“เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” เป็นเรื่องสั้นจากปลายปากกาของครูผู้เป็นดั่งอัญมณีแห่งวงการวรรณกรรมไทย ชมัยภร แสงกระจ่าง สุภาพบุรุษอันเป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดทั้งเรื่องนี้ไม่ได้มีความหมายตามความเข้าใจแบบสากลหากแต่แปลว่า ผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่นซึ่งมาจากนวนิยายที่มีชื่อเสียงเรื่อง “ลูกผู้ชาย” ของศรีบูรพา โดยเป็นคำพูดที่ท่านใช้กล่าวถึงกลุ่มของท่านเอง ในยุคสมัยนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอันสำคัญยิ่งของสังคมไทย กล่าวคือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นประชาธิปไตย คำว่า “สุภาพบุรุษ” จึงแสดงแนวคิดของศรีบูรพาที่ว่า ชาติกำเนิดหรือฐานะทางสังคมมิใช่เครื่องวัดความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่นหรือสุภาพบุรุษนั้นเป็นคุณสมบัติที่น่าชื่นชมและยกย่องเหนือกว่าการมีฐานะทางสังคมที่ดีแต่มีชีวิตหรือใช้ชีวิตอยู่เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น
ตลอดทั้งเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดผ่านหญิงชื่อนันท์ซึ่งเป็นแม่ของดิน เรื่องเริ่มเล่าจากเหตุการณ์ในวันคลอดของนันท์หรือวันเกิดของดิน มีการอธิบายถึงความต้องการหรือความคาดหวังอันแรงกล้าของแม่ที่มีในตัวลูกอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือผู้เป็นแม่มุ่งมาดปรารถนาอยากให้ลูกเป็นลูกผู้ชาย เป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่นเช่นเดียวกันกับศรีบูรพา ต่อมาผู้เขียนโยงใยเหตุการณ์เป็นลำดับเพื่อบอกผู้อ่านว่า ผู้ชายชื่ออรรณพผู้เป็นพ่อของดินได้ตายไปจากความรู้สึกของเธอ ตั้งแต่เธออุ้มท้องลูกชายผู้เป็นความหวังของเธอด้วยสาเหตุประการใด วันที่เป็นวันเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาลคือวันแต่งงานของเธอกับอรรณพเพราะมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญสองคนแม่ลูกคู่หนึ่งปรากฏกายขึ้น แม่ลูกผู้เป็นครอบครัวที่มาก่อนของคนรักของเธอ เหตุการณ์นี้ยิ่งสะเทือนความรู้สึกของนันท์เพราะผู้หญิงคนนั้นที่มาก่อนของเธอกำลังจะเป็นแม่ไม่ต่างไปจากตัวเธอเอง ดินลูกชายผู้เป็นดั่งแสงแห่งความหวังในชีวิตของเธอได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากเธอและแม่ของเธอผู้มีศักดิ์เป็นยายของดิน ดินเป็น “สุภาพบุรุษ” ในแบบฉบับที่นันท์ต้องการมาโดยตลอดจนกระทั่งเธอได้รู้จักกับเด็กผู้หญิงที่มี ชื่อว่าฟ้าใส เด็กผู้หญิงผู้นี้หวนคืนภาพในอดีตของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเธอกำลังอุ้มท้องเช่นกันกับผู้หญิงผู้พังทลายงานแต่งงานในภาพฝันของเธอ เหตุการณ์กระทบความรู้สึกครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามในช่วงท้ายเรื่องของนันท์กับตัวเธอเองว่าเธอเลี้ยงลูกผิดทางหรือไม่ ผู้เขียนจบเรื่องด้วยข้อสรุปที่สนับสนุนแนวคิดที่กล่าวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นเรื่องว่าผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น
ฉากในเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ส่วนที่ผู้เขียนให้น้ำหนักเท่ากับความรู้สึกของตัวละครต่อเหตุการณ์ที่ตนประสบพบเจอตลอดจนบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ ทว่าผู้อ่านสามรถคาดการณ์ได้ว่าช่วงเวลาในเรื่องน่าจะไม่ใช่ยุคใกล้เคียงกับยุคปัจจุบัน และสถานที่หลักที่ปรากฏก็ควรจะเป็นบ้านที่ดิน แม่และยายอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีบริบททางสังคมเป็นสังคมไทยในแบบแผนเดิมที่ผู้ชายมีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องผู้หญิง
ประเด็นสำคัญหรือแก่นเรื่องดูเหมือนจะเป็นการสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) อย่างเห็นได้ชัดความเด็ดเดี่ยวของนันท์ที่ยกเลิกงานแต่งงานของเธอด้วยตัวเธอเอง โดยเธอมีความเชื่อมั่นอยู่ในใจว่าจะสามารถอบรมเลี้ยงดูดินให้เป็นในแบบที่ตัวเธอเห็นว่าดีได้ ประโยคที่ว่า “รู้สึกเหมือนตัวเองยืนอยู่บนโต๊ะและพ่อยืนอยู่ที่พื้นดิน” ยิ่งสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างชัดเจน นอกจากชื่อของตัวละครยังแฝงให้เห็นนัยของความเป็นสตรีนิยมของเรื่องนี้ กล่าวคือตัวละครอรรณพหรือพ่อของดิน ตัวละครที่ดูเป็นผู้ร้ายในเรื่องมีชื่อที่แปลว่าแม่น้ำอันมีนัยของความลื่นไหลกลับกลอก เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามกาลเวลาแตกต่างจากดิน ชายผู้มีความเป็น “สุภาพบุรุษ” อันเป็นสิ่งที่ตัวละครหลักในเรื่องอย่างนันท์เห็นว่าพึงมี มีชื่อที่ฟังดูหนักแน่น มั่นคง และใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่เย่อหยิ่งจองหอง และการที่นันท์มีจิตใจและท่าทีที่เมตตาต่อฟ้าใสก็สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นภาพของความนิยมสตรีในตัวเรื่องได้ดีเช่นกัน
ทว่าในภาพของความเป็นสตรีนิยมที่ถูกนำเสนอตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นมีแนวความคิดหรือทรรศนะของความต้องการการปกป้องจากผู้ชายของผู้หญิงเช่นกัน ก้นบึ้งจิตใจของนันท์และแม่มีความต้องการพ่อของดินมาช่วยพิทักษ์ดำรงครอบครัวของเธอไว้โดยความต้องการเบื้องลึกนี้ถูกฝังกลบด้วยการนำแนวคิดหรือคำสอนเกี่ยวกับ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” มาเป็นแก่นยึดถือในการเลี้ยงดูดิน เห็นได้จากตอนที่อรรณพกำลังจะออกจากชีวิตของเธอไปพร้อมกับสองแม่ลูก เธอนึกกับตัวเองในใจว่า “ผู้หญิงด้วยกัน เราต้องดูแลกัน” ซึ่งแสดงให้เห็นความต้องการการดูแลของเพศหญิง คำพูดในทำนองนี้ยังปรากฏให้เห็นในเนื้อเรื่องตอนที่ดินบอกกับแม่ว่า “บ้านนี้มีแต่ผู้หญิงหนูต้องดูแล” หรือแม้กระทั่งการที่ดินประกาศว่าต้องการทำหน้าที่ลูกผู้ชายประจำบ้านโดยการรีบเรียนจบให้เร็วที่สุดก็แสดงค่านิยมของการให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแลครอบครัวจากเพศชาย นอกจากนี้แล้วยังมีการเปรียบฟ้าใสของตัวละครนันท์เสมือนลูกสาวที่ถูกทอดทิ้งซึ่งแสดงนัยยะความอ่อนแอกว่าของเพศหญิง
นอกเหนือจากสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วงานเขียนเรื่องนี้ ยังสะท้อนสิ่งซึ่งผู้เขียนยกย่องชื่นชมหรือเห็นด้วยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาคของชนชั้น เห็นได้จากการที่นันท์ไม่ต้องการให้ลูกเป็นคุณหนูหรือไอ้หนูของใครแต่ต้องการให้ลูกเป็นลูกผู้ชาย มีความเป็นสุภาพบุรุษอันแฝงนัยยะของความ เท่าเทียมทางชนชั้นดังที่กล่าวไปในตอนต้นการเป็นผู้มีความรับผิดชอบในผลของสิ่งที่ตนกระทำก็เป็นสิ่งซึ่งผู้เขียนส่งเสริม เห็นได้ในตอนที่พ่อของดินพูดว่า “ผมจะมั่นใจได้ไงว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกของผม” ซึ่งแสดงถึงความไม่รับผิดชอบแตกต่างจากท่าทีของดินเมื่อรับรู้เรื่องราวของฟ้าใสโดยสิ้นเชิง สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อตัวละครในเรื่องคือการศึกษา เห็นได้จากการบอกว่าคณะมนุษยศาสตร์เป็นคณะที่สอนให้เราเรียนรู้และเข้าใจชีวิตมากขึ้นอันเป็นการให้ความสำคัญของวิชาสายศิลป์เสมอหน้ากับศาสตร์อื่นๆ เช่น นิติศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ดินศึกษาอยู่ ทว่าอีกแง่หนึ่งจะเห็นความคิดการดูแคลนอาชีพบางอาชีพที่อาจไม่ใช่สายวิชาการ การทำอาชีพเด็กเสิร์ฟแทนที่จะเป็นนักศึกษาเห็นได้ตอนที่ฟ้าใสบอกว่า บอยเป็นลูกค้าแต่ดินเป็นนักศึกษาไม่ใช่เด็กเสิร์ฟเหมือนตัวเธอ
คุณค่าที่ข้าพเจ้าเห็นว่างานเขียนนี้สนับสนุนส่งเสริมโดยการให้ความคิดกับผู้อ่านว่าไม่ว่าชีวิตจะหยิบยื่นบททดสอบที่เราไม่อยากได้มาให้เรามากแค่ไหน เราก็ไม่ควรจะจมดิ่งอยู่กับความไม่พอใจนั้นหากแต่ควรหาทางแก้ไขหรือดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้และอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดในสายตาของผู้อื่นหรือใครๆ “ชีวิตช่างไม่ปรานีเสียเลย” เหมือนที่นันท์กล่าวในเรื่อง ในเชิงภาษาผู้เขียนก็ใช้คำที่สามารถเข้าใจได้ง่าย มีการเปรียบเปรยให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้ เช่นวลีที่ว่า ปานว่าจะขาดใจตาย เหมือนโลกไม่เคลื่อนไหว หรือการพยักหน้าของฟ้าใสราวกับกำลังปรึกษาปัญหาในชีวิตประจำวัน จะกินข้าวที่ไหนดีหรือจะอาบน้ำตอนกี่โมง เป็นต้น อันเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากจนเกินควร
เรื่องสั้นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ความหมายของสุภาพบุรุษในเรื่อง เป็นความเป็นสุภาพบุรุษที่พึงควรจะเป็นในบริบทในสังคมปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งข้าพเจ้าคิดไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นเพราะมีผู้ใดเกิดมาเพื่อผู้ใดการจะแก้ปัญหาให้คนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ผิดทว่าต้องไม่บังคับฝืนใจหรือทำให้ตนเองเดือดร้อนมากจนเกินไป การยัดเยียดในสิ่งที่ดีให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำด้วยเพราะเป็นการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ความดีงามไม่ใช่มาตรฐานของการดำเนินชีวิต ที่ทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติเหมือนกันไปเสียทั้งหมด อีกมุมมองที่น่าขบคิดคือมุมมองของดินต่อแม่ของเขาว่าสิ่งที่เขาตัดสินใจกระทำในเรื่องใช่สิ่งที่เขามุ่งมาดปรารถนาจริงหรือ เพราะการดำเนินเรื่องของผู้เขียนมาจากสายตาของนันท์ผู้เป็นแม่เพียงคนเดียวที่เห็นว่าลูกก็ “ดูมีความสุข” ในการเป็น “สุภาพบุรุษ” ของแม่ หากแต่ไม่เปิดแง้มบานประตูความคิดของดินให้ผู้อ่านรับรู้
"หากลูกไม่เป็นสุภาพบุรุษ"
บทวิจารณ์ โดย จิรัชญา เกศสุระพันธ์
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5