นิราศพระธาตุอินทร์แขวนเจ้าจันท์ผมหอม : ความจริง สัจจะ มายา…

นิราศพระธาตุอินทร์แขวนเจ้าจันท์ผมหอม

 

               นวนิยายเรื่อง นิราศพระธาตุอินทร์แขวนเจ้าจันท์ผมหอม เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของนักเขียนชาวล้านนา เจริญ  มาลาโรจน์ หรือนามปากกา  มาลา  คำจันทร์     ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔  การที่นิราศพระธาตุอินทร์แขวนฯ ได้รับรางวัลซีไรต์นั้น คงด้วย มาลา   คำจันทร์ สามารถใช้นวัตกรรมทางวรรณศิลป์  คือ การประยุกต์นำขนบวรรณกรรมทั้งแบบเก่าและใหม่มาผสมกันได้อย่างกลมกลืน (ตามคำประกาศเกียรติคุณ ซีไรต์ ประจำปี ๒๕๓๔)   และหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วจะเห็นถึงความเป็นมืออาชีพของนักเขียนท่านนี้ ที่สามารถปรุงวรรณกรรมด้วยการใช้ขนบนิราศมาเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยาย ผสมกลิ่นอายด้วยวรรณกรรมท้องถิ่นล้านนาจนออกมาเป็น นิราศพระธาตุอินทร์แขวน เจ้าจันท์ผมหอม แม้ส่วนผสมจะดูแตกต่างกันแต่รสชาติกลับกลมกล่อมลงตัว ด้วยฝีมือการปรุงอันละเมียดละไมของ มาลา   คำจันทร์

 

                นวนิยายเรื่องนี้  ผู้เขียนนำเอาความรู้สึกของเจ้าหญิงเจ้านางในประวัติศาสตร์ทางล้านนา ที่เผชิญอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การล่าอาณานิคม และการรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งเดียวกับสยามประเทศมาเล่าและผูกขึ้นเป็นเรื่องการรวมอำนาจการปกครองทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลางที่เมืองกอกแคว้นใต้ (กรุงเทพฯ) ได้ค่อย ๆ กลืนสมบัติ อำนาจ จนส่งผลกระทบต่อชนชั้นเจ้าทางเหนือ  ที่นับวันจะยิ่งกลายเป็นเจ้าปลายเชื้อแตงปลายแถว    และเป็นมูลเหตุสำคัญที่นำมาสู่การแต่งงานตามหน้าที่เพื่อค้ำยันให้เสาหลักและศักดิ์ศรีล้านนามั่นคง อย่างในประวัติศาสตร์  เจ้าดารารัศมี  ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม  โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เช่นเดียวกับ เจ้าจันท์ยอมแต่งงานกับพ่อเลี้ยงปะหล่องต่องสู่ ไม่ใช่เพียงเพราะสัจจะวาจาที่ให้ไว้ต่อหน้าเจ้าพ่อเจ้าแม่ของตนเท่านั้น  แต่เจ้าจันท์กำลังทำตามหน้าที่เหมือน  “ เจ้าหญิงเจ้านางเมืองเราล้วนแต่มีภาระหน้าที่ บ่แม่นมีไว้กินสุขเสวยบานอย่างเดียวลูกเฮย (หน้า ๘๙)”  เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างดินแดน และผลประโยชน์ทางการเมืองอันแฝงมากับการแต่งงาน ตามที่ผู้เขียนต้องการเสนอ    

 

