บทสะท้อนสังคมและความเป็นไทย ที่คนไทยหลายคนอาจหลงลืมผ่านกวีนิพนธ์ : บทวิจารณ์โดย วนิดา เบ้าสุข

บทสะท้อนสังคมและความเป็นไทย ที่คนไทยหลายคนอาจหลงลืมผ่านกวีนิพนธ์

        กวีนิพนธ์นี้เป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระองค์ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นภาพความทรงจำที่ยังคงอยู่กับคนไทยไม่รู้ลืม สำหรับเนื้อหาในกวีนิพนธ์ผู้เขียน คือ อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ท่านได้เขียนงานกวีนิพนธ์ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าไม่ได้แค่รำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพียงเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึง เหตุการณ์บ้านเมืองที่มีความวุ่นวายไม่สงบสุข และสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด ทำให้ผู้อ่านทุกคนเห็นภาพและมีอารมณ์ร่วมไปกับกวี ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า

 

                                                                  “ โอ้ พระองค์ ถ้าพระองค์ยังคงอยู่

                                                        จะทรงรู้ว่าทุกข์ไทยไม่หมดสิ้น

                                                       ไหนโควิดไหนบ้านเมืองเรื่องแผ่นดิน

                                                       พระภูมินทร์จะทุกข์ในพระทัยนัก

                                                      โลกทั้งโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า

                                                      มีแต่เรื่องทุกข์เศร้าให้ตระหนัก ”

          นอกจากนี้กวียังมีการใช้คำราชาศัพท์ที่เป็นทางการ แต่ก็ยังเป็นคำที่คนทั่วไปอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้ใช้คำศัพท์ที่ยากเกินไป ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า

                                                             “กราบบังคมกับฟ้าน้ำตาริน

                                                     โอ้ พระองค์ ถ้าพระองค์ยังคงอยู่     

                                                     จะทรงรู้ว่าทุกข์ไทยไม่หมดสิ้น ” 

           และที่สำคัญกวียังใช้ศิลปะในการใช้คำ คือ คำซ้ำ และการซ้ำประโยค เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและคล้อยตามไปกับกวี ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า

                                                            “ยังจำวันพระสุเมรุเอนทลาย

                                                     ยังจำสายน้ำตาที่บ่านอง

                                                    ยังจำดำทั้งเมืองได้ติดตา

                                                   ยังจำฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง” 

 

           ผู้เขียนกวีใช้การซ้ำคำว่า “ยังจำ” ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมและรู้สึกสะเทือนใจ จะเห็นได้ว่า เป็นการใช้คำที่เรียบง่ายแต่กินใจผู้อ่าน ทำให้กวีนิพนธ์บทนี้น่าจับใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก นอกจากมีการซ้ำคำ ผู้เขียนกวีนิพนธ์ยังใช้ “บุคคลวัต” คือ การสมมุติสิ่งไม่มีชีวิตให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึก ความคิด จากวรรคที่กล่าวว่า “ระฆังทุกข์แว่นหวานกังวานนภา ฟ้าทั้งฟ้าก็ร่้าเห็นจนเป็นนา” กวีได้บอกเล่าว่า “ท้องฟ้า ร้องไห้ได้” ออกมาเป็นภาพ ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามและรู้สึกเศร้าร่วมไปกับผู้เขียนกวีเป็นอย่างมาก และในตอนจบกวีได้กล่าวปิดท้ายว่า  

                                                              “วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ

                                                   มีพระรูปมีคลิปอยู่ดูซ้ำซ้ำ

                                                  เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี

                                                 มีพระรูปมีคลิปอยู่ดูซ้ำซ้ำ 

                                                เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี 

 

           จะเห็นได้ว่ากวีใช้รูปแบบซ้ำคำ ซ้ำประโยค เพื่อตอกย้ำความรู้สึก และต้องการให้ทุกคน “รู้สึก” เหมือนที่กวีได้รู้สึกนั่นคือ “จงรักและภักดี” และมีการสัมผัสพยัญชนะในวรรค ทำให้บทกวีมีความไพเราะมากขึ้น ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า 

 

                                                         “โลกทั้งโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า                            

                                                มีแต่เรื่องทุกข์เศร้าให้ตระหนัก                       

                                               หากอยู่ได้พอเหมาะเพราะความรัก                             

                                              ความพร้อมพรักและน้ำใจมีให้กัน ”

 

           จากบทประพันธ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น มีการใช้สัมผัสพยัญชนะต้น คือ คำว่า พร้อม-พรัก มีสัมผัสสระ คำว่า ไป-ไม่ และคำว่า เหมาะ-เพราะ มีการใช้      “คำซ้ำ” ยิ่งทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน นอกจากจะเด่นในเรื่องวรรณศิลป์ที่เข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนกวีนิพนธ์ได้ให้คุณค่าที่สะท้อนสังคมไทยในปัจจุบัน ดังบทประพันธ์ที่ กล่าวว่า  

 

                                                          “โลกเป็นไปตามพระดำริของพระองค์

                                             พอเพียงคงเป็นหลักให้ยั่งยืน 

                                            ขณะเศรษฐกิจทรุดสะดุดพลัน

                                           ทฤษฎีพระองค์นั้นประจักษ์ตา ”

