ปราย พันแสง : สวีตหยดออนไลน์

ปราย พันแสง

เมื่อเอ่ยถึงนักเขียนนาม ปราย พันแสง ชื่อนี้ยากนักที่คนรักหนังสือจะไม่รู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรักหนังสือยุคไฮเทคที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารในโลกไซเบอร์ เพราะนอกจาก 'ปราย ติดต่อกับกลุ่มผู้อ่านผ่านทางผลงานวรรณกรรม หนังสือแปล และคอลัมน์ประจำในมติชนแล้ว เธอยังมีเวบไซต์ที่ชาวหนังสือรู้จักกันดี เป็นบ้านอันอบอุ่นบนโลกไซเบอร์แห่งนี้ด้วย ที่ www.bookcyber.com หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า bcb นั่นเอง

น่าเสียดายที่เราไม่ได้พบปะพูดคุยกับเธอแบบเห็นหน้าค่าตากัน เพราะงานของ ' ปราย เยอะมาก แต่เธอก็อุตส่าห์เบียดบังเวลายุ่งๆ ของเธอ มาตอบคำถามสัมภาษณ์ทาง e-mail ของเราอย่างเต็มใจ และนี่คือการคุยนอกรอบกันนักเขียนอัธยาศัยน่ารักอีกคนหนึ่ง..'ปราย พันแสง'

เล่าประวัติตัวเองให้ฟังคร่าวๆ หน่อยได้ไหมคะ
พี่เกิดที่จังหวัดนครราชสีมาค่ะ นามปากกา 'ปราย พันแสง ย่อมาจาก ทองปราย พันแสง เป็นชื่อที่คุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เป็นคนตั้งให้สมัยที่ทำงานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ค่ะ

เริ่มต้นงานเขียนสมัยเรียนมัธยมปลาย ด้วยการเขียนกลอนเปล่า เขียนเรื่องสั้น ส่งไปลงนิตยสารสาววัยรุ่นยอดฮิตสมัยนั้น อาทิ เธอกับฉัน, วัยหวาน, ทราย ฯลฯ โดยใช้นามปากกา ว่า "เพชรสี" ซึ่งเป็นชื่อหนังสือและตัวละครตัวหนึ่งในงานเขียนของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนคนโปรดในสมัยนั้นค่ะ เริ่มต้นทำงานหนังสือจริงจังครั้งแรกช่วงเรียนหนังสือชั้นปีที่สองคณะบริหารธุรกิจ เอกโฆษณามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไปสมัครที่สำนักศิษย์สะดือ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารไปยาลใหญ่ เคยทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ,เป็นบรรณาธิการนิตยสาร, เป็นคนเขียนคำโฆษณาสิ่งพิมพ์,เป็นหนึ่งในทีมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ของสังกัด บริษัทพ่อดินสอแม่ จำกัด มีผลงานเขียนบทที่ผ่านมาก็อาทิ ละครเฉลิมพระเกียรติเรื่องชุด พ่อ 6 เรื่อง, ละครยาวเรื่อง " รองเท้าแก้ว" "ตาเบบูญ่า" และละครสั้น "เหมือนแม่ครึ่งหนึ่ง...ก็พึงใจ" ค่ะ

ปัจจุบัน มีเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, เป็นบรรณาธิการของบริษัทเวิร์คพอยท์พับลิชชิ่งจำกัด และเปิดร้านหนังสือและเครื่องดื่ม ชื่อ "สรรพรส" อยู่ที่ สุขุมวิท 23 (เยื้องโรงแรมไทปัน ใกล้สี่แยกประสานมิตรพลาซ่า) ค่ะ