                การนำเรื่องราวของเจ้าหญิงในประวัติศาสตร์ล้านนามาเขียน  เพื่อเผยให้เห็นถึงความรู้สึกเจ็บร้าวล้ำลึก เจ็บหนึบในอกเหมือนหนามเสียบเนื้อ (หน้า ๑๒) ภายในของเจ้าหญิงเจ้านางตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่ต้องจำยอมแต่งงานกับคนที่สุดแต่พ่อแม่เลือกให้แม้ออกแนวคล้ายกับเป็นการจับหนุ่มสาวมาคลุมถุงชน   แต่ผู้เขียนก็สามารถแสดงให้เราเห็นถึงความเสียสละความสุขส่วนตนของคนเป็นเจ้าที่เกิดมาสูงกว่าย่อมต้องรับภาระหน้าที่หนักกว่าคนธรรมดาผ่านการตัดสินใจแต่งงานกับพ่อเลี้ยงของเจ้าจันท์หลังจากที่ปูผมลอดพระธาตุอินทร์แขวนไม่ได้ ผู้เขียนเผยให้เราเห็นถึงความรู้สึกภายในใจของ เจ้าจันท์ ที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนา  ความขัดแย้ง ระหว่างหน้าที่กับความรักและความรับผิดชอบแต่ท้ายที่สุดแล้วก็ให้ เจ้าจันท์ เลือกทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ทำเพื่อบ้านเมือง  มากกว่าเลือกข้างความสุข  ความรู้สึกส่วนตนเป็นที่ตั้ง 

 

                การใช้ปมจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาเป็นปัญหาในเรื่องการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในยุคของการล่าอาณานิคมจากอังกฤษและฝรั่งเศสจนต้องรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งเดียวกับเมืองกอกแคว้นใต้  เพื่อป้องกันภัยจากการถูกยึดดินแดน  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบเจ้าทางเหนือ  ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษสืบมาจนถึงเจ้าพ่อของ เจ้าจันท์ เพราะ  “ตกลงกันว่าขับม่านพ้นเมืองเราจะน้อมเข้าสู่โพธิสมภารถวายบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองบัดนี้ชาวใต้เขาบ่รักษาสัญญา   เข้ามายึดกุมเมืองเราไปหมดแล้ว  (หน้า๖๓)”  ต้องกลายเป็นเจ้าปลายเชื้อแตงปลายแถวไม่อาจพาเจ้าจันท์ไปไหว้สาพระธาตุประจำปีเกิดได้เพราะพร่องลงด้วยสมบัติและอำนาจ   จึงต้องหันเข้าพึ่งพ่อเลี้ยงชาติเชื้อปะหล่องต่องสู่ที่เป็นคนนอกรีตนอกวัฒนธรรมมีอาชีพเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่งเป็นผู้หนุนหลังค้ำเสาหลักของความเป็นเจ้าที่กำลังซวดเซจวนจะล้มให้คงอยู่ได้   ประเด็นส่วนหลังนี้  ผู้เขียนชี้ให้เราเห็นถึงการปรับตัวของชนชั้นเจ้าต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ การยอมแต่งงาน พึ่งพา คนนอกวัฒนธรรมและต่างวรรณะเพื่อการเอาตัวรอดในสมัยนั้นสะท้อนผ่านการแต่งงานของเจ้าจันท์และผ่านเจ้าหล้าอินทะที่ไปประกอบอาชีพเป็นเสมียนป่าไม้ โดยไม่ถือความเป็นเจ้าเอาไว้ในตัวหลังสิ้นอำนาจ 

 

