แร่ที่มากกว่าธาตุ : บทวิจารณ์กวีนิพนธ์ "เหมืองชีวิต"
เหมืองชีวิต กวีนิพนธ์ซึ่งว่าด้วยการเปรียบการใช้ชีวิตของใครหลายๆคนเป็นดั่งเหมืองสมมติแห่งหนึ่ง โดย จินตนา ในเฉลียว มีแนวคิดให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการชีวิต กล่อมเกลาให้รู้จักใช้ปัญญาในการหาประโยชน์ให้ ตนเองในทางที่ดี สิ่งของที่มีค่าย่อมลำบากในการแสวงหาสิ่งนั้น ซึ่งกวีเลือกใช้ ฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพ ให้ความรู้เห็นถึงสัจธรรม ความจริงบางอย่างในการใช้ชีวิต มีความเป็นเหตุและผลในตัวของบทประพันธ์
การทำเหมืองแร่ โดยทั่วไปคือกรขุดหาแร่หรือธาตุซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้แผ่นดิน เพื่อสกัดเอาแร่ที่มีค่ามาใช้ประโยชน์ในการทำสิ่งของต่างๆ ภายในเนื้อความของบทที่หนึ่งมีการกล่าวถึงเหมืองสมมติแห่งหนึ่ง เพื่อชักชวนให้ ผู้อ่านเกิดความตระหนักรู้ มีความสนใจในการดำเนินเนื้อหาของบทกวี ความว่า
"เหมืองแร่ใหญ่มหึมาคนกล้าขุด เหมืองสมมติ 'เหมืองชนม์' พิกลกว่า
เราขุดคุ้ยธรณีเหมืองชีวา เพื่อค้นหาสิ่งที่มีใจปอง"
จากบทกลอนข้างต้น พึงเห็นได้ชัดว่าผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นถึงการขุด 'เหมืองชนม์' ซึ่งเป็นการใช้ศัพท์ที่ความหมายในแนวเดียวกับคำว่า 'เหมืองชีวิต' เป็นการกล่าวเกริ่นนำในให้บทกวีนั้นมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งยังชวนให้ผู้อ่านเกิดความอยากที่จะทราบว่า 'สิ่งที่ใจปอง' ในบทกวีกล่าวถึงสิ่งใด
เมื่อผู้บทกวีก่อให้เกิดความสนใจในส่วนของเนื้อหาแล้ว กวีจึงได้กล่าวถึงสาเหตุความเสี่ยงของการขุดเหมืองโดยทั่วไป โดยใช้กลวิธีในการพรรณนาให้เห็นถึงอันตรายภายในเหมือง ก่อให้เกิดความรู้สึกของผู้ที่ทำงานอันตรายได้อย่างเรียบง่ายและเด่นชัด ดังเนื้อความของบทต่อไปนี้
"การขุดแร่แท้นั้นมันเสี่ยงนัก ขุดทะลักลึกทะลวงล้วงดินผอง
เป็นอุมงค์ตรงใต้หินทรายรอง กว่าจะกรองแร่ได้ดังใจจินต์
อันตรายหลายอย่างล้วนขวางกั้น ความกดดัน, อุมงค์ล่ม, จมใต้หิน
ไม่มีอากาศผ่านผลาญชีวิน บางคนลิ้นชีวังเพราะพลั้งไป"
กลเม็ดของผู้ประพันธ์โดยการหลากคำ ในคำว่า 'ชีวิต' รูปแบบที่แตกต่างกันอย่าง 'ชีวิน' และ 'ชีวัง' ทำให้บทกลอนมีความไพเราะ ตอกย้ำและสื่อถึงภัยภายในเหมืองได้อย่างชัดเจนสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการกล่าวเสริมถึงสาเหตุของการเสี่ยงชีวิตทำงานเหมืองไว้ในบทถัดไป ความว่า
"นี่คือภัยจากเหมืองมีเรื่องบ่อย คนยังคอยขุดแร่แน่ไฉน
วางความหวังว่าจะชนะภัย เพื่อจะได้แร่บ้างเป็นรางวัล"
ผู้ประพันธ์ได้แสดงให้เห็นว่า อาชีพที่มีทั้งความกดดัน และความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ แต่ยังคงมีคนคอยทำนั้นเป็นเพราะ 'ความหวัง' ที่จะได้แร่มาเป็นของรางวัล เนื่องจากการขุดแร่นั้นสร้างรายได้อันมหาศาล ทำให้ผู้คนยอมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้มาด้วยผลตอบแทนนั้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนนั้นสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของตน ทำให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพถึงกิเลสของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าเนื้อหาในส่วนของการเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์กับการขุดเหมือง ตามชื่อของบทกวีว่า 'เหมืองชีวิต'
"เหมือนเราขุดของดี 'เหมืองชีวิต' หวังพิชิตภัยผองครองสุขสันต์
ขุดความสุข, สมหวัง, รักทั้งนั้น บ้างก็บรรลุบ้างก็ปางตาย"
บทนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกิเลสของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จากการยอมเสี่ยงเพื่อการขุดความสุข ความสมหวังและความรัก ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ทั้งแร่หรือธาตุชนิดใด แต่เป็นการเปรียบเสมืนมนุษย์ที่มีความโลภจึงเลือกทำในสิ่งที่ทั้งความเสี่ยงและอันตราย เพื่อหาผลประโยชน์มาสู่ตนเอง มีความสุขในสิ่งที่ต้องการ สมหวังในสิ่งที่คาดหวัง รวมไปถึงความรักที่เข้ามาในชีวิต
"มีวิชา 'เหมืองแร่' สอนแก่ผู้- หวังต่อสู้ขุดหินดินทั้งหลาย
แต่เหมืองชีพนี้ไร้ใครบรรยาย ทุกคนคล้ายอาจารย์สอนมานตน
เหมืองชีวีมีทั่วหัวระแหง แร่ก็แพง มีซุกทั่วทุกหน
แร่ความสุข, สมหวัง, รัก ฝั่งชนม์ จะขุดค้นพบมันด้วยปัญญา"
บทสรุปซึ่งกล่าวไว้ในสองบทสุดท้ายของบทประพันธ์ ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของผู้ประพันธ์ ว่าด้วยเรื่องของชีวิต การขุดหาความสุข ความสมหวัง และความรัก ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละบุคคล ปราศจากการสอนหรือบรรยายให้ทราบ แต่สามารถหาได้ทั่วไปด้วย 'มานตน' หรือความพยายามไขว่คว้าหาด้วย 'ปัญญา' ของตนเท่านั้น
เหมืองชีวิต จึงควรได้กรยกย่องในด้านการพรรณนให้เห็นถึงสัจธรรมของมนุษย์ที่มากไปด้วยปัญญาในการใช้ชีวิต มีความสมบูรณ์แบบด้วยความงามของภาษาและฉันลักษณ์ของกลอนสุภาพ ช่วยให้เกิดความตระหนักรู้ถึงกิเลสภายในจิตใจของตนเอง หากปราศจากปัญญาก็มิอาจทำสิ่งที่ตนเองต้องการหรือคาดหวังได้สำเร็จ
บทวิจารณ์โดย นายณัฏฐนันท์ ณ ประสิทธิ์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9