ผลงานสร้างชื่อของ 'ปราย พันแสง คืองานชิ้นไหนคะ แล้วงานที่ประทับใจคือชิ้นไหนคะ
อืมม์ น่าจะเป็นช่วงที่เขียนเรื่องชุด "สวีตหยดออนไลน์" ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์มังคะ เพราะช่วงนั้น จะได้รับฟีดแบคจากคนอ่านค่อนข้างเยอะ ส่วนงานที่ประทับใจส่วนตัว พี่ชอบหนังสือ "จดหมายรัก" กับ "โบยบินแล้วไม่หวนคืน" ค่ะ มันเป็นงานที่แสดงตัวตนของเราค่อนข้างเยอะกว่าเล่มอื่นๆ

หลายๆ เสียงพูดว่า 'ปรายชอบเขียนแต่เรื่องแนวรักๆ จริงหรือเปล่า ?
ก็ชอบนะ เขียนเรื่องพวกนี้แล้วรู้สึกว่าชีวิตคนเรา มันละเมียดละไมดี ความจริงพี่มีงานเขียนหลากหลายมาก ถ้าใครอ่านคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์น่าจะรู้ เพราะอย่างตอนนี้ก็กำลังเขียนเรื่อง ฮารูกิ มูราคามิ ลงตีพิมพ์ติดต่อกันมาเกือบยี่สิบตอนแล้ว ก็มีคนอ่านถามมาเหมือนกัน ว่าเมื่อไหร่จะมีเรื่องสั้นรักๆ ออกมาให้อ่านกันอีก อาจจะเป็นคนอ่านก็ได้นะ บางคนเขาก็ชอบอ่านแต่เรื่องรักๆ ที่พี่เขียน (ยิ้ม) เวลาเขียนอย่างอื่นบ้างก็อาจจะไม่อยากอ่านเท่าไหร่

ทำหลายอย่างทั้งงานเขียนเรื่องสั้น คอลัมน์ บทกวี งานแปล และยังมีบทละครด้วย ความรู้สึกในการทำงานแต่ละอย่างมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ
โดยรูปแบบการนำเสนอ ย่อมจะต่างแน่นอน แต่เนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ มันก็เหมือนกันหมด เพราะไม่ว่าจะเขียนอะไร พี่ก็จะเน้นเรื่องความความจริง ความถูกต้อง หรือความดีงามในตัวมนุษย์เป็นพื้น

ความสุขที่สุดและความทุกข์ที่สุดในการทำงานของ 'ปราย คืออะไรคะ
ความสุขของพี่ คือการที่เราทำอะไรที่เราชอบออกไปแล้วปรากฏว่ามีคนอื่นๆ เขาชอบในสิ่งที่เราทำด้วย หรือเขียนอะไรออกไปสักอย่าง แล้วมีคนอ่านเขาเห็นคุณค่าความหมาย หรืออาจจะไปมีประโยชน์กับชีวิตเขาด้วย ส่วนความทุกข์ที่สุดของพี่ตอนนี้คือ ทำอย่างไรดี จึงจะคบกับคนที่ดีกับเรามากๆ ได้ทั้งหมด เพราะบางทีเราไม่มีเวลาให้เขาเลย

มีคนบอกมาว่า 'ปราย เป็นนักเขียนที่เก็บตัวมากๆ เลย จริงหรือเปล่าคะ (ก็ปกติเห็นนักเขียนที่มีเวบไซต์เป็นของตัวเอง มักจะมีหน้าหนึ่งที่เป็นประวัติ ผลงาน หรือมีการแนะนำตัวบ้าง แต่ใน bcb ไม่เห็นเลยอ่ะค่ะ เห็นแต่เวบบอร์ด ทำไมพี่ไม่ทำไว้ซักหน้านึงละคะ)
พี่หวงความเป็นส่วนตัวนิดนึง ไม่อยากเดินไปไหนมาไหนแล้วมีคนจำได้ เพราะคิดว่านักเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขนาดนั้น แค่เขียนงานให้เขาอ่านก็พอแล้ว ก็เลือกออกงานบ้าง ตามกาลเทศะที่เหมาะสม อย่างงานการกุศลอะไรอย่างนี้ ก็ช่วยๆ กันไปเท่าที่ช่วยได้ แต่พวกงานสังคมอะไรพวกนี้ พี่ไม่ค่อยถนัดออกงานเท่าไหร่ บางทีก็ขี้เกียจเอาเฉยๆ แค่นั้นแหละ ไม่ได้มีเจตนาเก็บตัวหรืออะไรหรอก

