักนำให้ณรงค์ จันทร์เรืองเข้าสู่เส้นทางนักเขียนตั้งแต่อายุ 15
"เขียนหนังสือตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ครั้งแรกลงใน ศรีสัปดาห์ เป็นหนังสือแบบ ขวัญเรือน นอกจากนั้นยังเขียนลงใน สกุลไทย และ ดรุณสาร ซึ่งเป็นหนังสือเด็กค่ายสตรีสาร ส่วนมากเป็นเรื่องแม่บ้าน การเรือน เรื่องสั้น ยึดเป็นอาชีพไม่ได้ เขียนตั้งแต่เรียน ม.6 จนถึง ม.8 แล้วมาเขียนเรื่องยาวตอนอายุ 18-19 ที่เพลินจิตต์" ที่นี่เองเขามีรายได้จากการเขียนหนังสือกว่า 3 เท่าของค่าแรงบัณฑิตปริญญาตรีสมัยนั้น นี่เป็นเหตุผลสำคัญให้เขาหันหลังให้กับการเรียน แล้วมาเอาเอาดีในการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง
"ปรกติผมได้เงินค่าขนมวันละ 10 บาท ข้าวแกงจานละ 2 บาท ผมลองเขียนเรื่องยาว 70 หน้าส่งไปให้บรรณาธิการเพลินจิตต์อ่านดู ปรากฎว่าใช้ได้ เขาก็ถามว่าจะขายเท่าไหร่ ผมก็บอกว่าแล้วแต่เขา เขาให้หน้าละ 5 บาท ได้มาครั้งแรก 350 บาท ดีใจมาก ต่อไปผมก็เขียนส่งให้เขาสัปดาห์ละ 60 หน้า ได้เดือนละ 1,200 บาท คนเรียนจบปริญญาตรีสมัยนั้นทำงานได้เงินเดือน 750 บาท เพื่อนผมก็เรียนกันอยู่ ต่อมาบรรณาธิการบอกว่าซื้อเครื่องพิมพ์ดีดมาพิมพ์งานสิ จะให้หน้าละ 10 บาท เท่านั้นแหละ สัปดาห์ละ 600 บาท กินเที่ยวเท่าไหร่ก็ไม่หมด ผมเลิกเรียนเพราะรายได้ดีเหลือเกิน แต่ก็เป็นอย่างนี้ได้ไม่นาน…"
ปัจจุบันณรงค์ จันทร์เรือง เขียนคอลัมน์ใน น.ส.พ.ข่าวสด และเรื่องผีในนามปากกา "ใบหนาด"เขาให้ความเห็นต่อกระแสความนิยมเรื่องผีว่า "เรื่องผีไปได้เรื่อยๆ อยู่กับตลาดมาตลอด ตั้งแต่สมัยก่อน ทุกชาติภาษาชอบเรื่องผี มีทุกแบบทุกแนว หนังอาร์ตยังมีเลยผมเคยไปดู เฉพาะไทยเองหนังชุดแม่นากมีไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง แม่นากพระโขนง แม่นาคพระนคร แม่นากคืนชีพ เยอะแยะ…"
ต่อคำถามถึงที่มาของนามปากกาใบหนาด "ตอนนั้นเขียนหนังสือกึ่งอาชีพแล้ว ทำงานเป็นผู้ช่วยคุณประเสริฐ พิจารณ์โสภณ หน้าที่หลักคือตรวจปรู๊ฟ หนังสือชื่อ ขวัญจิต มีคอลัมน์ขวัญหาย ให้ผู้อ่านส่งเรื่องมาตีพิมพ์ ตอนหลังเริ่มไม่ไหว ผมคัด 2-3 เรื่องส่งไปให้คุณประเสริฐดู ก็ยอมรับว่าใช้ไม่ได้จริงๆ คุณประเสริฐรู้ว่าผมเคยเขียนเรื่องผีเรื่องยาวให้เพลินจิตต์ เรื่องวิญญาณพิศวาส คุณประเสริฐจึงให้ผมเขียนแทน เพราะว่าช่างพิมพ์รออยู่ ผมกลับมานั่งที่โต๊ะแล้วก็เขียนเลย เรื่องวิญญาณห่วง ฉากที่อยุธยา เมื่อคุณประเสริฐได้อ่านก็บอกว่า เฮ้ย! ดีนี่ แปลกดี แปลกตรงที่ทั้งเรื่องไม่เห็นผีเลย แต่น่ากลัว เป็นเรื่องที่แม่เป็นห่วงลูกเล็กๆ 2 ขวบ
"พี่ประเสริฐก็ตั้งนามปากกาว่าใบหนาด เพราะแกรู้เรื่องต้นไม้เยอะ ใบหนาดเป็นใบไม้ที่ผีกลัว เป็นไม้พุ่ม 4- 5 เมตร ใบสาก เหมือนใบข่อยที่ใช้รูดเมือกปลาไหล ผีกลัวใบหนาดเพราะมันสาก มีความคัน คงกลัวความเจ็บปวด ไปตรงกับทางเหนือ หมอไล่ผีภาคเหนือใช้ใบหนาดในกรรมวิธีไล่ผี และความอัปมงคล เหมือนที่ภาคกลางใช้ใบมะยมไล่ผี…"
