แสงอรุณแห่งครอบครัว : เปิดประตูรับ...แสงอรุณแห่งครอบครัว

แสงอรุณแห่งครอบครัว

หากใครสักคนที่กำลังท้อแท้ หมดหวังในชีวิต คิดว่าชีวิตมันไม่เหลืออะไรอีกแล้ว จนสุดท้ายอยากจะฆ่าตัวตาย ฉันอยากจะขอซื้อเวลาของเขาสักนิดเพียงแค่พออ่านหนังสือสักเล่ม หากอ่านจบแล้วเมื่อนั้นเขาอาจจะคิดว่า เรื่องราวความทุกข์ที่เขาเผชิญมานั้น มันช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่มที่มีชื่อว่า “แสงอรุณแห่งครอบครัว”

แสงอรุณแห่งครอบครัว ได้รับรางวัลชมนาดอันดับสองประเภทสารคดี โดยเป็นหนังสือที่พยายามจะบอกให้ทุกคนที่ประสบปัญหาในชีวิตหาทางแก้ไขไม่ได้หรือคนที่ต่อสู้แล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จให้ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับผู้เขียน ผู้ซึ่งมีปัญหาชีวิตในระดับที่ผู้อ่านอย่างฉันเมื่อได้อ่านเพียงครึ่งเล่มก็ต้องทานยาแก้ปวดหัวแล้วพักการอ่านไว้เพียงเท่านั้นก่อน

เรื่องราวการดำเนินเรื่องนั้นเป็นอย่างไร้นาม ไร้สกุล คือบุคคลที่อยู่ในเรื่องนั้นมีเพียงฉัน, อดีตสามี, ลูกๆ, ผู้หญิงอีคน และลูกๆ ของหล่อนเท่านั้นไม่มีการใช้ชื่อใดๆ ปรากฏอยู่ในหนังสือเลย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำความน่าสนใจของหนังสือลดลงแต่ประการใด ผู้อ่านยังคงมีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวของผู้เขียนตั้งแต่ต้นยันจบ

สิ่งที่หนังสือได้สื่อออกมานอกจากการให้กำลังใจคนที่ท้อแท้แล้วนั้น ยังคงบอกเล่าปัญหาของครอบครัวในสังคมที่ชายเป็นใหญ่เสียจนส่งผลให้เกิดปัญหานานัปการ เช่นในกรณีของลูกชายผู้เขียนที่มีอาการทางจิตเนื่องจากความเครียดที่เกิดจากคำพูดของพ่อจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งประเด็นนี้นั้นทำให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องการพูดจากับลูกๆ ของตน รวมไปถึงตระหนักรู้ว่าคำพูดบางคำนั้นลูกไม่ได้รับเข้ามาทางหูเพื่อฟังเพียงอย่างเดียวแต่มันยังกัดกร่อนกินลึกลงไปในใจดวงน้อยๆ ของลูกอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้วยังคงมีอีกประเด็นที่ผู้เขียนปูทางไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเขานั้นไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เขามองข้ามนั้นกลับมาเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเขาไว้นั่นคือ “ธรรมะ”

จิตวิทยาว่าด้วยการโฆษณากล่าวว่า หากเราทำโฆษณาที่มีเนื้อหาว่าผู้ใช้นั้นไม่คิดที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นี้จนมาวันหนึ่งได้ลองใช้และพบว่ามันดีมากจึงมาบอกต่อให้กับผู้รับชม ซึ่งกลวิธีที่นำเสนอเช่นนี้ทำให้ผู้รับชมนั้นสนใจสินค้าได้ดีอีกวิธีหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับการนำเสนอธรรมะของผู้เขียนไม่มีผิดเพี้ยน

ในช่วงแรกๆ ผู้เขียนกล่าวว่าตัวเองได้ปฏิเสธธรรมะเพราะคิดว่าทำดีไปก็เท่านั้น คนทำชั่วได้ดีมีถมไป จนกระทั่งมรสุมชีวิตที่ได้พัดผ่านมาทำให้คนที่ปฏิเสธธรรมะอย่างสิ้นเชิงอย่างผู้เขียนกลับมาปฏิบัติธรรมได้ เป็นการล่อหลอกผู้อ่านที่ไม่เคยจะสนใจในธรรมะให้ได้ลองมาศึกษาหรือปฏิบัติได้อย่างแยบยล

เนื้อหาในแต่ละบทก็เพิ่มความเข้มข้นของปัญหาไปทีละนิดๆ ชวนให้ผู้อ่านลุ้นระทึกไปกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของผู้เขียน ไม่เพียงแต่นำเสนอถึงเรื่องราวที่หนักหน่วงและโหดร้ายเท่านั้นยังมีบางช่วงบางตอนที่ผู้เขียนสอดแทรกเหตุการณ์ ที่ทำให้เราเผลอยิ้มออกมาและคิดว่าชีวิตยังคงงดงามตราบเท่าที่เรายังคงมีชีวิตอยู่

การบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสือนั้นผู้เขียนก็เขียนได้ละเอียด จนฉันสามารถที่จะรับรู้ความเครียดของลูกชายที่มีอาการทางจิต ลูกสาวที่กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้เรียนในโรงเรียนต่อหรือแม้กระทั่งรู้สึกดีใจกับผู้เขียนที่ชนะคดีในช่วงที่ขึ้นศาล และสิ่งสำคัญที่สุดคือรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของคำว่า “แม่” ที่ทำให้ผู้เขียนสามารถทำในสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

นอกจากนั้นแล้วเนื้อหาบางตอนยังเร้าอารมณ์ให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงนั้นสามารถทำได้หากยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน

การลำดับเรื่องราวก็ทำได้ดีมีการปูพื้นหลังว่าผู้เขียนนั้นมาจากครอบครัวแบบไหนและเมื่อมีครอบครัวเป็นของตัวเอง แต่ครอบครัวนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนครอบครัวของผู้เขียนในวัยเด็ก ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุ แสดงผลของเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน

ภายในหนังสือนั้นยังมีมุมน่ารักๆ ที่แทรกอยู่เมื่อจะเริ่มมีบทใหม่นั่นคือภาพวาดของลูกสาวของผู้เขียน ซึ่งแสดงให้ผู้อ่านได้ทราบว่าสิ่งที่ผู้เขียนบอกว่าเป็นสิ่งที่สุดแสนจะวิเศษและมีค่ากับผู้เขียนนั้นนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตแล้ว ยังมาเป็นส่วนสำคัญในหนังสือเล่มนี้อีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว แสงอรุณแห่งครอบครัวไม่ได้มาบอกให้เราลุกขึ้นมาสู้หรือชักชวนให้เราไปศึกษาธรรมะเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากที่รอให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านเข้าไปค้นพบ เพียงแค่ท่านเปิดตา เปิดใจ และเปิดประตูรับแสงอรุณแห่งครอบครัวไม่แน่...ท่านอาจจะพบแสงอรุณในชีวิตท่านก็เป็นได้

 

 

น.ส.พลอยไพลิน สายแสง

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