ธรรมรตา : แสงไฟส่องตาให้หาทางเดินเจอ... แต่แสงธรรมส่องใจให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง

ธรรมรตา

หลังจากที่ได้คุยกับนักเขียนมาหลากหลายคนและหลากหลายแนว วันนี้คอลัมน์คุยนอกรอบ จะพามาเปลี่ยนแนว ไปคุยกับพระภิกษุสงฆ์ ผู้หันมาจับปากกาเขียนหนังสือแนวธรรมะ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน เป็นพระนักเขียนที่มีผลงานเล่มแรกกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผู้ใช้นามปากกาว่า “ธรรมรตา” หรือเจ้าของผลงาน “อย่าคว้าดวงดาวด้วยสายตา” นั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือ
พระเดินดินบิณฑบาตธรรมดารูปหนึ่ง เรียนมาเยอะแต่เข้าใจและจำได้นิดหน่อย จึงต้องอ่านบ่อยและเขียนไว้ไป ๆ มา ๆ เลยนึกอยากเขียนเป็นเล่มบ้าง เริ่มด้วยการเขียนบันทึก ซึ่งก็ไม่เคยเต็มเล่มเลยสักปี ชอบเขียนกลอนแต่คนอื่นมักเรียกว่า กลวง คือมันล่วงเลยผ่านความเป็นกลอนเสียสิ้น ใจจริงนั้นอยากเขียนให้ได้หลายแนว แต่เล่มแรกก็เกือบท้อใจเพราะใช้เวลาปีกว่าเกือบสองปีที่เขียนแก้และส่งใหม่ ส่งไปเรื่อย ๆ ปฏิเสธมาก็อ่านแก้ใหม่และก็ส่งต่อ รวมแล้วถูกปฏิเสธ ๗ ครั้ง จาก ๖ สำนักพิมพ์ ก่อนจะทิ้งความฝัน..พลันเห็นมุมขวาของเว็บประพันธ์สาส์น..ขณะนั้นอาจไม่หวังอะไรมาก แค่ต้องการทำให้ถึงที่สุด สุดท้ายจึงปรากฏนาม “ธรรมรตา” ขึ้นในบรรณพิภพ

แรงบันดาลใจของการเขียน
เพราะทำงานอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนักเขียนเลยซึมซับมา เหมือนถูกกรอกหูทุกวันว่า “จงเขียนหนังสือ ๆ” ไม่รู้ว่าเป็นแรงบันดาลหรือแรงดลใจกันแน่ แต่ก็ปรารถนาในใจไว้แล้วว่าอยากจะมีผลงานของตนเองบ้าง เพราะติดตามรางวัลซีไรต์อยู่ ตั้งแต่ลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวีเป็นต้นมา แต่ก็ได้อยู่กับครูบาอาจารย์นี่แหละเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือที่สุด

ผลงานที่มีมา
"อย่าคว้าดวงดาว ด้วยสายตา” เป็นผลงานเขียนเรื่องแรก ส่วนผลงานเขียนอื่น ๆ กำลังจะตามมา

ความคิดเห็นที่มีต่อแวดวงหนังสือธรรมมะในปัจจุบัน
ก็มากมายหลากหลายดี สามารถเลือกเล่มที่เหมาะกับความสนใจและพื้นฐานความรู้ของตนเองได้ เมื่อก่อนมีน้อยและเนื้อหาค่อนข้างยาก ถ้าไม่เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณหรือการปฏิบัติธรรมซึ่งออกแนวหลุดพ้น หรือไม่ก็หลักวิชาการไปเลย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนสมัยนี้ ที่ต้องการอะไรง่ายๆ แต่ดูทันสมัย เลยทำให้เกิดกระแส ธรรมะอินเทรน