 

          จะเห็นได้ว่า กวีนิพนธ์บทนี้สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในหลายด้าน ทั้งเรื่องความจงรักภักดีที่คนไทยมีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นจากการประพฤติปฏิบัติ ที่แบ่งแยกให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า นั่นคือ “ชนชั้นผู้ปกครอง” ด้วยความที่พระมหากษัตริย์ปกครองประเทศด้วย หลักทศพิธราชธรรมและพระองค์มีพระราชจริยวัตรที่งดงามผนวกกับพระราชปณิธานที่ตั้งมั่น พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงอันเป็นคุณูปการยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทย จะเห็นได้จาก โครงการในพระราชดำริอีกมากมายที่ช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น การปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางด้านต่าง ๆ  พระองค์ทำให้ประเทศไทยอยู่บนแผนที่ของโลก นอกจากนี้ชาวต่างชาติต่างยกย่อง และให้การยอมรับเป็นที่ประจักษ์ตาในโครงการทฤษฎีต่าง ๆ ของพระองค์ และเชื่อในประเทศไทยมากขึ้น ผ่านกษัตริย์พระองค์นี้ “พ่อภูมิพล” นอกจากนี้ พระองค์ทรงห่วงใยในพสกนิกรเหนือสิ่งอื่นใด พระราชกรณียกิจลำดับต้นที่ทรงกระทำเป็นการเสด็จพระราชดำเนินออกทรงเยี่ยมเยียนราษฎร จากพระมหากษัตริย์ที่ทรงเติมเกียรติในสังคมโลก ทรงน้อมพระองค์ลงสู่พื้นดินทรงเป็น พระราชหฤทัยของคนไทยทั้งปวง ทำให้คนไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงทำให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์ ” เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมจิตใจของ คนไทยทั้งชาติ  จะเห็นได้ว่าบทกวีของอาจารย์ชมัยภร บางคมบาง เป็นการสดุดีและยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผสมผสานกับความไว้อาลัยและความโศกเศร้าอย่างสุดซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกร่วมไปกับกวีด้วย นอกจากนี้ ยังได้สะท้อนความเชื่อของคนไทย นั้นคือ “ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย” เรามีความเชื่อกันว่า พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว พระองค์จะสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ จะเห็นได้ชัดจากบทประพันธ์ที่กล่าวว่า  

 

                                                            “พระสถิต ณ สถานพิมานเวหา

                                                   ระฆังทุกข์แว่นวานหวานกังวานนภา     

                                                  ฟ้าทั้งฟ้าก็ร่ำเห็นจนเป็นนา

                                                 รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ     

                                                วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ     

                                                มีพระรูปมีคลิปอยู่ดูซ้ำซ้ำ     

                                               เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี ”   

 

           นั่นคือ คนไทยมีความเชื่อเรื่อง “เทพ เทวดา” ผู้มีบุญเมื่อตายไปแล้วก็จะได้อยู่บนสวรรค์ซึ่งสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ที่เมื่อตายไปแล้วก็ต้องชดใช้กรรม อาจไม้ได้อยู่บนสวรรค์แต่อาจไปอยู่ในนรกก็ได้ คตินี้มีความเชื่อแทบทั้งเอเชียไม่ว่าจะในประเทศจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ คตินี้ยังมีในประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย  

 

           นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมายาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากโบราณกาลเล่าสืบต่อกันมาว่าการสร้าง“พระเมรุมาศ” ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความ ยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ จะเห็นได้จากวรรคที่กล่าวว่า“ยังจำวันพระสุเมรุเอนทลาย” ผู้เขียนกวีนิพนธ์ได้ สื่อถึงภาพความจดจำในวันนั้นจนถึงวันนี้ไม่อาจลบเลือนหายไปไหน คือ ภาพที่ประชาชนต่างเศร้าโศกและเสียใจเป็นอย่างมากกับการจากไปของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำหรับ “พระเมรุมาศ” ถือเป็นสถาปัตยกรรมลักษณะพิเศษมีการแสดงศิลปะที่มีความรุ่มรวย เต็มไปด้วยความหมาย กวีต้องการให้ผู้อ่านได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และกวียังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระเมรุมาศที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ถูกออกแบบการจัดอย่างสมพระเกียรติ ในแต่ละชั้นจะมีการตกแต่งที่แสดงความเป็น “ทิพยสถาน”และยังสะท้อนแนวคิดตามคติ ความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ ที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพอวตารลงมาจากสวรรค์ หรือเขาพระสุเมรุ   

 

           จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บทประพันธ์ของ อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ได้แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยและความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติที่ยังคงรักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อคนไทยไม่ได้มีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความไพเราะ เพราะการสรรคำของกวีทำให้ บทกวีนิพนธ์นี้ มีคุณค่าต่อคนไทยและกระตุ้นสำนึก “ความเป็นไทย” ให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านจนต้องบอกกับตัวเอง ซ้ำว่า “ยังคงรักและจงรักภักดี” 

 

 

“บทสะท้อนสังคมและความเป็นไทย ที่คนไทยหลายคนอาจหลงลืมผ่านกวีนิพนธ์”
บทวิจารณ์โดย   วนิดา   เบ้าสุข
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