แล้วเรื่องผีของใบหนาดต่างจากเรื่องผีของคนอื่นอย่างไร ณรงค์ จันทร์เรืองขยายความว่า "เรื่องผีของใบหนาดจะเน้นรายละเอียด ให้ความสำคัญกับฉากมาอันดับหนึ่ง เช่นผมจะไม่เขียนอย่างนี้ 'ณ หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีผัวเมียคู่หนึ่ง…' เพราะมันเลือนลอยไม่สมจริง ผมจะเขียนว่า 'ณ หมู่บ้านดอยคำ ต.แสงงาม อ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่' อย่างแรกคนจะเชื่อว่าฉากนี้มีจริง คนเชียงใหม่จะเชื่อว่ามีจริงแต่อาจจะยังไม่เคยไป ส่วนคนจังหวัดอื่นจะคิดว่ามีจริงเช่นกัน เพราะถ้าไม่จริงคนเชียงใหม่คงโวยไปแล้ว เรื่องผีต้องอาศัยความสมจริง ทั้งๆเรื่องผีคือเรื่องหลอก"
แม้ใบหนาดจะเป็นใบไม้ที่ผีกลัว แต่เขาก็เคยมีประสบการณ์ขนหัวลุกเพราะโดนผีหลอก "เอาที่โดนเจ๋งๆเลย ผมโดนผีหลอกพร้อมสุวรรณี ช่วงนั้นเขายังเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร วันนั้นเพื่อนๆไม่รู้ไปไหนหมด ผมจึงชวนเจ๊(สุวรรณีซึ่งอายุแก่กว่า 9 ปี)ไปดูหนังเรื่องด๊อกเตอร์ชิวาโกที่ลิโด ดูรอบ 1 ทุ่มเลิก 4 ทุ่ม ดูหนังเสร็จขับรถกลับบ้านถึงสามเสน ปรากฎว่าสุวรรณีทำกระดุมทองของแม่หายจึงกลับไปหาที่มหาวิทยาลัย ไม่พบ ก็คิดว่าคงหายที่โรงหนัง จึงกลับไปดู
"เมื่อขับมาแถวบริเวณถนนเทอดดำริ สมัยนั้นถนนกว้าง มีต้นมะขามทั้งสองข้าง เปลี่ยวมาก ไม่มีคนเลย แต่อยู่ๆก็มีสิบโทคนหนึ่งมายืนคอพับอยู่ที่บังโคลนขวา สุวรรณีอุทานออกมาว่า 'ไอ้เหี้ย' ผมว่า 'ไอ้สัตว์' ด้วยความตกใจ แล้วสุวรรณีก็เบรกห่างออกไป 2-3 เมตร หันหลังกลับไปปรากฎว่าไม่มีอะไรอยู่ข้างหลังเลย ไม่มีทางที่จะหลบไปไหนได้ สุวรรณีไม่กล้าหันกลับไปมอง แต่ถามผมว่า 'เห็นไหม' ผมพยักหน้า โดนหลอกพร้อมกัน 2 คนเลย"
เมื่อถามถึงงานเขียน ณรงค์ จันทร์เรืองเล่าว่า เมื่อก่อนเขียนได้วันละ 3-4 บท เรื่องสั้น 3-4 เรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอายุเยอะแล้ว ส่วนใหญ่เขาจะเขียนหนังสือตอนกลางคืน บางสัปดาห์ไม่ได้หยุดเลย บางสัปดาห์หยุด 1-2 วัน เขาเขียนหนังสือในแบบที่ว่า
"ไม่เคยวางแผนการเขียนหนังสือ ทำอะไรได้ก็ทำ มีความสุขจากการเขียนหนังสือ…" ผลงานที่ผ่านมาของณรงค์ จันทร์เรืองได้แก่ แหวกม่านตู้กระจก เป็นสารคดี เรื่องเล่าเกี่ยวกับหมอนวด ลงใน เพนท์เฮาส์ ตามมาด้วย แหวกม่านม่านรูด แหวกม่านคาแฟ่ แหวกม่าน(คอกเทล)เลาท์
เขาเขียนเรื่องท่องเที่ยวต่างประเทศจากประสบการณ์ "โอลี่เที่ยว เที่ยวล้วน ๆ (ไม่ได้ไปดูงานหรือไปเรียน )" กว่า 10 เล่ม และนามปากกาคริส สารคามใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดชีวิตนักเขียนตั้งแต่ อรวรรณ, สุวรรณี สุคนธา, อิศรา อมันตกุล, อุษณา เพลิงธรรม และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์
ณรงค์ จันทร์เรืองเล่าว่า 30 ปีก่อน พลเมือง 25 ล้านคน คนหิวเรื่องสั้นมาก หนังสือพิมพ์ 5,000 เล่ม ถ้าไม่ถึงกับเขียนแย่มากจะขายได้หมด ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ที่คนอ่านหนังสือน้อยลงเพราะมีสิ่งอื่นมาแย่งความสนใจไป ฉะนั้นเมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพ ณรงค์ จันทร์เรืองบอกว่า
"อย่าเขียนเลย ไปทำมาหากินอย่างอื่นเถอะ ไม่สนุกหรอก แต่ถ้ารักชอบจริงๆก็จงเขียนไปเลย เขียนเข้าไป ๆ ๆ ๆ" ..