พิศมัย ไชยสิทธิ์ : เพราะลูกคือแรงบันดาลใจ

พิศมัย ไชยสิทธิ์

ทราบผลกันไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับงานประกาศผลรางวัลชมนาด (Non Fiction) ครั้งที่ 5 ณ ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ลีลม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกับเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศรางวัลชมนาด พิศมัย ไชยสิทธิ์ นามปากกา ไหมพรม เจ้าของผลงาน “สองชีวิตหนึ่งใจ (ชีวิตหนูในมือแม่ และชีวิตแม่ในมือหนู)” เรื่องราวชีวิตของ “เด็กพิเศษ” ที่ถูกเลี้ยงดูจนเติบโตมาด้วยแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกันมาทั้งชีวิต...ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับผู้เขียนกันสักหน่อย

 

ปัจจุบันประกอบอาชีพอะไรและทำไมถึงสนใจในงานเขียน
ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายของชำที่บ้าน แต่ในขณะที่เฝ้าร้านก็จะมีเวลาเขียนเรื่องราวต่างๆได้ ทุกวันนี้ก็เขียนเรื่องสั้นลงตามนิตยสาร อย่างเช่นที่เพิ่งลงไปคือเรื่อง “ชาลีน่าลูกรัก” ในหนังสือกุลสตรีกับเรื่อง “หลานคนแรกของย่า” ในหนังสือสกุลไทย เรียกได้ว่ามีงานเขียนหนังสือเป็นงานที่สองรองจากอาชีพค้าขาย นอกจากนี้ยังมีงานเกษตรอีกด้วยเพราะบ้านมีสวนลำไย และขายสินค้าอุปกรณ์สำหรับเพาะชำลำไย

ที่มาของนามปากกา “ไหมพรม”
ชื่อจริงชื่อ พิศมัย ชื่อเล่นชื่อไหม ส่วนตัวชอบเขียนเรื่องสั้นกับนิทานมาตั้งแต่เด็กๆ และชอบถักไหมพรมด้วย ก็เลยใช้นามปากกาว่า ไหมพรม มาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงปัจจุบัน

ตอนนี้น้องจ๋อมแจ๋มตัวละครเอกในเรื่องเป็นอย่างไรบ้าง
ในเรื่องใช้ชื่อน้องจ๋อมแจ๋ม แต่ชื่อจริงของน้องชื่อบ๋อมแบ๋ม เนื่องจากตัวละครทุกตัวที่เราเอ่ยถึงนี้มีตัวตนอยู่จริง จึงหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้กระทบการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของตัวละคร บอกนิดหนึ่งว่าบ๋อมแบ๋มไม่ค่อยจะเปิดตัวเองกับสังคมสักเท่าไร ณ วันนี้ได้เท่านี้แม่ก็เข้าใจแล้ว เข้าใจว่าจากเด็กที่ไม่พูดเลยและเราไม่เคยรู้ว่าทำไมเขาดื้อแบบนี้ ทำไมเขาพูดไม่เข้าใจ บางครั้งเราก็ท้อมาก เคยถึงขั้น “กราบเท้าลูกขอให้ลูกช่วยเป็นคนธรรมดาเหมือนลูกๆคนอื่นได้ไหม” แต่ก็ไม่สำเร็จ จนผลสุดท้ายก็รู้ว่าหูลูกไม่ได้ยิน และเขาก็ไม่พูดเลย เราก็เลยพยายามเอาเขาไปฝึกโดยไปศูนย์พัฒนาการเด็กภาคเหนือ จ้างนักกิจกรรมบำบัดมาฝึกที่บ้าน ผลสุดท้ายสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็เลยต้องจำสิ่งที่เขาสอนมาสอนเอง