                 นอกจากนี้ มาลา คำจันทร์  ยังนำเรื่องประวัติศาสตร์ยุครวมดินแดนระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน มาเล่าผ่านมุมมองความรู้สึกของคนเหนือที่เป็นฝ่ายสูญเสีย  พยายามสื่อให้เห็นว่า  “ถูกรังแก”   และ  “โดนเอาเปรียบ”  จากการปกครองของข้าราชการเมืองกรุงเทพฯ  “เจ้าพ่อว่า ชาวใต้มันบ่เข้าใจคนเมือง มันเอาแต่ใจมันเป็นที่ตั้ง นึกจะทำอย่างใดมันก็ทำ (หน้า ๒๑)”   โดยไม่ชอบธรรมผ่านปากของตัวละครในเรื่องอยู่หลายครั้งหลายครา   การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแม้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของราชวงศ์ล้านนา   จนแทบไม่เหลือสิ่งใดเลย     กลับทำตัวให้ เจ้าจันท์  เจ้าหล้าอินทะ และตัวละครอื่น ๆ  ได้พบกับสัจธรรมตามความเป็นจริง ที่ทุกสรรพสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเสมอเพราะยิ่ง “ อยากวิ่งหนีความจริงกลับวิ่งบ่พ้น เร่งหนี ความจริงก็ยิ่งชิดชั้น( หน้า ๒๓) ”   เช่นเดียวกับในตอนจบของเรื่อง  เจ้าจันท์   ได้ขึ้นมาเห็นพระธาตุอินทร์แขวนด้วยตาของตนเอง ก็ถูกความจริงวิ่งโถมเข้าใส่อย่างเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป   เพราะองค์พระธาตุมิได้งดงามดังมายาภาพที่วาดไว้ เจ้าจันท์จึงประจักษ์พบคุณค่าที่แท้จริงอันเป็นแก่นสารของชีวิต   “เอาเทอะถึงบ่เลาบ่งาม  แต่เตชะฤทธีมากมีประจักษ์ ขอปูผมหอมลงลอดเสียก่อน  งามบ่งามนั้นเป็นเพียงรูปเตชะอานุภาพหากคือแก่นแท้ (หน้า๑๒๘)”   ภาพของพระธาตุอินทร์แขวนที่ฉาบทาสีทองอัปลักษณ์กระดำกระด่างไม่งดงาม  แต่ฤทธาอานุภาพกลับได้เคยช่วยเจ้าจันท์เอาไว้     ให้รอดพ้นจากอาการเจ็บไข้เจียนตายครั้งเมื่อยังเริ่มเป็นสาว   ภาพ พ่อเลี้ยง ที่รูปชั่ว ตัวดำ อัปลักษณ์  แต่มั่งมีเงินทองให้ความช่วยเหลือทั้ง เจ้าจันท์ และค้ำยันคุ้มหลวง ที่ผู้เขียนนำมาซ้อนเอาไว้  กับภาพของ เจ้าหล้าอินทะ ผู้มีรูปโฉมงดงาม  แต่ไร้ทรัพย์สมบัติ กำลังไพร่พล ไม่สามารถช่วยเหลือและพาเจ้าจันท์ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนได้ที่เป็นดังมายาภาพไม่ใช่คุณค่าแท้จริง ที่เจ้าจันท์จะพึ่งพาฝากผีฝากไข้ทั้งตนเองและแผ่นดินได้ในอนาคต 

 

                 ภาพซ้อนทับเหล่านั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ จะพบนัยยะสำคัญของผู้เขียนบอกผ่านภาพ ว่ามีความหมายเดียวกับแก่นเรื่องที่สื่อว่าคุณค่าและเนื้อแท้ที่งามดั่งทองของสรรพสิ่งที่มีเพียงคุณสมบัติล้ำเลิศ บางคราวมิได้อาศัยในรูปสมบัติที่งดงามและเราไม่ควรพิจารณาตัดสินคุณค่าของสิ่งนั้นตามผ้าขี้ริ้วที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกอย่างเดียวควรใช้ใจสัมผัสถึงคุณค่าที่แท้จริง  อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับ นางรจนา เห็นร่างทองในรูปเงาะของ พระสังข์

 

                เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้  ผู้อ่านจะได้พบความอลังการของภาษาอันอุดมไปด้วยจินตภาพที่เกิดจากการบรรยายภาพ  พรรณนา อุปมาฯลฯ  ฉากป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติตั้งแต่มืดจวบสว่าง  ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพและคล้อยตาม  ราวกับร่วมเดินทางไปกับขบวนเสด็จของเจ้าจันท์ตลอดจนการพรรณนาความรู้สึกภายในใจของเจ้าจันท์ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ จนบางคราวเหมือนว่าผู้อ่านนั้นเป็นเจ้าจันท์เสียเอง  ฉากธรรมชาติข้างต้นทำให้ผู้อ่านพบความคล้ายคลึงกับการพรรณนาธรรมชาติใน  ลิลิตพระลอ  ที่ผู้เขียนนำมาใช้ ครั้นเมื่อ พระลอ ต้องมนตร์แล้วเดินทางไปยังเมืองสรองการนำคติชนความเชื่อต่าง ๆ  และการนำวรรณคดีโบราณท้องถิ่นของล้านนาหลายเรื่อง   มาเล่าเรื่องร่วม  เช่น เรื่อง เจ้าสุวัตรบัวคำ และ ลังกาสิบหัว อันเป็นวิทยานิพนธ์ของ  มาลา   คำจันทร์ เมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๓๙  แทรกไว้อยู่ในเรื่องก็เป็นเสน่ห์อีกอย่าง   ซึ่งแต่ละเรื่องที่สรรมาล้วนเป็นเรื่อง  “รักสามเส้า”  ที่มีการชิงรักหักสวาท  เพื่อย้ำภาพการพลัดพรากและความรู้สึกเจ็บร้าว  ระทมทุกข์  ของตัวละครเอกอย่าง เจ้าจันท์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น   โดยเฉพาะ ลังกาสิบหัว ที่ค่อนข้างมีบทบาทเป็นพิเศษ    ผู้เขียนมักโยงตอนสำคัญ ๆ ในนวนิยายกับลังกาสิบหัวเข้าด้วยกัน  โดยให้คนขับลื้อขับลำแทรกขึ้นมาอยู่เป็นประจำ  เช่น ตอนที่เจ้าจันท์จะนำผมหอมปูลอดพระธาตุอินทร์แขวน กับตอนที่นางสีดาลุยไฟ  เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน  มาลา   คำจันทร์    นำจุดเชื่อมโยงของทั้งสองเรื่อง  คือ  การเสี่ยงทายเพื่อพิสูจน์ความจริงมาเรียงแล้วร้อยเข้าด้วยกันแม้เป็นวรรณกรรมต่างเรื่องกันแต่ผู้เขียนกลับนำจุดเชื่อมเหล่านั้นมาประสานเข้าด้วยกันอย่างแนบสนิทและมีศิลปะอ่านวรรณกรรมเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอมนิราศพระธาตุอินทร์แขวน ชวนนึกถึงสำนวนไทยที่ว่า “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว”  แต่หากเราอ่านหนังสือเล่มนี้เราจะได้นกมากกว่าสองตัวเป็นแน่แท้  

   

                ในส่วนของการเล่าเรื่องนั้น ผู้เขียนนำนวัตกรรมทางวรรณศิลป์  คือ   การใช้ขนบของนิราศและร่าย  มาเล่าเรื่องโดยลักษณะเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือ สามารถจบเรื่องภายใน ๑ วัน ด้วยการเล่าย้อนผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร เจ้าจันท์ ให้หวนนึกเล่าย้อนโดยใช้เวลาตั้งแต่ดึกย่ำรุ่งจนถึงบ่ายคล้อยก็สามารถเล่าเรื่องในอดีตจนปัจจุบันได้ทั้งหมดช่วงของเวลาดังกล่าวนี้เองเป็นเสมือนยาเร่งชั้นดีที่ผู้เขียนใช้เร้าเร่งให้ เจ้าจันท์ ต่อสู้กับความปรารถนา และความขัดแย้งที่อยู่ในใจเรื่องราวจึงค่อย ๆ ฉาย แล้วเผยออกเรื่อยๆจนเข้มขึ้นตามแสงพระอาทิตย์ของวัน

 