ทำงานตั้งหลายอย่าง แล้วแบ่งเวลายังไงคะ
พี่ก็ทำสำนักพิมพ์ ทำนิตยสาร อยู่ที่เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่งค่ะ ทำร้านสรรพรสด้วย ก็ไม่ต้องแบ่งเวลาอะไรเท่าไหร่หรอก เพราะเรามีพนักงาน มีคนที่เก่งๆ ดีๆ คนคอยช่วยเราทำงานอยู่ ถ้าเราแบ่งงาน หรือจัดการให้มันดีหน่อย มันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ อีกอย่าง งานทุกอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ มันเป็นงานที่เรารักมัน เราชอบมัน มันเป็นชีวิตเราไปแล้ว เรารักงานหนังสือ ก็อยู่กับมันเกือบตลอดเวลา

สำหรับงานเขียน ตอนนี้มีเขียนประจำอยู่ที่มติชนสุดสัปดาห์ที่เดียวค่ะ เนื้อหาที่เขียน ก็วนเวียนอยู่ในแวดวงหนัง หนังสือ เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจจะมีเรื่องสั้นแทรกเข้ามาบ้าง ส่วนมติชนวันอาทิตย์ เพิ่งขอหยุดก่อนสักพักหนึ่ง เพราะกำลังเตรียมเรื่องชุดใหม่อยู่ สักกลางๆ หรือปลายๆ เดือนหน้าคงจะเริ่มลงตีพิมพ์ได้

สำหรับ 'ปราย การเขียนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรคะ (เอ ถามวนหรือเปล่าเนี่ย)
การเขียน คือการถ่ายทอดความคิด สติปัญญา ทัศนะคติ หรือรสนิยมค่ะ

สมมติว่ามีคนมาบังคับให้เลือกเขียนงานได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น จะเลือกอะไรดี
คงเขียนคอลัมน์มังคะ เพราะมันเปิดกว้าง อย่างคอลัมน์ของพี่ในมติชนสุดสัปดาห์ บางทีพี่เอาบทกวี เอาเรื่องสั้นไปลงบ้างก็ได้ สุดท้ายแล้ว มีโครงการเขียนอะไรใหม่ๆ หรือกำลังจะมีผลงานใหม่ๆ ออกมาบ้างคะ กำลังจะมีพ็อคเก็ตบุ๊ค 2 เล่มค่ะ เล่มแรกชื่อ "สวยสดและงดงาม" เป็นรวมเรื่องสั้นความรู้สึกสวยๆ ที่พี่เคยเขียนเอาไว้ อีกเล่มชื่อ "ขอบคุณที่โลกนี้มีเธอ" พี่เขียนถึงคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครต่อใครค่ะ คงจะวางแผงได้ในราวๆ กลางเดือน พฤศจิกายน 2546 นี้ค่ะ

ผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คของ'ปราย พันแสง
1) สวีตหยดออนไลน์
บันทึกประสบการณ์อินเตอร์เน็ต โศก ซึ้ง น้ำตาหล่น ปนขำกลิ้ง 2) จระเข้ ผึ้ง ตั๊กแตน โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้ชาย ผู้หญิง
เรื่องตลกเสียดสีแสบคัน ว่าด้วยสงครามวาทกรรม ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ผู้ชายมาจากนรก
3) ฉันเกลียดเธอ ฉันรักเธอ ชีวิต รวมบทกวี ความเรียง บทแปล จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์
4) As Films Go By หนังในใจ'ปราย พันแสง รวมงานเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์
5) จดหมายรัก (The Love Letters) รวมจดหมายรักคนดังและไม่ดังของโลก รวมถึงจดหมายพิเศษในกล่องข้างใจ
6) พระจันทร์พันดวง
ภาคต่อของหนังสือ "ฉันเกลียดเธอ ฉันรักเธอ ชีวิต" รวมบทกวี ความเรียง และบทแปล จากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชนวันอาทิตย์ งานเขียนบันดาลใจแห่งพระจันทร์ ว่าด้วยเรื่องราวอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกนึกฝัน มนุษย์เราล้วนมีด้านมืดและสว่างเหมือนกัน เหมือนจันทร์