ตอนนี้น้องอายุ 22 ปีแล้วแต่ยังดูเด็กอยู่ ภูมิใจที่น้องสามารถเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่น่ายินดีก็คือเขาเรียนไม่จบ เรียนได้เพียง 4 เทอม เขาก็บอกกับอาจารย์ที่มหาวิยาลัยเชียงใหม่ว่า “เขามาเพื่อเอาความรู้เท่านั้น ไม่ได้มาเอาปริญญา ถ้าที่นี่คือแหล่งความรู้ ขอมาเอาความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่สอบไม่ทำการบ้าน ไม่เอาปริญญาด้วย” เพราะเขาไม่สามารถจะเรียนในลักษณะนี้ได้ เลยต้องลาออกแทนที่จะดรอปไว้ หลังจากนั้นได้มาเรียนต่อที่วิทยาลัยสารพัดช่างในสาขาบริหารธุรกิจจบด้วยวุฒิ ปวส. แล้วเข้าทำงานอยู่ที่บริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ ทำหน้าที่ติดสติกเกอร์บอกชนิดและอายุของขนมได้ 2 ปีกว่า ก็ลาออกมาเพื่อตามหาความฝัน คือเขาชอบวาดรูปมาก ตอนนี้ก็เลยรับวาดภาพที่เป็นพวงกุญแจโดยรับจ้างผ่านทางอินเตอร์เน็ตตามออเดอร์

รู้จักงานชมนาดได้อย่างไร
รู้จักงานชมนาดครั้งที่ 5 จากงานประกวดชมนาดครั้งที่ 4 เพราะในงานชมนาดครั้งที่ 4 ได้ส่งประกวดเข้ามาในเรื่อง “ด้วยรักและหวังดี แด่สามีทุกคนของฉัน” ซึ่งเรื่องนั้นได้เข้ารอบและได้รับการตีพิมพ์ และรู้ในวันนั้นว่าปีถัดไปจะมีการประกวดด้วย พอรู้ว่าชมนาดเปิดโอกาสให้จึงกลับไปเขียนเรื่องนี้ แต่ไม่ได้คิดชื่อเรื่อง

แรงบันดาลใจในการเขียนสองชีวิตหนึ่งใจ (ชีวิตหนูในมือแม่ และชีวิตแม่ในมือหนู)
สำคัญสุดคือ “ลูก” เพราะว่า เราไม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งเราจะมีลูกที่เรียกว่าเด็กพิการ เราก็คิดว่าสิ่งที่เราเจอตั้งแต่วินาทีแรกที่คุณหมอบอกว่า ตอนนี้น้องพูดไม่ได้เลย เราถึงรู้ว่าเขาบกพร่องทางการได้ยินและเขาก็มีอาการสมาธิสั้นร่วม พอถึงตอนนั้นเราก็เลยต้องพยายามที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้ในระดับที่ไม่ค่อยจะมีปัญหา โดยที่เราต้องต่อสู้เยอะมากๆ เลย เลยพยายามที่จะบันทึกไว้ในสมองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเขามาด้วยความลำบากยากเข็ญ นำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือเพื่ออยากให้คนหลายๆ คนได้เห็นว่า ใครที่มีลูกมีหลานหรือที่เป็นครูอาจารย์เขาได้สัมผัสกับเด็กพิเศษจะได้ไม่รังเกียจเขา และจะได้ดูแลเขาในอีกลักษณะหนึ่งเพื่อให้ชีวิตที่เกิดมาบกพร่องได้สมบูรณ์ขึ้น