การมีคนเขียนหนังสือแนวธรรมะมากขึ้น มีผลให้คนอ่านหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้นด้วยหรือเปล่า
ของมันแน่นอนอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่มีคนอ่านเขาก็คงไม่เขียนกัน มีคนเขียนแนวนี้เยอะก็แสดงให้เห็นว่าคนอ่านก็พอสมควร เหมือนเพลงเกาหลีนั่นแหละมีคนฟังเยอะการนำเข้าให้เพียงพอก็จะตามมา แต่เรื่องความบันเทิงนั้นเขาใช้สื่อปลุกกระแส ส่วนธรรมะมีทุกข์เป็นตัวปลุกกระแสเพราะคนทุกวันนี้เริ่มที่จะมองหาความสุขทางใจกันเพิ่มขึ้น อยู่ที่ว่าจริตใครจะพาไปทางไหนเท่านั้นเอง ไปผ่อนคลายที่บาร์หรือหาหนังสือดี ๆ สักเล่มมาอ่านก็เท่านั้น

การเขียนหนังสือแนวธรรมะควรคำนึงถึงอะไรบ้าง
เจตนาที่ดี... เพราะอะไรก็แล้วแต่ ที่ออกมาจากใจที่เจตนาดี แม้ว่าเป็นคำง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ที่สื่อออกไปสะกิดใจผู้อ่านอาจเปลี่ยนชีวิตพลิกไปในทางที่ดีได้ด้วย อักษรไม่กี่ตัว

การเขียนหนังสือธรรมะ แบบมีสีสัน มีเรื่องราว และใช้ภาษาที่สนุกสนาน จะสามารถทำให้คนหันมาอ่านและสนใจศึกษาธรรมะได้จริง ๆ ไหม
จริง ...เพราะเมื่อก่อนคนคิดว่าธรรมะนั้นลึกซึ้งและยาก อีกทั้งหนังสือก็มีแต่แบบโบราณหรือสำนวนและเรื่องประกอบไม่เข้ากับยุคสมัย หนังสือธรรมะสมัยนี้เหมือนเป็นเครื่องเปิดทางให้ง่ายแก่การเดินเข้าสู่แดนแห่งธรรมะ แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสนใจเพิ่มเติมและความวิริยะของแต่ละคน ซึ่งก็พบหลายคนเหมือนกันที่ผันชีวิตตนเองได้ด้วยหนังสือธรรมะ และจุดประกายในศึกษาเรียนรู้พร้อมทั้งนำไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย

ผลงานเขียนล่าสุดเรื่อง "วิชาความสุข" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
ได้แนะไว้ในคำนำเบื้องต้นว่า “วิชาความสุข” ไม่ใช่สุดยอดวิชา อย่างเดชคัมภีร์เทวดา แต่เป็นเพียงเคล็ดเล็ก ๆ เกร็ดเบา ๆ ที่หวังช่วยคลายเหงา บรรเทาความเศร้าในหัวใจ ของใครบางคนได้บ้างเท่านั้น คำแนะนำตรงนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าขอเชิญร่วมทัศนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ส่วนผลงานด้านอื่นนั้นคงได้แต่บอกว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป”

 

ธรรมรตา

 

ฝากข้อคิดสะกิดใจ
พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการเรียนรู้ ท่านบอกว่าความรู้เกิดขึ้นได้จากการอ่านและฟัง(สุตตปัญญา) จากนั้นก็นำมาคิดไตร่ตรองด้วยเหตุและผล (จินตปัญญา) แต่ก็ยังไม่พอต้องนำไปปฏิบัติทดลองให้เห็นจริงว่าได้ผลหรือไม่อย่างไร (ภาวนามยปัญญา) ด้วยการนกระบวนการเรียนรู้เชิงพุทธนี้ไปใช้ สังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

แสงไฟส่องตาให้หาทางเดินเจอ แต่แสงธรรมส่องใจให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง มีพุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “วันคืนล่วงไปท่านทำอะไรอยู่” ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองแล้วละว่าเราเกิดมาชาติหนึ่งนี้ มีเวลาไม่ถึงร้อยปี หนึ่งปีมีสามร้อยกว่าวัน และหนึ่งวันก็แค่ยี่สิบสี่ชั่วโมง เราจะผ่านช่วงเวลานาทีของชีวิตไปอย่างไร จะนั่งซมจมความเศร้าหรือจะปลุกปลอบเร้าใจให้สู้ เรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรให้เป็นสุขและมีคุณค่าจนภูมิใจที่ได้เกิดมา เวลาชีวิตมันก็หายไปเท่ากัน ฉะนั้น ขอจงเลือกเอาว่าวันคืนล่วงไปท่านจะอยู่อย่างไร? เจริญพร

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