                ตามขนบเดิมของผู้นิราศร้างแรมไกลในขนบวรรณคดีโบราณของไทย ตัวละครมักเป็นชาย ที่จะหวนคำนึงคิดถึงคนรัก(จากนาง)   เมื่อต้องเดินทางจากลาแต่ในนวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนต้องการเน้นถึงบทบาทหน้าที่ความรู้สึกของเจ้านาง เจ้าจันท์    จึงเป็นผู้คร่ำครวญถึงสิ่งอันเป็นที่รักและชายคนรักคือ  เจ้าหล้าอินทะ  ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ทางวรรณศิลป์ที่ผู้เขียนนำมาใช้ในงานเขียนนี้หากมองขนบนิราศในนวนิยายเรื่องนี้ตามแนวคิดของ อังคาร   กัลยาณพงศ์   จะพบความเป็นนิราศที่ผู้เขียนมิได้มุ่งเสนอให้เราเห็นเพียงการคร่ำครวญถึง  “นาง”  อันเป็นที่รักของตัวละครแบบนิยายรักพาฝันเท่านั้นแต่เมื่อมองเข้าไปอย่างลุ่มลึกไตร่ตรองอย่างละเอียดจะเห็นถึงเห็นการคร่ำครวญถึงบ้านเมือง  ทรัพย์สมบัติและอำนาจ  ครั้งเมื่ออาณาจักรล้านนาเคยรุ่งเรืองการนำเรื่องด้วยการขนบนิราศมาใช้นี้ผู้วิจารณ์อนุมานว่าอาจด้วยผู้เขียนต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงอารมณ์  ความรู้สึก ของเจ้าหญิงเจ้านางในประวัติศาสตร์ล้านนาเช่น เจ้าดารารัศมี   เจ้านางศรีอโนชา   เจ้านางจิรประภา และพระนางเจ้าวิสุทธิเทวี   ที่แต่ละพระองค์ต้องร้างบ้านต่างเมืองไปเพื่อแบกรับภาระหน้าที่รักษาแผ่นดินถิ่นแคว้นให้คร่ำครวญสื่อผ่านธรรมชาติออกมาในยามเดินทางร้างถิ่น 

 

                อ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงนวนิยายอีกเรื่องคือผู้ดี ของ ดอกไม้สด  เมื่อระบบเจ้าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ วิมล ตัวละครเอกในเรื่องต้องยากจนลงซึ่งจนลงเฉพาะฐานะเท่านั้นแต่ความคิดที่เป็นผู้ดีไม่เคยจนลงเช่นเดียวกับ  เจ้าจันท์   แม้คุ้มหลวงจะพร่องลง จนเหลือความเป็นเจ้าเพียงชื่อแต่ขัตติยชาติเชื้อก็ยังมีอยู่ในสายเลือดมิจางหายเพราะการที่ถูกปลูกฝังให้รู้จักรักษาคำสัตย์จากเจ้าพ่อเจ้าแม่“สัจจะนั้นเป็นดวงแก้วแก่นใสประจำตระกูลขัตติยะชาติเชื้อ คำโบราณก็มีกล่าวว่ากษัตริย์ตรัสใดเป็นนั้นเราเป็นเจ้าเป็นเชื้อสายใหญ่ยศราชหงส์สัจจะหากเป็นแก่นสารของหงส์แลลูก   หากบ่มีสัจจะเชื้อเจ้าก็บ่ผิดกับไพร่หยาบสาบเหื่อที่ไหน (หน้า ๔๘) ”   ทำให้เจ้าจันท์คงเป็นเจ้าได้เสมอท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม      

 

                 นวนิยายเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอมนิราศพระธาตุอินทร์แขวน ทำให้เราได้รับรู้ความรู้สึกภายในของเจ้านางตามแว่นแคว้นที่ต้องแต่งงานตามบทบาทหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไร้ใจรักแล้วผู้อ่านจะได้รับกลิ่นอายความเป็นล้านนาที่ มาลา   คำจันทร์ นำมาปรุงเอาไว้ในเรื่อง  เพื่อยืนยันอัตลักษณ์แห่งตนในยุคโลกาภิวัตน์พร้อมแสดงแก่นแท้อันประเสริฐของชีวิต คือ ความจริง สัจจะ มายาและการพิจารณาถึงคุณค่าของสรรพสิ่งตามความจริงอันเป็นแก่นแท้ของทุกสิ่งที่แม้มิได้เป็นดังมายาภาพที่เราหลงอยู่ก็ตาม มาลา  คำจันทร์  ชี้ให้เราเห็นว่าความจริงและสัจจะ คือ ดวงรัตนมณีแก้วล้ำค่าส่องทางสว่างแก่มนุษย์ให้พ้นไปจากการตกในหนทางมืดมนของชีวิตที่เต็มไปด้วยมายา

 

บทวิจารณ์โดย นายวัชระ     พระวิเศษ

 

Writer

The Reader by Praphansarn