ปัญหาสำหรับการเขียนสารคดีเรื่องนี้
มีปัญหาที่ใหญ่มากเพราะหลังจากที่มาในงานชมนาดปีที่แล้ว ก็มีท่านผู้หนึ่งบอกว่าควรจะเขียนอีก แต่ว่าเรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในสมองมานานแล้ว มันเหมือนเก็บกดอยู่ในนี้ ก็เลยระบายในทันทีที่ถึงบ้านและเป็นคนที่ค่อนข้างจะเขียนหนังสือได้อย่างรวดเร็ว แต่อุปสรรคคือ แม่สุขภาพแย่ลงจนถึงเมื่อวันที่การ์ดเชิญร่วมงานประกาศผลชมนาดส่งมาถึงคือวันที่แม่เสียพอดีเลย ปัญหาคือ พอเขียนได้เกือบจะจบอยู่แล้วแต่แม่อาการทรุดลงเลยต้องหยุดเขียนไปเลยอัตโนมัติ พอใกล้จะถึงวันส่งจริงๆ เลยต้องพยายามมาบีบเรื่อง เรื่องก็เลยออกจะดูขรุขระไปเล็กน้อยในระยะหลัง เพราะว่าอันหนึ่งก็เป็นสิ่งเฉพาะหน้าที่ต้องทำ อีกอันหนึ่งเวลาก็ไล่หลังมาแล้วก็เลยอยากจะทำทั้งสองสิ่ง แต่ก็ทำได้แค่จำกัดเพราะว่าธรรมชาติได้มาเอาแม่ไปสวรรค์แล้ว แล้วหลานคนนี้ก็เป็นหลานคนที่ยายเขาห่วงมากๆ เพราะเป็นหลานคนเดียวในตระกูลที่มาแบบไม่พร้อม และการใช้ชีวิตก็คืออย่างบ๋อมแบ๋มชอบการวาดภาพมาก แกจะวาดการ์ตูนไว้เยอะอย่างวันนี้ก็เอามาด้วย มันเป็นสิ่งที่เอาออกมาทำมาหากินในสังคมปัจจุบันนี้ค่อนข้างยาก

ส่วนที่ยากที่สุดของเรื่องนี้
ส่วนที่ยากของหนังสือเรื่องนี้คือตอนจบ เพราะว่าในชีวิตจริงเรายังไม่มีตอนจบแต่เราจะต้องจบเรื่องให้ได้ และหลังจากที่จบไปแล้วที่จริงแล้วมันยังมีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาและอยากจะเล่าต่อ แต่ด้วยเวลาและจำนวนหน้าที่กำหนดไว้เลยต้องจบ ประกอบกับเหตุการณ์สุขภาพของแม่ที่แย่ลงเรื่อยๆ ก็เลยเป็นหลายเงื่อนไขที่ต้องหาเรื่องจบให้ไวขึ้น

เมื่อได้รับรางวัลชมนาดทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปไหม
เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน อย่างน้อยข้อหนึ่งคือทำให้เราเกิดกำลังใจว่า “อักษรที่เราเขียนออกมานี้มีคนเห็นคุณค่า” และอีกข้อหนึ่งคือเงินรางวัลที่ได้มาสามารถนำไปจ่ายคืนรัฐบาลได้ที่ลูกได้กู้ยืมเรียนมา

 

 

ฝากถึงนักประพันธ์สตรีท่านอื่นๆ
สำหรับคนอื่นๆ ที่อยากจะเขียนหนังสือ มันดีข้อดีเยอะ นอกจากเราจะได้ระบายสิ่งที่เราเก็บอยู่ในใจออกมาให้ใจเราเบาสบาย อีกประการคือสิ่งที่เราเล่าไปอาจจะเป็นประโยชน์แก่บางคน สังคม หรือเป็นตัวอย่างให้หลายๆ คนเขานำไปเป็นแนวทางได้

ฝากถึงผู้อ่านเรื่องสองชีวิตหนึ่งใจ (ชีวิตหนูในมือแม่และชีวิตแม่ในมือหนู)
สิ่งที่จะฝากไว้ก็คือถ้าคุณแม่ คุณพ่อ คนใดที่มีลูกออกมาแล้วลูกไม่ได้สมบูรณ์ 100% อย่าเพิ่งท้อใจ ขอให้ลองหันมามองลูกตัวเองใหม่ ทุ่มเทกับเขาเยอะๆ “บางทีดอกไม้ที่ไม่งามเลย กลิ่นไม่หอมเลย อาจจะดีกว่าที่คุณคิดไว้ถ้าคุณทุ่มเท” จนถึงตอนนี้ผู้อ่านคงจะเข้าใจในเจตนารมณ์พร้อมๆ กับเรื่องราวอันน่าประทับใจของสองแม่ลูกกันแล้วใช่ไหมคะ ทั้งนี้คุณพิศมัยยังให้คำมั่นอีกด้วยว่าในอนาคตจะมีผลงานเขียนออกมาอีกแน่นอนและจะส่งเข้าประกวดในงานชมนาด แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เธอบอกว่า...เป็นความลับ!!

 

เรียบเรียงโดย สุพัตรา กวินธนเจริญ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