ผลงานหนังสือแปล
1) เด็กชายหอยนางรม แปลจาก The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories เรื่องราว ภาพวาด และจินตนาการพิลึกพิลั่น ที่กลายเป็นหนังสือขายดีของ ทิม เบอร์ตัน
2) ความรักของวงกลมกับสามเหลี่ยม เรื่องราวของวงกลมวงหนึ่งที่เฝ้าค้นหาชิ้นส่วนชีวิตที่ขาดหาย แปลจาก The Missing Piece วรรณกรรมชิ้นเอกของ เชล ซิลเวอร์สเตน ที่เคยแตะตรึงใจนักอ่านนักแสวงหามาแล้วทั่วโลก
3) ดวงตะวันส่องฉาย เรื่องราวของหนุ่มนักดนตรี กับนักเขียนสาว เขาชอบเลี้ยวขวา เธอชอบเลี้ยวซ้าย ชะตากรรมหกคะเมนตีลังกา เมื่อเขาเธอต้องมารักกันในวันหนึ่ง ณ ที่ซึ่งดวงตะวันส่องฉาย แปลจาก A Chance of Sunshine หนังสือเบสต์เซลเลอร์ ของ Jimmy Liao
4) ผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์ อีกครั้งกับเรื่องราวแสนละเอียดอ่อนลึกซึ้งในภาพวาดประณีต แปลจาก Moon,Forgets ของ Jimmy Liao ที่จะนำพาเราไปสู่แก่นแท้ของชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่ง ณ โลกซึ่งแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อเราจะได้สำนึกตระหนักอย่างถ่องแท้ว่าความสุขในชีวิตคนเรานั้นเปราะบางเพียงใด
5) เทพนิยายประกายตา มหัศจรรย์โรแมนติคแฟนตาซีของปิแอร์ สาวพราวสน่ห์กับจิตรกรหนุ่มเจ้าของประกายตาวิบไหว เทพนิยายบนบ้านเรือ ร้านหนังสือเก่า และบทเพลงของ เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ เริ่มต้นขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ แปลจาก The Man With The Dancing Eyes หนังสือขายดีของ โซฟี ดาห์ล นางแบบอื้อฉาวจากโฆษณาน้ำหอม Opium ของ Yves Saint Laurent

ผลงานหนังสือชุดไตรภาค
1) เรื่องรักใคร่ รวมเรื่องจุ๊กจิ๊กว่าด้วยความรัก หวาน ขม อมหวาน อมเปรี้ยวครบรส ในรูปแบบเรียงความ ภาพยนตร์ ดนตรี เรื่องสั้น บทกวี บทแปล The Missing Piece เอสกิโม และอื่นๆ อีกมากมาย
2) เรื่องอ่านเล่น หลากรสครบเครื่องเรื่องบันเทิงเริงใจ จากคอลัมน์ Lighthearted นิตยสารอิมเมจ,มติชนสุดสัปดาห์,อินเตอร์เน็ต และ ฯลฯ อ่านแล้วก๊าก อ่านแล้วหัวทิ่มก็แล้วแต่ใจใคร ว่ากันตั้งแต่ศาสตร์และศิลป์แห่งการโกหกตอแหล,หนังสือโป๊,แวมไพร์ ฯลฯ
3) เรื่องส่วนตัว (โบยบินแล้วไม่หวนคืน) คัดสรรงานเขียนชุดพิเศษในรอบทศวรรษ เบื้องหลัง เบื้องลึก รวมบทสัมภาษณ์ บันทึกส่วนตัว จดหมาย โปสการ์ด ภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